ข่าวการศึกษา

กสศ.สรุปความความเคลื่อนไหว วงการกรศึกษาโลก (31-05-2021)

สรุปความเคลื่อนไหวในรอบสัปดาห์ในแวดวงการศึกษาโลก


สรุปข่าวความเคลื่อนไหวในแวดวงการศึกษาโลก


1. สิงคโปร์เล็งขยายโรงเรียนอนุบาลของรัฐเพิ่มอีก 7 แห่งใน 4 ปีข้างหน้า

กระทรวงการศึกษาธิการสิงคโปร์เปิดเผยว่า ทางกระทรวงมีแผนที่จะเปิดโรงเรียนอนุบาลในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ หรือ MOE Kindergarten (K1) อีก 7 แห่งภายในปี 2024 และ 2025 โดย 5 แห่งเปิดในปี 2024 และอีก 2 แห่งจะเปิดให้บริการในปี 2025 แถลงการณ์ของกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ ระบุว่า โรงเรียนอนุบาลดังกล่าวจะตั้งอยู่ภายในพื้นที่เดียวกันกับโรงเรียนประถมศึกษาของรัฐฯ โดยโรงเรียนจะให้บริการดูแลเด็กเล็กรายวัน ทั้งแบบเต็มวันและครึ่งวัน ให้แก่พ่อแม่ผู้ปกครองในเขตการศึกษาที่โรงเรียนตั้งอยู่ ทั้งนี้ นอกจากจะให้บริการดูแลเด็กเล็กเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ในวันทำงานแล้ว โรงเรียนอนุบาลของทางกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ยังมีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือสนับสนุนเตรียมความพร้อมให้เด็กอนุบาลสามารถเลื่อนชั้นเข้าเรียนโรงเรียนในระดับประถมศึกษาได้อย่างราบรื่นง่ายดายมากยิ่งขึ้น (Channel News Asia)


2.เกาหลีใต้กุมขมับ เด็กสมัครเข้ามหาวิทยาลัยต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดหวังไว้

สภาเพื่อการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยแห่งเกาหลีใต้ (Korean Council for University Education) เปิดเผยว่า หลักสูตรปริญญาตรี 4 ปีของมหาวิทยาลัยมากกว่า 160 แห่งทั่วเกาหลีใต้กำลังประสบปัญหาด้านจำนวนผู้เรียน เพราะมีนักเรียนสมัครเข้าเรียนน้อยกว่าโควต้าที่ตั้งเป้าไว้ในปีนี้ แม้ทางสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จะออกสารพัดกลยุทธ์จูงใจเพื่อกระตุ้นให้เด็กมาสมัครเรียน ไม่ว่าจะเป็นการขยายระยะเวลาลงทะเบียน การให้ทุนการศึกษา ไปจนถึงการแจกiPhone ข้อมูลจากสภาฯ พบว่า จำนวนที่นั่งว่างในมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 2.7 เท่า และถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 16 ปี ทั้งนี้ ในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา แม้จำนวนมหาวิทยาลัยในเกาหลีใต้จะเพิ่มมากขึ้น แต่จำนวนนักศึกษากลับลดลง โดยมีสาเหตุหลักมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงในประเทศ และมีการคาดการณ์ว่าจำนวนผู้เข้าเรียนจะลดลงอีก 20% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า เพื่อแก้ปัญหาจำนวนสถานศึกษาที่ล้นเกินจำนวนผู้เรียน ทางกระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้ได้ประกาศระงับงดสนับสนุนเป็นเวลา 3 ปี ให้แก่ทางมหาวิทยาลัยที่ไม่สามารถหานักเรียนสมัครเข้าเรียนได้ตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ทางสหภาพตัวแทนศาสตราจารย์และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยต่างออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเกาหลีใต้พิจารณาหาแนวทางอื่นในการจัดการปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น (Korea JoongAng Daily)


3. รัฐบาลท้องถิ่นออนตาริโอเดินหน้าหนุนนักเรียนเข้าถึงห้องเรียนออนไลน์

รัฐบาลท้องถิ่นในรัฐออนตาริโอ ประเทศแคนาดา เปิดเผยความคืบหน้าของโครงการ Virtual Learning Strategy ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ความช่วยเหลือสนับสนุกบรรดานักเรียนในพื้นที่สามารถเข้าถึงห้องเรียนออนไลน์ได้มากขึ้นและดีขึ้น ว่าทางรัฐบาลท้องถิ่นได้เริ่มจัดสรรงบประมาณพิเศษราว 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.25 ล้านบาท) มอบให้สถาบันการศึกษาเพื่อเร่งเดินหน้าสร้างแพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์ซึ่งจะทำให้นักเรียนในออนตาริโอสามารถเข้าถึงห้องเรียนออนไลน์ ช่วยยกระดับการเรียนรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ โดย Steve Clark หนึ่งในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า นวัตกรรมและเทคโนโลยีจะเป็นกุญแจสำคัญในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของออนตาริโอหลังไวรัสโควิด-19 ระบาด ดังนั้น การเตรียมความพร้อมด้านกำลังคนจึงเป็นทั้งเครื่องมือและแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้ออนตาริโอประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ สำหรับกลยุทธ์ห้องเรียนเสมือนจริง หรือ Virtual Learning Strategy นี้ จะเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาสามารถเข้าถึงพื้นที่ความรู้ และแบบฝึกหัดกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดจนการสร้างและประยุกต์ใช้คอนเทนต์ การจัดสรรอุปกรณ์เครื่องมือในการเรียนการสอนออนไลน์ และการชี้เป้าเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้สนับสนุนคอร์สเรียนออนไลน์ ทั้งนี้ โครงการ Virtual Learning Strategyได้รับการลงทุนไปแล้วมากกว่า 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (My Kemtp Ville Now)


4. มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ จับมือเอกชนเปิดศูนย์ให้ความรู้ด้านแฟรนไชส์

