ประเพณีส่งตายาย

งานประเพณีส่งตายาย ซึ่งตรงกับวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ของทุกปี ซึ่งมีความน่าสนใจและควรค่าแก่การอนุรักษ์เพื่อสืบสานไปสู่รุ่นลูกหลานต่อไป ประเพณีรับ - ส่ง ตายาย ก็เป็นอีกประเพณีท้องถิ่นประจำภาคใต้อีกอย่างหนึ่งที่คู่ควรรักษาไว้ ซึ่งความเป็นมา คนไทยท้องถิ่นภาคใต้ มีความเชื่อว่าบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้ว จะไปอยู่ในภพภูมิที่ตนได้ไปอยู่ตามบุญกุศลที่ได้สร้างไว้เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ เมื่อถึงเวลาจะถูกปลดปล่อยจากภพภูมิที่ตนได้ไปอยู่นั้น เพื่อกลับมาเยี่ยมเยือนญาติพี่น้องในตระกูลของตนเอง ส่วนลูกหลานเมื่อถึงวันที่บรรพบุรุษเดินทางกลับสู่โลกมนุษย์ ก็จะต้องไปรับ เรียก "วันรับตายาย" ซึ่งตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบ โดยการนำข้าวปลาอาหารคาว หวาน ไปทำบุญที่วัด เพื่อรับบรรพบุรุษกลับบ้าน และเมื่อถึงวันกลับไปสู่ภพภูมิของบรรพบุรุษ เรียก "วันส่งตายาย" ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบ ลูกหลานก็ต้องนำข้าวปลา อาหาร คาวหวาน ผลไม้ จัดสำรับไปถวายพระในตอนเช้า พร้อมกับจัดถุงตายาย ประกอบด้วย ข้าวสาร อาหารแห้ง หมากพลู ยาเส้น กะปิ น้ำปลา น้ำตาล พริกแห้ง หอม กระเทียม ขนมลา ข้าวเหนียวกวน ขนมถั่ว ขนมงา ดอกไม้ ธุูปเทียน เป็นต้น สำหรับของที่ใส่ในถุงตายายอาจจะแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละจังหวัด แล้วนำจัดใส่ถุงนำไปไว้ที่กองตายาย (สถานที่สำหรับวางถุงตายาย) บริเวณวัดที่จัดพิธี บางครอบครัวอาจนำโกฐบรรจุกระดูกบรรพบุรุษเพื่อร่วมพิธีสวดบังสุกุล อุทิศส่วนกุศลแก่ผู้วายชนม์ ซึ่งในวันรับตา-ยาย นั้น คนไทยยังให้ความสำคัญน้อยกว่าวันส่ง ด้วยเหตุผลที่ว่า วันรับนั้น บรรพบุรุษอาจมากับลูกหลาน หรือญาติคนใดก็ได้ แต่วันส่ง หากบ้านไหนไม่ไปส่งตายาย บรรพบุรุษจะไม่มีเสบียง หรือข้าวปลาอาหารที่นำกลับไปกิน จนต้องเอากรวดทรายบริเวณลานวัดใส่ถุงเดินร้องไห้กลับไป ชาวภาคใต้ทุกคนจึงปฏิบัติกันสืบทอดตั้งแต่รุ่นสู่รุ่นในเรื่องการส่งตายายจนถึงปัจจุบัน

วัตถุประสงค์ของประเพณี รับ-ส่งตายาย เพื่อแสดงความกตัญญูของลูกหลานต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว โดยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้

งานประเพณีวัฒนธรรม การอนุรักษ์สืบสานวันสงกรานต์ของหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน เป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณ เป็นประเพณีที่งดงามแสดงออกถึงขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมของไทย ควรได้รับการอนุรักษ์และส่งเสริมให้เป็นมรดกอันดีงามด้านประเพณีสืบไป เป็นการแสดงออกถึงความเป็นไทยอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังมีการสรงน้ำพระที่นำสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่อย่างมีความสุข การแสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณผู้มีพระคุณ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ และการให้เกียรติเคารพซึ่งกันและกัน สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน โดยใช้น้ำเป็นสื่อในการเชื่อมสัมพันธไมตรี ประเพณีสงกรานต์จึงเป็นประเพณีที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมายาวนาน