ภูมิปัญญาท้องถิ่น

นายสองเมือง พันธุรัตน์ เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้กับประชาชน ด้านดนตรีไทย และเป็นภาคีเครือข่ายของ กศน.อำเภอแสวงหา สำนักงาน กศน.จังหวัดอ่างทอง

ประวัติส่วนตัว

นายสองเมือง พันธุรัตน์

เกิดวันที่ ๑๒ เดือนพฤษภาคม พ.ศ.25๑๒ อายุ ๕๓ ปี

ที่อยู่ : บ้านเลขที่ ๙๔ หมู่ ๔ ตำบลแสวงหา อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง

อาชีพ : ครูสอนดนตรีไทย

เบอร์โทร : ๐๘๗ - ๗๖๘ - ๒๖๕๔

ประวัติความเป็นมา

นายสองเมือง พันธุรัตน์ ได้เริ่มเรียนดนตรีไทยตั้งแต่อายุ ๑๐ ปี เครื่องดนตรีที่เริ่มฝึกหัด คือ ฆ้องวงใหญ่ โดยมีครูผู้ฝึกสอนคนแรกที่วางพื้นฐานให้ คือ ครูส้มเช้า สารีผล (หัวหน้าส้มเช้ามิตรสัมพันธ์) และได้เรียนดนตรีเพิ่มเติมกับครูอาวุโสอีกหลายท่าน นายสองเมืองมีความชำนาญในการเล่นดนตรีไทย และได้รับความไว้วางใจให้บรรเลงดนตรี ครั้งแรก คือ งานบวชนาคที่วัดทุ่งแฝก อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ครั้นพออายุได้ประมาณ ๒๐ ปี ได้อุปสมบทที่วัดแสวงหา ตำบลแสวงหา อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง และอยู่เพศบรรพชิตเป็นเวลา ๕ พรรษา ซึ่งในช่วงระหว่างพรรษาที่ ๒ ยาเสพติดระบาดมากในหมู่วัยรุ่น และเด็ก ๆ นายสองเมือง จึงมีแนวคิดที่จะช่วยเด็ก ๆ ให้พ้นจากยาเสพติด จึงได้ขออนุญาตจากพระอุปัชฌาย์ เพื่อสอนดนตรีไทย เพราะมีความรู้ความสามารถที่จะถ่ายทอดให้กับเด็ก ๆ ได้ เนื่องจากวัดแสวงหานั้นมีเครื่องปี่พาทย์ไทย และปี่พาทย์มอญ ทั้งนี้เป็นการช่วยให้เด็ก ๆ ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ตลอดจนเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยอีกด้วย โดยใช้สถานที่ของหอสวดมนต์ และใช้ชื่อคณะว่า “ศิษย์ปัญญา” ทั้งนี้ นายสองเมือง ยังได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรเผยแพร่ความรู้ด้านดนตรีไทยในสถานศึกษาหลาย ๆ แห่ง เช่น โรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี วิทยาเขตบางระจัน โรงเรียนบ้านหนองรี เป็นต้น และจากนั้น จึงได้เป็นที่รู้จักในนาม อาจารย์สองเมือง

องค์ความรู้ / การถ่ายทอดความรู้

อาจารย์สองเมือง มีการถ่ายทอดความรู้ด้านดนตรีไทย ตั้งแต่การฝึกทักษะเบื้องต้นตามลำดับ ได้แก่ ท่านั่ง การจับไม้ การตี การตีคู่แปด การกรอระนาด จากนั้นจะเป็นการจดจำทำนองเพลง ซึ่งการจดจำทำนองเพลงเป็นไป ตามครูผู้สอน และร้องเป็นทำนอง “น้อย นอย” ไปตามเสียงของทำนองเพลง หรือที่บางคนเรียกว่า การนอยเพลง คือการออกเสียงตามลักษณะเสียงของเครื่องดนตรีนั้น ๆ และการฝึกต่อเพลง โดยเพลงที่อาจารย์สองเมือง กำหนด ได้แก่ เพลงแขกบรรเทศเถา ซึ่งจะต่อชั้นเดียวก่อน แล้วค่อย ๆ ต่อ จนครบเถา

เทคนิคในการต่อเพลงของอาจารย์สองเมืองให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในการเรียนการสอนดนตรีนั้น อาจารย์สองเมืองจะแบ่งนักเรียนที่มีความสามารถออกเป็น ๒ กลุ่ม โดยจะต่อเพลงกลุ่มละหนึ่งเพลง หลังจากนั้น อาจารย์สองเมืองจะให้นักเรียน ต่อเพลงสลับกัน วิธีนี้ทำให้นักเรียนต่อเพลงได้รวดเร็วขึ้น และสามารถช่วยให้แม่นเพลงขึ้นอีกด้วย

อาจารย์สองเมืองมีความพยายามในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง จนกระทั่งมีความรู้อยู่ในระดับ แนวหน้า ทั้ง ๆ ที่อายุยังน้อย “ฟังรู้ ดูออก บอกถูก ทำเป็น” เป็นคติที่อาจารย์สองเมืองยึดมั่นและปฏิบัติตามจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว อาจารย์สองเมืองกล่าวว่า “คนเรามีการเรียนรู้ตลอดเวลา และยิ่งได้สนทนากับผู้มีความรู้ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ฉลาดมากขึ้น” ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่ง ในการพัฒนาตนเองของอาจารย์สองเมือง

ความภาคภูมิใจ / รางวัลที่ได้รับ


๑. ได้รับยกย่องให้เป็นปราชญ์ชาวบ้านที่มีความชำนาญการด้านดนตรีไทย จากสภาวัฒนธรรม จังหวัดอ่างทอง เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๗

๒. ได้ร่วมสาธิตและบรรเลงดนตรีไทยงานนิทรรศการ ผลงานด้านวัฒนธรรมจังหวัดอ่างทอง ประจำปี ๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๗

๓. ได้ร่วมบรรเลงถวายมือ พิธีไหว้ครูดนตรีไทย นาฎศิลป์และศิลปะ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๗