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า มหาวิทยาลัย University of Louisville จับมือเป็นพันธมิตรกับทาง Yum! Brands เจ้าของเครือเฟรนไชส์ฟาสต์ฟูดส์ชั้นนำอย่าง KFC, Taco Bell และ Pizza hut เพื่อสร้างศูนย์ Center for Global Franchise Excellence ที่มีเป้าหมายเพื่อให้ความรู้และฝึกอบรมบ่มเพาะทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต้องมีในการทำงานในธุรกิจอุตสาหกรรมแฟรนไชส์ ไล่เรียงตั้งแต่ระดับพื้นฐาน การปฏิบัติงาน ไปจนถึงระดับการบริหารจัดการ โดยกลุ่มเป้าหมายหลักในช่วงเริ่มแรกของการดำเนินโครงการ คือ กลุ่มประชากรชาวอเมริกันผิวสี และกลุ่มผู้หญิง เพื่อให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะเริ่มต้นลองทำธุรกิจและเป็นเจ้าของธุรกิจกิจการ ทั้งนี้ หลักสูตรทั้งหมดของตัวโครงการมีทั้งหมด 3 ระดับคือสำหรับเด็กมัธยมปลาย มหาวิทยาลัย และระดับผู้บริหารที่เมื่อเรียนจบตามหลักสูตรจะได้รับใบประกาศนียบัตร Franchise Management Certificate ทั้งนี้ นอกจากศูนย์ดังกล่าวจะให้ความรู้และฝึกฝนทักษะของธุรกิจแฟรนไชส์แล้ว ทางศูนย์ยังให้บริการดำเนินการวิจัยศึกษา เพื่อทำความเข้าใจต่อความสำเร็จของธุรกิจดังกล่าวด้วย

ที่มา Channel News Asia, Korean JoongAng Daily, MyKemptVilleNow, 1851 Franchise,

https://www.channelnewsasia.com/.../7-new-moe...

https://ncee.org/round-up-2/

https://www.mykemptvillenow.com/.../st-lawrence-college.../

https://1851franchise.com/yum-brands-and-the-university...

แหล่งข้อมูล https://www.facebook.com/EEFthailand

กสศ.สรุปความความเคลื่อนไหว วงการกรศึกษาโลก (10-05-2021)

สรุปความเคลื่อนไหวในรอบสัปดาห์ในแวดวงการศึกษาโลก


1.รัฐบาลออนตาริโอเล็งเสนอโรงเรียนเสมือนจริงเป็นทางเลือกในปีการศึกษา 2021-2022

Stephen Lecce รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศว่า ทางรัฐออนตาริโอเตรียมบรรจุโรงเรียนเสมือนจริงเป็นทางเลือกให้แก่นักเรียนตลอดทั้งปีสำหรับปีการศึกษา 2021-2022 นี้ โดยการตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นตามข้อเรียกร้องของบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องการให้มีทางเลือกดังกล่าวในปีการศึกษาใหม่ที่จะเริ่มขึ้นในเดือนกันยายนนี้ หลังสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด ขณะที่ Marit Stiles นักวิจารณ์สังกัดพรรค New Democratic ระบุว่า การตัดสินใจของรัฐบาลครั้งนี้ เป็นไปเพื่อประหยัดงบประมาณมากกว่าที่จะเป็นการตอบสนองต่อสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ทั้งนี้ ทางกระทรวงศึกษาธิการยังใช้โอกาสนี้ เปิดเผยว่า ทางรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณมูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์แคนาดา ตั้งเป็นกองทุนใหม่ที่มุ่งให้ความช่วยเหลือสนับสนุนปัญหาสุขภาพจิต และการฟื้นฟูระดับความรู้ของเด็กนักเรียน นอกจากนี้ กองทุนดังกล่าวยังมุ่งให้ความช่วยเหลือกลุ่มเด็กนักเรียนบางกลุ่มอย่าง กลุ่มนักเรียนผิวสี กลุ่มนักเรียนชนพื้นเมือง และกลุ่มนักเรียนรายได้น้อย ซึ่งกลุ่มดังกล่าวล้วนเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจาการระบาดของไวรัสโควิด-19 (CP24)


2.สวิสเผยสัดส่วนเด็กจบมหาวิทยาลัยมีมากกว่าเด็กจบสายอาชีวะเป็นครั้งแรก

สื่อท้องถิ่นในสวิตเซอร์แลนด์รายงานว่า สัดส่วนของประชากรวัยแรงงานที่จบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยมีมากกว่าแรงงานที่จบการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาเป็นครั้งแรกของประเทศ โดยในปี 2020 ประชากรวัยแรงงานอายุระหว่าง 25-63 ปีจำนวน 45.3% มีวุฒิการศึกษาในระดับปริญญาขึ้นไป ขณะที่ 44% อยู่ในระดับอนุปริญญาหรือระดับอาชีวะศึกษา โดยเมื่อเทียบกับเมื่อ 20 ปีก่อน ประชากรวัยแรงงานเกือบ 60% ของสวิสจบการศึกษาในระดับอนุปริญญาหรืออาชีวะศึกษาเท่านั้น ทั้งนี้ ผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า 3 ทิศทางสำคัญในตลาดแรงงานของประเทศในปัจจุบัน คือ 1) นักเรียนสวิสส่วนใหญ่เริ่มตระหนักว่าการเรียนปริญญาเป็นสิ่งจำเป็นต่อการแข่งขันในโลกการทำงานยุคใหม่ 2) สวิตเซอร์แลนด์ขณะนี้ดึงดูดชาวต่างชาติที่มีการศึกษาระดับสูงให้เข้ามาทำงานมากขึ้น และ 3) โครงการหลักสูตรการฝึกงานและอาชีวศึกษามีทางเลือกให้เข้าถึงการเรียนในระดับที่สูงขึ้นไปได้ ร่วมถึงระดับปริญญาตรีในสายงานอาชีพของตน ซึ่ง Rudolf Strahm นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า คนในสายอาชีวศึกษาที่ได้รับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นไปกำลังเป็นที่ต้องการในตลาดงานของสวิส แถมยังเป็นที่ต้องการมากกว่านักศึกษาที่เรียนจบมหาวิทยาลัยมาเพียงอย่างเดียว (Expatica)


