ภาพถ่ายวัตถุชิ้นเด่นในพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์วัดท่าช้าง

เกราะ

ชื่อวัตถุ เกราะ

ชื่อภาษาถิ่น เหลาะ หรือ เขละ

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

เกราะ หรือ เหลาะ เป็นเครื่องให้สัญญาณที่ใช้กันในสมัยก่อนเพื่อบอกความเคลื่อนไหวให้เป็นที่สังเกต นัดแนะ ตลอดจนบอกเหตุร้าย เหลาะทำด้วยไม้แก่น ขนาดและรูปทรงอย่างกลองแขก มีความยาวประมาณ 70 เซนติเมตร ผ่าด้านข้างราว 2 นิ้ว ยาว 60 เซนติเมตร ขุดข้างในกลวงหัวตันท้ายตันใช้สำหรับตีนัดแนะการประชุมลูกบ้านของผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น การตีจะตีจังหวะช้าและหนักแล้วค่อยเร่งเร็วตอนปลายแล้วเริ่มจังหวะช้าใหม่ ปกติจะตี 3 คาบ และมักตีตอนเช้าตรู่ เพื่อจะให้ได้รู้ว่าตอนสายๆจะมีการประชุมกันที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน

ปิ่นโตเคลือบ

ชื่อวัตถุ ปิ่นโตเคลือบ

ชื่อภาษาถิ่น ชั้นเคลือบ

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

ปิ่นโตเคลือบ หรือ ชั้นเคลือบ เป็นภาชนะชนิดหนึ่งสำหรับบรรจุอาหาร ประกอบด้วย ภาชนะรูปทรงกระบอกซ้อนกันเป็นชั้น ๆ มีหูด้านข้าง 2 หู มีโครงเป็นโลหะ เรียกว่า ขาร้อย หรือ ขาขั้น สำหรับร้อยตรงส่วนหูสองข้าง หิ้วได้ มักจะมีตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไป มีลักษณะนามเรียก “เถา” หรือ “สาย”

การใช้งาน ปิ่นโตชั้นล่างสุดมักจะสูงกว่าชั้นอื่น ๆ เล็กน้อย นิยมใส่ข้าว ส่วนชั้นอื่น ๆ อาจใส่กับข้าว ขนม หรืออื่นๆก็ได้ปิ่นโตนิยมใช้ใส่อาหารสำหรับนักเรียนนำไปรับประทานตอนกลางวัน หรือผู้ที่ทำงานนอกบ้าน แต่พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่นิยมบรรจุอาหารใส่ปิ่นโตเพื่อนำไปถวายพระตอนเช้า หรือ ตอนเพล

ปิ่นโตเคลือบ ที่แสดงในพิพิธภัณฑ์วัดท่าช้าง จะมีสีเหลือง และพิมพ์ลายดอกไม้


เงินเหรียญ

ชื่อวัตถุ เงินเหรียญ

ชื่อภาษาถิ่น เงินเหรียญ

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

เงินเหรียญเริ่มใช้ครั้งแรกสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงโปรดเกล้าให้สร้างโรงงานผลิตเหรียญกษาปณ์ขึ้นที่หน้าพระคลังมหาสมบัติในพระบรมมหาราชวังเพื่อผลิตเหรียญกษาปณ์ ใช้แทนเงินพดด้วงที่ใช้กันอยู่ก่อนหน้านั้น เป็นเหรียญตรามงกุฎมีอยู่ 6 ราคา คือ สองบาท หนึ่งบาท สองสลึง หนึ่งสลึง หนึ่งเฟื้อง และ สองไพในพิพิธภัณฑ์วัดท่าช้างจะมีเงินเหรียญอยู่หลายชนิด อาทิ เงินเหรียญในสมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เงินเหรียญในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชตั้งแต่เงินเหรียญดีบุกตราพระบรมรูป - ตราแผ่นดิน ใน พ.ศ. 2493 เหรียญราคา 25 สตางค์ เหรียญราคา 50 สตางค์ เหรียญราคา 1 บาท เหรียญราคา 5 บาท เหรียญราคา 10 บาท และเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกในโอกาสต่าง

หัวไถ

ชื่อวัตถุ หัวไถ

ชื่อภาษาถิ่น หัวหมู

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

หัวไถ เป็นส่วนหนึ่งของ เครื่องไถ ที่ใช้เทียมวัวเทียมควายในการไถ คราด ซึ่งประกอบด้วย ชิ้นส่วนต่าง ๆ ดังนี้

1. หัวหมู ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เป็นส่วนที่วางกับพื้นช่วงกลางเจาะรูสำหรับเสียบคันไถโดยใช้ลิ่มไม้ตอกอัดไว้ส่วนหน้าสุดทำแหลมมนสำหรับใส่ผาลเพื่อไถดินหัวหมูนี้ช่างจะใช้ขวานไตขุดแต่งอย่างดีมีความลาดเฉียง 45 องศา เมื่อผาลไถดินแล้วจะพลิกกลับบนไว้ล่างหัวหมูยาวประมาณ 40 เซนติเมตร สูงประมาณ 20 เซนติเมตร

2.หางยามทำด้วยไม้ เป็นส่วนที่เสียบลงบนหัวหมู มีลักษณะโค้งงอส่วนปลายมีที่จับสำหรับบังคับคันไถให้ทรงตัวและเคลื่อนไปในทิศทางที่ต้องการสูงประมาณ1 เมตร ช่วงกลางของหางยามจะเจาะเป็นช่องสำหรับเสียบคันไถ หางยามยาวประมาณ 150 เซนติเมตร

3.คันไถ เป็นส่วนที่เสียบติดกับหางยามส่วนปลายจะงอนเล็กน้อย มีสายทามผูกติดกับหางยาม

4.ลูกแอกเป็นไม้ที่วางบนคอวัวผูกติดกับคันไถมีเชือกคล้องโยงลูกแอก ที่เรียกว่า สายรัดแอก

กระต่าย

ชื่อวัตถุ กระต่าย

ชื่อภาษาถิ่น เหล็กขูด

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

กระต่ายหรือเหล็กขูดเป็นเครื่องมือขูดมะพร้าวเพื่อคั้นเอาน้ำกะทิไปทำอาหารหวานคาวเหล็กขูดมีส่วนประกอบสำคัญ 2 ส่วน คือ

1.ตัวเหล็กขูด ทำด้วยไม้ ประดิษฐ์เป็นรูปต่างๆ เช่น กระต่าย นาก ตะกวด หอย ฯลฯ

2.ตาเหล็กขูดทำด้วยเหล็กดัดให้งออย่างคอห่าน ส่วนปลายแบนโค้ง ขนาด 3 นิ้วมือมีฟันเรียงถี่อย่างฟันปลา ส่วนโคนทำให้แหลมสำหรับปักลงบนส่วนตัวเหล็กขูดฟันตาเหล็กขูดจะไม่ถี่หรือห่างเกินไปถ้าถี่เกินไปจะขูดมะพร้าวไม่ออกถ้าห่างเกินไปจะกินหยาบยากต่อการคั้นนำกะทิตาเหล็กขูดจะต้องมีความคมเวลาขูดมะพร้าวจะไม่ต้องออกแรงมาก

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านอำเภอรัตภูมิ

พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ

ชื่อ วัตถุพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ

ชื่อภาษาถิ่น -

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ที่หน้ามุข ที่ว่าการอำเภอรัตตภูมิหลังหลังเก่านั้นเกิดจากเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็ประพาสภาคใต้เป็นครั้งแรกในพุทธศักราช 2502 และในวันที่ 17 มีนาคม 2502 ทรงเสด็จเข้าในเขตจังหวัดสงขลา บริเวณพื้นที่แรกที่ทรงประทับพระบาท คือ ที่หมู่ที่ 2 ตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ ซึ่งในครั้งนั้น บรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัดสงขลา นับแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาและหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ ทุกหน่วยงานจนกระทั่งถึงระดับรากหญ้าคือพสกนิกร ทุกระดับชั้นต่างก็ไปตั้งแถวรับเสด็จ ซุ้มรับเสด็จซึ่งทำด้วยไม้และประดับประดาด้วยงานฝีมือของคนในท้องถิ่นอย่างสวยงาม ณ จุดนั้นจำนวนมากชนิดมืดฟ้ามัวดินแล้ว หลังจากนั้นพระองค์ทั้ง 2 ก็เสด็จเข้าสู่ที่ว่าการอำเภอรัตภูมิ ซึ่งชื่ออำเภอรัตภูมิ ในเวลานั้น เขียนว่า “รัตตภูมิ” ทั้ง 2 พระองค์ได้ไปประทับเพื่อฉายพระรูปที่หน้ามุขของที่ว่าการอำเภอรัตภูมิ ภาพพระบรมฉายาลักษณ์คราวนั้นได้ถูกบันทึก และนำมาแพร่หลายให้กับผู้คนที่สนใจในอำเภอรัตภูมิ เป็นจำนวนมาก จนเรียกว่ากลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบ้าน ไปทีเดียว ครั้งเวลาผ่านมาหลายสิบปี ที่ว่าการอำเภอหลังนั้นทรุดโทรมลง นายอำเภอขณะนั้นเห็นว่าควรแทงจำหน่ายและรื้อถอน แต่หลังจากหารือกันหลายฝ่ายแล้ว มีมติให้คงสภาพเดิมไว้ พร้อมทั้งต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นเพื่ออนุสรณ์สถานแห่งความประทับใจในพรมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ได้ให้โอกาสมาประทับ ณ สถานที่แห่งนั้น ในที่สุด จึงเกิดเป็นพิพิธภัณฑ์อำเภอรัตภูมิ

หวูด

ชื่อวัตถุ หวูด

ชื่อภาษาถิ่น ตูด

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

หวูดหรือตูด ทำมาจากเขาควายเดิมเป็นของนายง่วนกี่ แซ่แต้ หรือที่คนรัตภูมิ เรียกท่านว่า “แป๊ะซุ่นฮะ”

ท่านเป็นชาวจีนมาจากเมืองจีนโดยกำเนิด ท่านเล่าว่ามาตั้งหลักปักฐานที่จังหวัดชุมพรประกอบอาชีพเกษตรกรรม และรับจ้างทั่วไป และได้แต่งงานกับหญิงสาวชาวชุมพร จนได้ธิดา 1 คน หลังจากที่ภรรยาเสียชีวิตท่านก็ได้หอบหิ้วธิดาจากชุมพรร่อนเร่มาถึงอำเภอรัตภูมิ และมาพบรักใหม่กับแม่ม่ายชาวพรุพ้อ ชื่อ ฉิ้ม และอยู่กินกันจนมีบุตรชายทั้งหมด 5 คน ท่านได้ประกอบอาชีพขายหมูมีรถจักรยานสามล้อเป็นพาหนะ 1 คัน ทุกวันท่านจะต้องออกหาซื้อหมูจากชาวบ้านแล้วนำมาฆ่าชำแหละขายตามตลาดนัดใกล้บ้าน ถ้าขายในตลาดนัดไม่หมด ท่านก็จะปั่นจักรยานสามล้อ ออกขายในหมู่บ้านโดยปั่นไป

เป่าหวูดหรือตูดเขาควายส่งเสียงไปแต่ไกล ชาวบ้านได้ยินเสียงก็เตรียมเงินทองไปดักหน้าซื้อตามต้องการ หวูดนี้จึงเป็นสัญญาณ คล้ายกับของบุรุษไปรษณีย์

ในอดีตการเป่าหวูด ต้องอาศัยความชำนาญพิเศษ คนทั่วไป เป่าไม่ค่อยดัง หวูดไม่ได้เป็นเครื่องดนตรีเพราะมีเพียงเสียงเดียวแต่เป็นอุปกรณ์ส่งสัญญาณ


ตะเกียงเจ้าพายุ

1. ชื่อวัตถุ ตะเกียงเจ้าพายุ

2. ชื่อภาษาถิ่น ตะเกียงกล้อง

3. เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

ตะเกียงเจ้าพายุ หรือ ตะเกียงกล้อง เป็นตะเกียงที่ให้แสงสว่างในสมัยโบราณที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง ตัวตะเกียงจะมีนมหนู มีวาล์ว มีท่อส่งน้ำมัน ตัวเปิดปิดน้ำมันจะมีเกจ์วัดความดัน และไส้ตะเกียงที่เปล่งแสงสว่างด้วยเชื้อเพลิงที่มีการอัดแรงดันเป็นตะเกียงชนิดหิ้วเมื่อจุดไส้แล้วต้องสูบลม เพื่อให้ลมดันน้ำมันขึ้นไปหล่อเลี้ยงไส้ให้ไฟติดสว่างตลอดใช้สำหรับให้แสงสว่าง มีรูปทรงหรือลักษณะที่แตกต่างกันออกไปทั่วไปตะเกียงเจ้าพายุจะเป็นทรงกระบอกตั้งยาวมีฐานตั้งเป็นวงกลมและมีหูหิ้วลักษณะนามของตะเกียงจะเรียกว่า ดวง เช่น ตะเกียงหนึ่งดวง ตะเกียงประเภทนี้นอกจากใช้ในบ้านเรือนแล้ว ยังได้ถูกนำไปใช้ในโคมไฟตามถนนหนทาง

ในภาคใต้เมื่อ 60 – 70 ปี ก่อนจะนิยมใช้กับการแสดงหนังตะลุง ดังคำกลอนหนังตะลุงโบราณที่ว่า “รีบเปิดลมเข้าสักหน่อยปล่อยน้ำมัน พอลมดันเข็มแกว่งแจ้งนิทาน” ภายหลังเมื่อมีไฟฟ้าเข้ามาตะเกียงเจ้าพายุถูกเลิกใช้ไป

สำหรับตะเกียงเจ้าพายุ หรือ ตะเกียงกล้องในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านอำเภอรัตภูมิ มีหลายดวงได้รับบริจาคจาก ร.ต.ต.เนี่ยม ฤทธิ์หนู นายประจวบ สวนทอง และ นายเจริญ ชนะณรงค์ (หนังเจริญ จองามศิลป์)



กล้องถ่ายภาพขาวดำ

1. ชื่อวัตถุ กล้องถ่ายภาพขาวดำ

2. ชื่อภาษาถิ่น -

3. เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

กล้องถ่ายภาพขาวดำ กล้องถ่ายภาพขาวดำโบราณนี้ เป็นของนายดิเรก ทองคำเดิมเป็นชาวหัวหมอน อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง หลังจากที่ได้เกิดคดีฆ่าคนตายที่นั่นแล้วท่านหนีมาอาศัยในอำเภอรัตภูมิ ที่บ้านเขาตกน้ำ ได้สมรสกับหญิงสาวชาวบ้านที่เขาตกน้ำตั้งบ้านเรือนมีครอบครัวที่มั่นคง ท่านเป็นคนสนใจการถ่ายภาพด้วยกล้องสะพายมาก่อน ได้รับจ้างถ่ายภาพกิจกรรมงานต่างๆ มากมาย ในอำเภอรัตภูมิมีเพียงเจ้าเดียว ตอนหลังจึงตั้งห้องภาพรับจ้างถ่ายภาพด้วยฟีล์มขาวดำทุกขนาด

ชื่อห้องภาพ “สุวรรณภูมิ” เป็นห้องภาพที่รับงานอยู่หลายปีโดยในห้องภาพจะมีกล้องถ่ายภาพชุดใหญ่คือชุดที่ได้บริจาคให้แก่พิพิธภัณฑ์รัตภูมิตอนที่ทางอำเภอจัดตั้งพิพิธภัณฑ์คราวนั้น ห้องภาพสุวรรณภูมิ รับงานครบวงจร คือ ถ่ายภาพ ล้างฟีล์มและอัดรูป ทำกรอบเสร็จ ปัจจุบันทุกอย่างเหลือแต่ตำนาน


เนียงสี่หู

1. ชื่อวัตถุ ไหสี่หู

2. ชื่อภาษาถิ่น เนียงสี่หู

3. เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

ไหสี่หูหรือเนียงสี่หู เป็นเครื่องปั้นดินเผาสำหรับใส่น้ำหรือของเหลวต่างๆเป็นรูปทรงรีป่องออกค่อนมาทางด้านบนส่วนที่ป่องออกมาจะมีหูสี่หูติดอยู่ลักษณะของหูจะเป็นเส้นทรงกลม โค้งงอ เป็นรูปวงรี ติดอยู่ ทำจากดินเหนียวเผา

ไหสี่หู ที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านอำเภอรัตภูมิ ได้รับบริจาคจากนายปรุงศักดิ์ อิสระทะ

พิพิธภัณฑ์วัดดอน

เครื่องลายคราม

ชื่อวัตถุ เครื่องลายคราม

ชื่อภาษาถิ่น เครื่องลายคราม

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

เครื่องลายคราม หมายถึง เครื่องภาชนะกระเบื้อง หรือ เครื่องถ้วยชามเนื้อขาว ชนิดที่เขียนลายเป็นสีคราม มีต้นกำเนิดในประเทศจีนนิยมกันว่า เป็นของดีมีราคา ช่างจีนเข้ามาผลิตเครื่องลายครามขายจนเป็นที่นิยมแพร่หลาย ทั้งยังส่งไปขายยังประเทศใกล้เคียงด้วย ประเทศไทยผลิตเครื่องลายครามขึ้นใช้เองจนถึงเป็นสินค้าจำหน่ายไปยังประเทศใกล้เคียง เครื่องลายครามที่ไทยสั่งออกไปทำในเมืองจีน เท่าที่พบมีเพียง 3 อย่างคือ ชาม จานเชิง และโถสีก็มีก็มี 3 อย่างคือ ลายครามอย่างหนึ่ง ลายสีเขียนบนพื้นถ้วยขาวอย่างหนึ่งและเบญจรงค์ส่วนลายไทยที่เขียนเครื่องลายคราม มีลายก้านขด ลายก้านแย่ง ลายกระหนกและลายเทพพนมในตอนต้นรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่1 เครื่องลายครามที่สั่งไปทำเมืองจีนได้โปรดให้ช่างหลวงเขียนลายตัวอย่างขึ้นใหม่ ช่วงรัชกาลที่2 เครื่องลายครามที่สั่งไปทำเมืองจีนเขียนลายขึ้นใหม่หลายอย่าง เช่น ลายดอกกุหลาบ เป็นต้น ในรัชกาลที่3 นิยมลวดลายไปข้างแบบจีนมากขึ้น ในรัชกาลที่4 สั่งให้ทำแต่ลายน้ำทองกับลายคราม ในรัชกาลที่5 เครื่องลายครามจีนที่เป็นของดี มีตกเข้ามามากกว่ารัชกาลก่อน ๆเพราะมีความนิยมเล่นเครื่องลายครามมากขึ้น

ขวานไต

ชื่อวัตถุ ขวานไต

ชื่อภาษาถิ่น ขวานไต

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

ขวานไต เป็นเครื่องมือช่างไม้ ที่ใช้ในการถากไม้แบนๆ หรือโค้งให้เรียบ และใช้ปรับส่วนตาขวานเพื่อใช้ในการฟันไม้เหมือนขวานธรรมดาก็ได้ ลักษณะโดยทั่วไปคล้ายจอบ แต่มีหัวยาวทำมุมกับด้ามเป็นมุมฉาก หรือมุม 80 องศา ก็ได้แล้วแต่การใช้งาน ส่วนตาของขวานไตมีลักษณะคล้ายเสียม คือ คมอยู่ที่ส่วนปลาย โดยใช้ลับด้านในด้านเดียวเหมือนสิ่ว และกบ แต่มีสันยาวลักษณะคล้ายลิ่มผูกติดกับด้าม ส่วนที่เป็นด้ามมีขนาดโตพอเหมาะมือ ใช้หวายถักให้เป็นปลอกรัดตาขวานให้ติดกับด้ามขวานฉะนั้นการใช้ขวานไตถากหรือฟันมากเท่าไรตาของขวานไตก็จะยิ่งติดกับด้ามยิ่งแน่นขึ้นเท่านั้นขวานไตใช้เป็นเครื่องมือช่างไม้สำหรับทำ “หัวไถ” หรือ “หัวหมู” ซึ่งใช้สำหรับไถนา และใช้เป็นเครื่องมือสำหรับขุดเรือ ซึ่งในพื้นที่วัดดอน และตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในอดีตชาวบ้านส่วนใหญ่จะอาศัยเรือในการสัญจรและค้าขายทางน้ำกับชุมชนใกล้เคียง

