ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น

ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี

ชื่อเรื่อง การแสดงศิลปะพื้นบ้าน การแสดงรำโจ๋งหรือการรำต้อนวัวเข้าคอก

ชุมชน บ้านนาไร่เดียว หมู่ที่ 10 ต.ท่าโรง อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์

ความเป็นมา

การละเล่นรำโทนหรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “รำโจ๋ง” เป็นการเล่นที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีศรีอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ใดเป็นผู้คิดค้นขึ้น แต่พอมีเค้าว่าในสมัยก่อนนั้นชาวเมืองวิเชียรบุรีมักติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาหรือเมืองต่างๆ แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาโดยอาศัยเส้นทางคมนาคมทางลำน้ำป่าสักอยู่เนืองๆ จึงนำเอาเครื่องดนตรีประเภทกลองโทน ฆ้อง รวมทั้งท่วงท่ารำจา การละเล่นรำวง การแสดงกลองยาวหรือลิเกของพื้นที่ภาคกลาง แล้วคิดดัดแปลงท่วงท่ารำใหม่ตามภูมิปัญญาประยุกต์เข้ากับการดำเนินชีวิตประจำวันของตนที่เมื่อยามหน้าแล้งว่างเว้นจากการทำไร่ทำนา ในช่วงยามเช้าหรือบ่ายมักต้อนวัวและควายออกจากคอกปล่อยออกไปและเล็มกินหญ้า กินน้ำตามทุ่งไร่ทุ่งนา ส่วนคนเลี้ยงบ้างก็พากันไปคุยกัน เล่นกันอยู่ตามร่มไม้ใหญ่ บ้างก็ลงลำห้วย บึง แม่น้ำ หรือเข้าไปในชายป่าที่อยู่ใกล้ เพื่อหาเก็บผักหักฟืน พอวัวควายอิ่มพลีแล้วจึงแยกย้ายกันต้อนกลับคืนบ้านของตนทำให้เกิดท่าร่ายรำเยื้องย่างช้า มีกลองโทนและฆ้องคอยตีเพื่อกำกับจังหวะ โดยมีจินตนาการในลักษณะการต้อนวัว ซึ่งแบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายหญิงกับฝ่ายชายสมมติให้ฝ่ายชายเป็นวัว ส่วนฝ่ายหญิงเป็นคนต้อนและไล่จับวัว โดยฝ่ายหญิงจะไปต้อนฝ่ายชายออกมาทีละคน ในขณะที่ไล่ต้อนจับกันอยู่นั้น จะมีสัญญาณโทนตีจังหวะเสียงดัง ครึ่ม ครึ่ม ครึ่ม เมื่อจับได้แล้ว

ต่อมาในระยะหลังๆ การจัดงานมีการเปลี่ยนแปลงไป มีการจ้างวงดนตรี ลูกทุ่ง หมอลำ และคณะลิเกที่มีชื่อเสียงและชื่นชอบมาแสดงมากขึ้น กลุ่มคนเล่นดนตรีพื้นบ้านโดยเฉพาะพื้นบ้านอีสานที่เป็นชนกลุ่มใหญ่ ชักหากิน (เวทีแสดง) ยากขึ้นเป็นเงาตามตัว

นับตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา มีกลุ่มดนตรีพื้นบ้านกลุ่มหนึ่งในบ้านนาไร่เดียว ตำบลท่าโรง (ปัจจุบันคณะนี้ได้เลิกราไปแล้ว) คิดริเริ่มพัฒนารวมกันเป็นวง ฝึกเล่นฝึกบรรเลงกันเองแบบครูพักลักจำให้ทันสมัย นำเอาเครื่องเล่นที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ แคนและพิณที่เป็นเครื่องดนตรี นำมาประกอบเข้าเครื่องขยายเสียงให้มีเสียงดังขึ้น นำเอาเครื่องดนตรีมาบรรเลงร่วมกัน เช่น กลองชุด ออร์แกนไฟฟ้า และกีตาร์ไฟฟ้า เลียนแบบวงดนตรีลำเพลินอีสาน (หมอลำซิ่ง) ที่เคยเห็นมา จึงเป็นจุดเริ่มต้นของดนตรีที่เรียกกันว่า ดนตรีพื้นบ้านประยุกต์ ชาวบ้านมักจะเรียกกันติดปากว่า วงแคนประยุกต์ ด้วยทำนองเพลงที่ช่วยบรรเลงเป็นส่วนใหญ่ เพลงลำอีสานและเพลงลูกทุ่งยอดนิยมขณะนั้น ที่มีจังหวะเร็วเร้าใจฟังแล้วน่าอยากรำน่าอยากเต้น เป็นที่ชื่นชอบของผู้ที่พบเห็น มีการขอร้องไหว้วานให้ไปใช้งานต่างๆ อย่างมากมาย เมื่อมีค่าใช้จ่ายในการฝึกซ้อมและค่าขนย้ายต่างๆ เจ้าภาพมีความเห็นอกเห็นใจ จึงจะเป็นค่าตอบแทนมากบ้างน้อยบ้างตามฐานะตน ทำให้มีรายได้พิเศษในช่วงเวลายามว่างจากการทำไร่ทำนา และมีผู้นิยมชมชอบติดต่อไปแสดงบ่อยๆ เป็นเหตุให้นักดนตรีพื้นบ้านใกล้เคียงเห็นว่าดีก็คิดเลียนแบบ รวมตัวกันตั้งวงขึ้นมาอีกหลายคณะขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกิดการแข่งขันกัน แต่ละคณะจึงตั้งชื่อประจำวงให้เป็นมาตรฐาน ปิดป้ายคณะประชาสัมพันธ์บอกชื่อคณะ บอกสถานที่ติดต่อไว้ให้เห็น