วิทยาลัยชุมชนตาก

TAK COMMUNITY COLLEGE


ประวัติความเป็นมาของวิทยาลัยชุมชนตาก

ตามที่รัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะปฏิรูปการศึกษา  ภายใต้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เพื่อให้คนไทยทั้งปวงได้รับโอกาสเท่าเทียมกันที่จะเรียนรู้ฝึกอบรมได้ตลอดชีวิต  โดยยึดหลัก  “การศึกษา  สร้างชาติ  สร้างคน  และสร้างงาน” จึงมีนโยบายให้มีวิทยาลัยชุมชน เพื่อเป็นแหล่งส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชนให้ได้รับการศึกษาระดับอุดมศึกษาขั้นต่ำกว่าปริญญา  และฝึกอบรมในหลักสูตรและสาขาวิชาที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของชุมชนเป็นสำคัญ  และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนจังหวัดตาก ตามคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการที่ สป 1111/2544 ลงวันที่  17 ตุลาคม  2544  โดยให้คณะกรรมการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชน  พิจารณาจัดหาและคัดเลือกสถานศึกษาเพื่อเป็นวิทยาลัยชุมชนตาก  สรรหาประธานคณะทำงานดำเนินงานวิทยาลัยชุมชนจังหวัด  และแต่งตั้งคณะทำงานดำเนินงานวิทยาลัยชุมชนจังหวัดตาก  เพื่อจัดทำประชาวิจารณ์  จัดเก็บข้อมูลพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ  สังคม การศึกษา ข้อมูลสถานศึกษา  เพื่อคัดเลือกสถานศึกษาเป็นวิทยาลัยชุมชนจังหวัดตาก    โดยเชิญตัวแทนภาครัฐ  ภาคเอกชน  ผู้ประกอบการ  ผู้นำทางศาสนา  ผู้นำท้องถิ่น   ผู้ปกครอง  นักเรียน  นักศึกษา  และประชาชนทั่วไป  เข้าร่วมประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็น  ซึ่งปรากฏว่ามีสถานศึกษาที่มีศักยภาพและความพร้อม จำนวน 5 แห่ง  จับมือกันเป็นพันธมิตร  ร่วมกันจัดตั้งเป็นวิทยาลัยชุมชนตาก  โดยมีศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดตาก  ทำหน้าที่เป็นวิทยาลัยชุมชนแม่ข่าย  และมีวิทยาลัยสารพัดช่างตาก  วิทยาลัยการอาชีพบ้านตาก  วิทยาลัยการอาชีพแม่สอด  วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตาก ทำหน้าที่เป็นวิทยาลัยชุมชนเครือข่าย ต่อมาวิทยาลัยชุมชนได้มีการจัดทำวิจัยความต้องการในการศึกษาต่อในระดับอนุปริญญา  และหลักสูตรระยะสั้น  เพื่อจัดทำหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง

คณะรัฐมนตรีมีมติในวันที่  19 กุมภาพันธ์  2545  ให้จัดตั้งวิทยาลัยชุมชน 10  จังหวัด 10 แห่ง  เมื่อวันที่  17เมษายน 2545 คือ แม่ฮ่องสอน  พิจิตร  อุทัยธานี   ระนอง  นราธิวาส  สระแก้ว   มุกดาหาร   หนองบัวลำภู   บุรีรัมย์และตาก และขยายการจัดตั้งเพิ่มขึ้นในปีต่อ ๆ ไปเพิ่มขึ้นอีก  8  แห่ง  8   จังหวัด  คือ ปัตตานี ยะลา สมุทรสาคร  ตราด  พังงา   สตูล ยโสธร และจังหวัดแพร่  และขยายเพิ่มขึ้นอีก  1 แห่ง คือ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550   รวม เป็น  19 แห่ง  และเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2554 ได้ผ่านการอนุมัติให้จัดตั้งวิทยาลัยชุมชนเพิ่มอีก 1 แห่ง คือ น่าน และเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ประชาชนผู้พลาดโอกาสทางการศึกษาในอดีตและมีเวลาเข้ารับการศึกษาค่อนข้างจำกัดไม่มีทางเลือกใหม่ที่จะศึกษาเรียนรู้ทั้งด้านวิชาการและวิชาชีพตามความพร้อมและความจำเป็นของแต่ละบุคคลในการบริหารงานวิทยาลัยชุมชนจังหวัดตาก(ชื่อเดิม) ปี พ.ศ. 2545-2546  จัดในรูปแบบวิทยาลัยชุมชนแม่ข่าย เครือข่าย  และหน่วยจัดโดยใช้หน่วยงานและสถานศึกษาที่มีอยู่ในจังหวัดตากร่วมดำเนินการ  ดังนี้   