หีบหวาย

ชื่อวัตถุ หีบหวาย

ชื่อภาษาถิ่น หีบหวาย

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

หีบหวาย เป็นเครื่องจักสาน หรือสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า“หัตถกรรม”ซึ่งหมายถึงการสร้างสิ่งของเครื่องใช้ด้วยมือ เครื่องมือ ภูมิปัญญา เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีค่ามากกว่าการใช้สอย ที่มีความงามเน้นให้เห็นถึงการสร้างสรรค์ประณีต งดงาม ละเอียดอ่อนในทางศิลปะ ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ตำบลคูเต่าอำเภอหาดใหญ่นั้นได้สืบทอดภูมิปัญญาทางด้านหัตถกรรมการจักสานเครื่องใช้ด้วยวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชน เช่นเชือกกล้วยตานี เตยและปาหนัน เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆได้อย่างหลากหลาย

หีบหวายที่พิพิธภัณฑ์วัดดอน เป็นการนำหวายมาจักสานเป็นลายลูกแก้ว ขึ้นรูปเป็นหีบสำหรับใส่เสื้อผ้า ข้าวของในการเดินทาง หรือไว้สำหรับเก็บรักษาของสำคัญ ได้รับบริจาคจากชาวบ้านมาแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้คนในชุมชนได้เห็นถึงคุณค่าของเครื่องใช้ประเภทเครื่องจักสานที่มาจากภูมิปัญญาของบรรพชน

ตาชั่งแขวน

1. ชื่อวัตถุ ตาชั่งแขวน

2. ชื่อภาษาถิ่น ตาชั่งจีน

3. เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

ตาชั่งแขวน เป็นตาชั่งโบราณแบบแขวน ที่ใช้ชั่งน้ำหนักได้ถึง 100 กิโลกรัม ประกอบด้วย ตัวตาชั่งทำจากไม้เนื้อแข็งกลึงกลม หุ้มหัวท้ายด้วยโลหะทองเหลือง - การแบ่งขีดและตัวเลขบอกน้ำหนักด้วยการใช้โลหะทองเหลืองตอกลงในเนื้อไม้ลูกตุ้มถ่วงน้ำหนักทำด้วยทองเหลืองมีตะขอเหล็กสำหรับแขวนตัวสิ่งของที่จะนำมาชั่งมีความยาวประมาณ 150 เซนติเมตร เวลาชั่งจะหิ้วห่วงขึ้นมาถือหรือแขวนไว้ แล้วเลื่อนลูกตุ้มน้ำหนักไปทางซ้ายหรือทางขวาจนกว่าจะถึงจุดสมดุลที่ตัวตาชั่งไม่เอียง แล้วจึงอ่านค่าน้ำหนักที่เขียนไว้บนตัวตาชั่งขนาดของตาชั่งจีนแตกต่างกันสุดแล้วแต่ว่าต้องการชั่งน้ำหนักขนาดไหน ตาชั่งใหญ่มาก ๆ สามารถชั่งข้าวสารเป็นกระสอบหรือหมูเป็นตัวๆได้ตาชั่งขนาดเล็กความยาวของตัวตาชั่งไม่ถึงฟุตมีไว้ชั่งสิ่งของน้ำหนักไม่ถึงตำลึง เช่น เงิน ทอง ยาสมุนไพร เป็นต้น

ตาชั่งแขวน ที่แสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์วัดดอน มีอายุเกินกว่า 100 ปี ได้รับบริจาคจากชาวบ้านในตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

มีดแด้ง

1. ชื่อวัตถุ มีดแด้ง

2. ชื่อภาษาถิ่น อ้ายแด้ง

3. เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

มีดแด้ง หรือ อ้ายแด้ง เป็นมีดยาว ตัวมีดคล้ายพร้ากราย แต่สันแอนเชิดกว่าเล็กน้อย ส่วนที่ติดกับด้ามหนาเล็กงอนไปข้างหน้าพองามค่อยแผ่กว้างและบางไปหาปลาย ส่วนปลายสุดกว้างกว่าพร้ากรายเล็กน้อย ปลายตัดเป็นเส้นโค้งเว้าเข้ามาคล้ายรูปนกกางปีก ด้ามมีดนิยมทำด้วยปลายเขาควาย ปลายด้ามงอนไปข้างหน้าเล็กน้อย ขนาดของด้ามโตพอจับกระชับมือ มักเหลาแต่งด้ามด้านคมให้บางกว่าด้านสัน และให้โคนด้ามที่ฝั่งกันเล็กกว่าปลายด้ามพองามบางท้องที่ผู้ชายนิยมถือมีดอ้ายแด้งเป็นอาวุธประจำตัวและบางโอกาสอาจใช้งานถางหรือฟันได้ด้วยจึงเลือกหาเล่มที่คมและรูปทรงสวยงามเชื่อว่าเป็นมงคลนำโชคลาภมาให้เจ้าของ หรือช่วยให้แคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวง

มีดแด้ง ในพิพิธภัณฑ์วัดดอน เป็นมีดแด้งที่ตีจากโรงตีเหล็กบ้านน้ำน้อย อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา


พิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภาตอนล่าง วัดคูเต่า

ศาลาการเปรียญ

ชื่อวัตถุ ศาลาการเปรียญ ชื่อภาษาถิ่น ศาลาเรียน เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ ศาลาการเปรียญ หรือ ศาลาปักษ์ใต้ หรือ ศาลาเรียน ของวัดคูเต่าเป็นอาคารที่มีลักษณะเป็นโถงยกพื้น หลังคากระเบื้องพื้นบ้านแบบเกาะยอ หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นสวยงามเป็นอาคารโรงเรียนสอนปริยัติธรรมแห่งแรกของอำเภอหาดใหญ่ ศาลาที่กล่าวมานี้มี ๒ หลัง สร้างมานานกว่า ๑๐๐ ปี ในอดีตใช้ประกอบงานบุญของประชาชน รวมถึงเป็นที่สอนหนังสือให้กับเด็กๆ ตลอดถึงสามเณรในวัด ซึ่งด้วยกาลเวลาล่วงเลยมาทำให้ศาลามีการชำรุดทรุดโทรม ซึ่งตามคำบอกเล่าของท่านเจ้าอาวาสได้ทราบว่ามีการบูรณะปฏิสังขรณ์ให้กลับสภาพดั่งเดิมโดยสถาบันอาศรมศิลป์ได้ร่วมกับชาวบ้านในแถบนั้น โดยที่ทางสถาบันจะเป็นพี่เลี้ยงให้ในการบูรณะ เพื่อให้มีความใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุดการบูรณะแล้วเสร็จในปี ๒๕๕๕ ซึ่งทางผู้บริหารในท้องถิ่นได้นำไปจัดนิทรรศการที่กรุงเทพฯ จนได้รับรางวัลจากสถาปนิกสยามและยูเนสโกในเวลาต่อมา

ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระเวสสันดรชาดก

ชื่อวัตถุภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระเวสสันดร

ชื่อภาษาถิ่น -

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ จิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ เป็นงานจิตรกรรมภาพเขียนสีฝุ่นฝีมือช่างพื้นบ้านซึ่งมีลักษณะเป็นจิตรกรรมที่สมบูรณ์และแสดงถึงอัตลักษณ์ของเชิงช่างท้องถิ่นได้ดี ทั้งเทคนิควิธีการใช้สีการลงลายเส้นตลอดถึงองค์ประกอบของภาพ รวมถึงคตินิยมทางศิลปะทั่ว ๆ ไป ที่ช่างโบราณได้สร้างสรรค์ผลงานนี้ประยุกต์เอาตัวหนังตะลุงอันเป็นงานศิลปกรรมของภาคใต้เข้ามาใช้ในการวาด ไม่ว่าจะเป็นพระเวสสันดร นางมัทรี จะรูปเป็นแบบเดียวกับกษัตริย์และนางกษัตริย์ในหนังตะลุง ตัวชูชกก็มีลักษณะของตัวตลกหนังตะลุงเนื้อเรื่องของภาพจิตรกรรมเป็นเรื่องพระเวสสันดรชาดก หรือมหาชาติและมีภาพเทพชุมนุมด้วย

พระอุโบสถ

ชื่อวัตถุ พระอุโบสถ

ชื่อภาษาถิ่น โบสถ์

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ อุโบสถหรือโบสถ์ ของวัดคูเต่า สร้างโดยพระอธิการแก้วเมื่อพ.ศ. 2430 แต่มาแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2445 โดยพระอธิการหนูใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ 15 ปี เป็นพระอุโบสถที่ค่อนข้างทึบแม้จะมีกรอบหน้าต่าง แต่ช่องหน้าต่างกลับเป็นช่องแสงที่ค่อนข้างเล็กหน้าบันด้านหน้าปั้นเป็นรูปพระพรหมทรงหงส์ล้อมรอบด้วยลายพันธุ์พฤกษาและรูปคนกับสัตว์โดยมีการทำรูปยักษ์แทรกเหมือนกำลังแบกหน้าบันเอาไว้

ภายในอุโบสถคล้ายกับมีอุโบสถซ้อนอีกหลังหนึ่ง เพราะมีผนังด้านหลังปิดและมีทางเดินโดนรอบ ตรงกลางมีพระประธานขนาบด้วยพระพุทธรูปขนาดเล็กกว่าอีก 2 องค์ ประดิษฐานอยู่ในซุ้มพระพุทธรูปโดยซุ้มตรงกลางจะซ้อน 2 ชั้นและสูงกว่า เพื่อให้โดดเด่นกว่าซุ้มข้างๆ โดยซุ้มข้างๆ ทำเป็นรูปยักษ์อีกฝั่งหนึ่งทำเป็นรูปเหมือนราหูอมจันทร์ส่วนที่ผนังด้านบนเขียนภาพเทพชุมนุมเอาไว้ด้วยส่วนจิตรกรรมฝาผนังด้านในจะเป็นเรื่องราวของเวสสันดรชาดกที่ประยุกต์งานศิลปกรรมของภาคใต้คือตัวหนังตะลุงเข้ามาใช้ในการวาดจิตรกรรมฝาผนัง

เครื่องสังคโลก

ชื่อวัตถุ เครื่องสังคโลก

ชื่อภาษาถิ่น -

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

เครื่องสังคโลก เป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตขึ้นในรูปแบบของภาชนะ เครื่องประกอบสถาปัตยกรรมตุ๊กตา เช่น ถ้วย ชาม จาน ไหดิน โอ่ง กระปุก ป้านน้ำชา ช้อน ตลอดจนตุ๊กตา รูปคนรูปสัตว์ เช่น ช้าง ยักษ์ เทวดา พระพุทธรูป กระเบื้องมุงหลังคา สิงห์สังคโลก ลูกมะหวด ท่อน้ำ ตุ๊กตาเสียกบาล ตัวหมากรุก ฯลฯ มีทั้งชนิดเคลือบน้ำยา และไม่เคลือบน้ำยาเครื่องสังคโลกนี้ผลิตมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง การผลิตเครื่องสังคโลกลดลง ด้วยเหตุสำคัญประการหนึ่ง คือ ตลาดการค้าเครื่องสังคโลกเปลี่ยนแปลง คือ การที่จีนหวนกลับมาผลิตเครื่องลายครามน้ำเงิน–ขาวซึ่งกลายมาเป็นที่นิยมและการค้าสมัยกรุงศรีอยุธยาเปลี่ยนแปลงไป ตามความเรียกร้องของชาวตะวันตก ฝีมือการทำเครื่องปั้นดินเผาก็เสี่ยมลงเป็นแต่การปั้นดินหยาบ ๆ เท่านั้น

กระเชอ

ชื่อวัตถุ กระเชอ

ชื่อภาษาถิ่นเชอ,ชัน

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

กระเชอ หรือ เชอ เป็นภาชนะที่ทำจากวัสดุ 3 ชนิด คือ ไม้ไผ่ และ หวาย ด้วยวิธีการจักสานให้ก้นสอบ ปากกว้าง ก้นมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมและขึ้นรูปทรงด้วยตอกไม้ไผ่สานจนได้ขนาดตามที่ต้องการ และใส่ขอบในส่วนปากกระเชอที่มีลักษณะเป็นวงกลมด้วยหวายผูกขอบด้วยหวายโดยถักเป็น “ลางแลน” ปิดตรงกลางของขอบบน เคลือบด้วยน้ำชันใสกันมอดชาวบ้านในชนบทใช้สำหรับใส่ข้าวเปลือก ข้าวสารหรือใส่ของในพิธีกรรมต่างๆใส่ของไปวัดในวันพระ ส่วนกระเชอขนาดเล็กใช้เป็นเชี่ยนหมากหรือใช้ใส่สินสอดทองหมั้น ในงานแต่งงาน


พิพิธภัณฑ์ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชคลองแห

ขวานฟ้า

ชื่อวัตถุ ขวานฟ้า

ชื่อภาษาถิ่น ขวานฟ้า

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

ขวานฟ้าเป็นของหลวงพ่อทอง คงฺฆสฺสโรใช้สำหรับประกอบพิธีกรรม เป็นเครื่องมือทำจากหินธรรมชาติชนิดต่างๆที่คนสมัยก่อประวัติศาสตร์ทำขึ้นและตกทอดมาถึงสมัยประวัติศาสตร์จนกระทั่งปรากฏเป็นหลักฐานทางโบราณคดีจัดว่าเป็นโบราณวัตถุประเภทหนึ่งซึ่งมีความเชื่อเกี่ยวข้องกับฟ้าผ่าและเรื่องรามสูรขว้างขวานขณะนางเมขลาล่อแก้ว ทำให้เกิดฟ้าร้องฟ้าผ่าและขวานของรามสูรตกลงมาเชื่อว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์สามารถขุดได้ตรงที่ฟ้าผ่า บ้างว่ามีคุณสมบัติเกี่ยวกับความคงกระพันชาตรีเมื่อพกติดตัวไว้ในบ้านป้องกันฟ้าผ่าใส่ในยุ้งข้าวหรือในถังข้าวสารข้าวไม่พร่องใส่ในโอ่น้ำทำให้น้ำเย็นนำความร่มเย็นเป็นสุขมาให้ครัวเรือนไม่เจ็บไข้ได้ป่วยใช้รักษาโรคลมเพลมพัดโรคปวดท้อง เป็นเครื่องรางของขลังขับไล่ผีเข้า (ไว้ใต้ที่นอน)นอกจากนั้นมีความเชื่อว่าถ้าเอาน้ำที่มีขวานฟ้าลงไปแช่แล้วนำไปรดวัวชน วัวจะชนชนะ

ขวานฟ้าของหลวงพ่อทอง คงฺฆสฺสโรชิ้นนี้เป็นขวานฟ้าที่หลวงพ่อทอง คงฺฆสฺสโรใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ตามความเชื่อของคนในสมัยนั้น เช่น ใช้ประกอบการทำน้ำมนต์ ใช้ป้องกันและแก้อุบาทว์ฟ้าฯลฯขวานฟ้าของหลวงพ่อทอง คงฺฆสฺสโรท่านได้มาจากไหนไม่ปรากฏที่มาเพราะไม่มีใครเคยถามถึงที่มาของขวานฟ้าอันนี้ เมื่อท่านมรณภาพแล้ว พระครูอรรถธรรมนาถ (บุญบุญรัตน์)เจ้าอาวาสวัดคลองแหรูปต่อมาได้เก็บรักษาไว้จนกระทั่งท่านมรณภาพ พระครูวาปีธรรมอุดมเจ้าอาวาสวัดคลองแห ในปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดคลองแห

ตะบันหมาก

ชื่อวัตถุ ตะบันหมาก

ชื่อภาษาถิ่น บอกยน

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

บอกยนหรือตะบันหมาก เป็นเครื่องมือที่ใช้ตำหมากให้ละเอียดใช้สำหรับคนชราที่ไม่สามารถใช้ฟันของตนขบเคี้ยวได้ทำเป็นกระบอกเหล็กหรือทองเหลืองเรียวเล็กลงเล็กน้อยยาวประมาณ20เซนติเมตรตรงท้ายของบอกยนซึ่งเป็นด้านที่เรียวลงมีแท่งไม้ตันอุดรูตะบันไว้เรียวว่า

“ดันยน”หรือ“ดากตะบัน”และมี “เหล็กยน”ทำด้วยเหล็กขนาด 3 หุน ยาวกว่าความยาวของบอกยนเล็กน้อยปลายข้างหนึ่งทำด้ามด้วยไม้ใช้สำหรับถือ ส่วนปลายอีกข้างหนึ่งตีให้แบนและคมสำหรับใช้ยนหมาก นอกจากนี้ยังมีแท่นไม้กลมประมาณ 4 หุน ยาวเท่ากับเหล็กยน เรียกว่า “สากยน”หรือ“สากตะบัน”ใช้สำหรับกระทุ้งดันยนเมื่อยนหมากละเอียดได้ที่แล้ว

วิธีใช้บอกยนเจียนหมากพลู ขนาดพอคำพร้อมด้วยปูนแดงหรือปูนขาวสำหรับกินกับหมากใส่ลงทางปากตะบันแล้วใช้เหล็กยนยนหรือตำจนหมากพลูแหลกละเอียดจากนั้นใช้สากยนแยงทางก้นบอกยนและใช้แรงกระแทกดันยนที่ยนละเอียดแล้วออกทางปากบอกยน

บอกยนนี้เป็นบอกยนที่หลวงพ่อทอง คงฺฆสฺสโรใช้ยนหมากในวัยชรามีคนในท้องถิ่นคลองแหและท้องถิ่นใกล้เคียงเชื่อกันว่าชานหมากของหลวงพ่อทองคงฺฆสฺสโรเป็นของศักดิ์สิทธิ์ มีคนแสวงหาไปครอบครองเป็นจำนวนมาก




สมุดข่อยตำราห่วง

ชื่อวัตถุ สมุดข่อยตำราห่วง

ชื่อภาษาถิ่น สมุดบุด

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

สมุดข่อยตำราห่วง หรือ สมุดบุด ซึ่งมี 2 แบบ คือ บุดขาว มีพื้นสีขาวเขียวด้วยอักษรสีดำ และ บุดดำ มีพื้นสีดำเขียนด้วยอักษรสีขาวหรือรงค์ คำว่า “บุด” ภาษาถิ่นใต้อาจมีรากคำมาจากภาษาสันสกฤตว่า “ปุสฺตก” หมายถึงคัมภีร์ใบลาน ผ้าเปลือกไม้ รูปปั้นรวมความแล้วความหมายสอดคล้องกับหนังสือบุดหรือมีข้อสังเกตว่าชาวใต้น่าจะออกเสียง “สมุด” เป็น “มุด” หนังสือบุดทำมาจากเปลือกข่อย โดยเอาส่วนผิวนอกสีเขียวออกเสียก่อนแล้วเอาเปลือกข่อยมาบดหรือตำให้ละเอียดผสมด้วยยางไม้ที่มีเมือกเหนียวคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วจึงเทลงในเป้าพิมพ์ตามขนาดหนังสือที่ต้องการ จากนั้นใช้ลูกกลิ้งบดรีดให้สนิทเก็บไว้ชั่ว 1 วัน 1 คืน จึงลอกออกจากเบ้าพิมพ์นำไปผึ่งแดดให้แห้งสนิท แล้วใช้ลูกสะบ้าขัดผิดหน้ากระดาษให้เรียบ ถ้าต้องการเป็นบุดดำใช้กาบมะพร้าวหรือกาบหมากเผาไฟ แล้วใช้ถ่านหรือเขม่าไฟผสมกับน้ำข้าวทาหน้ากระดาษ แล้วใช้ลูกสะบ้าขัดอีกครั้งจะได้หนังสือบุดตามต้องการ

ตำราห่วงของหลวงพ่อทอง คงฺฆสฺสโรให้สำหรับดูฤกษ์ที่จะทำการมงคล ปลูกเรือน เพาะปลูก หว่านพืช หรือจะเดินทางให้ดูตำราห่วงถ้าวันใดไม่ดีอย่าเดินทางไปไหนและอย่าทำการมงคลทั้งปวง

