แหล่งเรียนรู้

แหล่งเรียนรู้วัดหลวงพ่อพระเนาว์ ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม

หลวงพ่อพระเนาว์ เป็นพระพุทธรูปโบราณ ไม่ปรากฏใครเป็นผู้สร้างมานานเท่าไหร่ เป็นพระพุทธรูปที่มีอานุภาพมาก เป็นที่ที่เคารพสักการะบูชาของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะในเขตอำเภอศรีสงคราม และอ.นาทม อ.บ้านแพง จังหวัดนครพนม มาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว ขณะนี้ประดิษฐานอยู่ที่

วัดพระเนาว์ บ้านศรีเวินชัย ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม เป็นที่เลื่องลือกันอยู่เสมอว่า ถ้ามีเหตุติดขัด

มีปัญหาเกี่ยวกับชีวิตถ้ามีความเคารพ มีความเชื่อ ความเลื่อมใสในท่านแล้วเข้าไปกราบสักการะขอพรให้ช่วยเหลือ จะประสบผลสำเร็จในชีวิตทุกคน ทุกครั้งไป แต่ห้ามกระทำแบบท้าทายโดยเด็ดขาด นอกจากจะไม่สำเร็จผลอะไรแล้วยังเป็นภัยอันตรายแก่ตนเองด้วย พระเนาว์เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย นั่งขัดสมาธิราบ ศิลปะยุคล้านช้าง เนื้อหินทราย ต่อมาถูกหุ้มด้วยปูน และมีพระพุทธรูปคู่บารมีอีก 2 องค์ คือพระแก้ พระบาง ประดิษฐานอยู่ในสิมพระเนาว์มาตั้งแต่สมัยวัฒนธรรม ไตร-ลาว ราว พ.ศ. 2100-2200 เมื่อบูรณสิมในยุคแรก ประมาณ พ.ศ.2441 มีผู้พบเห็นดวงแก้ว หลายดวง หลายสี (ฉัพพรรณรังสี) เสด็จออกจากสิมพระเนาว์ไปทางลอยไปทางทิศใต้แล้วทิศเหนือ แล้วก็เสด็จกลับคืนเข้าไปในสิมอีกอยู่เสมอมิได้ขาดสาย เชื่อกันว่าเป็นการแสดงอภินิหารให้ปรากฏของ “พระบรมสารีริกธาตุ” และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่รักษา และนอกจากนั้นยังมีเทพเจ้าเฝ้ารักษามิให้ผู้ใดล่วงล้ำเข้าไปขุดค้นหาวัตถุโบราณในบริเวณนั้นได้ เพราะนอกจากจะไม่ได้อะไรแล้วยังเป็นภัยแก่ตนเองอีกด้วย