1.  วิทยาลัยชุมชนจังหวัดตาก  แม่ข่าย  คือศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดตากและทำหน้าที่เป็นสำนักงานวิทยาลัยชุมชนจังหวัดตากด้วย

2.  วิทยาลัยชุมชนจังหวัดตาก  เครือข่าย  คือ

          2.1  วิทยาลัยสารพัดช่างตาก                     

          2.2  วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตาก

          2.3  วิทยาลัยการอาชีพบ้านตาก                 

          2.4  วิทยาลัยการอาชีพแม่สอด

3.  หน่วยจัดการศึกษาวิทยาลัยชุมชนจังหวัดตาก  คือ

          3.1  หน่วยจัดการศึกษาโรงเรียนท่าสองยางวิทยาคม   

          3.2  หน่วยจัดการศึกษาโรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม

          3.3  หน่วยจัดการศึกษาโรงเรียนสามเงาวิทยาคม       

          3.4  หน่วยจัดการศึกษาโรงเรียนแม่จะเราสองแคว 

จัดการศึกษาหลักสูตรอนุปริญญา เพื่อยกระดับให้กับประชาชนผู้ขาดโอกาสในพื้นที่จังหวัดตาก ในโปรแกรมวิชา ดังนี้ 

        1.  โปรแกรมวิชาการปกครองท้องถิ่น  

        2.   โปรแกรมวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ   

        3.   โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีรถยนต์

จัดการศึกษาหลักสูตรระยะสั้น ที่ตอบสนองต่อสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชน  เพื่อการสร้างงาน  สร้างอาชีพ  และสร้างรายได้ของประชาชนในท้องถิ่นหลากหลายอาชีพสำหรับบุคลากรในการบริหารและปฏิบัติงาน  โดยความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาที่ทำหน้าที่แม่ข่าย  เครือข่าย และหน่วยจัดการศึกษา ดำเนินการให้การจัดกิจกรรมการศึกษาบรรลุตามเจตนารมณ์ของวิทยาลัยชุมชน ต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้ออกกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญารูปแบบวิทยาลัยชุมชนโดยสรุปดังนี้

   1. ชื่อวิทยาลัยชุมชนที่มีคำว่าจังหวัดต่อท้ายให้ ตัดออก  วิทยาลัยชุมชนจังหวัดตากเป็นวิทยาลัยชุมชนตาก
2. องค์คณะบุคคลในการบริหารเปลี่ยนจากคณะกรรมการวิทยาลัยชุมชนจังหวัดตากเป็นคณะกรรมการสภาวิทยาลัยชุมชนตากและให้มีการสรรหาเข้าสู่ตำแหน่งใหม่ทั้งหมดมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ  3  ปี
3.  ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนตากใหม่  มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ  4  ปี
4.  ได้กำหนดคุณสมบัติ และอัตรากำลังบุคลากรเป็นข้าราชการ  จำนวน 16 อัตราวุฒิปริญญาโทจากการโอนย้ายและคัดเลือกจากสาขาวิชาที่ขาดแคลน
5. ได้กำหนดอัตราพนักงานราชการ จำนวน 14 อัตรา เพื่อปฏิบัติงานในสำนักงานวิทยาลัยชุมชนตาก

