ประวัติความเป็นมา

ตามที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริบางประการเกี่ยวกับการอนุรักษ์พันธุ์พืช ซึ่งมีใจความดังต่อไปนี้ “การสอนและการอบรมให้เด็กมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์พืชพรรณนั้น ควรใช้วิธีการปลูกฝังให้เด็กเห็นความงดงาม ความสนใจ และเกิดปิติที่ทำการศึกษาและอนุรักษ์พืชพรรณต่อไปการให้วิธีการสอน การอบรมและให้เกิดความรู้สึกว่า หากไม่อนุรักษ์แล้วจะเกิดผลเสียอันตรายแก่ตนเอง จะทำให้เด็กเกิดความเครียด ซึ่งจะเป็นผลเสียแก่ประเทศไทยในระยะยาว” โครงการการอนุรักษ์พันธุกรรมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฯ ดำเนินงานสนองพระราชดำริจัดตั้งงาน “สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน เพื่อเป็นสื่อในการสร้างจิตสำนึกด้านอนุรักษ์พันธุกรรมพืชให้เยาวชนได้ใกล้ชิดกับพืชพรรณไม้ เห็นคุณค่าประโยชน์ ความสวยงามอันก่อให้เกิดความคิดที่จะอนุรักษ์พืชต่อไป

สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน คือ แหล่งที่รวบรวมพันธุ์พืชชนิดต่างๆ ที่มีชีวิต จัดปลูกตามความเหมาะสมกับสภาพถิ่นอาศัยเดิม มีห้องสมุด สถานที่เก็บรวบรวมตัวอย่างพรรณไม้ รักษาสภาพ อาจเป็นตัวอย่างแห้งหรือตัวอย่างดองหรือเก็บรักษาด้วยวิธีอื่นๆ พืชพันธุ์ที่ทำการรวบรวมไว้นั้นจะเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งสามารถดำเนินการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนใช้ในพื้นที่ของโรงเรียน โดยมีองค์ประกอบดังกล่าว เป็นสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนใช้ในวัตถุประสงค์ดังกล่าวอีกทั้งใช้ในการศึกษาและเป็นประโยชน์ในการสอนวิชาต่างๆ

ดร. พิศิษฐ์ วรอุไร ประธานคณะกรรมการบริหารโครงการ อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ( ปัจจุบันเป็นกรรมการที่ปรึกษา ในคณะกรรมการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ และประธานคณะที่ปรึกษาประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ) ได้ประชุม หารือกับคณาจารย์และราชบัณฑิต ด้านพฤกษศาสตร์ เห็นพ้องต้องกันที่จะใช้ “สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน” เป็นสื่อในการที่จะให้นักเรียน เยาวชน และประชาชนทั่วไป ได้มีความเข้าใจ เห็นความสำคัญของพืชพรรณ เกิดความรัก หวงแหน และรู้จักการนำไปใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริ และแนวปฏิบัติให้เป็นงานหนึ่งในกิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ พันธุกรรมพืช และชัดเจนในคำจำกัดความของ “สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน” ซึ่งจะดำเนินการในพื้นที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษา โดยใช้แนวทางการดำเนินงานตามแบบอย่างสวนพฤกษศาสตร์ ในการเป็นที่รวบรวมพรรณไม้ที่มีชีวิต มีการศึกษาต่อเนื่อง มีห้องสมุดที่ใช้ในการศึกษา เก็บตัวอย่างพรรณไม้แห้ง-ดอง แต่ย่อขนาดมาดำเนินการในพื้นที่เล็กๆ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ จึงได้จัดการประชุมเพื่อเผยแพร่ พระราชดำริและแนวทางการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนให้กับโรงเรียนมัธยมสังกัดกรมสามัญศึกษา การประถมศึกษาแห่งชาติ และการศึกษาเอกชน ซึ่งปัจจุบันสังกัดในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยให้โรงเรียนที่สนใจสมัครใจที่จะร่วมสนองพระราชดำริ สมัครเป็นสมาชิก ขณะนี้มีโรงเรียนสมาชิก ตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา ๘๖๐ โรงเรียน

สำหรับการดำเนินงานในระยะ ๕ ปีที่สี่ ( ตุลาคม ๒๕๔๙ – กันยายน ๒๕๕๔ ) มีนโยบายการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน เข้มข้น = เนื้อหาวิชาการมากขึ้น เข้มแข็ง = มีผู้เข้าร่วมมากขึ้น พัฒนา = พัฒนาไปสู่ประโยชน์แท้ โดยให้โรงเรียน สถาบันการศึกษา ได้มีสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนเป็นฐานการเรียนรู้ เพื่อเข้าถึงวิทยาการ ปัญญาและภูมิปัญญาแห่งตน ปฏิบัติตนเป็นผู้อนุรักษ์ พัฒนา สรรพชีวิต สรรพสิ่ง ด้วยคุณธรรม ผู้บริหาร ครู อาจารย์ เข้าถึงสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ทั้งปรัชญาและบรรยากาศสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ปฏิบัติงานเป็นหนึ่ง นักเรียนระดับอนุบาล ประถมศึกษา เล่น รู้ ธรรมชาติแห่งชีวิต สรรพสิ่งล้วนพันเกี่ยว ระดับมัธยมศึกษา เรียนรู้โดยตน มีวิทยาการของตน โดยธรรมชาติแห่งชีวิต สรรพสิ่งล้วนพันเกี่ยว นักศึกษาระดับอุดมศึกษา เรียนรู้โดยตน ในปัจจัย เหตุ และส่งผลแปรเปลี่ยน เป้าหมาย ให้มีโรงเรียน สถาบันการศึกษา เป็นแบบอย่างของ การมี การใช้ ศักยภาพ สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนอย่างเหมาะสม ให้นักเรียน นักศึกษาได้เรียนรู้ ทุกสาขาวิชา ในลักษณะบูรณาการวิทยาการ และบรูณาการชีวิต จากปัจจัยศักยภาพ สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน การดำเนินงานมุ่งสู่ประโยชน์แท้แก่มหาชน มุ่งสู่กระแสปูทะเลย์มหาวิชาลัย บนฐานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โดยมีปรัชญาการสร้างนักอนุรักษ์ คือให้ การสัมผัสในสิ่งที่ไม่เคยได้สัมผัส การรู้จริงในสิ่งที่ไม่เคยได้รู้จริง เป็น ปัจจัย สู่ จินตนาการ เหตุแห่งความอาทร การุณย์ สรรพชีวิต สรรพสิ่ง และให้เกิด บรรยากาศสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน บนความเบิกบาน บนความหลายหลาก สรรพสิ่ง สรรพการกระทำ ล้วนสมดุล พืชพรรณ สรรพสัตว์ สรรพสิ่ง ได้รับความการุณย์ บนฐานแห่งสรรพชีวิต นักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ ศิลปกร กวี นักตรรกศาสตร์ ปราชญ์น้อย ปรากฏทั่ว

โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์บางกรวย โดยกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานและอาชีพ เห็นถึงความสำคัญของการมีสวนพฤกษศาสตร์ภายในโรงเรียน รวมถึงความเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษาที่มีมติเห็นด้วยให้โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์บางกรวยเข้าเป็นสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์ โครงการ อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามราชกุมารี ดังนั้นจึงได้จัดให้มีสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนขึ้นเพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ รวบรวมพรรณพืชต่างๆ ภายในโรงเรียน