ที่มาของโครงการ

ระยะเริ่มต้นโครงการ

สืบเนื่องจาก ในปีงบประมาณ ๒๕๕๖ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาในขณะนั้น มีนโยบาย ที่จะให้สถานศึกษาที่ขอพระราชทานชื่อ จำนวน ๑๔ แห่ง ดำเนินงานสนองพระราชดำริ โดยกำหนดแนวทาง (concept) ว่า “เป็นวิทยาลัยเฉพาะทาง ที่จะสนองพระราชดำริ” และได้นำผู้บริหารสถานศึกษาที่เกี่ยวข้องเข้าพบ ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมในการกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงาน เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ณ ห้องประชุมทำเนียบองคมนตรี กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

วัตถุประสงค์ของการทำงาน

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษามีความประสงค์ที่จะทำงานเพื่อในหลวง โดยมีแนวคิดที่จะพัฒนาสถานศึกษาในสังกัดที่ขอพระราชทานชื่อ ให้เป็นศูนย์เฉพาะทางตามความพร้อมของสถานศึกษาแต่ละแห่ง พัฒนาหลักสูตรให้มีความเข้มข้นทั้งเนื้อหาวิชาการและทักษะวิชาชีพ รวมทั้งปลูกฝังเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท

ข้อเสนอแนะจาก ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย

๑. คุณลักษณะนักศึกษาที่พึงประสงค์ของอาชีวะ คือ “เป็นคนดี รู้จริง ทำเป็น” รวมทั้งเมื่อสำเร็จการศึกษาต้องไปประกอบอาชีพได้ ทั้งประกอบธุรกิจส่วนตัว หรือเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการ

๒. ชื่อโครงการที่จะดำเนินการให้แสดงถึงการเทิดพระเกียรติด้วย

๓. หลักการดำเนินงาน ให้พัฒนาเป็น “ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง” ในวิทยาลัย โดยเป็นสาขาเฉพาะทาง เฉพาะในส่วนที่สนองพระราชดำริ แต่ยังคงมีการสอนสาขาวิชาอื่นๆ ต่อมา ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย ได้ใช้คำว่า “ศูนย์ความชำนาญเฉพาะทาง”

๔. แนวทางการดำเนินงาน เพื่อให้โครงการสามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม เห็นควรดำเนินการตามแนวทางดังนี้

๔.๑ ให้มีสำนักงานบริหารโครงการเฉพาะเพื่อเป็นศูนย์ประสานงาน

๔.๒ ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการพิเศษ

๔.๓ ให้แบ่งการทำงานเป็น ๒ ระยะ คือ

ระยะที่ ๑ สร้างความพร้อมให้ศูนย์ฯ สามารถทำงานได้และพัฒนาเป็นโมเดลการทำงาน

ระยะที่ ๒ ขยายผลสู่วิทยาลัยอื่น ๆ

๕. เงื่อนไขความสำเร็จ

๕.๑ ครู เป็นปัจจัยหลักที่สำคัญ จะต้องสำรวจข้อมูลทั้งจำนวนและวุฒิการศึกษาว่าเพียงพอหรือไม่ และต้องพัฒนาครูให้ได้มาตรฐานที่เป็นสากลเทียบเท่าต่างประเทศ โดย สอศ.ต้องของบประมาณจำนวนหนึ่งเพื่อผลักดันโครงการให้สำเร็จ ซึ่ง ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย ได้แนะนำว่า หากจะพัฒนาให้เป็นเลิศจริง สอศ. ต้องหาข้อมูลในแต่ละสาขาวิชาที่จะดำเนินการ ว่ามีประเทศใดที่มีความเชี่ยวชาญ ให้ส่งครูไปเรียนเพิ่มเติมและกลับมาพัฒนาเด็ก ซึ่งสุดท้ายลูกศิษย์จะต้องได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

๕.๒ อุปกรณ์ เครื่องมือ มีความสำคัญรองจากครู ให้เชื่อมโยงการทำงานในลักษณะเครือข่าย โดยทำความร่วมมือกับหน่วยงาน หรือองค์กรเอกชนที่มีศักยภาพในแต่ละสาขาวิชา

ระยะการพัฒนาโครงการ

ภายหลังจากได้เข้าพบ ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย แล้ว สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้มอบหมายให้ศูนย์พัฒนา ส่งเสริม ประสานงานกิจการนักศึกษาและกิจการพิเศษ (ศพก.) ปรับโครงการใหม่เสนอเป็น package เข้า ครม. ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๒ สัปดาห์ ให้ครอบคลุมทั้งข้อมูลของ ๑๔ สถานศึกษาเดิม สาขาเกษตร ช่าง ๑๐ หมู่ ช่างเชื่อม และช่างก่อสร้าง ซึ่งผู้อำนวยการ ศพก. (ในขณะนั้น) ได้ดำเนินการไปแล้วแต่โครงการไม่ผ่านความเห็นชอบ และไม่ได้ดำเนินการต่อจึงไม่ได้มีการเสนอโครงการเข้า ครม. แต่ยังคงมีการดำเนินการตามภาระงานของหน่วยงานต่อไป หลังจากนั้น ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงาน และกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานของโครงการใหม่ ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้ดำเนินการ ดังนี้

๑. ให้ดำเนินโครงการจัดการอาชีวศึกษาตามรอยพระยุคลบาทในสถานศึกษา ทั้งหมด ๒๓ แห่ง

๒. แบ่งการทำงานเป็น ๒ ระยะ คือ

๒.๑ ระยะที่ ๑ พัฒนาเตรียมความพร้อมสถานศึกษา เพื่อดำเนินการ ๓ กิจกรรม คือ

๑) สร้างเอกลักษณ์ เทิดพระเกียรติ เครื่องแบบ

๒) สร้างอัตลักษณ์ คุณธรรมของนักเรียน

๓) พัฒนาการเรียนการสอนและพัฒนาจุดเด่นของสาขาวิชาที่ตอบสนองพระราชดำริ

๒.๒ ระยะที่ ๒ พัฒนาการจัดการเรียนการสอนเพื่อเป็นศูนย์ความชำนาญเฉพาะทาง โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๕๗

๓. จัดทำแผนเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสนอกระทรวงศึกษาธิการ และคณะรัฐมนตรี

การดำเนินงานตั้งแต่ปี ๒๕๕ – ๒๕๕๙

ในปีงบประมาณ ๒๕๕๗ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้อนุมัติสนับสนุนงบประมาณ เพื่อดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพสถานศึกษาโครงการเฉลิมพระเกียรติ ภายใต้โครงการสร้างและกระจายโอกาสทางการศึกษา โดยสนับสนุนงบประมาณให้สถานศึกษาทั้ง ๒๓ แห่ง เพื่อดำเนินกิจกรรมตามกรอบแนวทางที่กำหนด ทั้งในส่วนของการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ และจัดหาเครื่องแบบพิธีการให้นักเรียน รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายในการพัฒนาศักยภาพสถานศึกษาเพื่อพัฒนาเป็นศูนย์ความชำนาญเฉพาะทาง ซึ่งเป็นปีแรกที่สถานศึกษาเริ่มรับนักเรียน นักศึกษานำร่อง เข้าร่วมโครงการ สถานศึกษา ละ ๒๐ คน


ปีงบประมาณ ๒๕๕๘ มีปัญหาเรื่องการจัดสรรงบประมาณ จึงทำให้สำนักงานคณะกรรมการ การอาชีวศึกษา ต้องหางบประมาณจากโครงการอื่นๆ เพื่อมาสนับสนุนให้กับสถานศึกษาเพื่อดำเนินกิจกรรมต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้สถานศึกษาได้รับการจัดสรรงบประมาณลดลงทำให้การดำเนินงานไม่พัฒนาเท่าที่ควร



ปีงบประมาณ ๒๕๕๙ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้รับงบประมาณโครงการอันเนื่อง มาจากพระราชดำริ เพิ่มขึ้น จึงทำให้มีงบประมาณสำหรับการดำเนินงานโครงการเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ดี สถานศึกษาที่ร่วมโครงการก็เจอปัญหา ขาดงบประมาณสนับสนุนค่าสวัสดิการการศึกษาที่จะสนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษาที่ร่วมโครงการตามที่รับปากไว้ตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้สถานศึกษาต้องเจียดจ่ายงบประมาณที่เป็นงบบำรุงการศึกษาเพื่อมาสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการ


ปีงบประมาณ ๒๕๖๐ ได้มีนโยบายให้เพิ่มสถานศึกษา เข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่องในโครงการอีก ๓ แห่ง คือ วิทยาลัยประมงสมุทรสาคร วิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบุรี วิทยาลัยการอาชีพรัตนประสิทธิ์วิทย์ แต่งบประมาณที่ได้รับจัดสรรยังคงได้เท่าเดิม ซึ่งจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่ายังมีความโดดเด่นไม่มากนัก ยังไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน จึงได้มีการหารือเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานของสถานศึกษาตามรอย พระยุคลบาทใหม่เพื่อกำหนดรูปแบบ เกณฑ์มาตรฐานของนักเรียน นักศึกษาและสถานศึกษา และตัวชี้วัดให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

การดำเนินงานตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๖๒ เป็นต้นไป

ได้กำหนดกรอบการดำเนินงานให้กับสถานศึกษาเพื่อให้การดำเนินงานในภาพรวมเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนี้

๑. เร่งรัดพัฒนาศักยภาพสถานศึกษาโครงการเฉลิมพระเกียรติเพื่อพัฒนาเป็นศูนย์ความชำนาญเฉพาะทาง โดยการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ และการจัดกิจกรรมที่มีนักเรียนเป็นศูนย์กลางส่งเสริมให้เกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและมีความพร้อมเพื่อเข้าสู่โลกอาชีพเมื่อสำเร็จการศึกษา

๒. การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ความมีวินัย จิตสำนึกความเป็นไทย และยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รวมทั้งการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้เพื่อเผยแพร่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

๓. การส่งเสริมให้ผู้บริหาร ครู บุคลากร นักเรียน นักศึกษาน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการบริหารจัดการสถานศึกษา การจัดการเรียนการสอน และการดำเนินชีวิต รวมทั้งพัฒนาสู่การประเมินเป็นสถานศึกษาพอเพียง / ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา

๔. การสร้างค่านิยมและทัศนคติที่ดีต่อการศึกษาสายอาชีพ