3. ออสเตรเลียเปิดตัวโครงการฝึกอบรวมครูเพื่อยกระดับศักยภาพเด็กนักเรียน

Alan Rudge รัฐมนตรีสหพันธ์การศึกษา (Federal Education Minister) ของออสเตรเลียได้แต่งตั้งคณะกรรมผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา โดยมี Lisa Paul อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการออสเตรเลียเป็นประธาน เพื่อริเริ่มจัดทำโครงการฝึกอบรมครู หลังเล็งเห็นว่า คุณภาพการสอนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่จะช่วยให้ระบบการศึกษาของออสเตรเลียบรรลุเป้าหมาย นั่นคือ ก้าวเข้าสู่อันดับของประเทศที่มีการศึกษาดีมีคุณภาพติดอันดับโลกอีกครั้งภายในปี 2030 ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการจะมุ่งให้ความสนใจในกระบวนการคัดสรรคุณครูที่มีศักยภาพเข้ามาในระบบ และหาวิธีเตรียมความพร้อม รวมถึงยกระดับทักษะความสามารถในการสอนให้กับเด็กนักเรียนชาวออสเตรเลีย โดย รัฐมนตรี Rudge กล่าวว่า ความช่วยเหลือและคำแนะนำของบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเหล่านี้จะเป็นการรับรองได้ว่า การคัดสรรครูของระบบการศึกษาออสเตรเลียจะดึงดูดครูที่มีความสามารถในการสอนอย่างแท้จริง ซึ่งครูเหล่านี้จะได้รักบารพัฒนาทักษะที่จำเป็นเพื่อถ่ายทอดความรู้ได้ตามที่เด็กนักเรียนต้องการ อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Rachel Wilson แห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่เพียงพอ เพราะออสเตรเลียจำเป็นต้องมีการร่วมมือกันจากหลายฝ่ายในการวางแผนระบบการศึกษาระยะยาวอย่างน้อย 10 ปีเพื่อรับมือกับปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ขณะที่ทาง Michele Simons ประธานสภาคณบดีการศึกษาแห่งออสเตรเลีย กล่าวชื่นชนความพยายามดังกล่าวของภาครัฐ พร้อมเรียกร้องให้มีการสนับสนุนและให้โอกาสครูในทุกระดับ ไม่ใช่แค่ครูจบใหม่ ได้ขัดเกลาทักษะวิชาชีพครูอย่างมืออาชีพได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจะเผยร่างร่ายงานการทำงานฉบับแรกต่อสาธารณะในเดือนมิถุนายนนี้ และตั้งเป้าจัดทำแผนฉบับสมบูรณ์ให้แล้วเสร็จในระยะเวลา 6 เดือน (Sydney Morning Herald)


4. ไต้หวันขยายหลักสูตรการสอนภาษาอังกฤษในระดับปริญญา ตั้งเป้าสร้างสังคม 2 ภาษาภายในปี 2030

กระทรวงศึกษาธิการแห่งเกาะไต้หวันเปิดเผยว่า กำลังคัดเลือกมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วเกาะเพื่อเข้าร่วมโครงการส่งเสริมทักษะด้านภาษาอังกฤษมูลค่า 22.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้นักศึกษาจบใหม่อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง มีความสามารถพูดได้สองภาษาคือจีนและอังกฤษอย่างคล่องแคล่วภายใน 10 ปีข้างหน้า โดยปัจจุบัน มีนักศึกษาไต้หวันจบใหม่เพียง 20% เท่านั้นที่มีทักษะสองภาษา ทั้งนี้ ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน แห่งไต้หวันได้ริเริ่มเกี่ยวกับโครงการสร้างชาติสองภาษา หรือ Bilingual Nation by 2030 Project ขึ้นในปี 2018 ซึ่งนับแต่นั้น ทางกระทรวงศึกษาธิการไต้หวันได้เพิ่มจำนวนครูสอนภาษาอังกฤษในทุกระดับชั้น และวางแผนที่จะเพิ่มงบประมาณเพื่อสนับสนุนหลักสูตรการศึกษาสองภาษา ซึ่งในระหว่างการประชุมกับภาครัฐเมื่อช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว ประธานาธิบดีไช่ ย้ำชัดว่า การบรรลุขีดความสามารถด้านภาษาอังกฤษขั้นสูงคือกุญแจสำคัญที่จะนำพาไต้หวันก้าวเข้าสู่เวทีโลกได้อย่างสง่างาม

ที่มา : National Center for Education and the Economy

https://ncee.org/round-up-2/

แหล่งข้อมูล https://www.facebook.com/EEFthailand

กสศ.สรุปความความเคลื่อนไหว วงการกรศึกษาโลก (03-05-2021)

สรุปความเคลื่อนไหวในรอบสัปดาห์ในแวดวงการศึกษาโลก


1. แคนาดาจัดงบลงทุนในโครงการสำหรับการดูแลบริบาลเด็กทั่วประเทศ

Chrystia Freeland รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของแคนาดา เปิดเผยว่า รัฐบาลแคนาดาจะจัดสรรงบมูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์แคนาดา (ราว 7.6 แสนล้านบาท) เพื่อนำไปลงทุนในการสร้างโครงการดูแลบริบาลเด็กแห่งชาติ หรือ National Childcare Program ในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยเป็นการดำเนินการตามที่รัฐบาลเคยให้คำมั่นว่า ทั้งนี้ ภายใต้โครงการดังกล่าว รัฐบาลตั้งเป้ามุ่งจัดโครงการดูแลเด็กๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้หญิงทั้งหลายให้สามารถกลับเข้ามาทำงานได้อีกครั้งหลังจากต้องตกงานไปในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ระบาด โดยรัฐมนตรีคลังแคนาดากล่าวว่า หากปราศจากโครงการที่จะเข้ามาช่วยดูแลบริบาลเด็กๆ บรรดาพ่อแม่ โดยเฉพาะคุณแม่ก็ไม่อาจจะทำงานได้ สำหรับค่าใช้จ่ายในโครงการนี้ ครึ่งหนึ่งรัฐบาลกลางเป็นจะผู้รับผิดชอบ ขณะที่อีกครึ่งหนึ่งรัฐบาลท้องถิ่นจะร่วมแบกรับ (Reuters)