วิธีนับ ให้นับวันขึ้น 1 ค่ำ เป็นต้นไป ทั้ง 12 เดือน ถ้าเดือนใดวันขึ้น 1 ค่ำเป็นวันอาทิตย์นับไปตามลำดับข้างขึ้นและข้างแรม คือ ขึ้น 1 ค่ำ (เอาเลข 1) เป็นหลัก 2 ค่ำ 3 ค่ำ จนถึง 15 ค่ำ และนับแรม 1 ค่ำ 2 ค่ำ จนถึง 15 ค่ำ หรือ 14 ค่ำ นับโดยวิธีนี้ไปทุก ๆ เดือน วันดีเป็นวันสิทธิโชค มหาสิทธิโชค อมฤตโชค ฯลฯ วันไม่ดี ทักทิน อมิตยู อัคนโรทร์ ยมขันธ์ ฯลฯ ห่วงนั้นมีปลอดห่วง ห่วงเฉียง ห่วงยืน และห่วงนอน เช่น ถ้าต้องปลอดห่วงจะทำการอันใดดีทุกอย่า แต่ถ้าข้าหญิงชายหนี วัวควายหาย ทายว่ามิดีเลย ถ้าป่วยไข้ทายว่าเป็นเพราะโรคตัวเอง ถ้าจะไปแห่งใดปลอดภัยดี ถ้าต้องห่วงเฉียงและห่วงยืน ข้าหญิงชายหนี วัวควายเงินทองหายจะได้คืน ฯลฯ

กะลาไม่มีตา

ชื่อวัตถุ กะลาไม่มีตา

ชื่อภาษาถิ่น คดมะพร้าว

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

กะลาไม่มีตา หรือ คดมะพร้าว ถือกันว่าเป็นวัตถุอาถรรพ์เป็นมหาอุตม์โดยกำเนิด ที่มีฤทธิ์อยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้วแม้ว่าไม่ต้องปลุกเสกก็ยังมีความศักดิ์สิทธิ์จึงนิยมนำมาแกะสลักเจาะรูหรือทำเป็นสร้อยคอสร้อยข้อมือสำหรับติดตัว เพราะถือกันว่าเป็นเครื่องรางของขลังสามารถป้องกันคุณไสยและภูติผีปีศาจได้และยังทำให้ผู้ที่มีติดตัวไว้มีโชคมีลาภอีกด้วยโดยนิยมนำไปให้ผู้ที่มีวิชาแก่กล้าลงคาถาอาคมต่างๆ ให้เพื่อติดตัวใช้สำหรับป้องกันภัยร้ายต่างๆที่จะมาถึงตัวส่วนกะลาไม่มีตาทั้งลูกนั้นมักจะนำไว้บูชาอธิษฐานขอสิ่งต่าง ๆ ให้กับครอบครัว

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์เชื่อกันว่ากะลาไม่มีตาและกะลาตาเดียวนอกจากจะเป็นเครื่องรางของขลังแล้วหากนำใช้ตักข้าวสารเวลาหุงข้าวเชื่อกันว่าจะทำให้มีข้าวกินตลอดชีวิตไม่มีอดอยาก มีเงินมีทองใช้ไม่รู้จักหมด หากเป็นขุนนางหรือข้าราชการมักจะนำมาแขวนคอติดตัวไปทำงานด้วย เพื่อความเจริญรุ่งเรืองทางยศฐาบรรดาศักดิ์ ได้เป็นเจ้าขุนมูลนาย เป็นใหญ่เป็นโตกว่าคนอื่น ส่วนทหารที่ออกศึกก็มักจะนำไปให้อาจารย์ที่มีวิชาลงคาถาอาคมกำกับ เพื่อให้ตนออกศึกและชนะรอดกลับมาได้

พระอาจารย์ทอง

ชื่อวัตถุ พระอาจารย์ทอง

ชื่อภาษาถิ่น พ่อท่านทอง

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

พ่อท่านทอง คงฺฆสฺสโร เดิมชื่อ ทอง มุณีเพชรรัตน์ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน 2430 ณ บ้านเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา อายุได้ 21 ปี อุปสมบทที่วัดคลองแห พระครูศรีสุวรรณวาสี (ย้อย) วัดดอน เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อปาน วัดคลองเรียน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พ่อท่านปลอด อาคม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า “คงฺฆสฺสโร” จำพรรษาอยู่ที่วัดคลองแห เรียนสวดมนต์จบภาณยักษ์ สวดปาติโมกข์ จนกระทั่ง 7 พรรษา จึงกราบลาพ่อท่านปลอด อาคม ไปจำพรรษาที่วัดสังเหยากับท่านจันทร์ เพื่อศึกษาบาลี นักธรรม อีก 1 พรรษา จึงย้ายไปวัดท่าวังจังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อศึกษาบาลีกับท่านเจียม และกลับมาอยู่วัดคลองแหอีกครั้ง ต่อมาได้เดินเท้า 12 วัน ไปถึงวัดบางแซะ รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เพื่อเรียนพุทธาคมกับหลวงพ่อครน อยู่ระยะหนึ่งจึงกลับไปเรียนพุทธาคมกับอาจารย์พรหม อาจารย์อินทร์ และอาจารย์หมวก แห่งวัดพระพุทธ จังหวัดนราธิวาส อยู่ 2ปี จึงกราบลาอาจารย์ทั้ง3 ท่านกลับไปจำพรรษาที่วัดคลองแหอีกครั้งและไปเป็นเจ้าอาวาสวัดดอน อยู่ 10 พรรษา จึงออกธุดงค์ไปหลายจังหวัดหลายปี จึงกลับมาจำพรรษาและได้เป็นเจ้าอาวาสวัดคลองแหในเวลาต่อมาท่านสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้วัดคลองแหเป็นอันมากนานถึง 20 ปี และมรณภาพด้วยอาการสงบ สิริอายุ 75 ปี 53 พรรษา

อภินิหารพ่อท่านทอง คงฺฆสฺสโร ที่ชาวคลองแหเล่าขานต่อกันมาว่า ในช่วง สงครามอินโดจีน มีคหบดีในตัวเมืองหาดใหญ่ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า “โคกเสม็ดชุน” กลัวภัยของสงครามเพราะมีการปล้นจี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง จึงนำสมบัติไปฝากไว้กับพ่อท่านทอง ที่วัดคลองแห ท่านจึงนำสมบัติที่ฝากไว้นั้นไปเก็บไว้ในโบสถ์ พร้อมกับทำการปิดล๊อกอย่างแข็งแรง ตกกลางคืนท่านจะเดินตรวจตราเป็นประจำ

อยู่มาครั้งหนึ่งท่านบอกกับพระลูกวัดว่า คืนนี้จะมีโจรมาทำพิธีเข้าปล้นวัดคลองแห เพื่อเอาสมบัติของคหบดีชาวจีนที่นำมาฝากไว้ ท่านจึงทำลายพิธีของโจรก่อนที่มันจะมาปล้น ทั้งนี้เพราะสมัยก่อนเวลาที่โจรจะทำการปล้นที่ไหน ก็จะตั้งพิธีเพื่อเรียกกำลังใจให้ฮึกเหิม เวลาทำการปล้นจะได้สำเร็จลุล่วง ซึ่งโจรกลุ่มนี้ได้ทำพิธีในป่าช้าหลังวัดคลองแห พ่อท่านทองจึงใช้คันธนูยิงกระสุนดินเหนียวขึ้นฟ้าปรากฏว่ากระสุนนั้นไปถูกต้นเทียนที่โจรประกอบพิธีขาดสองท่อน ทำให้พวกโจรตกใจหนีกระเจิงล้มเลิกความปล้นไปทันที

พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดหัวเตย

ขันสาคร

ชื่อวัตถุ ขันสาคร

ชื่อภาษาถิ่น

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

ขันสาคร เป็นขันสำริดขนาดใหญ่ มีอยู่ 2 ใบ ใบที่ 1 ความกว้างของปากขัน45.3 เซนติเมตร ความสูงจากก้นถึงปากขัน 31 เซนติเมตร ใบที่ 2 ความกว้างของปากขัน 36 เซนติเมตร ความสูงจากก้นถึงปากขัน 33.5 เซนติเมตร ตัวขันเป็นทรงลูกมะนาวตัด ก้นขันมีเชิงข้างขันทำเป็นรูปหน้าสิงห์ปากคาบห่วง ซึ่งใช้เป็นหูหิ้วข้างละหู ผิวเรียบรอบขันด้านบนตอกเป็นลวดลายสวยงามรอบขัน 2 แถว แถวบนติดกับปากขันใหญ่กว่าแถวล่าง

ขันทั้ง 2 ใบ เป็นสมบัติเดิมของวัด สมัยก่อนไว้สำหรับย้อมจีวรปัจจุบันใช้ประกอบในพิธีกรรมตัดจุกผูกผ้าโนราโรงครูโดยราชครูโนราจะให้ศิษย์ที่จะทำพิธีตัดจุกผูกผ้า นั่งบนขันสาครที่ตั้งบนหนังเสือ หนังหมี แล้วราชครูโนรา จะทำพิธีตัดจุกผูกผ้าแล้วจะหย่อนเทริดครอบให้แก่ศิษย์จากนั้นศิษย์ที่ผ่านการครอบเทริดแล้วจะร่ายรำโนราร่วมกับราชครูโนรา ที่ร่วมในพิธีตามขนบนิยมทั้ง 7 คน ครบทั้งสิบสองบทสิบสองคำพลัดจนหมดสิ้นกระบวนการรำโนราโรงครูตามแบบฉบับโบราณเพื่อรับรองความสามารถในการเป็นโนราที่สมบูรณ์แบบในเดือน6 เดือน9 ขันสาคร ในพิพิธภัณฑ์วัดหัวเตยจะถูกยืมไปใช้ประกอบพิธีกรรมตัดจุกผูกผ้าโนราโรงครูเป็นประจำตลอดทั้ง4 เดือน

ผ้าประดับพนมพระ

ชื่อวัตถุ ผ้าประดับพนมพระ

ชื่อภาษาถิ่น -

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

ผ้าประดับพนมพระทำจากผ้าสีสดใส ปักด้วยลูกปัดแก้วหลากสี เป็นลวดลายต่างๆแล้วร้อยลูกปัดเป็นระย้าตรงปลายด้านล่างของระย้าจะผูกด้วยพู่ด้ายหลากสีในอดีตผ้าประดับพนมพระใช้สำหรับตกแต่งเหนือม่านแกวกรอบพนมพระ เพื่อให้ดูสวยงาม ปัจจุบันรูปแบบการทำพนมพระเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมจึงไม่นิยมใช้ผ้าประดับพนมพระเหมือนในอดีต


พระพุทธรูปจำหลักด้วยไม้จันทน์

ชื่อวัตถุ พระพุทธรูปจำหลักด้วยไม้จันทน์

ชื่อภาษาถิ่น หลวงพ่อแก่นจันทน์

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

เป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร มีความสูง 60.6 เซนติเมตร ทำด้วยไม้จันทน์ ประทับยืนบนฐานบัวหงายประดับด้วยลายดอกไม้ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ปัจจุบันทางวัดได้ใช้สีทองทาองค์พระใหม่ทำให้สีทองปิดอักษรจารึกทางด้านหลังองค์พระพุทธรูป จนมองไม่เห็นตัวอักษร แต่จากคำของคนเฒ่าที่เคยอ่านจารึกบอกว่า เป็นจารึกอักษร ร.ศ.123 (พ.ศ.2447) สมัยรัชกาลที่ 5

พระบฏ

ชื่อวัตถุ พระบฏ

ชื่อภาษาถิ่น

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

พระบฏ มีความหมายว่า เรื่องราวทางพระพุทธศาสนาที่ถ่ายทอดลงบนผืนฟ้า ภาพพระบฏของวัดหัวเตยทั้ง 3 ผืน เขียนลงบนผ้าดิบ เมื่อ พ.ศ. 2345 การวางภาพและให้สีของภาพยังได้รับอิทธิพลมาจากกรุงศรีอยุธยาเต็ม ๆ จากการสำรวจพบ คาดว่าภาพพระบฏทั้ง 3 ผืนนี้ เป็นหนึ่งเดียวในภาคใต้ที่ทันสมัย รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พระบฏผืนที่1ขนาดกว้าง 93 เซนติเมตร ยาว 332 เซนติเมตร เขียนเรื่องพุทธประวัติ มี 14 ภาพ อธิบายตั้งแต่พระนางสิริมหามายาทรงประสูติพระโอรส จนกระทั่งถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระสัมมา สัมพุทธเจ้า

พระบฏผืนที่2 ขนาดกว้าง 90 เซนติเมตร. ยาว 227 เซนติเมตร เขียนรอยพระพุทธบาทเบื้องขวาด้วยลายมงคล 108ส่วนด้านล่างของผืนผ้าเขียนเรื่องพระมาลัยโปรดสัตว์นรก

พระบฏผืนที่3 ขนาดกว้าง 90 เซนติเมตรยาว 227 เซนติเมตรเขียนรอยพระพุทธบาทเบื้องซ้ายด้วยลายมงคล 108ส่วนบนของภาพเขียนรูปเมขลาล่อแก้ว และรามสูรขว้างขวาน ส่วนด้านล่างของภาพเขียนรูปเทพบุตร เทพธิดาพนมมือถือดอกบัว

เครื่องถ้วยเบญจรงค์

ชื่อวัตถุ เครื่องถ้วยเบญจรงค์

ชื่อภาษาถิ่น

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

เครื่องถ้วยเบญจรงค์ เป็นเครื่องปั้นดินเผาประเภทเซรามิก เนื้อสีขาวที่มีคุณสมบัติโปร่งแสงเหมือนแก้ว ไม่ดูดซึมน้ำ เมื่อเคาะจะมีเสียงกังวาน นิยมใช้สีเขียนลาย 5 สี เป็นของใช้ในครัวเรือน ซึ่งพบเห็นได้โดยทั่วไปของบ้านเรือนที่มีฐานะในสมัยก่อนที่พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดหัวเตยมีจัดแสดงไว้หลายชิ้นด้วยกันเป็นของดั้งเดิมของวัดบ้างมีผู้นำมาถวายในภายหลังบ้าง

พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณสงขลา 238

ผ้ายกไหมตราราชวัตร

ชื่อวัตถุ ผ้ายกไหมตราราชวัตร

ชื่อภาษาถิ่น -

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

ผ้ายกไหมตราราชวัตร จากบันทึกของเจ้าเมืองสงขลาและแหล่งที่พบจากชุมชนมุสลิมโบราณ “บ้านหัวเขา” รวมทั้งหลักฐานต่าง ๆ เช่น โรงทองผ้าโบราณที่หลงเหลือและลักษณะพิเศษของหลักฐานผ้าที่พบ มีความแตกต่างจาก “ผ้าลายราชวัตร” จากที่อื่น เนื่องจากผ้า “ลายราชวัตร” ผืนที่พบ นอกจากเทคนิคการทอผ้าแล้ว อีกประการหนึ่ง คือ ลักษณะการทอที่ใช้ไหมที่มีสีแตกต่างกันถึง 5 สี อาจจะเชื่อมโยงและแฝงถึงคติความเชื่อของมุสลิมแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ( ชวา หมู่เกาะสุมาตราและ แหลมมลายู รวมถึงปัตตานีและเมืองสงขลาหรือซิงโกรา)ในอดีต ปัจจุบัน คือบ้านหัวเขาผ้าผืนที่พบตั้งข้อวิเคราะห์ อาจทอโดยคนมุสลิมในอดีตโดยมีลักษณะและเทคนิคการทอที่ใช้สีถึง 5 สี ในผ้าผืนเดียว หรือ อาจเรียกผ้าผืนที่พบ“ผ้ายกไหมซงเค็ตสีมาร์ลายราชวัตร”ก็อาจเรียกได้คำว่าลีมาร์ในวัฒนธรรมมลายูใช้สีในการแสดงถึงสัญลักษณ์ทั้งห้า(ความยิ่งใหญ่และความประเสริฐ/ความสงบสุข/ความสามัคคี/พลเรือน/ความเจริญรุ่งเรือง)ผ้าที่พบมีทั้งหมด 5 สี คือ สีเขียว สีน้ำตาล สีแดง สีขาว และสีทอง ผ้าลักษณะนี้จะใช้สำหรับบุคคลสำคัญหรือชนชั้นการปกครอง

เสื้อบาจูกูรง

ชื่อวัตถุ เสื้อบาจูกูรง

ชื่อภาษาถิ่น -

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

เสื้อบาจูกูรงตัดเย็บด้วยผ้าลิมานซงเค็ด พบที่อำเภอรามัน เป็นเสื้อที่มีใช้ในสมัยที่ยังมีการปกครองแบบเจ็ดหัวเมืองในอดีต เป็นเสื้อสำหรับชนชั้นปกครองสวมใส่

โสร่งจาก “เมืองปาหัง”

ชื่อวัตถุ โสร่งจาก “เมืองปาหัง”

ชื่อภาษาถิ่น -

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุโสร่งจาก“เมืองปาหัง”ผืนนี้พบที่ชุมชนมุสลิมโบราณ“บ้านหัวเขา”เป็นโสร่งที่ทอจากไหมเป็นลายริ้วในแนวขวางสลับสีไปมาสีที่นิยมคือสีงาช้าง สีเขียว สีเหลืองสีแดงสีชมพูและสีม่วงเข้ม พบทั้งสองแบบคือแบบโสร่งที่สุภาพบุรุษสวมใส่ และแบบที่สุภาพสตรีสวมใส่ ซึ่งมีความแตกต่างกัน คือ ถ้าเป็นแบบสุภาพบุรุษจะเป็นแบบในรูปซึ่งมีความกว้างความยาวแบบโสร่งทั่วไปส่วนของสุภาพสตรีจะใช้ผ้าที่มีความกว้างเท่ากันสองผืนมาเย็บเพลาะตรงกลางผ้าเพื่อเพิ่มความกว้างและเหมาะกับลักษณะการสวมใส่ของสตรีโดยการนุ่งของสตรีจะนำผ้ามาผูกเคียนบนหน้าอก หรือ กระโจมอก

เสื้อบาจูอีมาส

ชื่อวัตถุ เสื้อบาจูอีมาส

ชื่อภาษาถิ่น -

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

เสื้อบาจูอีมาส ตัวนี้พบที่ จะบังติฆอ เป็นเสื้อที่ตัดเย็บด้วยผ้ายกที่ใช้เส้นไหมน้อยสีเขียวทอยกด้วยเส้นทองคำเป็นลายดอกไม้ เกสรดอกไม้เป็นสีม่วง ด้านในเย็บบุด้วยผ้าพิมพ์จากอินเดียเป็นเสื้อสำหรับชนชั้นปกครองในอดีตยุคที่มีการปกครองแบบเจ็ดหัวเมือง

ATIK KOTAK

ชื่อวัตถุ BATIK KOTAK

ชื่อภาษาถิ่น -

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

BATIK KOTAK เป็นผ้าอีกประเภทที่พบ เป็นผ้าที่มีความนุ่มพลิ้วเหมือน “ผ้าปะลางิง”แต่ใช้เทคนิคในการพิมพ์ลวดลายด้วยบล๊อคไม้ จากเมือง HABUTAIประเทศญีปุ่นผลิตส่งบายตลาดมลายู ผ้าผืนนี้พบในชุมชนแขกโบราณ“บ้านหัวเขา”ที่เคยมีใช้เมื่อครั้งอดีต