ประวัติเล่าต่อกันมา บริเวณ “ดงพระเนาว์” ที่ตั้งวัดพระเนาว์ในปัจจุบัน เป็นที่เคยเจริญรุ่งเรืองก่อนจะมีชาวบ้านเข้ามาพบ บางความเชื่อว่าเป็น”เมืองเก่า” ของเจ้าหัวเมือง แต่ไม่มีใครทราบสาเหตุของการปล่อยให้ร้างไป ชาวบ้านกลุ่มแรกที่เข้ามาคือคณะของ “นายนันทะ นะคะจัด” เป็นหัวหน้าทีมชวนกันย้ายบ้านเรือนมาสร้างที่อยู่อย่าง ถาวร รวม 30 ครอบครัว เข้ามาถากถางป่า เพื่อบุกเบิกเป็นที่ทำกัน เกิดความสงสัยว่าบริเวณกลางดง ทำไมจึงมีต้นผีเสื้อ(สาบเสือ)เกิดขึ้น จึงพากันบุกฝ่าเนินดินรูปทรงคล้ายสิ่งก่อสร้าง ทะลุถึงแม่น้ำสงคราม เจอซากปรักหักพัง มีก้อนอิฐขนาดเขื่อง กว้าง 12 ซม. ยาว 24 ซม. หนา 7 ซม. จึงขุดเพื่อค้นหาพบ“พระพุทธรูปทองคำ” หลายองค์ ลักษณะเหมือนพระในกรุ “วัดพระธาตุพนม” ซึ่งยังเหลือเป็นสมบัติของ อ.ศรีสงคราม อยู่ในขณะนี้ 3 องค์ นอกจากนี้ยังพบวัตถุโบราณบางส่วน ได้แก่ ระฆังทรงแบน หรือ ฆ้องลา หนัก 7 ช่าง 4 ฮ้อย ขณะนี้เก็บรักษาอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดนครพนม และไหใส่กระดูก– เศษไห – เศษหม้อดิน – กระบอกสูบยา อิฐ ที่ขุดพบตรงเนินดินนี้ทุกก้อนมีรูป “พระมันปู” แต่คอหัก ประกอบกับผู้ที่เข้าขุดค้น ซากปรักหักพังที่ดงพระเนาว์ ได้ล้มป่วยเสียชีวิต จึงเชื่อว่าตรงนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นเขตเคารพและหวงห้าม ไม่ให้ใครเข้าไปขุดค้น จึงเรียกพื้นที่ตรงนี้ว่า “ดงพระเนาว์” และตั้งชื่อหมู่บ้านนี้อย่างไม่เป็นทางการว่า “บ้านดงพระเนาว์” มาจากความเชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระเนาว์ และเคารพในสถานที่จึงร่วมกันบูรณะวัดพระเนาว์ขึ้นมาอีก ความเชื่อและเรื่องเล่า ความเชื่อที่ 1 พระเนาว์เป็นพระพุทธรูปหินทราย แสดงอภินิหารด้วยการลอยเหนือผิวน้ำ จากทางเหนือลำน้ำสงคราม องค์พระเป็นหินทรายที่แตกหัก พอไหลมาถึงบริเวณ “ท่าพระเนาว์”ในปัจจุบันไม่ยอมไหลไปทางอื่น แต่กลับไหลวนตามวังเวินน้ำ ชาวบ้านจึงนิมนต์อัญเชิญขึ้นมาประดิษฐาน ณ บริเวณวัดพระเนาว์ สร้างแท่นบูชาอย่างง่าย ด้วยเสา 4 เสา และกราบไหว้ศรัทธากันต่อ ๆ มา ความเชื่อที่ 2 พระเนาว์เป็นพระภิกษุ มรณภาพลอยตามลำน้ำสงครามมา ส่งกลิ่นเหม็นเน่าคลุ้งทั่วบริเวณ โดยที่ริมฝีปากพระภิกษุ “อ้า” ขึ้น จึงเรียกบริเวณนั้นว่า “ปากอ้า” แต่เพี้ยนมาเป็น “ปากอา” ในปัจจุบัน ศพพระรูปนี้ลอยพ้นจากปากอา มาถึงท่าวัดพระเนาว์ ก็ไม่ยอมไหลไปที่อื่นจนชาวบ้านทนกลิ่นเน่าเหม็นไม่ไหว จึงชวนกันไปใช้ไม้ดันให้ไหลไปตามน้ำ แต่ศพพระก็ยังลอยวนกลับมาที่เดิม จึงใช้เรือลากเอาศพออกไปให้พ้นจากหมู่บ้าน แต่รุ่งขึ้นวันใหม่ก็ยังพบศพพระภิกษุที่เน่าอยู่บริเวณเดิม และยังส่งกลิ่นเหม็นกว่าเก่า ชาวบ้านจึงเชื่อว่า ท่านคงมีความต้องการที่จะอย่างที่นี่ จึงได้แต่งขันธ์ 5 รับและนิมนต์ ศพพระเน่า ขึ้นมาประกอบพิธีฌาปนกิจ พร้อมสร้างพระพุทธรูปขึ้นทดแทนตรงที่เผาศพ และเรียกชื่อ พระเนาว์ ในเบื้องต้น ภายหลังเปลี่ยนชื่อมาเรียกว่า พระเนาว์ แปลว่า “พระผู้มาอยู่” นั่นเอง ความเชื่อที่ 3 พระเนาว์ คือ เจ้าผู้ครองหัวเมือง ของ อนาจักรศรีโคตรบูร ชื่อ เจ้าพระเนาว์ ปกครองอาณาบริเวณแห่งนี้ ทรงโปรดปรานการรบ การศึก เสียงพลุ เสียงปืน และความบันเทิงต่าง ๆ จะเห็นได้จากการมีคนไปบนบาน ด้วยพลุ และมหรสพคบงัน เช่น ภาพยนตร์ เป็นต้น มักจะประสบความสำเร็จดั่งใจเสมอ ผู้ที่บนบานส่วนมากจะฝันเห็น ชายรูปร่างสูงใหญ่ กำยำ ใส่ผ้าเบี่ยง (สไบ) ขี่ม้าขาว มือถือดาบ ดังนั้นการบูชา แก้บน องค์พระเนาว์เป็นลักษณะการบูชาเทพ ไม่ใช่ การบูชาผี กล่าวคือให้บนด้วย ภาหวาน (ภาชนะที่ใส่อาหารหวาน) ดอกไม้ ธูป เทียน ห้ามของคาวเด็ดขาด จึงมีชาวบ้านถือปฏิบัติสืบต่อกันมา เรื่องทำภาหวาน คือ การนำข้าวเหนียว มาคลุกกับน้ำอ้อยหรือน้ำตาล แล้วปั้นเป็นก้อนเล็กๆ วางบนภาชนะที่เตรียมไว้ นำไปถวายท่านในสิมที่ประดิษฐาน แม้จะมีความเชื่อขององค์พระที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ การมีความเคารพศัทธา ในอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของท่าน ทุกวันพระ 8 ค่ำ และ 15 ค่ำ จะปรากฏแก้วเสด็จเป็นดวงไฟ สีเขียวส่องแสงสว่างเจิดจ้า ลอยเวียนวนรอบ ๆ วัดพระเนาว์

ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ขององค์พระเนาว์ และในเวลาเย็นจะเห็นผู้คนทุกเพศทุกวัยนำดอกไม้ ธูป เทียน เข้าไปจุดบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล ในช่วงสงกรานต์ ประมาณ 15 วันชาวบ้านจะอัญเชิญท่านลงจากสิมเพื่อสรงน้ำ และให้ประชาชนมาเคารพบูชากราบไหว้ขอพร