วิทยาลัยชุมชนตากได้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎกระทรวง คือ  จัดให้มีการลงนามส่งมอบงานวิทยาลัยชุมชนตาก เครือข่ายทั้ง 4 แห่งเดิมให้แก่วิทยาลัยชุมชนตาก เมื่อวันที่  13  ตุลาคม  2547 และให้ดำเนินการในรูปหน่วยจัดการศึกษา   จัดการบริหารสถานศึกษาให้เป็นสถานศึกษาเดียว คือวิทยาลัยชุมชนตากและหาที่ตั้งใหม่เป็นเอกเทศ  โดยได้ที่ราชพัสดุพื้นที่  25 ไร่ หมู่ที่ 1  ถนนพหลโยธิน  ตำบลหนองบัวใต้   อำเภอเมือง  จังหวัดตาก เดิมสำนักงานเขตพื้นที่การสึกษาตาก เขต 1 เป็นผู้ใช้ประโยชน์มีอาคารเรียนแบบ สปช 105/2529 สองชั้น จำนวน 8 ห้องเรียน ติดบ้านพักพนักงานบริษัทผาแดงอินดัสทรี  จำกัด(มหาชน)  และได้ย้ายสำนักงานจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดตากไปสำนักงานใหม่เมื่อวันที่  17  มกราคม  2548  ปี พ.ศ. 2558 ประกาศพระราชบัญญัติวิทยาลัยชุมชน พ.ศ.2558 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2558 และ มีผลบังคับใช้ วันที่ 11 เมษายน 2558 สถาบันวิทยาลัยชุมชน จึงกลายเป็น นิติบุคคล โดยมีผู้อำนวยการสถาบันวิทยาลัยชุมชน เป็นผู้บริหาร


สถานที่ตั้งวิทยาลัยชุมชนตาก

วิทยาลัยชุมชนตาก หมู่ที่ 1 ถนนพหลโยธิน  ตำบลหนองบัวใต้ อำเภอเมือง จังหวัดตาก  63000 โทรศัพท์  055-897060-1 โทรสาร 055-897063 วิทยาลัยชุมชนตากได้รับโอนอาคารและสถานที่จากราชพัสดุพร้อมสิ่งปลูกสร้างเดิม สพฐ.ตาก เขต1 เป็นผู้ใช้ประโยชน์ วิทยาลัยชุมชนตากขอใช้อาคารพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2547 และได้ทำการปรับปรุงอาคาร จำนวน 4 หลัง ได้แก่       (1) อาคารเรียนแบบ สปช.105 รวม 8 ห้องเรียน (2) บ้านพักครูชาย 1 หลัง (3) บ้านพักครูหญิง 1 หลัง (4) ห้องส้วมนักเรียน 1 หลัง เพื่อให้พร้อมใช้งาน ส่งมอบงานเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2548 

1. พื้นที่ราชพัสดุ

   -    แปลงที่ดิน หมายเลข ตก.380 เนื้อที่ 10 ไร่ 13.60 ตรว.     

   -    แปลงที่ดิน หมายเลข ตก.381 เนื้อที่ 15 ไร่ 25.30 ตรว.

2. อาคารเรียนอาคารประกอบ ที่ราชพัสดุ  

   2.1 อาคารเรียน แบบ สปช.105 รวม 8 ห้องเรียน                  

   2.2 บ้านพักครูชาย       จำนวน 1 หลัง

   2.3 บ้านพักครูหญิง       จำนวน 1 หลัง                             

   2.4 ห้องสุขานักเรียน     จำนวน 1 หลัง

   2.5 อาคารหอประชุมตันติสุนทร จำนวน  1   หลัง                 

   2.6 อาคารวิทยบริการ จำนวน  1 หลัง

   2.7 หอพักนักศึกษาบ้านไกล                                          

   2.8 ห้องน้ำหอพักนักศึกษาบ้านไกล

   2.9 ห้องน้ำคนพิการ                                                    

   2.10 โรงเก็บพัสดุ

   2.11 อาคารเอนกประสงค์ (โรงอาหาร)

3. อาคารเรียนอาคารประกอบ ที่ขอใช้จากบุคคล/หน่วยงาน 

   3.1 ศูนย์การเรียนรู้ทางภาษาด้วยตนเองแม่สอด     จำนวน 1 หลัง

   3.2 ศูนย์อัญมณีและเครื่องประดับ อำเภอแม่สอด   จำนวน 1 หลัง

   3.3 ศูนย์บริการทางวิชาการประจำอำเภอ จำนวน 9 แห่ง 1 ห้องเรียน

แผนผังวิทยาลัยชุมชนตาก