การจักสานไม้ไผ่

เครื่องจักสานชนเผ่ากะเหรี่ยง

เครื่องจักสานชนเผ่ากะเหรี่ยงเป็นหัตถกรรมชนิดหนึ่งที่ชาวเผ่ากะเหรี่ยงสร้างขึ้นมา เพื่อใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยใช้เส้นวัสดุ หรือจะต้องผ่านกระบวนการต่างๆจนทำให้เป็นเส้น และสามารถนำไปถักทอได้ ส่วนใหญ่ใช้วัสดุไม้ไผ่ และหวาย นำมาทำเป็นรูปภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ การจัก คือ การเอาไม้ไผ่ มาผ่าเอาผิวนอกและส่วนที่แข็ง เหลา ขูด ทำให้เป็นเส้นบางๆ อ่อน เหนี่ยว สามารถนำเอาไปใช้งานต่อไป การสาน คือ การนำเอาวัสดุที่ได้จากการแปรสภาพจากต้นไม้ไผ่ นำมาไขว้กัน ตามกระบวนการให้เกิดเป็นรูปร่างภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ สำหรับการจักสานของชนเผ่ากะเหรี่ยง อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่จะใช้ไม้ไผ่นำมาทำเป็นวัสดุในการจักสานเครื่องจักสานส่วนใหญ่เป็น 

๑.ใช้เป็นเครื่องมือในการทำนา ได้แก่ พ้อม (ภาชนะสำหรับใส่ข้าวเปลือก) 

๒.ใช้เป็นเครื่องมือในการจับปลา และสัตว์ป่า ซึ่งส่วนใหญ่จำทำไว้ใช้เอง เช่น ข้อง สุ่ม กระด้ง แร้ว ลอบ ไซ 

๓.ใช้เป็นเครื่องใช้ภายในบ้าน ได้แก่ กระบุง กระจาด กระด้ง ตะกร้า ตะแกรง พัด ฯลฯ 

ข้อมูลเนื้อหา โดย สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

เรียบเรียงเนื้อหา โดย นางฐิรกานดา  จินาเดช

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางฐิรกานดา  จินาเดช

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด  30 พฤษภาคม 2567