ศาลเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ทับกฤช

ตำบลทับกฤช อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์

ศาลเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ทับกฤช แต่เดิมตั้งอยู่ที่ ปากคลอง (ที่น้ำไหลเข้าสะพานดำ) บ้างก็ว่าอยู่ที่เดิม (ที่ปัจจุบัน) และบางคนก็ว่าอยู่ริมตลิ่ง ต่อมาน้ำท่วมจึงย้ายขึ้นมาอยู่ ณ ที่ปัจจุบัน บนที่ดินของยายชั้ว บ้างก็ว่าเป็นที่ของยายนกเอี้ยงแม่ของยายมะลิเจ้าของตลาด ศาลเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ทับกฤช สร้างครั้งแรกในปี พ.ศ. 2406 เป็นศาลขนาดเล็กมุงหลังคาสังกะสี เพียงสองแผ่น สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ 2 ชั่ง

การฉลองศาลครั้งแรกได้ยายนกเอี้ยงเป็นเจ้าภาพ หาละครมาเล่น โดยยายนกเอี้ยงให้เล่นเรื่องชาละวัน ครั้งนั้น ป้ากี เมืองเจริญ บ้านอยู่หลังศาล สมัยนั้นตัวแกยังเด็กได้มานั่งดูละครด้วย พอเล่นถึงตอนชาละวัน เกิดมีจระเข้ลอยขึ้นมาทำให้พวกเล่นละครและคนดูตกใจวิ่งกันวุ่นวาย พวกละครต้องหาธูปเทียนมาจุดบอกกล่าวขอขมาลาโทษ สักพักจระเข้จึงดำน้ำลงไป ในปี พ.ศ. 2466 เป็นการสร้างศาลครั้งที่สอง ยายสิงโต เล่าให้ฟังว่า บริเวณข้างบ้านนายเจริญศักดิ์ พฤกศิริไพบูลย์ เมื่อก่อนเป็นโรงเลื่อย ในบรรดาลูกน้องของโรงเลื่อยมีชาวจีนชื่อว่า หย่ง อยู่สองคน หย่งมีเมียคนแรกชื่อนางทอง เป็นช่างไม้ กับหย่งสูง ทั้งสองท่านได้ช่วยกันก่อสร้างศาล ในยุคต่อมา สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ 450 บาท เป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธาและความเชื่อมั่นของประชาชนชาวทับกฤช

ต่อมาอีก 40 -50 ปี จึงมีการก่อสร้างศาลใหม่ ในปี 2533 สัญลักษณ์ของ เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ทับกฤช เดิมใช้ตัวหนังสือจีนเขียนบนกระดาษสีแดง อ่านว่า ซิง ต่อมาภายหลัง เขียนว่า ปุงเฒ่ากงม่า กระทั่งในปี 2512-2513 มีการสร้างองค์จำลองเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ทับกฤช ด้วยการใช้ไม้แกะสลัก โดยคณะกรรมการจัดงานเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ในขณะนั้น เช่น นายเทียม แซ่ตั้ง,นายม็อก แซ่เซี้ย ได้จัดหาไม้และจ้างช่างจากกรุงเทพฯ มาแกะสลักรูป เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ทับกฤช พร้อมสร้างศาลจำลองหลังเล็กในการอัญเชิญเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ทับกฤช อวยชัยให้พรไปตามตลาดทับกฤช เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ชาวทับกฤชและผู้มาร่วมงาน ทั้งหมดนี้ใช้เงินรายได้จากการจัดงานประจำปี ต่อมาในปี 2533 ด้วยแรงศรัทธาของชาวทับกฤชและตำบลใกล้เคียง จึงได้พร้อมใจกันสร้างศาลขึ้นใหม่จากศาลไม้เดิม เป็นศาลก่ออิฐถือปูน ทันสมัย

ทั้งนี้เริ่มจากในงานวันเกิด เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ทับกฤช วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2533 นายบำรุง กฤชภากรณ์ ได้เริ่มตั้งคณะกรรมการก่อสร้างศาลขึ้น กระทั่งใน วันที่ 11 มีนาคม 2533 นายบำรุง ได้ทำพิธีรื้อศาลไม้หลังเดิม ชาวบ้านทราบข่าวได้พากันมากราบไหว้ เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ทับกฤช ตั้งแต่เวลา 04.00 น. ตามฤกษ์ ที่หมอดูชื่อ ซุง แซ่ลื้ม ได้กำหนดไว้ เวลา 06.00 น.- 10.00 น. ชาวบ้านได้ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี รวมทั้งได้รับความอนุเคราะห์รถตักดินจากโรงสีไฟไทยอุปถัมภ์ มาทำการรื้อถอนเสาและทำการก่อสร้างตลอดมา จนกระทั่งแล้วเสร็จในวันที่ วันที่ 20 กันยายน 2533 จากนั้นจึงได้จัดให้มีการฉลอง โดยมีพิธีเปิดศาล ในวันที่ 25 กันยายน 2533 ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 720,000 บาท ผู้รับเหมาชื่อนายจุ้ย แซ่อึ้ง งานประจำปีครั้งแรกจัดขึ้นบริเวณริมตลิ่ง หน้าศาลก่อน แล้วจึงย้ายมาจัดบริเวณตลาดสด และหน้าบ้านหมอประสิทธิ์ เกตุเดชา

ยายคิ้ม แซ่เซี้ย เล่าให้ฟังว่า มีการจัดงานประจำปีบริเวณหน้าร้านค้าไม้อื้อเซ็งกี่ หรือหน้าโรงเรียนจีนเดิม ประมาณปี พ.ศ. 2513 จนถึงปัจจุบัน ผู้ริเริ่มจัดงานคือ นายกิมจั้ว แซ่อื้อ นายกิมเหลียง แซ่ตั้ง ขบวนแห่เจ้าพ่อ – เจ้าแม่แต่เดิมจะมีแต่กระถางธูป 2 กระถาง ถือว่าเป็นตัวแทนเจ้าพ่อ – เจ้าแม่ เมื่อมีการก่อสร้างสลักไม้รูปจำลองขึ้นแล้ว ในปีพ.ศ. 2513 ได้อัญเชิญรูปจำลองร่วมขบวนแห่ด้วย แต่เดิมยังนำหน้าด้วยคนตีผ่าง2 คน ตามด้วยป้ายชื่อ เจ้าพ่อ – เจ้าแม่ ถังน้ำมนต์ และกระถางรูป ต่อมาพัฒนามีการแสดงของคณะต่างๆ ร่วมขบวนแห่มากขึ้น โดยเฉพาะนักเรียน ทั้งอนุบาล ประถม และมัธยม แต่ละโรงเรียน ยังมีขบวนของล่อโก๊ว แต่เดิมจ้างมาจากหนองบัวบ้าง คณะงิ้วมาร่วมขบวนบ้าง ต่อมาโรงเรียนทับกฤชพัฒนาได้ฝึกนักเรียนในท้องถิ่นมาร่วมขบวนแทน คณะสิงโต แต่เดิมนั้นจะจ้างจากปากน้ำโพมาร่วมขบวน ต่อมาเด็กๆ ในทับกฤชก็พยายามฝึกฝนจนสามารถแสดงเองได้ โดยได้รับการสนับสนุนจาก เถ่านั้งปี 2533 ริเริ่มซื้อหัวสิงโตพร้อมชุดการแสดงให้ (เมธี มีมุข.25 กันยายน 2533)

แผนที่การเดินทาง

เรียบเรียง : นางสาวศุภมาศ ขันมณี

ภาพ : นางสาวศุภมาศ ขันมณี