พิพิธภัณฑ์สมเด็จเจ้าพะโคะ

สมเด็จเจ้าพะโคะ

ชื่อวัตถุสมเด็จเจ้าพะโคะ

ชื่อภาษาถิ่นหลวงปู่ทวด

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

หลวงปู่ทวด มีนามเดิมว่า “ปู” เป็นบุตรของนายหูและนางจัน บิดามารดาของเด็กชายปูนั้นเป็นทาสในเรือนเบี้ยของเศรษฐี ปาน ตอนเล็ก ๆ แม่ผูกเปลไว้มีงูจงอางมาคายลูกแก้วไว้ในเปล เมื่ออายุได้ 7 ขวบ บิดามารดาของท่านจึงนำท่านไปฝากไว้กับสมภารจวงวัดดีหลวงให้บวชเป็นสามเณรเพื่อเรียนหนังสือด้วยความที่เป็นคนใฝ่เรียนใฝ่เรียนสามเณรปูก็เรียนจนจบในระดับเบื้องต้นสมภารจวงได้นำสามเณรปูไปฝากให้เล่าเรียนหนังสือที่สูงขึ้น สมัยนั้นเรียกว่ามูลบทบรรพกิจ โดยนำไปฝากเรียนไว้กับสมเด็จพระชินเสน ซึ่งเป็นพระเถระชั้นสูงที่ส่งมาจากกรุงศรีอยุธยา ให้มาครองเป็นเจ้าอาวาสวัดสีคูยังหรือวัดสีหยังในปัจจุบัน ท่านได้เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและจบหลักสูตรที่วัดสีคูยังหลังจากนั้นท่านได้เดินทางเข้ามาศึกษาต่อที่เมืองนครศรีธรรมราช เพื่อเรียนหนังสือให้สูงขึ้นที่วัดเสมาเมืองและบรรพชาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์เมื่ออายุครบกาลอุปสมบทท่านได้ศึกษาวิชาจากครูบาอาจารย์ต่าง ๆ จนมีความรู้ และไปเรียนต่อที่กรุงศรีอยุธยาในระหว่างที่เดินทางอยู่กลางทะเล น้ำจืดในเรือหมด ท่านได้แสดงปาฏิหาริย์เอาเท้าเหยียบน้ำทะเลกลายเป็นน้ำจืดสร้างความศรัทธาให้กับคนที่อยู่เรือเป็นอย่างมาก ระหว่างที่ท่านจำพรรษาอยู่ในกรุงศรีอยุธยาท่านได้แสดงปาฏิหาริย์หลายครั้งจนได้รับพระราชทานสมณะศักดิ์จากสมเด็จพระเอกาทศรถในครั้งสุดท้ายในราชทินนามว่า “สมเด็จเจ้าพระราชมุนีสามีรามคุณูปรมาจารย์” หลังจากนั้นท่านได้ธุดงค์กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดพะโคะจนถึงวัยชราท่านก็ได้โละหายไปจากวัดพะโคะ

ลูกแก้วหลวงปู่ทวด

1.ชื่อวัตถุ ลูกแก้วหลวงปู่ทวด

2.ชื่อภาษาถิ่น ลูกแก้วหลวงปู่ทวด

3. เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

ลูกแก้วหลวงปู่ทวด คือ ลูกแก้วที่งูจงอางคายไว้ในเปลของเด็กชายปู เมื่อครอบครัวของเด็กชายปูได้ลูกแก้วมาการทำมาหากินดีจนเศรษฐีปานรู้เข้าก็บีบบังคับเอาลูกแก้วจากนายหูและนางจัน จนต้องจำยอมให้ลูกแก้วนั้นแก่เศรษฐีปาน เมื่อเศรษฐีปานเอาลูกแก้วไปแล้วเกิดเภทภัยในครอบครัวเกิดการเจ็บป่วยกันบ่อยฐานะก็ยากจนลง เศรษฐีปานจึงได้เอาลูกแก้วมาคืนและขอขมาเด็กชายปู และยกหนี้สินให้แก่นายหูและนางจันทร์ ทั้งสองจึงพ้นจากการเป็นทาสมีฐานะดีขึ้น ๆ ส่วนเศรษฐีปานก็มีฐานะดีขึ้นดังเดิมเมื่อครั้งที่ท่านไปจำพรรษาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาเกิดมีโรคห่าระบาดคนล้มตายเป็นจำนวนมาก ท่านได้ใช้ลูกแก้วนี้ใส่ไปในน้ำพระพุทธมนต์รักษาจนโรคไข้ห่าหายหมดสิ้นไป เมื่อท่านกลับมาจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว ท่านได้บูรณะเจดีศรีรัตนมหาธาตุ และนำเอาลูกแก้วนั้นไปประดิษฐานเอาไว้บนยอดพระเจดีย์ต่อมาหลังจากโละจากวัดพะโคะไปแล้วเกิดฟ้าผ่ายอดเจดีย์ ทำให้ดวงแก้วตกลงมาอยู่ใกล้ๆ เจดีย์ ภายหลังเด็ก ๆละแวกนั้นพากันมาเล่นสะบ้าเด็กเห็นลูกแก้วก็เกิดประหลาดใจจึงนำไปมอบให้แก่พ่อแม่ก็เกิดเหตุอัศจรรย์คือมีงูใหญ่ขัดขวางเอาไว้ เด็กจึงนำลูกแก้วเข้าไปคืนให้แก่เจ้าอาวาสวัดพะโคะดังเดิม


ไม้เท้าสามคด

1. ชื่อวัตถุ ไม้เท้าสามคด

2. ชื่อภาษาถิ่นไม้เท้าสามคด

3. เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

ในขณะหลวงปู่ทวดจำพรรษาอยู่ที่พะโคะนั้น วันหนึ่งท่านก็ถือไม้เท้าสามคดออกไปเดินเล่นหรือเดินจงกลม ไม่มีใครรู้ แต่ท่านคงรู้อะไร แบบลางบอกเหตุ ท่านก็เดินดูลมชมวิวธรรมดา ชาวบ้านพากันแปลกใจ แล้วไม่นานก็มีเรือโจรสลัดเข้ามาจอดเลียบชายฝั่ง แล้วท่านลงเรือไปท่านก็ไม่ขัดขืนลงเรือไปโดยไม่พูดอะไร เรือไปได้ไม่นานก็ไปต่อไม่ได้ ครั้นนานเข้าน้ำสะอาดสำหรับดื่มกินและใช้สอยภายในเรือก็หมดลง โจรทั้งหลายต่างได้รับความลำบากเดือดร้อนกันถ้วนหน้าก็พากันกล่าวหาว่าท่านเป็นกาลีทำให้ทุกข์ยากท่านสังเกตอยู่เงียบๆเฉยๆเห็นว่าเหล่าโจรบาปหนาลำบากจนสิ้นแล้ว คงได้เวลาสอนธรรม ท่านก็เดินใช้ไม้เท้ากุก ๆ กัก ๆ เดินไปเหยียบกาบเรือให้เอนไปจนเลียบน้ำทะเลทำให้เกิดอัศจรรย์ใจแก่หมู่โจรยิ่งนัก หลังจากนั้นท่านก็เอาเท้าข้างหนึ่งลงไปเหยียบทะเลแล้วเรียกให้เหล่าโจรมาดูพวกโจรที่เห็นเรือเอนจวนจะพลิกคว่ำก็พากันวิ่งมาดู พบว่าบริเวณที่ท่านเหยียบลงไปเป็นเวิ้งน้ำสีขาวชิมดูเป็นน้ำจืดพวกโจร จึงพากันตักดื่มกินแล้วพร้อมใจกันหาดอกไม้ธูปเทียนมากราบไหว้หลวงปู่ทวดขอขมาลาโทษท่านเป็นการใหญ่ท่านก็ยกโทษให้ด้วยเมตตา และอบรมสั่งสอนจนโจรเหล่านั้นเลิกฆ่าสัตว์ตัดชีวิตกลับตัวกลับใจเป็นคนดี และสามารถนำเรือเข้าฝั่งกลับมาได้ ต่อมาท่านได้กลับมาวัดและได้ตั้งไม้เท้าไว้ระหว่างต้นยางสองต้นเคียงกัน ต้นยางทั้งสองต้นนั้นเมื่อโตขึ้นมาก็มีลักษณะคดๆ งอ ๆ เหมือนไม้เท้าของหลวงปู่ จึงเรียกต้นยางนั้นว่า "ต้นยางไม้เท้า"

สมุดไทยเรื่องพระเวสสันดร

1.ชื่อวัตถุ สมุดไทยเรื่องพระเวสสันดร เล่ม 1 และ เล่ม 2

2. ชื่อภาษาถิ่น ไม้เท้าสามคด

3. เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

หนังสือสมุดไทย คือ เอกสารโบราณที่ทำจากเปลือกไม้ชนิดต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้ทำเป็นกระดาษได้ เช่น เปลือกปอ เปลือกสา เปลือกข่อย เป็นต้น ทำให้หนาพอสมควร และเป็นแผ่นยาว ๆ ติดต่อกัน พับกลับมาได้ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้รองรับการเขียน การชุบตัวอักษร การเขียนภาพ การเขียนลายเส้นต่าง ๆ และเขียนได้ทั้ง 2 ด้าน ในลักษณะเป็นหนังสือจดหมายเหตุบ้าง หมายรับสั่งบ้าง ตำนานบ้าง ตำราบ้าง บางที่เรียก หนังสือสมุดข่อย เพราะส่วนมากใช้เปลือกข่อยทำเป็นกระดาษ หนังสือสมุดไทยมี 2 สี คือ สีดา เพราะย้อมกระดาษเป็นสีดำจึงเรียกสมุดไทยดส่วนสีขาวเพราะกระดาษไม่ได้ย้อมสีอะไร เป็นธรรมชาติ เรียกว่า หนังสือสมุดไทยขาว ทางใต้มักจะเรียกว่า สมุดบุดดำ สมุดบุดขาว

สมุดไทย เรื่อง พระเวสสันดร ที่พิพิธภัณฑ์สมเด็จเจ้าพะโคะ จะเป็นสมุดไทยขาวมี 2 เล่ม คือ พระเวสสันดร เล่ม 1 และ พระเวสสันดร เล่ม 2

เครื่องเชี่ยนหมากทองเหลือง

1. ชื่อวัตถุ เครื่องเชี่ยนหมากทองเหลือง

2. ชื่อภาษาถิ่น เครื่องเชี่ยน

3. เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

เครื่องเชี่ยน คือ ภาชนะที่ใส่สิ่งของที่ต้องใช้ร่วมกันของการกินหมาก ซึ่งเรียกกันว่า เชี่ยนหมาก ได้แก่

1. เต้าปูน ใช้ใส่ปูนแดง หรือ ปูนขาวที่ใช้กินกับหมาก

2. ไม้ควักปูน ใช้สำหรับตักปูจากเต้าปูน

3. ซองพลู ใช้สำหรับใส่พลู นิยมฉลุโปร่ง เพื่อไม่ให้ใบพลูตายนึ่ง

4. จอกหมาก ใช้สำหรับใส่หมากสดหรือหมากแห้ง

5. ตลับ ใช้สำหรับใส่เครื่องปรุงอื่น ๆ ได้แก่ การบูร พิมเสน

6. กรรไกรหนีบหมาก ใช้สำหรับปอกเปลือกหมาก และ หั่นหมากให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ

7. ตะบันหมาก หรือ บอกยน พร้อมตายน ใช้สำหรับตำให้หมากแหลก

เครื่องเชี่ยนหมากทองเหลืองที่แสดงในพิพิธภัณฑ์สมเด็จเจ้าพะโคะ จะเป็นเครื่องเชียนที่ทำด้วยทองเหลืองแบบเรียบ ไม่มีการแกะสลักลวดลาย ขาดเพียงแต่ ซองพลู และกรรไกรหนีบหมาก

หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาโรงเรียนมหาวชิราวุธ

เอกสารเก่าเกี่ยวกับเมืองสงขลา

1.ชื่อวัตถุ เอกสารเก่าเกี่ยวกับเมืองสงขลา 2.ชื่อภาษาถิ่น

3.เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

ในหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา โรงเรียนมหาวชิราวุธ จะเก็บรวบรวมหนังสือและเอกสารเก่าเกี่ยวกับเมืองสงขลาหลาย ๆ ประเภท เช่น หนังสือ เอกสาร จดหมายราชการ สัญญาสัมปทาน ใบเสร็จรับเงิน โปสการ์ด ประกาศ คู่มือการทำงาน ใบโฆษณา ภาพเก่าของบุคคล ครอบครัว องค์กร อีกยังมีฟิล์มหรือหนังเก่า แผ่นเสียง ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องราวของสงขลาและภาคใต้ ทั้งหมดเรียกได้ว่าเป็นหลักฐานบอกเล่าวิถีชีวิตและอดีตของผู้คนในพื้นที่นี้ทั้งสิ้น ในบรรดากองเอกสาร มีโปสการ์ดรูปเรือเดินทะเลชื่อ Songkla (สงขลา) ที่ระบุว่าเป็นของ บริษัท อีสต์เอเชียติก อันเป็นบริษัทการค้ายักษ์ใหญ่ของดัชต์ที่มีอิทธิพลครอบคลุมพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงราวร้อยปีที่แล้ว และมีประวัติทำการค้ากับภูมิภาคนี้เนิ่นนาน เมื่อตรวจสอบกับเว็บไซต์ของบริษัทพบว่า อีสต์เอเชียติกเคยมีเรือขนส่งสินค้าชื่อไทยหลายลำ ในบรรดานั้นมีเรือ “สงขลา” อยู่จริง เรือนี้ต่อขึ้นปี ค.ศ.1953 หรือ พ.ศ. 2496 มีระวางขับน้ำ 8,627 ตัน เว็บไซต์ระบุว่าต่อมาบริษัทขายให้สิงคโปร์ไปในปี 1974 และสิงคโปร์เปลี่ยนชื่อไปเป็น Paclog Sealink นอกจากนี้ยังมีแผนที่มณฑลเขตปกครอง เช่น ภูเก็ต มณฑลปัตตานี ซึ่งในแผนที่เหล่านี้ยังมีหมุดหมายระบุที่ตั้งของ “ศาลารัฐบาลมณฑล” ที่ใช้ตัวย่อว่า ศ.ร. ในแผนที่มณฑลปัตตานียังเรียกตันหยงมัสว่า “ตันหยงมัซ” ยังมีจดหมายราชการในเรื่องการมอบสัมปทานทำเหมืองแร่ดีบุกในปัตตานี เป็นต้น


ภาพเก่าเกี่ยวกับเมืองสงขลา

1.ชื่อวัตถุภาพเก่าเกี่ยวกับเมืองสงขลา 2.ชื่อภาษาถิ่น

3. เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

ในหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา โรงเรียนมหาวชิราวุธ มีความตั้งใจเดิมว่าจะเก็บรวบรวมภาพถ่ายเก่า ๆ เกี่ยวกับโรงเรียนมหาวชิราวุธ แต่ความตั้งใจเดิมได้ขยายวงกว้างออกไปสู่ชุมชนเมือง และภาพรวมของสังคมวงกว้างขึ้น ภาพเก่าจำนวนหนึ่งเป็นภาพที่ได้มาจากการตามรอยการเดินทางเข้าพื้นที่ของบุคคลสำคัญ เช่น การเสด็จประพาสสงขลาของในหลวงรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีถึง 8 ครั้งด้วยกัน และรัชกาลที่ 6 ที่เสด็จเยือนมณฑลปักษ์ใต้ แต่ละครั้งมีช่างภาพหลวงถ่ายภาพเอาไว้จำนวนมากภาพเหล่านี้กลายเป็นหลักฐานส่วนหนึ่งของสภาพบ้านเมืองและผู้คนในยุคสมัยนั้น ต่อมาในระยะหลังมีผู้สนใจเรื่องภาพถ่ายเก่า ๆ มากยิ่งขึ้น ได้นำภาพเก่ามาประมูลในเว็บไซต์ต่าง ๆ ก็ได้ไปหามาเก็บสะสมไว้ที่นี่ หลังจากที่เริ่มเก็บสะสมจนมีผู้รู้ข่าวนี้ ได้นำบอกเล่าแบบปากต่อปาก ก็ได้มีบรรดาผู้คนนำเอารูปภาพเก่า ๆ มามอบให้ บางทีก็เป็นรูปขององค์กรหรือสถาบัน บ้างก็เป็นรูปของครอบครัวหรือตระกูลต่าง ๆ แต่บางทีก็ต้องไปค้นหาและใช้เวลานาน เช่น ภาพเก่า ๆ ที่เป็นอดีตบ่งบอกความเป็นเมืองของสงขลาจำนวนหนึ่ง ในยุคหนึ่งมีภาพถ่ายในพื้นที่จำนวนมากซึ่งมาจากบรรดาร้านถ่ายรูปในสงขลา ซึ่งในช่วงสมัยรัชกาลที่ 7 เริ่มมีร้านถ่ายรูปเริ่มเปิดให้บริการในเมืองร้านเหล่านี้ถ่ายรูปและอัดออกมาจำหน่าย เช่น“ร้านบ้านเฮง” จำหน่ายโปสการ์ด ส.ค.ส ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นภาพสถานที่ ทิวทัศน์และบุคคล“ร้านฉายาสงขลา” ส่วนใหญ่เป็นภาพขาวดำ มีคนซื้อและส่งไปให้บุคคลที่รู้จัก ส่วน“ร้านฉายาแหลมหิน”จะใช้เทคนิคซ้อนภาพทำให้ได้รับความนิยมกันมากในสมัยนั้น

ภาพถ่ายและหนังสือเกี่ยวกับเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

1. ชื่อวัตถุ ภาพถ่ายและหนังสือเกี่ยวกับเจ้าพระยายมราช(ปั้น สุขุม) 2.ชื่อภาษาถิ่น 3. เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

เจ้าพระยายมราช มีนามเดิมว่า ปั้น สุขุม เกิดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2405 ในตระกูลคหบดี ที่ตำบลบ้านน้ำตก ริมแม่น้ำข้างใต้ตัวเมืองสุพรรณบุรี บิดาชื่อ กลั่น มารดาชื่อ ผึ้ง เมื่อท่านอายุได้ 6 ขวบ บิดามารดารได้ถวายพระใส่กัณฑ์เทศน์ เข้าไปยังวัดหงส์รัตนาราม ฝั่งธนบุรี จนท่านบวชและสอบปริยัติธรรมได้เป็นเปรียญ จึงลาสิกขาบท

ผลงานและเกียรติคุณ

1. ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้ช่วยเลขานุการสถานทูตสยาม ณ กรุงลอนดอน และได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระวิจิตรวรสาส์นเลขานุการสถานทูตไทย

2. ได้เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชคนแรกตำแหน่งพระยาสุขุมนัยวินิต

3. ได้พัฒนาปรับปรุงจัดวางระเบียบการปกครอง7หัวเมืองภาคใต้เป็นอย่างดีจนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ และเสนบดีกระทรวงนครบาลตามลำดับ

4. ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้พัฒนาพระมหานครด้วยความสงบสุขและรับผิดชอบการสร้างประปาพระนคร ไฟฟ้านครหลวง ผู้อำนวยการสร้างถนนและสะพานทุกแห่งและพระที่นั่งอนันตสมาคมจนได้รับการสถาปนาเป็นพระยายมราช

5.ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เป็นผู้บัญชาการกองเสนารักษาดินแดน กรุงเทพฯ ซึ่งจัดเป็นกองทัพใหญ่ จนได้พระราชทานยศเป็นนายพลเสือป่า และผู้อำนวยการจับกุมชนชาติศัตรูและรักษาความสงบเรียบร้อยในพระนคร ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศมหาอำมาตย์เอกให้แก่ท่านเป็นพิเศษ

6.ได้เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

7.สมัยรัชกาลที่7ท่านได้ขอพระราชทานกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งเพราะชรา

8. สมัยรัชกาลที่ 8 ได้เป็นผู้สำเร็จราชการจนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2481อายุ 76 ปี

เอกสารและภาพถ่ายเกี่ยวกับโรงเรียนมหาวชิราวุธ

1.ชื่อวัตถุเอกสารและภาพถ่ายเกี่ยวกับโรงเรียนมหาวชิราวุธ

2. ชื่อภาษาถิ่น

3. เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ เจ้าพระยายมราช (ปั้นสุขุม)สมัยดำรงตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช และ พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) ได้ดำริตั้งโรงเรียนขึ้นเนื่องด้วยเมืองสงขลามีพลเมืองมาก แต่ยังไม่มีโรงเรียนที่เป็นหลักฐาน วันที่ 1 มกราคม 2439 ได้มีการประกอบพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวิชราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมทั้งได้อัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ประดิษฐานไว้บนแท่นบูชา เพื่อให้ประชาชนได้สักการะและถวายพระพรชัย ในโอกาสนี้ได้มีการเรี่ยไรเงินจากประชาชนชาวสงขลา เพื่อสร้างโรงเรียนเป็นการถาวรขึ้น ได้เงินมา 3,940 บาท พร้อมกันนี้พระยาสุขุมนัยวินิต ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ใช้ชื่อโรงเรียนว่า “มหาวชิราวุธ” ทำการสอนครั้งแรกที่ศาลาชำระความของพระยาวิเชียรคีรี มีนักเรียน 50 คน และ ครูทองดีเป็นครูใหญ่คนแรก ดำเนินการสอนแบบโรงเรียนมหาดเล็กหลวง จึงนับได้ว่าโรงเรียนมหาวชิราวุธ ได้กำเนิดขึ้น ณ วันที่ 1 มกราคม 2439

หนังสือ The Power House ของ John Buchan

1. ชื่อวัตถุ หนังสือ The Power House John Bucha

2. ชื่อภาษาถิ่น –

3. เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

หนังสือ The Power House ของ John Buchan เป็นหนังสือระทึกขวัญในลอนดอนประเทศอังกฤษ เขียนในปี 1913 ถูกจัดลำดับในนิตยสารของ Blackwood และได้รับการตีพิมพ์ในรูปแบบหนังสือในปี 1916 หนังสือเล่มนี้เป็นสมบัติของเจ้าฟ้ายุคลธิฆัมพร กรมขุนลพบุรีราเมศวร์

John Buchan เป็นนักประพันธ์ นักประวัติศาสตร์ และนักการเมืองชาวสกอตแลนด์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการแคนานา 15 ครั้ง

พิพิธภัณฑ์อานนท์ เธียเตอร์

ภาพโปสเตอร์หนังเก่า

1. ชื่อวัตถุ ภาพโปสเตอร์หนังเก่า

2. ชื่อภาษาถิ่น ใบปิดหนังเก่า

3. เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

ภาพโปสเตอร์หนังเก่าหรือใบปิดหนังคือสื่อโฆษณาภาพยนตร์ในยุคเก่าที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รู้ว่ามีภาพยนตร์เรื่องอะไร ใครแสดง จะเข้าฉายที่โรงภาพยนตร์ใด ในวันที่เท่าไหร่ ภาพโปสเตอร์หนังเก่าในอดีต จะเป็นงานวาดด้วยมือล้วนๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังไทยหรือหนังต่างประเทศ จะมีการเรียกใช้ศิลปินที่มีความสามารถเฉพาะด้านมาโชว์ทักษะผ่านโปสเตอร์หนัง ซึ่งก็จะมีกลิ่นอายความเป็นงานศิลปะคลาสสิกในอดีตที่โปสเตอร์หนังยุคในปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปแทบจะทั้งหมดแล้วที่พิพิธภัณฑ์อานนท์ เธียเตอร์จะมีภาพโปสเตอร์หนังเก่มากมายมีทั้งหนังไทยและหนังต่างประเทศ จัดแสดงไว้เป็นจำนวนมาก

ภาพโรงภาพยนตร์ในอดีต

1. ชื่อวัตถุ ภาพโรงภาพยนตร์ในอดีต

2. ชื่อภาษาถิ่น ภาพวิกหนังในอดีต

3. เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

โรงภาพยนตร์ โรงหนัง หรือ วิกหนัง ได้สร้างขึ้นเพื่อให้ความบันเทิงกับคนไทยมากช้านาน ตั้งแต่สมัยที่ทุกบ้านไม่ได้มีโทรทัศน์ดูเหมือนสมัยนี้ ความบันเทิงในรูปแบบภาพยนตร์จึงเป็นที่นิยมอย่างมาก จนเกิดโรงภาพยนตร์ขึ้นมาจำนวนมาก ทั่วประเทศไทย ซึ่งทุกสิ่งก็ล้วนแล้วเป็นไปตามกาลและเวลา เมื่อสิ่งใหม่เข้ามาแทนที่ สิ่งเก่าแก่ที่เคยได้รับความนิยมมากแค่ไหนก็ต้องหลีกทาง ล้มหายตายจากไปในที่สุด เหลือไว้เพียงภาพความทรงจำที่ทำให้ผู้เคยไปได้หวนกลับมาคิดถึงวันวานที่พิพิธภัณฑ์อานนท์ เธียเตอร์ มีภาพเก่าของโรงภาพยนตร์ในอดีตทั้งในจังหวัดสงขลา และจังหวัดใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก

อุปกรณ์ฉายภาพยนตร์

1. ชื่อวัตถุ อุปกรณ์ฉายภาพยนตร์

2. ชื่อภาษาถิ่น เครื่องฉายหนัง

3. เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

อุปกรณ์การฉายภาพยนตร์ หรือ เครื่องฉายหนัง เป็นอุปกรณ์แสง – เชิงกล สำหรับการฉายภาพยนตร์จากฟีล์มเป็นภาพเคลื่อนไหวให้ปรากฏภาพบนจอภาพยนตร์ ส่วนประกอบของเครื่องฉายภาพยนตร์นั้น ส่วนใหญ่จะเหมือนกันกับส่วนประกอบในกล้องถ่ายภาพยนตร์ เว้นแต่อุปกรณ์ให้แสงสว่างและอุปกรณ์ด้านเสียงอุปกรณ์การฉายภาพยนตร์ หรือ เครื่องฉายหนังที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์อานนท์เธียเตอร์ มี เครื่องฉายหนังภาพยนตร์หลายขนาด ตั้งแต่ 8 ม.ม. ถึง 35 ม.ม. และเล็นส์ฉายภาพยนตร์ขนาดต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนมาก

ฟีล์มภาพยนตร์

1. ชื่อวัตถุ ฟีล์มภาพยนตร์

2. ชื่อภาษาถิ่น ฟีล์มหนัง

3. เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

ภาพยนตร์จะเริ่มต้นด้วยการบันทึกภาพลงในฟีล์มที่มีอัตราความเร็ว 24 ภาพ ต่อ วินาที แสงผ่านเลนส์วิ่งมาที่ฟีล์มก่อให้เกิดเป็นภาพแล้วเข้าสู่กระบวนการล้างฟีล์มด้วยกระบวนการทางกลไกและเคมีเพื่อทำให้เกิดภาพและทำให้มันคงสภาพนั้นไว้ จะได้ภาพเคลื่อนไหว จากนั้นก็เอาไปฉายโดยให้แสงผ่านฟีล์มผ่านเลนส์ด้วยอัตราความเร็ว 24 ภาพต่อวินาทีเช่นกัน จากการทำงานของกลไกของเครื่องฉายภาพยนตร์

ที่พิพิธภัณฑ์ อานนท์เธียเตอร์ จะมีฟีล์มภาพยนตร์หลายขนาด ตั้งแต่ 8 ม.ม ถึง 70 ม.ม.

หนังแผ่น

1. ชื่อวัตถุ หนังแผ่น

2. ชื่อภาษาถิ่น หนังแผ่น

3. เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

ภาพยนตร์เก่าตั้งแต่ระบบ 8 ม.ม.16 ม.ม. 35 ม.ม.และ 70 ม.ม.ถึงจะมีฟีล์มอยู่แต่ก็จะหาเครื่องฉายได้ยากและมีกระบวนการฉายที่ยุ่งยากพอสมควร การฉายภาพยนตร์ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยโดยได้คิดหาวิธีการฉายภาพยนตร์ที่สะดวกและง่ายขึ้นกว่าเดิมคือหนังแผ่นหรือ หนังในระบบดิจิตอล

หนังแผ่น คือ ภาพยนตร์ที่ทำออกเผยแพร่หรือจำหน่ายในรูปแบบ วีซีดี ดีวีดี หรือสื่ออื่นๆ เพราะผู้สร้างภาพยนตร์ยุคหลังนิยมสร้างหนังแผ่นเนื่องจากลงทุนต่ำกว่าภาพยนตร์ที่เข้าฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วไปเมื่อหนังแผ่นได้รับความนิยมมากขึ้นก็มีการแปลงภาพยนตร์ที่ใช้ฟีล์มในอดีตเป็นหนังแผ่น เพื่อจำหน่ายให้กับคนที่นิยมดูหนังเก่าที่พิพิธภัณฑ์ อานนท์เธียเตอร์ จะมีหนังแผ่นจำหน่ายให้ผู้สนใจทั่วไป มีทั้งหนังเก่าในอดีตและหนังยุคใหม่ทั้งประเภทหนังไทยและหนังต่างประเทศ

พิพิธภัณฑ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านคลองหอยโข่ง

ทองช้าง

ชื่อภาษาถิ่น:นายทอง

ชื่อภาษาทั่วไป:ทองช้าง

ขนาด:กว้าง50×ยาว24 ชม(ตัวรูป)

มอบให้ศูนย์พิพิธภัณฑ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านคลองหอยโข่ง เมื่อศ.2553

โดย นายสุชล ชูเพ็ง

เป็นรูปหนังตัวตลกดั่งเดิมตัวแรกของหนัง เพ็งเทพา มีอายุ 110 ปี

ประวัติการสืบทอดตัวหนัง:ได้มาจากนายไชยทอง ไผ่คงเงิน เป็นลูกคู่นายปี่หนังเพ็ง เทพา นำมามอบให้หนัง ชู ลูกเทศ และสืบทอดมาถึงนายหนังสุชล ชูเพ็ง(บุตรชายหนังชู) นำมาเพื่อเก็บใว้สักการะบูชา

มีถิ่นฐานภูมิลำเนาอยุ่ที่บ้านเก่า อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา

บุคลิกพิเศษ พูดจาเสียงดัง จริงจัง จริงใจ ตัวใหญ่ เป็นคนอารมณ์ดี เนื่องจากเป็นคนรูปร่างสูงใหญ่ มีกำลังมากสามารถทำในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้ เช่นแบกต้นมะพร้าวเป็นท่อน เพื่อนบ้านจึงเรียกว่า นายทองช้าง

ต่อมาหนังนครินทร์ ชาทอง(ศิลปินแห่งชาติ)สนใจเรื่องภาษาหนังตะลุงภาตใต้ปลายด้ามขวาน ชึ่งภาษาจะแตกต่างกับตัวตลกหนังอื่นๆทั่วไป เพราะสำเนียงภาษาและการสืบทอดของนายหนังจะพูดไม่ค่อยได้ กลัวว่าจะสูญหายไป จึงอนุรักษ์ใว้และนำมาสืบทอดเรียนรู้ที่พิพิธภัณฑ์คลองหอยโข

นายหนังสุชล ชูเพ็ง จึงนำมาเก็บใว้ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านคลองหอยโข่ง และทำหน้าที่เป็นดูแลสืบทอดต่อไปในฐานะทายาท"ศิลปินหนังตะลุงภาคใต้ปลายด้ามขวาน"

สีชูด

ชื่อภาษาถิ่น:รูปสีชูด

ชื่อภาษาทั่วไป:นายสีชูด

ขนาด.กว้าง10×ยาว30 ชม.(ตัวรูป)

มอบให้ศูนย์.. วันที่ 18 สิงหาคม 2564 โดย นายสุชล ชูเพ็ง

รายละเอียดรูป/รูปลักษณ์:

เป็นตัวตลกเอก ของหนังชู ลูกเทศ เป็นหนังตะลุงชื่อดังในถิ่นสามจังหวัดชายแดนใต้และห้าอำเภอของจังหวัดสงขลา ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่2 เป็นต้นมา

คนตัดรูปหนัง ชื่อ นายไชยทอง ไผ่คงเงิน อยู่ตำบลลำไพล อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา

ตัดรูปนี้เมื่อปี พศ.2485

ความเป็นมา นายไชยทอง ฝันว่ามีผู้วิเศษเอาสิ่งของศักดิ์สิทธิ์มาให้ตามความฝัน จึงตื่นขึ้นแต่เช้าตรู่ยังไม่ทันสว่าง ก็ได้เห็นคล้ายๆสุนัขป่าคาบอะไรมาวางใว้ที่หน้าบันไดบ้าน ส่งเสียงเห่าหอนแล้ววิ่งเข้าป่าไป นายไชยทองเฝ้าดูอยู่จนสว่างจึงลงไปดู ปรากฏว่าสิ่งที่วางใว้คือ หนังสัตว์ จึงนำมาตัดเป็นรูป สีชูด จนกลายเป็นตัวตลกที่เป็นเอกลักษณ์ของหนังชู ลูกเทศ

เกร็ดย่อย รูปตัวนี้ตัดด้วยมีดพร้าและมีดเหลาตอกเท่านั้น โดยไม่มีการวางรูปบนแผ่นหนัง

ความเชื่อ ต่อมาสีชูดตัวนี้บางคนเชื่อว่าเป็นรูปศักดิ์สิทธิ์ บนบานอะไรได้ดั่งใจปรารถนา


ยักษ์โบราณที่แต้มสีเปลือกไม้

ชื่อภาษาถิ่น:รูปหนังตะลุง ตัวยักษ์

ชื่อภาษาทั่วไป:รูปยักษ์ หนังตะลุง

ขนาดตัวหนัง.. กว้าง30ชม.×ยาว60ชม.

ขนาดใส่กรอบ:กว้าง70ชม.×ยาว50ชม.

เก็บใว้ที่ศูนย์ เมื่อ ปีศ.2512 โดยนายหนังชุม ตันหยงมัส

รายละเอียดรูป:เป็นการแกะรูปด้วยเครื่องมือที่ใช้ในการแกะสลักมีเพียงชิ้นสองชิ้นและทำขึ้นมาเองทั้งสิ้นแต้มีสีสันด้วยสีจากเปลือกไม้ ชึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีสีเคมีและเครื่องมือแกะหนัง

ข้อมูลรูป.. แสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านคลองหอยโข่ง

ได้จากแผงหนังชุม ตันหยงมัส จังหวัดนราธิวาส เมื่อปี พ.ศ.2512

ช่างผู้ใดแกะไม่ปรากฏชื่อ

บล๊อกพิมพ์สมัยโบราณ

ชื่อภาษาถิ่น:แม่แบบพิมพ์

ชื่อภาษาทั่วไป:บล็อกพิมพ์การ์ตูน

ขนาด.. กว้าง35ชม×ยาว90ชม.

เป็นของ นายปกรณ์ ไชยรัตน์

ข้อมูลรูป.. แสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านคลองหอยโข่ง

รายละเอียด/รูปลักษณ์

เป็นตัวอย่างนิยายภาพเรื่อง บุบผาเนรมิต พิมพ์จำหน่ายเมื่อปี พศ.2511

โดยอาจารย์ปกรณ์ ไชยรัตน์ ประพันธ์เรื่องและเขียนภาพแล้วไปขายให้โรงพิมพ์ที่กรุงเทพ เป็นนิยายการ์ตูน ราคาเรื่องละ150บาท การพิมพ์สมัยนั้นต้องทำเป็นบล็อกก่อนถึงจะพิมพ์เป็นนิยายการ์ตูน

ปัจจุบันนิยายเรื่องบุบผาเนรมิต ได้ทำเป็นนิยายแสดงหนังตะลุง โดยหนังนครินทร์ ชาทอง(ศิลปินแห่งชาติ)

กระเบื้องหยก

ชื่อภาษาถิ่น:กระเบื้องหยก

ชื่อภาษาทั่วไป:กระเบื้องหยก

ขนาด กว้าง/ยาว 13×13 นิ้ว

วัดโพธิ์มอบให้ศูนย์พิพิธภัณฑ์ เก็บใว้เมื่อปี พศ.2535 โดยพระครูโพธิพิทักษ์ เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ ตำบลคลองหอยโข่ง

รายละเอียด/รูปลักษณ์

ประวัติข้าวของ "กระเบื้องหยก" เป็นส่วนหนึ่งของศิลปกรรมอุโบสถวัดโพธิ์(หลังเก่า)อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา

สร้างเมื่อปี พศ.2445 ราว 118 ปี

ประวัติชุมชน (วัดโพธิ์) เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นเมื่อปีพศ.2320 สมัยกรุงธนบุรี โดยพระอธิการทองสุข เป็นผู้ริเริ่ม ชาวบ้านร่วมกันสร้าง ศิลปกรรมที่สำคั คืออุโบสถเก่าสร้างเมื่อปีพศ.2445 เป็นอาคารโล่ง ไม่มีฝาผนัง มีพัทธสีมาก่ออิฐถือปูนโดยรวม กั้นด้วยกระเบื้องหยกสีเขียว จากเมืองจีน สภาพถูกทิ้งร้างไม่ใช้งาน ปัจจุบันบูรณะขึ้นใหม่โดยกรมศิลปากร

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน อาจารย์ศรี ธมฺมปาโล

พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร

สร้างด้วยไม้มงคล ลงรักปัดทอง เป็นที่เคารพของชาวบ้านปัจจุบันรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์อาจารย์ศรี ธมฺมาปาโล วัดโคกเหรียง เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องแสดงปางอุ้มบาตร ประทับขึ้นอยู่บนฐานไม้รูปดอกบัว ความสูงจากยอดพระเกตุถึงพระบาท 77 เซนติเมตร สูงจากฐานถึงพระเกตุ 103 เซนติเมตร ฐานพระยาว 26 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 14 เซนติเมตร พระพักตร์รูปไข่ พระโขนงโก่ง พระเนตรมองต่ำ พระโอษฐ์ทาสีแดง สวมมงกุฎยอดแหลม พระหัตถ์ประคองบาตร ห่มจีวร คลุมถึงข้อพระบาท สวมฉลองพระบาทปลายงอน

พระครูโสภณคณาภิบาล เจ้าอาวาสวัดโคกเหรียง เล่าถึงประวัติการสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พุทธศาสนิกชนวัดโคกเหรียง ได้สร้างถวายตั้งแต่ปีพศ. 2442 ในสมัยพระอธิการหวาน เจ้าอาวาสวัดโคกเหรียงองค์แรก ซึ่งมีอายุประมาณ 122 ปี โดยสร้างตามความเชื่อว่า บุญกุศลในการสร้าง คนที่สร้างจะเป็นคนรูปงาน สง่างาม เป็นที่เคารพรักใคร่ของประชาชน มีอิสริยยส บริวาร สมบัติ ตลอดจนความสุข และไม่วิกลจริต พระพุทธรูปปางอุ้มบาตรองค์นี้ยังสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็น “พระลาก” จนถึงปัจจุบัน


ตะเกียงสัญญาณรถไฟ

ตะเกียงสัญญาณรถไฟนี้ เป็นตะเกียงที่ผลิตจากประเทศเยอรมันชื่อ Aida ใช้ในการแจ้งสัญญาณขบวนรถไฟในเวลากลางคืน โดยตะเกียงสามารถเปลี่ยนกระจก สีเขียว สีแดง ให้เป็นสัญญาณ โดยนำตะเกียงมาติดกับรถไฟจักรไอน้ำประเทศไทย รุ่น 850 โดยติดตั้งท้ายรถจักรหรือหน้ารถจักร

ตะเกียงมีขนาด 14 เซนติเมตร ยาว 23 เซนติเมตร สูง 33 เซนติเมตร มีลักษณะเป็นทรงกระบอก ทำด้วยเหล็ก มีฝาปิด-เปิดได้ เพื่อใช้ใส่ตะเกียงไว้ด้านในที่ฝาเป็นแก้ว ที่ใส่ตะเกียง คล้ายๆกับโคมใส่ไส้หลอดไฟฟ้าสมัยนี้


ไซพวย

ตะเกียงแก๊ส ภาคใต้เรียกตะเกียงกรีดยางหรือตะเกียงเบตง อีสานเรียก ตะเกียงส่องกบ ภาคกลางเรียกตะเกียงแก๊สร้อนหรือตะเกียงถ่ายหิน

ลักษณะของตะเกียง ตะเกียงแบ่งออกเป็น 2 ชั้น

ชั้นบน บรรจุน้ำเปล่าธรรมดาที่ใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค

ชั้นล่าง ใช้บรรจุแก๊สร้อนหรือเรียกเข้าใจง่ายๆ คือ แก๊สบ่มผลไม้ให้สุก

หลักการทำงาน

ปล่อยน้ำจากด้านบนให้หยดลงสู่แก๊สก้อน น้ำและแก๊ส เกิดการทำปฏิกิริยา กลายเป็นแก๊ส ใช้ไฟจุดที่หัวเทียนจะเกิดแสง การปรับให้แสงมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่หยด

