ที่มาของพิธีทานหาแม่ฟ้าหลวง
การทานหา ในวัฒนธรรมล้านนาคือการอุทิศเครื่องอุปโภคให้เป็นทาน เพื่ออุทิศให้กับคนที่ล่วงลับไปแล้วโดยเชื่อว่าคนที่ตายไปนั้นได้ไปอยู่อีกโลกหนึ่ง หากเป็นบุตรหลานญาติพี่น้อง ทานหา คือการนำสิ่งของเครื่องใช้ของกินที่ผู้ตายชอบ ไปอุทิศให้เป็นทานแล้ว สิ่งของเหล่านั้นก็จะไปถึงผู้ตายได้เสวยในโลกที่ตนอยู่ พิธีการถวายทานในการทานหา ก็เป็นการทำเช่นเดียวกับการทำบุญอุทิศส่วนกุศลในเทศกาลหรือโอกาสสำคัญพิเศษต่างๆ การทานหาจะทำเป็นพิธีโดยเฉพาะ เช่นเฉพาะครอบครัว หรือตระกูลเดียวกัน หรืออาจเป็นการทานหาเฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นกรณีพิเศษ
และนับตั้งแต่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้เสด็จสู่สวรรคาลัย เมื่อวันอังคารที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ ยังความโศกเศร้าอาลัยอย่างสุดซึ้งแก่พสกนิกรทั้งประเทศ แต่พระเกียรติคุณและพระมหากรุณาธิคุณยังคงสถิตถาวรอยู่ในความทรงจำของพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดเชียงราย เป็นจังหวัดที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จย่า อย่างล้นพ้นหาที่สุดมิได้
ดังนั้น เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จังหวัดเชียงราย ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจึงได้จัดพิธีทานหาแม่ฟ้าหลวง ในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ของทุกปี โดยจะจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ อาทิ การถวายพานพุ่มและพานดอกไม้ถวายสักการะต่อหน้าพระราชานุสาวรีย์ของสมเด็จย่า การปล่อยพันธุ์ปลา การร่วมกันปลูกต้นไม้บริเวณต่างๆ การทำบุญทอดผ้าป่าเพื่อการศึกษาและมอบทุนการศึกษา เป็นต้น
ขั้นตอนใน พิธีทานหาแม่ฟ้าหลวง
สำหรับพิธีทานหาแม่ฟ้าหลวงที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีนั้น จะมีขั้นตอนพิธีแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนด้วยกัน กล่าวคือ
ช่วงที่ ๑ พิธีถวายเครื่องสักการะ หน้าพระราชานุสาวรีย์ ณ ลานเฉลิมพระเกียรติ
การถวายเครื่องสักการะ ที่สามัญชนถวายแก่เจ้านายชั้นสูงนั้น เรียกว่า "การถวายสักการะ" หรือ "พิธีถวายสักการะ" ส่วนคำว่า พิธีถวายเครื่องราชสักการะนั้น จะใช้เฉพาะเวลาที่เจ้านายเสด็จประกอบพิธีเท่านั้น สิ่งใดก็ตามที่พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จมาเป็นองค์ประธาน จะมีคำว่า “ราช” นำหน้า เช่น เครื่องสักการะ ก็เรียกว่า เครื่องราชสักการะ เป็นต้น
พิธีถวายเครื่องสักการะแบบล้านนาที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีนั้น เป็นการสืบสานประเพณีล้านนาที่สืบทอดมาแต่โบราณ เครื่องสักการะที่สำคัญประกอบด้วย ข้าวตอก ดอกไม้ ธูป และเทียนเป็นหลัก เครื่องสักการะแต่ละชนิดล้วนแฝงไปด้วยความหมายแตกต่างกันไป
