ผ้าทอพื้นบ้าน ชาวเขาเผ่าปากะญอ

ผ้าทอพื้นบ้านปากะญอ จัดเป็นงานฝีมือประเภทผ้าที่สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น ชาวเขาเผ่าปากะญอ นิยมใส่เสื้อผ้าฝ้ายทอมือมาแต่สมัยโบราณ ซึ่งแต่เดิมชาวปากะญอ จะปลูกฝ้ายเองและนำฝ้ายมาปั่นเป็นเส้นด้ายย้อมด้วยสีธรรมชาติสร้างลวดลายด้วยการทอ การปักด้วยเส้นไหม และลูกเดือย สตรีชาวปากะญอ จะถ่ายทอดภูมิปัญญาการขึ้นลวดลายของผ้าและการทอผ้า ให้แก่บุตรสาว ๑๒ - ๑๕ ปี เริ่มจากแบบง่ายๆ ฝึกฝนจนมีความชำนาญ และสามารถออกแบบลวดลายด้วยตนเองได้ ที่นิยมทำกันมานานแล้วในชุมชนชาวเขาเผ่าปากะญอ แทบทุกบ้านถือเป็นศิลปะพื้นบ้านชนิดหนึ่ง โดยจะทอด้วยเครื่องทอผ้าแบบกี่เอวจะมีลักษณะ พิเศษสามารถเคลื่อนย้ายไปทอในที่ต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้าน ทำให้ทราบ ว่ามีมานานตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายและได้ถ่ายทอดสืบต่อมา กี่ทอผ้าในยุคก่อนทำจากไม้สัก เพราะเป็นไม้เนื้อแข็ง ส่วนลวดลายผ้าที่ทอนั้นก็มีเพียงไม่กี่ลาย เช่น ลายเมล็ดฟักทอง ลายดอกพริก ลายแมง มุม และลายหัวเต่า ซึ่งล้วนได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวเขาเผ่าปากะญอ ทั้งสิ้นนอกจากนี้ยังนิยมใช้ลูกเดือย ปักตกแต่งบนผืนผ้าอย่างสวยงาม สำหรับวัตถุดิบหลักที่นำมาใช้ในการทอผ้า คือ ฝ้าย ทั้งนี้เพราะดูดความชื้นได้ ง่ายผู้สวมใส่จะรู้สึกเย็นสบายเหมาะกับอากาศเมืองร้อน อีกทั้งยังปลูกได้ทั่วไป นับเป็นเอกลักษณ์ของผ้าทอ พื้นเมืองชาวเขาเผ่า ปากาญอ อย่างแท้จริง

ชาวเขาเผ่าปากะญอ ในพื้นที่ ตำบลโมโกร อำเภออุ้มผาง มีเอกลักษณ์ของการแต่งกายเสื้อผ้า ของชนเผ่าปากะญอ ไม่ว่าจะเป็นผู้ชาย ผู้หญิงหรือเด็ก จะต่างกันตรงสีสันและลวดลาย เสื้อทอจากฝ้ายที่ปลูกเองตามริมรั้ว ทอด้วยกี่เอว หน้าผ้ามีความกว้างเท่ากับลำตัวของผู้ทอ โครงสร้างของเสื้อคือการนำผ้าทอสองชิ้นมาเย็บติดกัน เว้นตรงกลางไว้สวมหัว และพับครึ่งเว้นตอนบนให้แขนลอด เย็บข้างลงไปถึงชายเสื้อ ตกแต่งขอบคอ ขอบแขน และชายเสื้อ มีสามรูปแบบ

1. การแต่งกายของผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงาน ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ เป็นสีขาวเท่านั้น มีการตกแต่งลวดลายเล็กน้อย โพกหัวด้วยผ้าทอที่มีลวดลาย คอเสื้อไม่ผ่าลึก เนื่องจากมีความเชื่อว่าถ้าผ่าลึกจะผิดประเพณี ทำอะไรก็ไม่เจริญ ไม่สวมเครื่องประดับ

2. การแต่งกายของผู้ชายไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ โครงเสื้อเหมือนผู้หญิง ไม่มีการตกแต่งเสริม

3. การแต่งกายของผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว ตัวเสื้อสั้นเนื่องจากต้องให้ลูกกินนมแม่ ตัวเสื้อมีการปักลวดลายด้วยเส้นด้ายฝ้ายและลูกเดือย สวมผ้าถุง ที่ขาดไม่ได้คือสร้อยคอลูกปัดหลากสีหลายๆ เส้น ยิ่งใส่มากยิ่งแสดงให้เห็นถึงความมีฐานะ และโพกหัวด้วยผ้าสีพื้น สีขาว ฟ้าและชมพู

อีกทั้งตัวอย่าง ผ้าทอพื้นบ้านปากะญอ สินค้าพื้นบ้านของชนเผ่าปกากะญอ ซึ่งเป็นชนเผ่าปากะญอ ในจังหวัดตาก และความงดงามอันเป็นเอกลักษณ์ของผ้าทอ ทำให้นักท่องเที่ยวที่ได้มีโอกาสไปท่องเที่ยวมักจะซื้อผ้าทอปากะญอ กลับมาเป็นของฝากและด้วยความงดงามอันเป็นเอกลักษณ์นี่เองได้เป็นที่มาของแนวคิดการพัฒนาและยกระดับผ้าทอปากะญอ ขึ้นมาในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ ต่าง ๆ

ผ้าทอปากะญอ เป็นภูมิปัญญาการทอผ้ากี่เอวด้วยเทคนิคที่มีเอกลักษณ์เฉพาะชาวปากะญเผ่าปกากะญอ ซึ่งเป็นชนเผ่าปากะญอ ในจังหวัดตาก มีการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวด้วยการทอผ้า ซึ่งเป็นวิธีการทอผ้าที่มีความเป็นเอกลักษณ์สูง มีการสืบทอดมายาวนานกว่าร้อยปี โดยครั้งเมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร ได้มีพระราชดำรัสให้สนับสนุนและส่งเสริมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผ้าปากะญอ เพื่อการรักษาไว้ซึ่งศิลปะการทอผ้าด้วยกี่เอวที่ถือว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะแห่งเดียวในโลก พร้อมมุ่งหวังให้ราษฎรปากะญอ เกิดการอนุรักษ์วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และมีรายได้ที่เพียงพอในการดำรงชีวิตในปัจจุบัน และเพื่อเป็นการ “สร้าง และกระตุ้น” ให้ราษฎรปากะญอ เกิดความตระหนัก ความรัก ความหวงแหน ในการอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมไว้ พร้อมทั้งสามารถนำทรัพย์สินทางปัญญานั้นมาสู่การพาณิชย์ เพื่อเป็นการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี