หน่วยที่ 1 เรื่องทรัพยากรดอกหญ้าในท้องถิ่น

ไม้กวาดดอกหญ้า เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดที่จำเป็นมากในทุกครัวเรือน โดยมักพบใช้มากกว่า 1 ด้าม ในแต่ละครัวเรือน ทั้งนี้ ไม้กวาดดอกหญ้าจะทำได้จากช่อดอกหญ้าตองกง หรือที่เรียก หญ้าไม้กวาด รวมถึงหญ้าชนิดอื่น เช่น อ้อ และแขมหรือแขมใหญ่ ด้วยการนำช่อดอกมาตากให้แห้ง พร้อมสลัดดอกให้ร่วงหมดด้วยเครื่อง ก่อนนำมามัดร้อยให้เป็นผืน และถักติดกับด้ามไม้ไผ่

ตองกง หรือ หญ้าไม้กวาด
• วงศ์ : Gramineae
• ชื่อสามัญ : Bamboo grass
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Thysanoleana maxima Kuntze
ภาคกลาง : หญ้าไม้กวาด
ภาคอีสาน : หญ้ากาบไผ่ใหญ่ (เลย)
ภาคเหนือ : ตองกง , ก๋ง , เค้ยหลา (กะเหรี่ยง- แม่ฮ่องสอน) , เลาแล้ง (สุโขทัย)
ภาคใต้ : หญ้าไม้กวาด , หญ้ายูง (ยะลา)
• ถิ่นกำเนิด : ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไท

การแพร่กระจาย
ตองกง/หญ้าไม้กวาด พบได้ทั่วไปในพื้นที่ที่มีความสูง ตั้งแต่ 45 – 1,058 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ทั้งพบตามเนินเขา ริมแม่น้ำลำธาร เช่น จังหวัดสตูล เพชรบูรณ์ เลย แม่ฮ่องสอน เชียงราย และเชียใหม่ เป็นต้น ทั้งนี้ จะพบแพร่กระจายมากในภาคเหนือ และภาคอีสาน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น : ต้นตองกง/หญ้าไม้กวาด จัดเป็นพืชล้มลุกตระกูลหญ้าที่มีลำต้นตั้งตรง ลำต้นแตกกอคล้ายกอไผ่ ลำต้น
มีลักษณะทรงงกลม แบ่งเป็นข้อปล้องชัดเจน มีความสูงของลำต้นประมาณ 3 – 4 เมตร ขนาดลำต้นประมาณ 7.5 – 18 มิลลิเมตร

ใบ : ต้นตองกง/หญ้าไม้กวาด จัดเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว แทงใบออกใบเดี่ยวบริเวณข้อลำต้น มีกาบใ
สีเขียวอมขาว ยาวประมาณ 7.5 – 22 เซนติเมตร มีลิ้นใบเป็นแผ่นบางๆสีน้ำตาลอ่อนบริเวณโคนแผ่นใบ ส่วนใบมีลักษณะรูปหอก ลำใบเรียวยาว ยาวประมาณ 40 – 80 เซนติเมตร กว้างประมาณ 4.5-9 เซนติเมตร ส่วนแผ่นใบสีเขียวอ่อน แผ่นใบทั้งด้านบน และด้านล่างมีขนปกคลุม ส่วนขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม

ดอก : ต้นตองกง/หญ้าไม้กวาด ออกดอกเป็นช่อแขนงบริเวณปลายยอดของลำต้น ช่อดอกมีขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 70 – 115 เซนติเมตร ก้านช่อดอกมีขนอ่อนปกคลุม แต่ละช่อแขนงมีดอกย่อยจำนวนมาก แบ่งเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละ 2 ดอก โดยดอกล่างสุดจะเป็นเยื่อบางๆ และดอกเป็นหมัน ส่วนดอกด้านบนเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ซึ่งจะเติบโตติดเป็นเมล็ดต่อไป

ผล และเมล็ด : เมล็ดต้นตองกง/หญ้าไม้กวาด มีขนาดเล็ก มีรูปร่างคล้ายกับเมล็ดธัญพืชทั่วไป เมื่อลำต้นแก่ เมล็ดก็จะเริ่มร่วงในช่วงฤดูแล้ง
พันธุ์ตองกง/หญ้าไม้กวาด
1. พันธุ์ดอกใหญ่ เป็นพันธุ์ที่พบมาก และมีการส่งเสริมการปลูกมาก มีลักษณะเด่น คือ มีก้านช่อดอกใหญ่ และยาว ก้านช่อดอกเมื่อตากแห้งจะมีความแข็งแรง ซึ่งจัดเป็นพันธุ์ที่นิยมใช้ทำไม้กวาดดอกหญ้ามากที่สุด
2. พันธุ์ดอกเล็ก เป็นพันธุ์ที่ไม่นิยมใช้ทำไม้กวาดดอกหญ้า เนื่องจาก ก้านช่อดอกเล็ก และสั้น เปราะหักง่าย
3. พันธุ์ไต้หวัน และพันธุ์ญี่ปุ่น เป็นพันธุ์หญ้าไม้กวาดที่บริษัทส่งออกไม้กวาดนำเข้ามาจากไต้หวัน และญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมให้มีการปลูกในกลุ่มของเกษตรกร และบริษัทรับซื้อก้านช่อดอก ก่อนนำมาแปรรูปเป็นไม้กวาดดอกหญ้าส่งออกต่างประเทศ โดยมีพื้นที่ปลูกในจังหวัดต่างๆ ได้แก่
– เชียงราย
– นครราชสีมา
– เพชรบูรณ์
– ระยอง
– เพชรบุรี