โครงการนิเทศ กำกับ ติดตามการศึกษา

เพื่อพัฒนามาตรฐานห้องเรียนคุณภาพ

SPM 41 Model

หน่วยงานที่รับผิดชอบ กลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากำแพงเพชร

ผู้รับผิดชอบโครงการ นางไพรินทร์ เหมบุตร และนางสาวปัทมา มีขันหมาก

1. หลักการและเหตุผล

ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ให้ความสำคัญต่อการพัฒนา ทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ คือ ความสามารถในการอ่าน เขียน การคิดคำนวณ คิดวิเคราะห์ ความสามารถทางเทคโนโลยีและการสื่อสารด้วยภาษาต่างประเทศ ทั้งภาษาสากล และภาษาประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ ทักษะการเรียนรู้และการสร้างนวัตกรรม ตลอดจนทักษะสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี ด้วยการเข้ามามีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเป็นภาคีการศึกษาที่เข้มแข็ง การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพ และการวางรากฐานการจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ สู่การพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืน และตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๔๕ มีจุดมุ่งหมายในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เป็นคนดี มีความรู้ และอยู่ ร่วมกันในสังคมได้อย่างเป็นสุข การดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นหลักการ แนวคิด และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับกระบวนการการพัฒนาคุณภาพการศึกษา หากโรงเรียนได้ดำเนินการจัดทำห้องเรียนคุณภาพจนเกิดผลแล้ว ผลที่ตามมาคือจะทำให้ นักเรียนได้รับการดูแลเอาใจใส่ เป็นบุคลที่มีศักยภาพ มีคุณภาพ เป็นเด็กดี เด็กเก่ง อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข และมีคุณลักษณ์อันพึงประสงค์ตามที่สังคมไทยต้องการ อีกทั้งมีศักยภาพในการแข่งขันระดับเวทีโลก นำไปสู่โรงเรียนที่มีระดับมาตรฐานสู่สากล เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อนการศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามนโยบายสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากำแพงเพชร ตระหนักถึงการพัฒนาระบบการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และนิเทศการจัดการศึกษา (ก.ต.ป.น.) ขึ้น เพื่อติดตามตรวจสอบประเมินผลและนิเทศการบริหารสถานศึกษาโดยคณะกรรมการ ก.ต.ป.น. ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เป็นแนวทางการดำเนินงานยกระดับคุณภาพงานวิชาการโดยการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากำแพงเพชร จึงดำเนินโครงการนิเทศ กำกับติดตามการศึกษาเพื่อพัฒนามาตรฐานห้องเรียนคุณภาพ SPM ๔๑ Model ขึ้น เพื่อให้การนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพและพัฒนามาตรฐานคุณภาพของสถานศึกษาในสังกัดทุกแห่งให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีเอกภาพ บรรลุวิสัยทัศน์ที่กำหนดร่วมกัน และเพื่อสนับสนุนการรายงานผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ จัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษ ๒๑ สู่ระบบประกันคุณภาพการศึกษาที่ยั่งยืนต่อไป