ตะเกียงแก๊สมีทั้งที่เป็นทองเหลืองและสแตนเลส ขนาดสูงทั้งหมด ประมาณ 14 เซนติเมตร ส่วนที่สำคัญประมาณ 12 เซนติเมตร

ตะเกียงแก๊สเมื่อก่อนคนใต้ใช้ไปกรีดยาง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนตะเกียงที่ใช้กรีดยางเป็นแบตเตอรี่แทน

ตะเกียงแก็ซ

ตะเกียงแก๊ส ภาคใต้เรียกตะเกียงกรีดยางหรือตะเกียงเบตง อีสานเรียก ตะเกียงส่องกบ ภาคกลางเรียกตะเกียงแก๊สร้อนหรือตะเกียงถ่ายหิน

ลักษณะของตะเกียง ตะเกียงแบ่งออกเป็น 2 ชั้น

ชั้นบน บรรจุน้ำเปล่าธรรมดาที่ใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค

ชั้นล่าง ใช้บรรจุแก๊สร้อนหรือเรียกเข้าใจง่ายๆ คือ แก๊สบ่มผลไม้ให้สุก (ถ่านหิน)

หลักการทำงาน

ปล่อยน้ำจากด้านบนให้หยดลงสู่แก๊สก้อน น้ำและแก๊ส เกิดการทำปฏิกิริยา กลายเป็นแก๊ส ใช้ไฟจุดที่หัวเทียนจะเกิดแสง การปรับให้แสงมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่หยด

ตะเกียงแก๊สมีทั้งที่เป็นทองเหลืองและสแตนเลส ขนาดสูงทั้งหมด ประมาณ 14 เซนติเมตร ส่วนที่สำคัญประมาณ 12 เซนติเมตร

ตะเกียงแก๊สเมื่อก่อนคนใต้ใช้ไปกรีดยาง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนตะเกียงที่ใช้กรีดยางเป็นแบตเตอรี่แทน


โจ ติหมา

โจ เป็นวัตถุตามความเชื่อ และเป็นของขลังทางไสยศาสตร์ของชาวปักษ์ใต้ ที่ควบคุมพฤติกรรมคนในสังคมซึ่งยอมรับและเชื่อถือสืบต่อกันมาแต่อดีต

“โจ” เป็นเครื่องมือป้องกันขโมยที่มาลักทรัพย์สินหรือสิ่งของต่าง ๆ เช่น วัว ควาย และพืชผลที่เพาะปลูกไว้ โดยมักนำ “โจ” มาฝังหรือแขวนไว้ มีการลงอาคมเพื่อสาปแช่งผู้ลักขโมย โจ มีหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามการใช้งาน

ประเภทแรกคือ โจฝัง จะนำโจชนิดนี้ฝังลงไปในดินบริเวณที่ต้องการจะปกป้องทรัพย์สินของตนเช่นโรงเรือน หรือคอกวัว ควาย

ประเภทที่สอง คือ โจแขวน จะแขวนโจประเภทนี้ไว้ในบริเวณที่มองเห็นง่ายเช่น ต้นไม้โดยเฉพาะต้นที่มีผลสุกเต็มต้นซึ่งเป็นที่หมายของขโมย ผู้เป็นเจ้าของผลไม้จะแขวนโจให้เห็นชัดเจน โจที่นำมาแขวนมักเป็นโจชนิดที่เรียกว่าโจหลอกซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปโจประเภทแรกที่เรียกว่า โจฝัง นี้ ผู้ทำโจหรือหมอ จะนำเอาหม้อดินใหม่ที่ไมเคยใช้มาก่อนไปขอปูนกินหมากจากหญิงมีครรภ์ 3 คน เอาปูนป้ายที่หม้อจากนั้นนำมาเขียนเป็นรูปยันต์เอาวัตถุทางไสยศาสตร์ตามตำราใส่ลงไปแล้วนำไปฝังดินในบริเวณที่ต้องการ นอกจากนี้ยังมีโจอีกแบบหนึ่งเรียก โจดิน เป็นโจฝังที่ใช้ไม้ขนาดเล็ก 3 อัน มาปักเป็นขาหยั่ง 3 ขา เอาหญ้าคามาพันรอบ ๆ พร้อมกับร่ายเวทมนต์ มีการลงยันต์ที่เรียกว่า “ยันต์แผ่นดินทรุด” ว่ากันว่าเป็นคาถาที่ทำให้บ้านเรือนร้างได้ มีการกำหนดวันที่จะฝังโจ วันที่นิยมกันคือวันอังคารกับวันเสาร์ เพราะถือเป็นวันแข็ง ของที่ทำจะแรงและแก้อาถรรพณ์ยาก

โจ ประเภทที่สองคือ โจแขวนมีหลายชนิดขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาใช้มักเป็นวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นและมีความเชื่อทางไสยศาสตร์แฝงอยู่ เพื่อช่วยเสริมให้มีความขลังและศักดิ์สิทธิตามความเชื่อของครูหมอผู้ทำโจ

โจแขวน นำไม้จากโลงศพความยาว 1 คืบ มาลงเลขยันต์ ตามตำราเสกด้วยเวทมนต์แขก (ภาษามลายู) แล้วนำไปแขวนบนกิ่งไม้ที่ไม่ต้องการให้ใครขโมยหากใครขโมยจะถูกผีตีหัวและเป็นไข้หัวโกร๋น

โจกระบอก ทำจากกระบอกไม้ไผ่ ตายพราย คือ ต้นไผ่ที่ตายทั้งลำอยู่กลางกอตัดเอามาปล้องหนึ่งเอาข้อหัวท้ายออก นำมาเจาะ 4 รู นำไม้ไผ่มาเหลาให้เล็ก 2 อัน สอดให้ทะลุครบทั้ง 4 รู เป็นรูปกากบาท เขียนเลขยันต์บนผ้าขาวปิดปากกระบอกให้แน่นนิยมใช้เชือกกล้วยแขวนโจกระบอกเพราะคำว่ากล้วยเป็นคำที่มีคำเดียวความหมายเดียวเพื่อป้องกันการแก้อาถรรพณ์อีกอย่างหนึ่งเชือกกล้วยเมื่อถูกน้ำจะพองตัวจึงเป็นเคล็ดเวลาจะปลดโจหรือถอนโจผู้ทำต้องปลดเอง

วิธีการทำโจกระบอกที่ต่างจากนี้ก็มี เช่น ทุบคางคกใส่ในกระบอกเพราะคางคกเมื่อตายจะพองมีกลิ่นเหม็นทำให้คนกลัวเชื่อว่าเวลาลักกินผลไม้ท้องจะพองคันเหมือนคางคก โจมีวิธีการทำแตกต่างกันแล้วแต่เกจิอาจารย์ของใครสอนไว้อย่างไร

โจพรก คำว่า “พรก” ภาษาปักษ์ใต้แปลว่ากะลามะพร้าวครูหมอจะใช้กะบามะพร้าวตัวผู้ขนาดเดียวกัน 2 ฝา (บางแห่งก็ใช้เพียงฝาเดียว) ประกบให้ปากติดกัน ใช้เชือกกล้วยร้อยรูทั้ง 2 ฝาเข้าด้วยกัน บางตำราก็ทุบคางคกใส่ไว้ข้างใน เพื่อว่าคางคกจะเน่าพองส่งกลิ่นเหม็นใครมาลักกินผลไม้ท้องไส้ก็จะทั้งพองทั้งคันไปด้วย บางตำราก็ใส่ยันต์เพียงอย่างเดียวข้างกะลาด้านนอกใช้ปูนป้ายเป็นรูปกากบาทพร้อมกับว่าคาถาเสร็จแล้วนำไปแจวนไว้ในที่ ๆ มองเห็นได้ง่าย เช่น กิ่งไม้ด้านนอกลำต้น

โจติหมา ทำจากกาบใบของต้นหมากหรือต้นหลาวชะโอนปกติชาวปักษ์ใต้จะนำมาทำเป็นภาชนะตักน้ำเรียก “หมาน้ำหรือติหมา” มีการประยุกต์นำมาทำเป็นของขลัง วิธีการคล้ายกับโจพรกคือมีการเขียนยันต์เสกคาถากำกับแล้วนำมาแขวนตามต้นไม้เรียกโจติหมา

(ติหมา หรือ ติมอ ภาษามลายู หมายถึง ภาชนะสำหรับตักน้ำ)โจตอก ใช้เส้นผมหรือเชือกเส้นเล็ก ๆ ผู้ตรึง ผี ที่เรียกมาด้วยคาถาอาตมไว้แล้วผูกเข้ากับตะปู ตอกตะปูนั้นไว้ที่ต้นผลไม้ที่จะใส่โจ ผีที่ผูกไว้นั้นจะคอยผลักหรือดักขาขโมยให้ตกลงมาจากต้นไม้โจหลอก เป็นโจที่ไม่ได้ลงเลขยันต์คาถาไว้ทำไว้เพียงเพื่อขู่หลอกถึงจะทำเหมือนจริงทุกประการแต่ไม่ก่อให้เกิดเพศภัยและไม่เป็นบาปหากเด็ก ๆ หรือใครเผลอเก็บผลไม้กิน โจเป็นสิ่งที่น่ากลัวอยู่แล้ว ดังนั้นวัตถุประสงค์การทำโจหลอกก็เพื่อต้องการขู่ไม่ให้พวกเด็ก ๆ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่มาลักขโมยผลไม้จึงต้องแสดงเครื่องหมายให้รู้ว่าต้นไม้ต้นนี้มีเจ้าของและไม่ต้องการให้ใครมาเก็บโดยไม่ได้รับอนุญาต

ลักษณะอาการของผู้ถูกอาคมของโจจามคำบอกเล่าของปู่ย่าตายาย มักจะมีอาการท้องอืด ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องป่อง และอาจรุนแรงจนถึงตาย คำสาปแช่งแม้จะรู้สึกว่าน่ากลัวแต่ช่วยป้องกันการถือวิสาสะเก็บของ ๆ ผู้อื่น โดยไม่ได้รับอนุญาตได้ และหากเกิดอาการดังกล่าวก็ต้องรีบไปหาเจ้าของผลไม้นั้นเพื่อขอขมาและให้ครูหมอแก้คาถาให้ แต่พวกเด็ก ๆ ก็มีคาถาแก้โจที่ผู้ใหญ่แอบสอนให้ก็คือ ต้องมีใจกล้าอาสาไปปลดโจ ก่อนปลดต้องท่อง “โจเอ๋ย โจบอก มึงออกกูเข้าโจเอ๋ย โจเจ้า มึงเข้ากูออก” เมื่อปลดโจแล้วให้เอาไปให้พ้นรัศมีต้นไม้ แต่เด็กส่วนใหญ่จะกลัวไม่กล้าลองวิธีนี้

นอกจากวิธีปลดโจแล้วยังมีอีกวิธีคือ เมื่อเก็บผลไม้มาได้ให้เอาผลไม้นั้นลอดใต้ขา 3 ครั้ง คาถาก็จะเสื่อมวิธีนี้ผู้เขียนเคยได้รับคำบอกเล่าจากคุณยายท่านหนึ่งตอนผู้เขียนยังเด็กโจนับเป็นความเชื่อที่ควบคุมพฤติกรรมของสังคมโดยเฉพาะเด็ก ๆ จะกลัวโจกันมาก ทำให้ไม่กล้าขโมยและหากอยากกินผลไม้บ้านไหนก็ต้องเข้าไปขออนุญาตผู้เป็นเจ้าของก่อนทำให้ผู้ใหญ่รู้สึกเอ็นดูและเป็นการผูกสัมพันธ์อันดีระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่หรือแม้แต่คนในชุมชนเดียวกัน เป็นกุศโลบายที่วางไว้เพื่อช่วยให้คนในสังคมมีความซื่อสัตย์ไม่ลักขโมยและกลัวการทำบาป

ภาคีคนรักเมืองสงขลา สมาคม

อาคารโรงสีแดง

1. ชื่อวัตถุ อาคารโรงสีแดง

2. ชื่อภาษาถิ่น หับ โห้ หิ้น

3. เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

อาคารโรงสีแดง หับ โห้ หิ้น สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.2457โดยรองอำมาตย์ตรีขุนราชกิจการี (จุ่น เลี่ยง ลิ้มเสาวพฤกษ์) ที่บ้านเลขที่ 13 ถนนนครนอก ริมทะเลสาบสงขลา ชื่อ โรงสี หับ โห้ หิ้น แต่ผู้คนมักเรียกว่า โรงสีแดง เพราะอาคารทั้งหลังทาด้วยสีแดง ช่วงเริ่มกิจการเป็นโรงสีข้าวใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นแหล่งกำเนิดพลังงาน ทว่าให้ผลผลิตต่ำ นายสุชาติ รัตนปราการ ผู้บริหารงานได้ปรับปรุงระบบสีข้าวให้ทันสมัยขึ้นด้วยเครื่องจักรไอน้ำจากประเทศอังกฤษ มีคนงาน 30 – 50 คน ทำงานเป็นกะละ 8 ชั่วโมง เดินเครื่องตลอด 24 ชั่วโมง เป็นโรงสีขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุดในยุคนั้นรับสีข้าวจากรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาสามารถผลิตข้าวสารจำหน่ายให้แก่ประชาชนในจังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียงรวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ รัฐเปรัค อีโป ปีนัง กลันตัน และตรังกานู ในประเทศมาเลเซีย เป็นต้น เมื่อ พ.ศ.2490 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พื้นที่รอบทะเลสาบสงขลามีโรงสีขนาดเล็กเกิดขึ้นจำนวนมากมาย ทำให้ข้าวเปลือกที่จะป้อนโรงสีแดงลดลง จึงต้องยุติกิจการโรงสีข้าว มาทำกิจการโรงน้ำแข็งมาจำหน่ายในชุมชนเปลี่ยนโรงสีเป็นโกดังเก็บยางพารา สำหรับขนถ่ายไปยังเรือเดินสมุทรซึ่งจอดอยู่ในอ่าวใกล้เกาะหนู เกาะแมวเพื่อส่งต่อไปยังยุโรปและอเมริกา เมื่อมีท่าเรือน้ำลึก การขนส่งยางพาราด้วยเรือลำเลียงจึงยุติกิจการ เปลี่ยนเป็นท่าเทียบเรือประมงขนาดเล็กแทนวันเวลาล่วงผ่านมากว่า 100 ปี โรงสีแดงยังคงยืนเด่นเป็นสัญลักษณ์ของถนนนครนอกและเป็นเอกลักษณ์ของเมืองสงขลาไว้เฉกเช่นในอดีต เพราะทายาทรุ่นหลังของตระกูลได้ช่วยกันทำนุบำรุงอาคารโรงสีทำการซ่อมแซมโครงสร้างส่วนประกอบอาคารตลอดจนทาสีภายนอกอย่างสม่ำเสมอทำให้สภาพอาคารและปล่องไฟโรงสีแดงยังคงความสมบูรณ์อยู่ในสภาพเดิมสามารถรักษาคุณค่าทางสถาปัตยกรรมเอาไว้ได้เป็นอย่างดี จนได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2554 ประเภทอาคารพาณิชย์ จากการคัดเลือกโดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

กำแพงเมืองเก่าสงขลา

1. ชื่อวัตถุกำแพงเมืองเก่าสงขลา

2. ชื่อภาษาถิ่น -

3. เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

กำแพงเมืองเก่าสงขลา เป็นโบราณสถานที่สำคัญของจังหวัดสงขลา อยู่ถนนจะนะ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นกำแพงที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีคำสั่งลงมาให้สร้างกำแพงและป้อม เพื่อป้องกันข้าศึกรุกราน เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2379สมัยพระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) แต่การก่อสร้างยังไม่ทันแล้วเสร็จหัวเมืองมลายูเป็นกบฏ (พ.ศ.2381)ยกทัพมาเผาเมืองจะนะและเข้ามาตีเมืองสงขลา พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) ได้เข้ารักษาเมืองไว้จนทัพหลวงจากกรุงเทพฯ ยกทัพลงมาช่วยตีทัพกบฏมลายูแตกกลับไป และช่วยก่อกำแพงเมืองสงขลาจนสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2385 โครงสร้างกำแพงเมืองสงขลาก่อด้วยศิลาก้อนสอปูนเป็นรูปสี่เหลี่ยมล้อมรอบเมืองสงขลามีความยาวทิศเหนือจดใต้ประมาณ 1,200 เมตร ทางทิศเหนือกว้างประมาณ 400 เมตร ทางทิศใต้กว้างประมาณ 470 เมตร กำแพงสูง 5 เมตร หนา 2 เมตร มีใบเสมาและป้อมประตูมั่นคง มีป้อม 8 ป้อม แต่ละป้อมมีปืนใหญ่กระสุน 4 นิ้ว ป้อมละ 3 - 4 กระบอก ประตูเมืองเป็นซุ้มใหญ่ 10 ประตู กับมีประตูเล็กอีก 10 ประตูโดยรอบ ปัจจุบันคงเหลือแต่กำแพงด้านถนนจะนะ ตรงข้ามพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติกับที่ถนนนครในเท่านั้น

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

1. ชื่อวัตถุ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

2. ชื่อภาษาถิ่น -

3. เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ตั้งอยู่ที่ถนนวิเชียรชม มีลักษณะเป็นกลุ่มอาคารแบบสถาปัตยกรรมจีนก่ออิฐถือปูน อายุกว่า 100 ปี สร้างขึ้นโดย พระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา เมื่อปี พ.ศ. 2421 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้เป็นบ้านพัก ต่อมาทางราชการได้ซื้ออาคารดังกล่าวจากพระอนันตสมบัติ (เอม ณ สงขลา) ใช้เป็นศาลาว่าการมณฑลนครศรีธรรมราช และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2460 ใช้เป็นที่ทำการศาลากลางจังหวัดสงขลา จนถึงปี พ.ศ. 2496 จึงย้ายที่ทำการศาลากลางจังหวัดสงขลา ไปอยู่ ณ ที่ปัจจุบันที่ถนนราชดำเนิน ตัวอาคารหลังนี้ถูกทิ้งร้างอยู่หลายปี ปี พ.ศ. 2516 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและได้เริ่มบูรณะอาคารหลังนี้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา เมื่อดำเนินการจัดแสดงนิทรรศการถาวรเรียบร้อย จึงได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2525 โดยที่นี่ใช้เป็นสถานที่จัดแสดงศิลปวัตถุภาคใต้ตอนล่าง และเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ทางด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ ชาติพันธุ์วิทยา ศิลปะจีน ศิลปะพื้นบ้านพื้นเมือง ผ่านวัตถุโบราณเก่าแก่ที่น่าสนใจมากมาย