ข้าวตอก หรือที่ภาษาบาลีว่า “ลาชา” ได้มาจากการนำเอาข้าวเปลือกหรือข้าวโพด ไปคั่วในหม้อดินด้วยไฟอ่อนๆ จนเมล็ดข้าวนั้นแตกออกมาเป็นสีขาวบริสุทธิ์และมีกลิ่นหอม ใช้เป็นเครื่องบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคุณสมบัติที่เปรียบประดุจได้กับคุณขอพระพุทธเจ้าสามประการกล่าวคือ
๑. ขณะคั่วข้าวตอกมีลักษณะแตกกระจายออกเป็นดอก เปรียบเสมือนความแตกฉานของพระปัญญาธิคุณ
๒. ส่วนสีของข้าวตอกมีสีขาวบริสุทธิ์ เปรียบดังพระวิสุทธิคุณ
๓. ลักษณะเบ่งบานดุจพระเมตตาที่เบ่งบานงดงามเปรียบเสมือนพระมหากรุณาธิคุณ
ดอกไม้ เป็นสิ่งมีชีวิต มีความสวยงาม มีกลิ่นหอม มีความบริสุทธิ์และควรค่าแก่การบูชา ดังนั้นคนในสมัยโบราณจึงนำเอาดอกไม้มาเป็นส่วนหนึ่งในเครื่องสักการะสูงสุด ที่สำคัญไปกว่าสิ่งอื่นใดเกี่ยวกับคติความเชื่อของชาวล้านนา ที่เชื่อว่าดอกไม้เป็นสิ่งที่มีชีวิตเหมือนกับมนุษย์ ดังนั้นจึงพึงที่ได้รับอานิสงส์จากการอุทิศตนถวายเป็นพุทธบูชาด้วย
ในสมัยโบราณก่อนที่ผู้เฒ่าผู้แก่จะเก็บดอกไม้ไปบูชาหรือถวายพระ ต้องขออนุญาตหรือมีการบอกกล่าวต้นไม้หรือดอกไม้นั้นเสียก่อนจะเด็ดทุกครั้ง นอกจากนี้คนในสมัยก่อนยังมีความละเอียดอ่อน และเอาใจใส่ในทุกรายละเอียดแม้กระทั่งคำกล่าวก่อนที่จะเด็ดดอกไม้ออกจากต้น คำกล่าวในการเก็บดอกไม้ของคนโบราณเป็นคำกล่าวที่มีความไพเราะอ่อนหวานเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจะมีการผูกถ้อยคำเหล่านั้นเป็นสำนวนหรือร้อยกรองที่ชาวล้านนาเรียกกันว่า “ค่าวฮ่ำ” เป็นคำกล่าวในการเก็บดอกไม้ไปถวายพระหรือบูชาพระนั้น มีอยู่มากมายตามแต่ว่าใครจะร้อยกรองหรือบรรจงแต่งแต้มขึ้นมา หรือแม้กระทั่งท่วงทำนองในการขับขานค่าวฮ่ำก็มีความแตกต่างกันออกไปตามแต่ละสำเนียงของท้องถิ่น แต่โดยนัยแล้วยังคงไว้ซึ่งวัตถุประสงค์เดียวกัน
เทียน หรือที่ภาษาบาลีว่า “อัคคิธูปะ” โดยที่ อัคคิ หมายถึง เทียนขี้ผึ้งที่สามารถจุดให้เกิดแสงสว่าง ส่วน “ธูปะ” หมายถึงธูป ที่ชาวล้านนาเรียกว่า “เทียนแส้” ซึ่งเทียนแส้นี้ชาวล้านนาไม่นิยมนำมาจุดแต่มีไว้เพียงเพื่อเป็นเครื่องสักการบูชาเท่านั้น เทียนแส้ของชาวล้านนาจะมีความแตกต่างไปจากธูปของทางภาคกลาง ซึ่งชาวล้านนาจะทำเทียนแส้จากดอกไม้แห้งที่มีกลิ่นหอม
นอกจากนี้เครื่องสักการะอื่นที่ชาวล้านนาถือปฏิบัติสืบต่อกันมา ประกอบด้วย
หมากสุ่ม คือ การนำผลหมากที่ผ่าซีกแล้วเสียบร้อยด้วยปอหรือด้ายผูกไว้เป็นพวง ที่ชาวล้านนานำมาตากให้แห้งเก็บไว้เก็บกิน หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “หมากไหม” มาปักคลุมโครงไม้หรือโครงเหล็กที่ทำเป็นต้นพุ่มเพื่อให้เกิดความงดงาม
หมากเบ็ง มีลักษณะเช่นเดียวกับหมากสุ่ม แต่ใช้ผลหมากดิบหรือหมากสุกทั้งลูกแทน มีจำนวน ๒๔ ลูก นำมาผูกติดไว้กับโครงไม้หรือโครงเหล็กที่ทำเป็นพุ่ม ลักษณะการผูกตรึงนี้ชาวล้านนาเรียกว่า “เบ็ง” จึงเป็นที่มาของชื่อพุ่มมากประเภทนี้