2. ผลสำรวจชี้มาตรการสกัดโควิด-19 กระทบต่อการเรียนรู้ด้านภาษาของเด็กนักเรียน

ผลการสำรวจเด็กนักเรียนอายุ 4-5 ขวบ และเด็กนักเรียนในระดับประถมศึกษาทั่วอังกฤษพบว่า จำนวนเด็กนักเรียนที่สมัครเข้าเรียนในระดับประถมศึกษาในภาคปีการศึกษา 2020 มีพัฒนาการทางภาษาที่แย่ลงมากขึ้น โดยการสำรวจซึ่งจัดทำโดยมูลนิธิEducation Endowment Foundation ระบุว่า หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้พัฒนาการทางภาษาของเด็กล่าช้าเป็นเพราะมาตรการสกัดกั้นการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งส่งผลให้เด็กๆ ต้องลดการติดต่อกับปู่ย่าตายาย ไม่มีการเล่นกับเพื่อน และต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย และขาดการติดต่อทางสังคม โดยทั้งหมดถือเป็นประสบการณ์ชีวิตที่สำคัญในการส่งเสริมให้เด็กเล็กๆ ได้บ่มเพาะทักษะการสื่อสารและคลังคำศัพท์ ทั้งนี้ จากการสำรวจนักเรียนทั้งหมด 50,000 คนจากโรงเรียนประถม 58 แห่งทั่วประเทศ มีเด็กนักเรียนถึง 20-25% ที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือในการเสริมทักษะภาษา ถือเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ยิ่งไปกว่านั้นหลายครอบครัวยังไม่สามารถทำการสื่อสารแบบเห็นหน้าได้บ่อยๆ ทำให้เด็กไม่สามารถบ่มเพาะทักษะในการจับใจความภาษาได้อีกด้วย และเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น Vicky Ford รัฐมนตรีกระทรวงเด็กและครอบครัว ได้ออกมาชี้แจงว่า ทางรัฐบาลได้จัดสรรงบ 18 ล้านปอนด์ (ราว 774 ล้านบาท) เพื่อลงทุนในโครงการสนับสนุนพัฒนาการทักษะทางภาษาแก่เด็กปฐมวัย โดยเป็นส่วนหนึ่งของแพ็คเกจพิเศษเพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่จำเป็นต้องได้รับหลังสามารถกลับมาเรียนที่ห้องเรียนได้ตามปกติ มูลค่ารวม 700 ล้านปอนด์ (ราว 30,000 ล้านบาท) (BBC)


3. กระทรวงศึกษาธิการจีนเดินหน้าลดปริมาณการบ้านของเด็กนักเรียน

กระทรวงศึกษาธิการจีนเปิดเผยนโยบายการศึกษาฉบับใหม่ โดยมุ่งลดปริมาณเวลาที่เด็กนักเรียนจะต้องใช้ในการทำการบ้านลง ซึ่งหมายความว่าทางการจีนได้มีคำสั่งห้ามไม่ให้โรงเรียนมอบหมายการบ้านให้แก่เด็กนักเรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2 ขณะที่นักเรียนในระดับชั้นเรียนที่สูงขึ้นไปช่วยให้เวลาระหว่าง 1 – 1.30 ชั่วโมงในการทำการบ้านต่อคืน ขณะเดียวกัน ในส่วนของชั้นเรียนพิเศษหลักเลิกเรียนของเอกชนต่างๆ ก็ถูกสั่งห้ามสั่งงานหรือการบ้านเพิ่มเติมแก่เด็กนักเรียนด้วย ทั้งนี้ ในอดีต บรรดานักเรียนชาวจีนในหลายมณฑลต้องเผชิญกับความกดดันจากความเครียดและความเหนื่อยล้า เพราะต้องเรียนหนังสือและทำการบ้านอย่างหนักหน่วง ซึ่งนโยบายใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการจีนนี้เป็นเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายอื่นๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ที่ล้วนมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมสนับสนุนชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและมีการพัฒนาแบบองค์รวมมากขึ้น


4.ออสเตรเลียปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาของประเทศให้ทันสมัย มุ่งเสริมพื้นฐานและความหลากหลายทางวัฒนธรรม

สำนักงานหลักสูตร การวัดประเมินผลและการรายงานแห่งออสเตรเลีย (Australian Curriculum, Assessment and Reporting Authority - ACARA) เผยร่างทบทวนหลักสูตรแห่งชาติในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับหลักสูตรด้วยการลดวิชาเนื้อหาด้านมนุษยศาสตร์ แล้วหันไปเน้นพื้นฐานด้านการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์และพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ ขณะที่หลักสูตรในระดับประถมจะกลับมาเน้นที่ทักษะการอ่านและการคำนวณให้เข้มข้นมากขึ้น สำหรับกรอบการทำงานที่ผ่านการปรับปรุงจะเน้นความสำคัญ 3 ประการ คือ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส เอเชียและการมีส่วนร่วมกับเอเชียของออสเตรเลีย และความยั่งยืน โดย 3 หัวข้อนี้จะเชื่อมโยงกับ 8 วิชาหลัก ทั้งนี้ Belinda Robinson ประธาน ACARA กล่าวว่า หลักสูตรใหม่นี้มุ่งแสวงหาแนวทางในการมอบความรู้และทักษะที่จำเป็นให้แก่เด็กนักเรียนเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของนักเรียนรู้ตลอดชีวิตที่จะกลายเป็นสมาชิกของสังคมที่มีความกระตือรือร้นและมีการศึกษา อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์ต่างออกมาแสดงความกังวลว่า การปรับหลักสูตรอาจทำให้เนื้อหาหลักบางส่วนโดนตัดออกไป ขณะที่นักวิจารณ์อีกส่วนหนึ่งมองว่าหลักสูตรใหม่เน้นความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากจนเกินไป ด้านฝ่ายที่สนับสนุนการปรับหลักสูตรต่างรู้สึกยินดีที่นักเรียนจะได้มีส่วนร่วมกับประเด็นท้าทายของสังคมออสเตรเลียมากขึ้น โดยเฉพาะความท้าทายในด้านพลเมืองและความเป็นพลเมือง อย่างนโยบายกีดกันชนเผ่าพื้นเมืองที่เกิดขึ้นตลอดประวัติศาสตร์ของประเทศ (The Sydney Herald and News Australia)


ที่มา : National Center for Education and the Economy

https://ncee.org/round-up-2/

แหล่งข้อมูล https://www.facebook.com/EEFthailand

กสศ.สรุปความความเคลื่อนไหว วงการกรศึกษาโลก (26-04-2021)

สรุปความเคลื่อนไหวในรอบสัปดาห์ในแวดวงการศึกษาโลก

1. ผลการเรียนของนักเรียนเกาหลีใต้ลดลงระหว่างที่เรียนทางไกล

สถาบันวิจัยการศึกษาและข้อมูลแห่งโซล (Seoul Education Research and Information Institute) เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยล่าสุดพบว่า นักเรียนระดับมัธยมศึกษาในเกาหลีใต้มีผลคะแนนเรียนที่ลดลงในช่วงที่โรงเรียนต้องปรับหลักสูตรมาเรียนทางไกลระหว่างการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยนักวิจัยได้ศึกษาด้วยการวิเคราะห์คะแนนสอบวิชาภาษาเกาหลีใต้ ภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ ของนักเรียน ก่อนพบว่า ขณะที่อัตราส่วนของนักเรียนที่ได้คะแนนสูงสุดยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่อัตราส่วนคะแนนโดยเฉลี่ยของนักเรียนส่วนใหญ่กลับลดลงอย่างมาก ทั้งนี้ รายงานระบุว่า ช่องว่างความสำเร็จระหว่างนักเรียนทั่วไปกับนักเรียนระดับหัวกะทิเริ่มมีสัญญาณขยายกว้างมากขึ้นในช่วงเริ่มต้นการระบาด และกลายเป็นช่องว่างที่กว้างขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ระบาดหนัก และโรงเรียนหลายแห่งต้องปรับมาทำการเรียนการสอนออนไลน์ ทีมนักวิจัยได้แนะนำให้เจ้าหน้าที่ทางการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งยกระดับระบบการเรียนออนไลน์ พร้อมเพิ่มโอกาสการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับคุณครู (The Korea Herald)

2. ฟินแลนด์ปันงบ 68 ล้านยูโรจัดการความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

กระทรวงศึกษาธิการฟินแลนด์ ประกาศจัดสรรงบ 68 ล้านยูโร (ราว 2,583 ล้านบาท) เพื่อนำไปลงทุนในกองทุนที่จะช่วยให้หน่วยงานท้องถิ่นทั่วประเทศมีงบที่จะสามารถนำไปใช้เพื่อบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา โดยกระทรวงศึกษาธิการฟินแลนด์ยอมรับว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศในขณะนี้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเพราะวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้าน Jussi Saramo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการฟินแลนด์ได้แสดงความคาดหวังให้กองทุนดังกล่าวสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เงินกองทุนดังกล่าวจะนำไปใช้เป็นทุนให้กับหน่วยงานท้องถิ่นในการยกระดับคุณภาพทางการศึกษาและทำให้การศึกษาเข้าถึงทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนโครงการเรียนภาษาในพื้นที่ที่มีผู้อาศัยต่างชาติต่างภาษาอยู่มาก เพิ่มการว่าจ้างครูสำหรับชั้นเรียนระดับปฐมวัยเพื่อลดขนาดห้องเรียนเด็กเล็กเพื่อที่จะสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง และให้การสนับสนุนทางเลือกในการพัฒนาอาชีพในพื้นที่ที่มีอัตราการตกงานในระดับสูง ทั้งนี้ แม้ว่าฟินแลนด์จะเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับว่ามีช่องว่างความเหลื่อมล้ำในหมู่ผู้เรียนน้อยมากที่สุดโลก แต่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ต้องหันมาเรียนออนไลน์ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของฟินแลนด์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีนี้ (YLE)

3. นิวซีแลนด์เดินหน้าขยายพื้นที่โครงการเพื่อดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจ

หลังรับฟังความเห็นจากบรรดาโรงเรียน นักเรียน และพ่อแม่ผู้ประครองทั่วประเทศ ทางรัฐบาลนิวซีแลนด์เตรียมขยายพื้นที่โครงการ Mana Ake เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและบริการของทางคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและระบบสุขภาพระดับเขต (district health boards: DHS) ให้ครอบคลุมมากขึ้น โดย Mana Ake เป็นภาษาของชนเผ่าพื้นเมืองเมารี มีความหมายว่า “แข็งแกร่งเพื่อวันพรุ่งนี้” (Stronger for Tomorrow) ทั้งนี้ ทางการนิวซีแลนด์จัดตั้งโครงการดังกล่าวขึ้นในปี 2018 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ความช่วยเหลือนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี 2016 ซึ่งนับตั้งแต่เปิดตัว โครงการ Mana Ake สามารถเติบโตและให้การสนับสนุนนักเรียนในการรับมือกับปัญหาต่างๆ โดยครอบคลุมตั้งแต่ความเศร้าโศกซึมเศร้า ปัญหาการหย่าร้าง การถูกรังแก รวมถึงปัญหาอื่นๆ ที่เด็กต้องเผชิญ จนถึงขณะนี้ ทางโครงการสามารถให้ความช่วยเหลือนักเรียนไปแล้วกว่า 7,000 คน อย่างไรก็ตาม การเพิ่มพื้นที่ในการบริการให้กว้างมากขึ้นจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการDHS กับผู้นำโรงเรียน ครู เจ้าหน้าที่ และนักเรียน และมีแนวโน้มจะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 6 เดือน และหากการขยายการบริการประสบความสำเร็จอย่างดี ทางรัฐบาลก็มีแผนที่จะขยายโครงการ Mana Ake ให้ครอบคลุมพื้นที่ทุกเขตทั่วประเทศนิวซีแลนด์ต่อไป (Radio New Zealand)

4. อัลเบอร์ต้าเพิ่มวิชาความรู้เท่าทันทางการเงินในหลักสูตรมัธยมศึกษา

กระทรวงศึกษาธิการแห่งแคว้นอัลเบอร์ตา ในแคนาดา เตรียมมอบทุนการศึกษามูลค่า 1 ล้านเหรียญแคนาดา (ราว 25 ล้านบาท) ให้แก่องค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ในการร่วมมือกับทางโรงเรียนเพื่อจัดหลักสูตรความรู้เท่าทันทางการเงิน หรือ financial literacy ให้แก่นักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา โดยวิชาความรู้เท่าทันทางการเงินนี้จะครอบคลุมตั้งแต่การอธิบายนิยามและแนวคิดทางการเงิน เช่น ต้นทุน ดอกเบี้ย หนี้สิน การลงทุน ประกัน และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มีต่อสังคม โดย Adriana LaGrange รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอัลเบอร์ต้า กล่าวถึงความสำคัญของการรู้และเข้าใจเรื่องการเงินว่าจะเป็นการปูทางให้นักเรียนมีทักษะการแก้ปัญหาทางการเงินในเชิงปฏิบัติ รวมถึงช่วยให้นักเรียนมีความเชื่อมั่นและเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคตข้างหน้าที่ยังมาไม่ถึง ขณะเดียวกัน รายงานระบุว่า การรู้เท่าทันทางการเงิน ยังเป็นส่วนหนึ่งของทักษะที่ผู้เรียนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้จริง และทางรัฐบาลท้องถิ่นยังมีแผนที่จะเพิ่มวิชาดังกล่าวให้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษาของนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยจะเริ่มทดลองใช้ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีหน้า (The Ministry of Education News)

ที่มา : National Center for Education and the Economy

https://ncee.org/round-up-2/

แหล่งข้อมูล https://www.facebook.com/EEFthailand

กสศ.สรุปความเคลื่อนไหวในรอบสัปดาห์ในแวดวงการศึกษาโลก (19-04-2021)

สรุปความเคลื่อนไหวในรอบสัปดาห์ในแวดวงการศึกษาโลก


1. ผู้เชี่ยวชาญออสเตรเลียออกโรงเรียกร้องแนวทางแก้ปัญหาหลักสูตรคณิตศาสตร์

บรรดาผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมครูคณิตศาสตร์แห่งออสเตรเลีย พร้อมด้วย สถาบันวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ออสเตรเลีย สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งออสเตรเลีย และกลุ่มนักวิจัยการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์แห่งออสเตรเลีย ได้รวมตัวออกแถลงการณ์เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับหลักสูตรวิชาคณิตศาสตร์ในเชิงบูรณาการและแก้ปัญหาการเรียนคณิตศาสตร์ในปัจจุบันให้มากขึ้น โดยแถลงการณ์ระบุชัดว่า หลักสูตรคณิตศาสตร์ในปัจจุบันไม่เพียงพอที่จะให้เด็กนักเรียนได้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ ดังนั้นจึงสมควรปรับหลักสูตรที่จะต้องทำให้เด็กมีทักษะที่จะสามารถนำความรู้ด้านวิชาคณิตศาสตร์ไปประยุกต์ใช้แก้ปัญหาต่างๆ และการปรับหลักสูตรต้องทำอย่างรวดเร็ว

.

นอกจากนี้ แถลงการณ์ยังระบุว่าความสามารถในการแก้ปัญหา การคำนวณ การตั้งสมมติฐาน และการคิดวางรูปแบบแบบแผนต่างๆ ล้วนเป็นทักษะเสริมที่มีประโยชน์ที่ทำให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น การเรียนวิชาคณิตศาสตร์ไม่สามารถทำได้เพียงแต่การนั่งในห้องแล้วมุ่งความสนใจแต่เนื้อหาและกระบวนการแก้โจทย์ในตำราแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากหลักสูตรในปัจจุบัน ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องปฎิรูปหลักสูตรวิชาคณิตศาสตร์เพื่อรับมือกับผลคะแนนการสอบวัดมาตรฐานการเรียนรู้ของนักเรียนระดับสากล หรือ Programme for International Student Assessment (PISA) ของเด็กออสเตรเลียในวิชาคณิตศาสตร์ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยร่างหลักสูตรใหม่วิชาคณิตศาสตร์จะเปิดเผยต่อสำนักงานรายงาน ประเมินผลและจัดการหลักสูตรแห่งออสเตรเลียภายในวันที่ 21 เมษายนนี้ และจะนับเป็นการทบทวนหลักสูตรแห่งชาติครั้งแรกของออสเตรเลียในรอบ 7 ปี (The Sydney Morning Herald)

.

2. รายงานชี้นักเรียนประถมเนเธอร์แลนด์มีปัญหาการเรียนวิชาคณิตศาสตร์

สำนักงานตรวจสอบการศึกษาแห่งเนเธอร์แลนด์ (Dutch Education Inspectorate) เปิดเผยรายงานประสิทธิภาพและศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนทั่วประเทศในช่วงวิกฤตไวรัสโควิด-19 ระบาด พบว่า มีเพียง 1 ใน 3 ของนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาเท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์ระดับambitionที่กำหนดไว้ในวิชาคณิตศาสตร์ โดยในการวัดผลการเรียนของโรงเรียนทั่วเนเธอร์แลนด์จะแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับพื้นฐาน (foundation) และระดับเป้าหมายสูงสุด (ambition) ซึ่งตามเป้าของกระทรวงศึกษาธิการเนเธอร์แลนด์กำหนดให้นักเรียน 2 ใน 3 ต้องผ่านระดับ ambition ทั้งนี้ รายงานชิ้นนี้ยังระบุว่า จริงๆ แล้วควรจะมีนักเรียนที่สามารถผ่านระดับ ambition ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ แต่คุณครูจำเป็นต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในการให้ความช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาติดขัดในการเรียน ซึ่งงานวิจัยแนะนำให้ครูได้รับการฝึกอบรมวิธีการสอนเพื่อให้สามารถถ่ายทอดความรู้และดูแลนักเรียนทุกคนในห้องได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ รายงานยังแนะนำให้โรงเรียนประถมทุกแห่งมีการประสานงานร่วมมือกันด้านวิชาคณิตศาสตร์ และให้อาจารย์คณิตศาสตร์ในระดับอุดมศึกษาช่วยเตรียมความพร้อมให้กับคุณครูคณิตศาสตร์ (The Dutch News)


3. สิงคโปร์ยกเครื่องทักษะ Soft Skill ในหลักสูตรพิเศษด้านการอาชีวศึกษา

กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์เตรียมจะพิจารณาทบทวนหลักสูตรอาชีวศึกษาในโรงเรียนการศึกษาพิเศษ (special education schools) เพื่อขยายโอกาสในการเสริมสร้างพัฒนาทักษะด้าน soft skills ที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุความสำเร็จในหน้าที่การงาน โดยตัวอย่างของ soft skills ก็เช่น การทำงานเป็นทีม (teamwork) และ ทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคล (interpersonal skills) เป็นต้น การพิจารณาเปลี่ยนแปลงปรับปรุงหลักสูตรในครั้งนี้มีขึ้นตามคำแนะนำของคณะทำงานแห่งชาติสองกลุ่มที่มุ่งศึกษาพัฒนาสังคมสิงคโปร์ให้ครอบคลุมถึงคนทุกกลุ่ม รวมถึงผู้พิการทุพพลภาพ หลังพบว่าค่าเฉลี่ยของผู้พิการอายุระหว่าง 15-64 ปีที่พิการในสิงคโปร์อยู่ในภาวะตกงานสูงถึง 11.7% ในปี 2019-2020 ซึ่งถือว่ามากกว่าอัตราของประชากรทั่วไป ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้นักเรียนที่มีความพิการได้เตรียมความพร้อมต่อโลกการทำงานและอาชีพ ดังนั้น ทางโรงเรียนการศึกษาพิเศษจึงจะให้โอกาสในการฝึกปฏิบัติจริงในสถานที่ทำงานจริง ทั้งภายในโรงเรียนและภายในสถานที่ทำงานให้แก่นักเรียนผู้พิการเหล่านี้ ขณะเดียวกัน ทางรัฐบาลยังมีแผนที่จะพัฒนาศูนย์ส่งเสริมธุรกิจระดับภูมิภาค หรือ Enabling Business Hubs เพื่อให้การฝึกอบรมทักษะและฝึกสอนอาชีพ (job coaching) ให้กับทั้งผู้พิการและนายจ้าง ซึ่งศูนย์ที่ว่านี้มีกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2023 (The Straits Times)

.

4. ครูญี่ปุ่นรับบทหนัก ปรับวิธีการเรียนการสอน เพื่อให้เปิดเรียนได้ในช่วงโควิด-19ระบาด

แม้จะเผชิญกับวิกฤตสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด -19 เช่นกัน แต่โรงเรียนในญี่ปุ่นกลับปิดเพียงแค่ 2-3 สัปดาห์ ก่อนกลับมาเปิดทำการเรียนการสอนตามปกติ พร้อมด้วยการบังคับใช้กลยุทธ์ในการสกัดกั้นการระบาดของไวรัสโควิด19 และมีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อให้นักเรียนสามารถมาเรียนที่โรงเรียนได้ตามปกติ โดยบรรดาคุณครูในญี่ปุ่นกล่าวว่า เหล่านักเรียนต่างปรับตัวเข้ากับวิถีใหม่หรือ “new normal” ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา การล้างมือบ่อย การรับประทานอาหารกลางวันโดยไม่พูดคุยกัน และการบังคับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด

.

อย่างไรก็ตาม ครูยังมองเห็นความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานของวิธีการเรียนในห้องเรียน โดยก่อนการระบาด ครูในญี่ปุ่นมักจะจัดให้เด็กทำงานเป็นกลุ่มเล็กๆ เพื่อช่วยให้เด็กได้ช่วยเหลือกันและกันในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเสริมสร้างความสามัคคีระหว่างกัน กระนั้น เมื่อการทำงานเป็นกลุ่มเล็กๆ ถูกจัดว่าเป็นความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายไวรัส วิธีการดังกล่าวจึงกลายเป็นเรื่องต้องห้ามในช่วงเวลานี้ และทำให้ครูต้องเปลี่ยนวิธีการด้วยการใช้เวลาในการให้คำแนะนำ แนะแนว และแสดงความเห็นต่อนักเรียนเป็นรายบุคคลแทน จนกลายเป็นภาระงานให้กับครูทั้งหลาย ซึ่งมีงานเพิ่มมากขึ้นอยู่แล้วจากการที่ต้องคอยตรวจวัดอุณหภูมิ ทำความสะอาดอุปกรณ์การเรียนการสอน และปรับตารางเรียนเพื่อให้ชั้นเรียนมีขนาดเล็กลง (Japan Times)

.

ที่มา National Center on Education and The Economy (NCEE)

https://ncee.org/round-up-2/

แหล่งข้อมูล https://www.facebook.com/EEFthailand

กสศ.สรุปความเคลื่อนไหวในรอบสัปดาห์ในแวดวงการศึกษาโลก (12-04-2021)

สรุปความเคลื่อนไหวในรอบสัปดาห์ในแวดวงการศึกษาโลก

1.อัลเบอร์ตาปรับหลักสูตรเด็กปฐมวัย-ป.6 มุ่งเน้นความรู้พื้นฐานและทักษะปฏิบัติต่างๆ

รัฐบาลท้องถิ่นในอัลเบอร์ตาของแคนาดาเปิดตัวหลักสูตรการศึกษาใหม่สำหรับเด็กเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่6 โดยจะมุ่งเน้นที่ความรู้และทักษะพื้นฐานที่สามารถนำไปใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน รายงานระบุว่า หลักสูตรใหม่นี้มีกำหนดเริ่มทดลองใช้ในโรงเรียนในช่วงเดือนกันยายนนี้ ด้าน Adriana LaGrange รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของอัลเบอร์ตากล่าวว่า หลักสูตรใหม่ฉบับนี้จัดทำขึ้นหลังจากได้รับฟังความคิดเห็นจากบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองทั้งหลายที่เห็นตรงกันว่า การศึกษาแบบเดิมค่อนข้างล้าสมัย และหลายกระบวนการค้นหาความรู้หรือให้ได้มาซึ่งความรู้ที่ใช้ในปัจจุบันก็ล้วนเป็นวิธีที่ปราศจากข้อพิสูจน์ยืนยัน ทั้งนี้ หลักสูตรการศึกษาใหม่นอกจากจะให้ความสำคัญกับทักษะพื้นฐานทางวิชาการ เช่น การสะกดคำ, การออกเสียง และตารางการคูณแล้ว ยังรวมถึงการวิจัย การคิดวิเคราะห์และทักษะการโต้แย้ง ตลอดจนการเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์ การจัดทำงบประมาณ และการพูดในที่สาธารณะอีกด้วย อย่างไรก็ตาม พรรคฝ่ายค้านอย่าง New Democratic Party ออกโรงแย้งว่า แม้จะเป็นเรื่องดีในการปรับเปลี่ยนเพื่อยกระดับคุณภาพทางการศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพสังคม กระนั้น การเลือกทดลองใช้หลักสูตรใหม่ในช่วงที่สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ยังระบาด อาจเป็นการเพิ่มภาระที่ไม่จำเป็นให้แก่โรงเรียนทั้งหลายแทน (Global News Canada)


.2. 1 ใน 3 ของครูทั่วอังกฤษ-ไอร์แลนด์ และเวลส์ ยืดอกรับมีแผนลาออก

ผลการสำรวจล่าสุดของสหภาพการศึกษาแห่งชาติ (National Education Union : NEU) ที่ศึกษาสำรวจแผนการในอนาคตของสมาชิกครูจำนวน 10,000 คนในประเทศอังกฤษ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ พบว่า 35% จะไม่ทำงานในแวดวงการศึกษาอีกแล้วหลังจากปี 2026 เป็นต้นไป ซึ่งเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ลาออก อันดับแรกสุดก็คือครูผู้สอนไม่ได้รับความสนใจหรือเห็นความสำคัญจากรัฐและสื่อต่างๆ โดยสูงถึง 53% ปริมาณงานเพิ่มขึ้นจนล้นมือ (51%) ภาระความรับผิดชอบ (34%) และผลตอบแทนไม่สมน้ำสมเนื้อ (24%) ขณะเดียวกัน ผลการศึกษายังพบว่า มากกว่าครึ่งของผู้ตอบสอบถามเห็นว่า สมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานในปัจจุบันอยู่ในสภาวะเลวร้ายกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาด ทั้งนี้ Kevin Courtney รัฐมนตรีร่วมNEU แสดงความเห็นว่าผลลัพธ์ที่ได้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะเกิดขึ้นหลังช่วง 1 ปีที่บุคลากรทางการศึกษาต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ เช่น การทำการสอนโดยไม่ได้รับการดูแลป้องกันด้านความปลอดภัย ต้องคิดหาโซลูชั่นในประเด็นที่ภาครัฐถอดใจไปแล้ว และยังมีปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายเงิน โดยผลการวิจัยได้รับการเผยแพร่ในการประชุมประจำปีของ NEU ที่ในปีนี้ทางสมาชิกยังได้ร่วมเรียกร้องให้ขึ้นค่าจ้างครู 7% และพิจารณายกเลิกการสอบระดับชาติ - GCSEs และ A-levels รวมถึงเพิ่มความยืดหยุ่นในการสอบ (The Guardian)

.

3. เกาหลีใต้ขยายชั้นเรียนสอนแบบตัวต่อตัวสำหรับนักเรียนมัธยมต้น

กระทรวงศึกษาธิการในเกาหลีใต้ประกาศว่าจะจัดลำดับความสำคัญของชั้นเรียนแบบตัวต่อตัวสำหรับนักเรียนมัธยมต้นท่ามกลางความกังวลว่าวัยรุ่นเกาหลีใต้กำลังสูญเสียพื้นฐานทางวิชาการ ด้าน Yoo Eun-hae รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้กล่าวว่า ชั้นเรียนแบบตัวต่อตัวสำหรับโรงเรียนมัธยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักเรียนในเขตเมืองหลวง ค่อนข้างขาดแคลน และแม้ว่าตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นไปต้น ทางการจะอนุญาตให้นักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลไปจนถึงมัธยมปลายทุกคนเรียนหนังสือที่โรงเรียน แต่ประชากรวัยเรียนของเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ยังคงเลือกที่จะเรียนทางไกลมากกว่า ขณะเดียวกัน กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อพลเรือนก็ออกมาแย้งว่า การกีดกันของรัฐเป็นการบังคับให้ครอบครัวต้องพึ่งพาการศึกษาส่วนตัวมากขึ้นและนักเรียนที่มาจากภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมที่ด้อยโอกาสกำลังถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง (The Korea Herald)

.

4. นิวซีแลนด์ยกเครื่องปรับหลักสูตรการศึกษา

รัฐบาลนิวซีแลนด์เปิดเผยว่า ทางการเตรียมยกเครื่องปฎิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนทุกแห่งในนิวซีแลนด์ภายใน 3-4 ปีข้างหน้า ซึ่งรวมถึงการปรับทบทวนหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ ตามด้วยภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยรัฐบาลนิวซีแลนด์ย้ำชัดว่า การเปลี่ยนแปลงนี้คือการพยายามทำให้ชัดเจนมากขึ้นว่าเด็ก ๆ ต้องรู้อะไรในแต่ละวิชาและสร้างสมดุลการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนทั้งในระดับประเทศและในท้องถิ่น ขณะเดียวกัน Jan Tinetti รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการนิวซีแลนด์กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ยังหมายรวมถึงความพยายามในการลดภาระงานของครูโดยให้ความชัดเจนและคำแนะนำแก่ครูมากขึ้นว่าจะต้องสอนอะไรและสอนเมื่อไร ซึ่งจะช่วยให้ครูสามารถวางแผน และมอบประสบการณ์การเรียนรู้ที่น่าสนใจ ส่งผลให้ทามาริกิ [เด็ก ๆ ] ของนิวซีแลนด์ทุกคนมีความก้าวหน้าและบรรลุเป้าหมายสำคัญของแต่ละคนได้ (Radio New Zealand)


ที่มา National Center on Education and The Economy (NCEE)

https://ncee.org/round-up-2/

แหล่งข้อมูล https://www.facebook.com/EEFthailand