ศาลหลักเมืองสงขลา

ชื่อวัตถุ ศาลหลักเมืองสงขลา

ชื่อภาษาถิ่น ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

ศาลหลักเมืองสงขลา ตั้งอยู่ที่ถนนนางงาม ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลาชาวสงขลาเรียกว่า "ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา" ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองสงขลาแห่งใหม่ที่ฝั่งบ่อยางเมื่อปีพ.ศ. 2385มีลักษณะเป็นศาลเจ้าแบบเก๋งจีนพระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง ณ สงขลา)เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาในขณะนั้นได้รับเสาหลักเมืองที่ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์จากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ทรงดำริให้ฝังหลักชัยของเมืองสงขลา โดยพระราชทานไม้ชัยพฤกษ์หลักไชยต้นหนึ่งกับเทียนชัยเล่มหนึ่ง โปรดเกล้าฯให้พระอุดมปิฎกออกไปเป็นประธานด้านพุทธพิธี พร้อมด้วยพระเถระฐานานุกรมเปรียญ 8 รูป และให้พระราชครูอัษฎาอาจารย์ เป็นประธานฝ่ายพิธีพราหมณ์พร้อมด้วยพราหมณ์ 8 นาย งานฝังหลักชัยในครั้งนั้นพระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) ได้จัดทำพิธีขึ้นกลางเมืองสงขลา โดยตั้งโรงพิธีทั้ง 4 ทิศ ในวันประกอบพิธีได้จัดขบวนแห่หลักไม้ชัยพฤกษ์กับเทียนชัยเป็นขบวนใหญ่ มีทั้งชาวไทยและชาวจีนเข้าร่วมในขบวนพิธีโดยอัญเชิญหลักไม้ชัยพฤกษ์ไว้ที่ใจกลางเมืองสงขลา ซึ่งเรียกว่า “หลักเมือง” เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2385 ภายหลังการฝังหลักเมืองแล้วได้จัดงานเฉลิมฉลองมีมหรสพ เช่น โขนร้อง งิ้ว ละครชาตรี (โนรา) พร้อมพิธีทางพระพุทธศาสนา ในเวลาต่อมาได้สร้างอาคารคร่อมหลักเมืองไว้ 3 หลัง และสร้างศาลเจ้าเสื้อเมืองอีก 1 หลัง ศาลเจ้าหลักเมืองสงขลา จึงเป็นที่ประดิษฐานหลักเมือง (ตามคติไทย) และเจ้าพ่อหลักเมือง (เซ่ง ห๋อง เหล่า เอี้ย) ซึ่งเป็นเทพคุ้มครองเมือง (ตามคติจีน) ทำให้ศาลหลักเมืองสงขลาเป็นที่รวมความศรัทธาของชาวจีนและชาวไทยไว้ในศาลเดียวกัน ต่อมาศาลหลักเมืองสงขลาเกิดการชำรุดและได้มีการบูรณะปรับปรุงให้มีสภาพดั่งเดิมในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) หรือปี พ.ศ. 2460 โดยรับสั่งให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนพลลพบุรีราเมศวร์ ซึ่งเป็นอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ ร่วมกับพ่อค้าประชาชนชาวสงขลา ร่วมมือกันทำเสาหลักเมืองขึ้นใหม่และวางเสาหลักเมืองใหม่ในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2460

วัดมัชฌิมาวาส

ชื่อวัตถุ วัดมัชฌิมาวาส

ชื่อภาษาถิ่น วัดกลาง

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

วัดมัชฌิมาวาส หรือ วัดกลาง ตั้งอยู่ที่ถนนไทรบุรี ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา เป็นวัดใหญ่และสำคัญที่สุดในจังหวัดสงขลา อายุ 400 ปี สร้างตอนปลายอยุธยา เดิมเรียกว่า “วัดยายศรีจันทร์” กล่าวกันว่ายายศรีจันทร์ คหบดีผู้มั่งคั่งในเมืองสงขลาได้อุทิศเงินสร้างขึ้น ต่อมามีผู้สร้างวัดเลียบ ทางทิศเหนือ และวัดโพธิ์ ทางทิศใต้ ชาวสงขลาจึงเรียกวัดยายศรีจันทร์ว่า “วัดกลาง” เมื่อ พ.ศ. 2431 พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เสด็จเมืองสงขลา ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดมัชฌิมาวาส” ในวัดมีโบราณสถานที่น่าสนใจหลายแห่ง อาทิ พระอุโบสถ สร้างสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นศิลปะประยุกต์ไทย - จีน ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เช่น ภาพท่าเรือสงขลาที่หัวเขาแดงที่มีการค้าขายกันคึกคัก ซุ้มประตูเป็นศิลปะจีนกับยุโรป และมีพิพิธภัณฑ์ "ภัทรศิลป” เป็นที่เก็บพระพุทธรูป วัตถุโบราณ ซึ่งรวบรวมมาจากเมืองสงขลา สทิงพระ ระโนด ซึ่งเป็นหลักฐานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ควรค่าแก่การศึกษา เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ - อังคารและวันหยุดราชการ เวลา 13.00 - 16.00 น.

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดสองพี่น้อง

หลวงปู่เหม้น

ชื่อวัตถุ หลวงปู่เหม้น

ชื่อภาษาถิ่นพ่อท่านเหม้น

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุหลวงปู่เหม้นเกิดเมื่อปีเถาะ พ.ศ.2422ที่บ้านทุ่งชวด หมู่ที่12ตำบลพังลา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลาโยมบิดาเป็นใครไม่มีใครทราบโยมมารดาชื่อนางลายพ.ศ.2443อุปสมบท ณ วัดสองพี่น้องตำบลพังลา(ปัจจุบันตำบลท่าโพธิ์) อำเภอสะเดาจังหวัดสงขลาได้จำพรรษาอยู่ที่วัดสองพี่น้องตลอดมา จนเจ้าอาวาสรูปเดิมได้มรณภาพลง ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสแทน โดยได้บูรณะวัดสร้างกุฏิ 1 หลัง จากนั้นท่านได้ออกธุดงค์ตามสถานที่ต่าง ๆ จนไปถึงภูเขาสันกาลาคีรีที่บ้านป่าไร่อำเภอโคกโพธิ์จังหวัดปัตตานีได้อาศัยอยู่กับชาวเขาที่ผู้คนเรียกว่า “คนธรรพ์” ต่อจากนั้นท่านเดินทางไปถึงบ้านบากง อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาสได้สร้างวัดทรายทองขึ้น หลังจากนั้นท่านได้เดินทางกลับวัดสองพี่น้อง ท่านหมื่นนันท์ นรารักษ์ ได้นิมนต์ท่านนิ่ม ซึ่งเป็นหลานของหลวงปู่เหม้นเป็นเจ้าอาวาสวัดสองพี่น้อง หลังจากนั้นท่านได้สร้างวัดที่บ้านควนสังข์ประเทศมาเลเซียและอยู่ที่นั่นจนถึงพ.ศ.2483จนกระทั่งท่านอาพาธพระนิ่มจึงนิมนต์ท่านกลับวัดสองพี่น้องและท่านก็ได้มรณภาพ เมื่อ พ.ศ.2483 อายุได้61พรรษาหลวงปู่เหม้นเป็นพระที่มีวิทยาคมท่านได้แสดงอภินิหารไว้หลายอย่าง เช่น

1.ลงอาบน้ำในขวดให้ลูกศิษย์เห็นที่วัดทรายทองบ้านบากงจังหวันราธิวาส

2.กำบังกายจับช้างเถื่อนที่อำเภอนาทวีจังหวัดสงขลา

3.ใช้คาถาปราบโจร

4.ใช้คาถาปราบงูพิษ

5.เดินทางได้รวดเร็วคนไม่เห็นๆแต่จีวร

6. ปราบพวกผีพรายในแม่น้ำลำคลอง

ปาหยะ

ชื่อวัตถุ ปาหยะ

ชื่อภาษาถิ่น ปาหยะ

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ ปาหยะปายะปาดหญ้าก็ว่าเป็นมีดพร้าอย่างหนึ่งใช้ถากหญ้า ฟันหญ้าในนาตามีดกว้างประมาณ3–4นิ้ว ยาว 8–10 นิ้วส่วนหนาสุดประมาณ2–3หุน คมส่วนปลายปาดโค้งไปทางสัน คอปาหยะทำเป็นกั่นงอตั้งฉากยาว 4–5 นิ้วเข้าด้ามยาวประมาณเมตรเศษหรือใช้พอเหมาะที่จะใช้สับหญ้าในนาได้

ปาหยะเหมาะที่จะใช้ในนาที่ไม่มีน้ำหรือน้ำขังน้อยๆใช้สับหญ้าก็ได้สับดินก็ได้ เช่น สับหญ้าในมุมหรือขอบคันนาที่ไถเข้าไปไม่ถึงปาหยะที่แสดงในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดสองพี่น้อง ชาวบ้านได้บริจาคให้กับพิพิธภัณฑ์

กระบอกขนมจีน

1. ชื่อวัตถุ กระบอกขนมจีน

2. ชื่อภาษาถิ่น บอกหนมจีน

3. เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

บอกขนมจีน หรือ บอกหนมจีน ทำจากโลหะประเภททองเหลือง เป็นเครื่องมือใช้ทำขนมจีน หรือ “เหยียบขนมจีน” เพื่อการค้าขาย หรือ เพื่อจัดเลี้ยงกันในงานประเพณีต่าง ๆ หรือโอกาสพิเศษ กระบอกขนมจีนในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดสองพี่น้องชาวบ้านได้นำมามอบให้กับพิพิธภัณฑ์ฯ ที่เป็นแหล่งความรู้ของชุมชน

การทำขนมจีนในสมัยก่อนมี 9 ขั้นตอน

1.แช่แป้งข้าวจ้าวอย่างน้อย 6 ชั่วโมง

2.บดแป้งด้วยครกบดหิน 2 ครั้ง

3.ทับแป้ง โดยเอาแป้งใส่ผ้าขาวแล้วเอาครบบดส่วนบนตั้งทับไว้ให้นำสะเด็ด

4. ต้มแป้ง โดยแบ่งแป้งที่สะเด็ดน้ำแล้วเป็นก้อน ๆ ขนาดเท่ากำปั้น ต้มจนสุกหมด

5. ตำแป้ง โดยเอาแป้งใส่ครกตำด้วยสากจนแป้งเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน

6. เน้นแป้ง คือ การใช้มือนวด เน้นแป้งให้แป้งเหนียวดียิ่งขึ้น

7.นำแป้งใส่ลงในกระบอกจนแน่นแล้วยกขึ้นตั้งบนขื่อที่อยู่เหนือกระทะและเตาไฟซึ่งลุกแรง

8.ต้มเส้น คือ ต้มเส้นขนมจนสุก เส้นขนมจะลอยขึ้น จึงตักเอาแต่เส้นขนมนำไปล้าง

9. ล้างเส้น คือ ล้างด้วยน้ำสะอาดอย่างน้อย 2 ครั้ง จากนั้นจึงนำไปจับลูก

เนียง

ชื่อวัตถุ เนียง

ชื่อภาษาถิ่น เนียง

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

เนียง คือ ภาชนะดินเผา มีทรงสูง ส่วนตรงกลางจะป้อมออกมาเพียงเล็กน้อย ที่คอของเนียงจะคอดกิ่ว แล้วบานออกเล็กน้อย รูปทรงคล้ายกับไหทางภาคกลาง คนโบราณจะใช้เนียงใส่น้ำไว้ดื่ม จะได้น้ำที่มีความเย็น บางบ้านจะใช้เนียงไว้รองรับน้ำฝน นอกจากจะใช้เนียงใส่น้ำดื่มแล้ว เนียงยังใช้ประโยชน์ได้อีกหลายอย่าง เช่น

-ใส่ข้าวสาร เรียก เนียงสาร

-ใส่หมากแช่ เรียก เนียงหมาก

- ใส่หวาก เรียก เนียงหวาก

- ใส่หนาง เรียก เนียงหนาง

บ้านเรือนทางภาคใต้ในสมัยก่อนทุกบ้านจะมีเนียงไว้ใช้สอย ไว้เก็บอาหาร ไว้ถนอมอาหาร เปรียบเสมือนตู้เย็นในปัจจุบัน

ชามลายคราม

ชื่อวัตถุ ชามลายคราม

ชื่อภาษาถิ่น ถ้วยลายคราม

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

ชามลายคราม หรือ ถ้วยลายครามหมายถึงภาชนะกระเบื้องหรือเครื่องถ้วยของจีน ชนิดที่เขียนลายเป็นสีคราม เป็นที่นิยมกันมากในสมัยโบราณ เพราะเป็นของดีมีราคาเครื่องถ้วยจีนคงจะมีเข้ามาขายในประเทศไทยพร้อมกับที่จีนส่งสินค้ามาขายในประเทศไทยและภายหลังประเทศไทยก็ทำเครื่องถ้วยขึ้นใช้เอง จนถึงขั้นเป็นสินค้าจำหน่ายไปยังประเทศใกล้เคียง

ในสมัยอยุธยา เครื่องถ้วยที่ไทยสั่งออกไปทำในเมืองจีนเท่าที่พบมีเพียงสามอย่างคือ ชาม จานเชิง และโถ สีก็มีก็มีสามอย่างคือลายครามอย่างหนึ่ง ลายสีเขียนบนพื้นถ้วยขาวอย่างหนึ่งและเบญจรงค์ ลายไทยที่ทำให้ตัวอย่างไปเขียนเครื่องถ้วย มีลายก้านขด และลายก้านแย่ง เป็นต้น บางทีก็มีภาพปลายกระหนก และภาพเทพพนม

ในรัชกาลที่ 5 เครื่องถ้วยจีนที่เป็นของดีมีเข้ามามากกว่ารัชกาลก่อน ๆ เพราะเป็นที่นิยมเล่นเครื่องถ้วยและเครื่องโต๊ะกันขึ้นอีก

สำหรับชามลายครามในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดสองพี่น้องมีอยู่ในวัดมาก่อนแล้วแตกเสียหายไร้ร่องรอยไปเสียจำนวนหนึ่ง มีเหลืออยู่เพียงใบเดียว

พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา

กระต่ายขูดมะพร้าว

ชื่อวัตถุ กระต่ายขูดมะพร้าว

ชื่อภาษาถิ่น เหล็กขูด

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

กระต่ายขูดมะพร้าว หรือ “เหล็กขูด” เป็นเครื่องมือขูดเนื้อมะพร้าวที่ยังไม่กะเทาะเปลือกให้เป็นฝอยเพื่อนำเนื้อมะพร้าวมาใช้ประโยชน์ลักษณะโครงสร้างลำตัวสำหรับนั่งทำจากไม้แกะสลัก ลวดลายมลายูตัวฟันสำหรับขูดมะพร้าวยื่นออกมาคล้ายเลื่อยทำจากเหล็กมีเดือยสำหรับยึดกับลำตัวไม้ มีกั่นอลูมิเนียม/เหล็ก/หินครอบกันหลุด กระต่ายขูดมะพร้าวเป็นการใช้จินตนาการเพื่อสร้างสรรค์เครื่องใช้ไม้สอย ทั้งยังมีความคงทน ความงาม และคุณค่า แสดงให้เห็นความสำคัญที่ผูกโยงกับวิถีชีวิตของชาวไทยมุสลิม แต่ละตัวได้แฝงความหมายไว้ให้ขบคิด เห็นถึงคติความเชื่อ ศิลปะของชาวบ้านและสภาพสังคมในช่วงเวลานั้น

กริช

ชื่อวัตถุ กริช

ชื่อภาษาถิ่น กริช

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

กริช เป็นอาวุธประจำตัวที่เคยนิยมใช้กันในภาคใต้ตลอดไปถึงมาเลเซีย ชวาและประเทศใกล้เคียงเคยเป็นอาวุธประจำชาติของชวาและมาเลเซีย เป็นเครื่องบ่งถึงความเป็นชายชาตรี บ่งถึงฐานะทางสังคมฐานะทางเศรษฐกิจ และยศถาบรรดาศักดิ์ของผู้เป็นเจ้าของหรือของตระกูลโดยเฉพาะการใช้กริชในภาคใต้ตอนล่างนับตั้งแต่นครศรีธรรมราชลงไปนิยมกันอย่างแพร่หลายทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิมมีความเชื่อและเกี่ยวพันกับวัฒนธรรมอื่นๆอย่างพิสดารความนิยมเหล่านั้นเพิ่งเลิกราไปเมื่อทางราชการประกาศให้ถือว่ากริชเป็นอาวุธที่ห้ามพกพาในที่ชุมชน

ปั้นเหน่งโนรา

ชื่อวัตถุ ปั้นเหน่งโนรา

ชื่อภาษาถิ่น เหน่ง

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

ปั้นเหน่งโนรา หรือ เหน่ง เป็นเครื่องประดับเอวทำด้วยเงินดุนสลักลายงดงาม ถือว่าเป็นของประดับที่มีค่าจะมีสายคาดแลดูเหมือนเข็มขัด ใช้ปิดบริเวณด้านบนของหน้าผ้า ปั้นเหน่งเป็นหนึ่งในชุดเครื่องเงินโนรา คือ

1. ปั้นเหน่ง

2. ปีกนกแอ่น

3 ทับทรวง.

4. ประจำยาม

5. ต้นแขน

6. ไหมฺร

7. เล็บ

ปิ้ง

ชื่อวัตถุ ปิ้ง

ชื่อภาษาถิ่น ปิ้ง

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

ปิ้งหรือ จะปิ้ง เป็นเครื่องแขวนสะเอว สำหรับปกปิดอวัยวะเพศเด็กหญิงที่ยังเปลือยกาย เพื่อไม่ให้ดูน่าเกลียด นิยมทำเป็นรูปคล้ายใบโพ หรือ รูปหัวใจ ส่วนกลางโค้งนูนกว่าส่วนขอบเล็กน้อย ขนาดโตพอที่จะปิดบังอวัยวะเพศของผู้แขวนได้มิด ปิ้งอาจทำด้วยกะลามะพร้าว (ปิ้งพรก) หรือโลหะที่ไม่เป็นสนิม เช่น นาก เงิน หรือทอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานะของผู้ปกครอง ตรงส่วนบนทั้งมุมซ้ายและมุมขวา เจาะรูหรือร้อยด้วยบ่วง สำหรับสอดเชือกเพื่อผูกคาดสะเอว ที่ทำด้วยแผ่นนากหรือแผ่นเงินนิยมทำเป็นลายดุนรูปดอกไม้ไว้ตรงส่วนมุมบนทั้งสองและตรงปลายของส่วนล่างเพื่อกลบเกลื่อนให้มองเห็นเป็นเครื่องประดับมากกว่าจะให้คิดว่าเป็นเครื่องปิดบังอวัยวะเพศบางอันมีสลักลวดลายมากกว่านั้น

กระดึงแขวนคอวัว

ชื่อวัตถุ กระดึงแขวนคอวัว

ชื่อภาษาถิ่น รอกวัว

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

กระดึงแขวนคอวัว หรือ รอกวัว เป็นเครื่องไม้ที่มีรูปคล้ายกระดิ่ง ทำจากไม้เนื้อแข็ง มีลูกกระทบ (ลูกตุ้ม) แขวนอยู่ภายใน หรือ ห้อยกระหนาบอยู่ภายนอก มักใช้แขวนห้อยคอสัตว์ เช่น วัว ควาย เพื่อทำให้เกิดเสียงดังได้ยินอยู่เสมอเวลาปล่อยให้ออกไปหากินตามทุ่งหญ้า ใช้ใส่ป้องกันขโมย หากขโมยมาก็จะรู้และตามเสียงได้

พิพิธภัณฑ์วัดปรางแก้ว

สมุนไพรปรุงยาพรหมประสิทธิ์

ชื่อวัตถุสมุนไพรปรุงยาพรหมประสิทธิ์

ชื่อภาษาถิ่นเครื่องยาพรหมประสิทธิ์

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

ประมาณปี พ.ศ.2496 หลังจากเสร็จงานศพพระอธิการทองแก้วอินทโรแล้วพระครูรัตนธรรมจารี หรือ พ่อท่านทับได้นำไม้ที่ใช้สร้างเมรุและโรงพิธีศพพระอธิการทองแก้วไปสร้างโรงเรียนวัดปรางแก้ว แต่ยังขาดไม้อีกจำนวนมากก็นำชาวบ้านไปตัดไม้ที่เขาวังชิงในช่วงที่ตัดไม้อยู่นั้นก็มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาเข้าทรงบอกว่าเป็นพระธุดงค์มาจากทางภาคเหนือมาสิ้นบุญที่เขาวังชิงเมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมา ภายหลังชาวบ้านเรียกท่านว่า“หลวงพ่อรัศมีท่านได้บอกตำรับยาสมุนไพรไว้ช่วยเหลือชาวบ้าน รวมกับตำรับยาของพระครูรัตนธรรมจารี(พ่อท่านทับ)ได้เป็น“ยาพรหมประสิทธิ์”ซึ่งเป็นยาที่มีสรรพคุณแก้พิษหรือขับพิษทุกชนิดและเป็นยาบำรุงร่างกายด้วย ซึ่งตัวยาประกอบด้วยสมุนไพรมากถึง 222ชนิดในจำนวนนั้นยังมีส่วนผสมพวกเขา เขี้ยว งา กระดูกของสัตว์อีกหลายชนิดด้วยในการปรุงยาแต่ละครั้งจะต้องรวบรวมสมุนไพรเป็นเวลาหลายปีจึงจะครบตามตำรับในระหว่างที่รอการปรุงยาก็นำสมุนไพรจำนวนหนึ่งเก็บไว้ให้ประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้ยาพรหมประสิทธิ์ทางวัดได้ผลิตแจกจ่ายให้กับผู้ป่วยสืบทอดตลอดมาไม่ต่ำกว่า 60 ปี