จำนวนหมาก ๒๔ ลูกนี้ แฝงด้วยคติธรรมโดยพระครูสุคันธศีล วัดสวนดอก อำเภอเมืองเชียงใหม่ อธิบายว่า หมากเบ็ง ๒๔ ลูกนี้ เป็นเครื่องหมายแห่งปัจจัย ๒๔ ที่ปรากฏในอภิธรรม ๗ คัมภีร์ เรียกว่า มหาปัฏฐาน คือ เหตุปัจจโย มีเหตุเป็นปัจจัย อารัมมณปัจจโย อารมณ์เป็นปัจจัย เป็นต้น ที่ท่านนำเอาสิ่งเหล่านี้เข้ามาไว้ในเครื่องสักการะ เพื่อแสดงถึงความจริงที่ปรากฏในรูปสภาวธรรม
นอกจากนี้ เครื่องสักการะยังอาจจะหมายรวมถึง เครื่องอุปโภค-บริโภคต่าง ๆ ที่คนในสมัยโบราณพอหาได้ เพื่อนำมาถวายสักการะทั้งแก่พระสงฆ์หรือเจ้านาย เช่น พลู ข้าวเปลือก มะพร้าว กล้วย ฝ้าฝ้าย ผลไม้นานาชนิด เป็นต้น
พิธีถวายสักการะ จึงเป็นพิธีที่แสดงถึงความกตัญญูกตเวทิตา และสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ และคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาวล้านนาต่อไป
ช่วงที่ ๒ พิธีถวายทำบุญทักษิณานุปทาน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล
คำว่า “ทักษิณานุปทาน” นั้นหมายถึง การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย เพื่อให้ผู้ตายได้รับผลบุญนั้น และเป็นความเชื่อว่าเพื่อให้ผู้ตายพ้นจากภาวะที่ทุกข์ทรมานในทุคติ ที่นิยมปฏิบัติกันในการประกอบพิธีทักษิณานุปทานคือ การทำบุญอัฐิของบรรพบุรุษหรืออุปัชฌาย์อาจารย์ ซึ่งจะมีพิธีสวดพระพุทธมนต์ บังสุกุล กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล เพื่อแสดงถึงความกตัญญูกตเวที
การจัดพิธีทานหา แม่ฟ้าหลวง จึงเป็นพิธีทำบุญเพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จย่าของปวงชนชาวไทย
พิธีถวายทำบุญทักษิณานุปทาน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เริ่มจากประธานจุดธูป-เทียนบูชาพระรัตนตรัย จากนั้น เป็นการจุดธูป-เทียนเครื่องทองน้อย ถวายสักการะหน้าพระฉายาสาทิสลักษณ์สมเด็จย่า พิธีสวดพระพุทธมนต์ พระสงฆ์สดับปกรณ์ พระสงฆ์อนุโมทนา เป็นเสร็จพิธี
ภาพจาก
กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้เข้าร่วมพิธีทานหาแม่ฟ้าหลวง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ณ ไร่แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
ผู้บริหารและพนักงาน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เข้าร่วมพิธีทานหาแม่ฟ้าหลวง ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ณ ไร่แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
ภาพบรรยากาศ พิธีทานหาแม่ฟ้าหลวง ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ภาพบรรยากาศ พิธีทอดผ้าป่าเพื่อการศึกษาและมอบทุนการศึกษา เนื่องในวันทานหาแม่ฟ้าหลวง
ณ หอประชุมสมเด็จย่า มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง