สวนสาธารณะฝายฯหนองหวาย

สวนสาธารณะฝายหนองหวายเกิดจากความร่วมมือระหว่างเทศบาลตำบลน้ำพองและโครงการปฏิบัติการคันคูน้ำที่ 6 อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น
เพื่อสร้างเป็นสถานที่พักผ่อนและออกกำลังให้แก่ชุมชนและนักท่องเที่ยวทั่วไปให้ได้มาชื่นชมความงดงามของแม่น้ำพอง

ความเป็นมาของโครงการฝายฯหนองหวาย

ความเป็นมาของโครงการ

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย เป็นโครงการต่อเนื่องมาจากการก่อสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ จากสาระสำคัญในการกู้เงินเพื่อสร้างเขื่อนอุบลรัตน์เพื่อผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแล้ว รัฐบาลไทยจะต้องสร้างโครงการชลประทานในลำน้ำพองใต้เขื่อนอุบลรัตน์ด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าลงทุน กรมชลประทาน ซึ่งได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการ โดยมีหัวงานฝายอยู่ที่บ้านน้ำพอง ตำบลน้ำพอง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ตัวฝายสร้างเป็นฝายคอนกรีตเสริมเหล็กแบบ OGEE สูง 5.90 เมตร สันฝายยาว 125.24 เมตร ระดับสันฝาย 162.500 ม.(รทก.) น้ำผ่านฝายได้สูงสุด 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สร้างในบริเวณคุ้งน้ำพอง ใต้เขื่อนอุบลรัตน์ลงมาตามลำน้ำ ประมาณ 35 กิโลเมตร และอยู่เหนือจังหวัดขอนแก่น ตามถนนมิตรภาพ สายขอนแก่น – อุดรธานี ประมาณ 33 กิโลเมตร ได้เริ่มก่อสร้างบริเวณหัวงานโครงการเมื่อปี 2508 แล้วเสร็จในปีเดียวกัน พร้อมอาคารชลประทาน รวมทั้งดำเนินการปรับปรุงโครงการชลประทานในรูปแบบโครงการพัฒนาเกษตรชลประทาน โดยได้มีการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโครงการมาเป็นลำดับ ซึ่งปัจจุบันสามารถส่งน้ำไปยังพื้นที่ชลประทาน โดยมีระบบส่งน้ำแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งขวาและฝั่งซ้ายของลำน้ำพอง

ระบบส่งน้ำฝั่งขวา ประกอบด้วย คลองสายใหญ่ 1 สาย ความจุ 15.80 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยาว 47.490 กิโลเมตร คลองซอยและคลองแยกซอย 15 สาย ความยาว 80.116 กิโลเมตร คูส่งน้ำ 259 สาย เพื่อส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกในเขตอำเภอน้ำพอง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

ระบบส่งน้ำฝั่งซ้าย ประกอบด้วย คลองส่งน้ำสายใหญ่ 1 สาย ความจุ 37.20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยาว 82.909 กิโลเมตร คลองซอยและคลองแยกซอย 56 สาย ความยาว 296.262 กิโลเมตร คูส่งน้ำ 647 สาย เพื่อส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกในเขตอำเภอน้ำพอง อำเภอซำสูง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่นและ อำเภอเชียงยืน อำเภอโกสุมพิสัย

ปัญหาและอุปสรรคของโครงการ

โครงการได้ดำเนินการส่งน้ำในแก่พื้นที่เพาะปลูกของราษฎรมายาวนานกว่า 50 ปี สร้างโอกาสและมีส่วนในการพัฒนาพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง จนการบริหารจัดการไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างเต็มที่ ดังปัญหาที่ปรากฏดังนี้

  • 1) การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินอันเนื่องมาจากการขยายตัวเศรษฐกิจ และชุมชน

  • 2) ระบบชลประทานและอาคารก่อสร้างมาเป็นเวลานาน มีการสูญเสียน้ำมาก เช่น การรั่วซึม เป็นต้น

  • 3) ความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้นของพื้นที่ด้านเหนือน้ำของฝายหนองหวายเพื่อตอบสนองกิจกรรมต่างๆ ทั้งด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การอุปโภค บริโภค การรักษาระบบนิเวศ เป็นต้น

  • 4) พื้นที่เหนือน้ำของฝายหนองหวาย ที่ระดับ +163.10 ถึงระดับ +167.00 ม. รทก. ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ เต็มศักยภาพ

  • 5) ปัญหาการระบายน้ำในพื้นที่โครงการที่ติดกับแม่น้ำชี

  • 6) อัตรากำลังไม่เพียงพอที่จะดูแลและบำรุงรักษาอาคารต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด จากความเป็นมา ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น กรมชลประทานจึงเล็งเห็นความสำคัญในการปรับปรุงโครงการ

จากความเป็นมา ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น กรมชลประทานจึงเล็งเห็นความสำคัญในการปรับปรุงโครงการเพื่อให้สามารถดำเนินการให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน และเพื่อให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) ในกลยุทธ์เพิ่มประสิทธิภาพโครงการแหล่งน้ำและระบบชลประทานเดิม

ที่มา : http://oopm.rid.go.th/consultantjob/nongwai/background.html

ประวัติความเป็นมาของแม่น้ำพอง : ฝายฯหนองหวาย

ลูกเสือมัคคุเทศแนะนำแหล่งท่องเที่ยว