เครื่องทองเหลือง

ชื่อวัตถุ เครื่องทองเหลือง

ชื่อภาษาถิ่น เครื่องทองเหลือ

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

เครื่องทองเหลือง เป็นภาชนะที่ทำจากโลหะผสมระหว่างทองแดงและสังกะสี ทองเหลืองทนทานต่อการเกิดสนิมได้ดี จึงนิยมนำมาทำเครื่องใช้ภายในบ้านเรือน จะพบเห็นในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ขันทองเหลือง พานทองเหลืองแจกันทองเหลือง กระทะทองเหลืองและเครื่องใช้ เครื่องตกแต่งทำด้วยทองเหลืองอีกมากมาย

เครื่องทองเหลืองในพิพิธภัณฑ์วัดปรางแก้ว มีมากมายหลายชนิด ทั้งแบบเรียบ ๆ ไม่มีลวดลาย และแบบมีลวดลายสวยงาม พวกข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้มากจากคติความเชื่อของคนในท้องถิ่นว่า ของใดที่นำเข้าวัดแล้ว จะไม่นำมาใช้ที่บ้าน ทำให้มีเครื่องทองเหลืองเหล่านี้ถูกเก็บไว้ในวัดเป็นจำนวนมาก


เครื่องเคลือบ

ชื่อวัตถุ เครื่องเคลือบ

ชื่อภาษาถิ่น เครื่องเคลือบ

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

เครื่องเคลือบ เป็นภาชนะที่ใช้ในชีวิตประจำวันของคนสมัยก่อนมีความแข็งแรงทนทางสูงแม้ตกกระแทกทำให้เกิดรอยบิ่นยังสามารถนำกลับไปใช้ต่อได้ เพราะทำมาจากเหล็กกล้าเนื้อดีที่ผ่านกระบวนการขึ้นรูปและกระบวนการเคลือบสีอย่างดี ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ผิวมีความเป็นเงางามเหมือนแก้ว มักจะภาชนะเครื่องครัว เครื่องใช้และเครื่องประดับต่างๆที่มีคุณสมบัติทนต่อความร้อน และไม่ทำปฏิกิริยากับกรดหรือด่างของอาหารเครื่องเคลือบที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์วัดปรางแก้วจะมีมากมายหลายชนิด ส่วนใหญ่จะเป็นพวก หม้อ หม้อหูหิ้ว กาน้ำร้อน จาน ช้อน ชาม ถาด และปิ่นโต ที่มีทั้งพิมพ์ลายและไม่พิมพ์ลายเครื่องเคลือบเหล่านี้เป็นของชาวบ้านที่นำมาถวายวัดในโอกาสต่าง ๆ




เครื่องถ้วยชามโบราณ

ชื่อวัตถุ เครื่องถ้วยชามโบราณ

ชื่อภาษาถิ่น -

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

เครื่องถ้วยชามโบราณในพิพิธภัณฑ์วัดปรางแก้ว มีทั้ง เครื่องถ้วยจีน เครื่องลายคราม เครื่องเบญจรงค์ เครื่องถ้วยไทย และของชาติอื่น ๆ ที่ไม่สามารถระบุสมัยและแหล่งผลิตได้ เพราะมีมาคู่กับวัดเป็นเวลากว่า 50 ปี ส่วนใหญ่เป็นพวก ถ้วยชาม จาน และชุดน้ำชา

เครื่องประดับ

ชื่อวัตถุ เครื่องประดับ

ชื่อภาษาถิ่น เครื่องประดับ

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

เครื่องประดับที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดปรางแก้ว จะเป็นเครื่องประดับที่ทำจากลูกปัดชนิดต่าง ๆ มากมาย แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท คือ

1.ลูกปัดที่มาจากชิ้นส่วนของสัตว์ เช่น กระดูกสัตว์ เปลือกหอย เขา งา ปะการัง เขี้ยว และฟัน โดยนำวัตถุดิบเหล่านี้มาขัดฝนหรือตัดเป็นแท่ง แล้วเจาะรูเพื่อใช้ร้อยเป็นเครื่องประดับ

2.ลูกปัดหิน และแร่หิน เช่น หินสีต่าง ๆ พลอย ทับทิม อำพัน ลูกปัดนี้จะมีสีต่าง ๆ กัน ขึ้นอยู่กับชนิดของหินที่นำมาใช้

3.ลูกปัดดินเผาและแก้วหลอมผลิตขึ้นโดยการใช้ดินเผาและแก้วหลอม เป็นลูกปัดที่สามารถสร้าง ลวดลายได้ได้ที่ต้องการ

4.ลูกปัดแร่โลหะและแร่ต่าง ๆ เช่น ทอง ทองแดง เงิน ตะกั่ว ดีบุก เหล็ก และสำริด นำมาทำเป็นเครื่องประดับ จำพวก ตุ้มหู จี้ แหวน ฯลฯ

ลูกปัดเหล่านี้นอกจากใช้เป็นเครื่องประดับแล้ว ยังใช้เป็นเครื่องรางของขลังอีกด้วยส่วนใหญ่ผู้มีจิตศรัทธานำมาถวายวัด

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเมืองไชยา(วัดเวียง) สุราษฎร์ธานี

ขันสาคร

ประวัติและที่มา

ขันสาคร ประกอบด้วยคำว่า ขัน กับคำว่า สาคร มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า แม่น้ำ ทะเล ขันสาคร หมายถึงขันที่ใช้บรรจุน้ำปริมาณมาก มีใช้ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน

ลักษณะรูปร่าง

ตัวขันทำด้วยโลหะผสมได้แก่สัมฤทธิ์ ทองเหลือง ตัวขันเป็นทรงลูกมะนาวตัด ก้นขันมีเชิง ด้านข้างขันทั้งสองข้างเป็นรูปหน้าสิงโตปากคาบห่วงใช้เป็นหูหิ้วข้างละหู

ประโยชน์ในการใช้สอย

ใช้บรรจุน้ำสำหรับทำน้ำมนต์ในพิธีมงคลต่างๆ เป็นสิ่งของเครื่องใช้เพื่อแสดงถึงผู้มีฐานะ เป็นเครื่องประกอบอิสริยยศอย่างหนึ่งของกลุ่มชั้นสูงในสมัยโบราณ ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมราชสำนัก พิธีกรรมทางศาสนา ในปัจจุบันเราก็มักจะพบเห็นการใช้ ขันสาครในงานพิธีเทศน์มหาชาติ

อายุสิ่งของ รับมา พ.ศ. 2495 อายุ 69 ปี

รางบดยาโบราณ

ประวัติและที่มา

สมัยโบราณ การแพทย์ยังไม่เจริญ เมื่อเจ็บป่วยก็มักจะใช้สมุนไพรพื้นบ้านรักษา โดยนำมาต้มน้ำกิน บดเป็นยาปั้นเป็นลูกกลอนบ้าง หรือบดเป็นยาใส่แผลบ้าง

นายไสว เรืองสวัสดิ์ เป็นผู้มอบรางบดยาให้ และห้างหุ้นส่วนจำกัด สมบูรณ์ประดิษฐ์งานไม้ ได้จัดทำคันโยกให้ เพื่อสะดวกในการใช้งาน

ลักษณะรูปร่างของรางบดยาโบราณ

ส่วนล่างเป็นรางโลหะคล้ายเรือ มีลูกกลิ้งทำโดยโลหะประกอบติดกันคันโยก กลิ้งในรางโดยใช้แรงโยกลูกกลิ้งไป-มา

ประโยชน์ใช้สอย

เมื่อต้องการบดเครื่องยาสมุนไพร ก็นำใส่ลงในรางโลหะใช้แรงยกดันไปข้างหน้าและดึงคันโยกใช้แรงโยกดันไปข้างหน้าและดึงคันโยกเลื่อนมาด้านหลังสลับไปมา จนได้ยาที่ละเอียดตามต้องการ

อายุสิ่งของ ปลายราชวงศ์ชิง อายุ 109 ปี (พ.ศ.2455)


ผ้าทอลายราชวัตรและลายดอกพิกุล

ประวัติและที่มา

ผ้าพุมเรียง เป็นผ้าทอที่มีลวดลายสวยงาม และมีเอกลักษณ์ต่างไปจากผ้าในภาคอื่นๆ มีการทอยกดอกด้วยไหม หรือดิ้นเงินดิ้นทอง เป็นศิลปะหัตกรรมพื้นบ้านของตำบลพุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี โดยได้รับการถ่ายมาจากอดีตที่ไทยมุสลิมได้อพยพมาจากเมืองสงขลาเมืองปัตตานีและเมืองไทรบุรีที่มาสร้างรกรากมีลูกหลานได้สืบทอดกันมาคงไว้ซึ่งความปราณีต สวยงามมาจนถึงปัจจุบัน

ลวดลายและกรรมวิธีการทอ

เป็นผ้าทอทั้งประเภทผ้าฝ้าย ผ้าไหม และผ้าไหมปนฝ้ายเป็นลวดลายต่างๆ มีชื่อเรียกประจำลายรวมถึงลายราชวัตรและลายดอกพิกุลซึ่งเป็นผ้าทอที่สวยงามโดดเด่น เป็นที่นิยมแก่ผู้ที่มาเที่ยวชม และซื้อไปใช้

ประโยชน์ใช้สอย

ใช้ตัดเย็บเป็นชุดสุภาพบุรุษ สุภาพสตรีสวมใส่ในโอกาสต่างๆ ตามเหมาะสม

อายุสิ่งของ ได้มาเมื่อปี พ.ศ.2547 รวม 17 ปี


ลายมือท่านอาจารย์ พุทธทาส

ภาษาทั่วไป ลายฝ่ามือ

ประวัติและที่มา

ณ ค่ายลูกเสือ “ธรรมบุตร” ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.เลม็ด อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 21-27 กรกฎาคม พ.ศ.2512 ในกิจกรรมเข้าค่ายลูกเสือ ท่านอาจารย์พุทธทาสได้บรรยายอบรมลได้พิมพ์ลายฝ่ามือซ้าย ขวาของท่าน บนแผ่นกระดาษไว้เป็นที่ระลึกแก่ลูกศิษย์และประชาชนทั่วไป

อายุสิ่งของ 52 ปี



ตราประทับ

ประวัติและที่มา

เป็นตราประจำตำแหน่งเจ้าคณะเมืองไชยา ภิกษุผู้ได้รับการพระราชทานสมณศักดิ์ว่า พระครูรัตนมุณีศรีสังข์คณราชาลังกาแก้ว หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “พระครูกาแก้ว”

ลักษณะรูปร่าง

เป็นตราสัญลักษณ์ที่สลักด้วยงาช้าง เป็นลวดลายอักษรขอม ซึ่งแปลว่า “ผู้ตามรักษาคณะแห่งผู้เจริญ”

ประโยชน์ใช้สอย

เป็นตราประทับประจำตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เมืองไชยาระหว่างช่วงปี พ.ศ.2406-2411

อายุของวัตถุ 158 ปี

พิพิธภัณฑ์วัดนางเหล้า

รางบดยาโบราณ

ชื่อวัตถุ รางบดยาโบราณ

ชื่อภาษาถิ่น รางบดยา

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

รางบดยาโบราณ เป็นเครื่องใช้สำหรับบดยาที่แพทย์แผนไทยสมัยโบราณใช้กัน มีลักษณะทำเป็นรางไม้คล้ายเรือ และลูกกลิ้งเหล็กกลม สาเหตุของการทำรางในการบดยานั้น เพื่อไม่ให้เครื่องยาสมุนไพรหกเรี่ยราด ก่อนที่จะนำมาบดต้องหั่นหรือขูดสมุนไพรออกเป็นชิ้น ๆ เพื่อให้บดง่าย การบดยาผู้บดจะต้องโยกคลึงให้ลูกกลิ้งบดสมุนไพรจนเป็นผง

รางบดยาแสดงให้เห็นถึงการคิดค้นอันชาญฉลาดของคนสมัยก่อน ปัจจุบันรางบดยาได้พัฒนาขึ้นตามความเจริญของยุคสมัย หากไม่อนุรักษ์ไว้คนรุ่นหลังอาจจะไม่ได้เห็นถึงภูมิปัญญา การคิดค้น และพัฒนาการของเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของคนรุ่นก่อน

รางบดยาในพิพิธภัณฑ์วัดนางเหล้า เป็นรางบดยาที่มีสภาพเก่าแก่มาก สันนิษฐานว่ามีอายุประมาณ 100 ปี ขึ้นไป

กระดานชนวน

ชื่อวัตถุ กระดานชนวน

ชื่อภาษาถิ่น ดานเลข

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ กระดานชนวน เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ฝึกหัดเขียน คัด ฝึกหัดทำเลขคณิตของนักเรียนระดับประถมศึกษาสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แทนการใช้สมุด ทำจากหินชนวน มีขอบที่ทำด้วยไม้ทั้งสี่ด้าน ใช้เขียนด้วยดินสอพอง คือ เอาดินสอพองแช่น้ำให้เปียก บดโขลกให้แหลก แล้วปั้นเป็นแท่งขนาดหัวแม่มือยาวไม่เกินคืบภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เลิกใช้กระดานชนวนหันมาใช้สมุดกระดาษที่ทำขึ้นใหม่ใช้เป็นอุปกรณ์การเขียนแทนกระดานชนวน

กระดานชนวนนอกจากจะใช้ในการเขียนหนังสือแล้ว ยังใช้เป็นกระดานโหรสำหรับผูกดวงทำนายโชคชะตาราศี และยังใช้เป็นกระดานลบผงเมตตามหานิยม (ผงปถมัง)

เสื่อคล้า

ชื่อวัตถุ เสื่อคล้า

ชื่อภาษาถิ่น สาดคล้า

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

สาดคล้า หรือ เสื่อคล้า เป็นภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นภาคใต้ที่ได้นำเอาเปลือกของต้นคล้าที่มีในชุมชนมาสานเป็นสาดคล้า

ต้นคล้านับเป็นไม้ล้มลุกที่เจริญเติบโตขึ้นเป็นกอ และมีอายุหลายปี โดยมีเหง้าหรือหัวอยู่ใต้ดิน ส่วนลำต้นมีทั้งแบบตั้งตรงและแบบเอนไปตามกระแสน้ำลักษณะกลมสีเขียวเข้มออกเป็นข้อๆ และมีข้อปล้องยาว หากรวมทั้งก้านและใบ จะมีความสูงประมาณ1-2 เมตร ขยายพันธุ์โดยวิธีการแยกหน่อปลูกในที่เป็นน้ำหรือเป็นโคลน ตามริมคลอง ริมสระ หรือตามลำธาร

การสานสาดคล้า หรือ เสื่อคล้า จะเริ่มต้นจากการไปตัดต้นคล้ามาจากป่าพรุ โดยเลือกต้นที่แก่พอสมควร ซึ่งดูได้จากสีของต้นที่มีลักษณะเข้มจากนั้นนำมาผ่าเป็น4 ซี่ แล้วใช้มีดตอกลอกเอาเนื้อในสีขาวออกให้หมด นำไปตากแดด 2 - 3 แดด จากนั้นก็นำมาสานลายสองเป็นผืนเสื่อ ความยาวและความกว้างของเสื่อ ขึ้นอยู่กับความยาวของต้นคล้าสาดคล้าหรือเสื่อคล้า ยังมีความผูกพันกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นอยู่อีกมาก เช่น การนำเสื่อคล้ามาปูในโรงโนรา รวมทั้งการบูชาบรรพบุรุษ หรือการตั้งตายายของคนใต้ก็ต้องนำเสื่อคล้ามาปูเช่นกันโดยคุณสมบัติเด่นที่สามารถเก็บความเย็นไว้ได้ดี ผู้คนจึงนิยมนำเสื่อคล้ามาปูนอนกัน และบ้างก็เชื่อว่าจะทำให้บรรเทาอาการเจ็บป่วยได้

กบเซาะร่องไม้

ชื่อวัตถุ กบเซาะร่องไม้

ชื่อภาษาถิ่น กบเซาะร่อง

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

กบ เป็นเครื่องมือช่างไม้ สำหรับขัดผิวไม้ให้เรียบและได้รูปทรงตามต้องการ ประโยชน์ใช้สอยของกบ คือ ไสให้ผิวหรือหน้าไม้เรียบ การเรียกชื่อกบมักเรียกตามรูปร่างและลักษณะการใช้งาน เช่น กบคิ้ว กบโค้ง กบทวาย กบนาง กบบรรทัด กบบังใบ กบบัว กบราง และกบเซาะร่อง

กบเซาะร่องไม้ หรือ กบเซาะร่อง มีส่วนประกอบ ดังนี้ คือ

ตัวกบ ทำด้วยไม้เนื้อแข็งเหนียว มีลักษณะเป็นแท่งสี่เหลี่ยม เจาะเป็นช่องให้เอียงไปด้านหลังเล็กน้อยสำหรับใส่ใบกบ ด้านหน้าเจาะเป็นช่องให้ขี้กบออก

ใบกบ ทำด้วยแผ่นเหล็กบาง ๆ กว้างเท่ากับช่องตัวกบ ปลายด้านหนึ่งเอียงลาดคล้ายคมสิ่ว

ลิ่ม ทำด้วยไม้กว้างเท่าใบกบ ส่วนบนหนากว่าส่วนล่าง ใช้ตอกอัดกับช่องระหว่างตัวกบกับใบกบ

มือจับ ทำด้วยไม้แท่งกลมหรือรี ด้านหนึ่งใหญ่ปลาเรียว ใช้สอดเข้าไปในตัวกบ ให้ยื่นออกด้านข้างทั้งสองข้างยาวพอจับได้สะดวก

การเซาะร่อง คือ การทำให้เกิดร่องตรงกลาง มีเนื้อไม้เหลือเป็นขอบ 2 ข้าง เช่น เซาะร่องรางลิ้นไม้

ม้าหั่นยาเส้น

ชื่อวัตถุ ม้าหั่นยาเส้น

ชื่อภาษาถิ่น ม้าขวานยาเส้น

เรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุ

ม้าหั่นยาเส้น เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งซึ่งทำด้วยไม้เนื้อแข็ง มีรางและปล่องเพื่อใส่ใบยาสูบสำหรับหั่นใบยาหรือซอยใบยาให้เป็นเส้นยาว ๆ นำไปผึ่งแดดจนแห้ง แล้วเก็บไว้ม้วนเป็นยาสูบ ตัวม้าหั่นใบยามีส่วนประกอบอยู่ 2 ส่วน คือ ไม้ราง และไม้ปล่อย หรือ หูไม้รางหรือตัวม้าใช้ไม้เป็นท่อนไม้สี่เหลี่ยมมีความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร กว้างประมาณ 15 เซนติเมตร ด้านหลังตัวม้าจะขุดเป็นร่องลึกเป็นรางใส่ใบยาสูบ ปลายไม้รางทำเป็นหางเป็ด เพราะตัดไม้ในส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป ทำให้ไม้รางหรือตัวม้ามีน้ำหนักเบาขึ้น

ไม้ปล่อง หรือ หน้าม้า ซึ่งอยู่ด้านหน้า เป็นไม้แผ่นบางมีความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร กว้างประมาณ 15 เซนติเมตรไสไม้ให้เรียบเจาะปล่องเป็นวงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ10 เซนติเมตร เรียกว่า หู เจาะหูให้รับกับไม้รางซึ่งเป็นตัวม้าพอดี

การใช้ม้าหั่นยาจะต้องมีมีดหั่นยาประกอบกันใช้ไม้แผ่นยาวสำหรับนั่งตัวต่ำ ๆ ส่วนมีดหั่นยาใช้ใบมีดคม ๆ แนบชิดหน้าม้า นำใบยาสูบม้วนอัดใส่ไม้รางดันเข้าไปในปล่องให้เต็มรู แล้วหั่นหรือซอยใบยาสูบเป็นเส้นบาง ๆ แล้วนำตากเป็นยาเส้น