อาชีพท้องถิ่น

อาชีพท้องถิ่น

แหล่งปลาร้าชั้นยอด ลุ่มน้ำสงคราม บ้านปากยาม ศรีสงคราม นครพนม

ทุกยาม ไม่เว้นแม้แต่ฤดูแล้ง ลุ่มน้ำสงครามยังคงคราคร่ำไปด้วยชาวประมง ชาวประมงที่เป็นการทำประมงน้ำจืดในลุ่มน้ำสงคราม สายน้ำที่ไม่เคยเหือดแห้ง หากไม่ทราบอาจจะเข้าใจได้ว่า ลุ่มน้ำสงครามเป็นส่วนหนึ่งของลำน้ำที่แยกมาจากแม่น้ำโขง แต่เปล่าเลย ลุ่มน้ำสงครามเป็นสายน้ำที่อยู่สูงกว่าแม่น้ำโขง ทำให้น้ำในลุ่มน้ำสงครามต่างหากที่จะไหลออกสู่แม่น้ำโขงตามเส้นทางเชื่อมโยง แต่เหตุผลที่ลุ่มน้ำสงครามยังคงมีน้ำหล่อเลี้ยงตลอดปี เพราะมีแหล่งน้ำดีที่ให้น้ำอย่างต่อเนื่องจากเทือกเขาภูพาน ทำให้ชาวบ้านปากยาม ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ซึ่งมีถิ่นที่อยู่อาศัยในลุ่มน้ำสงครามแห่งนี้ มีอาชีพหลักคือการประมง มากกว่าการทำไร่ ทำนา เฉกเช่นเกษตรกรอื่น

การจับปลาในลุ่มน้ำสงคราม ใช้อุปกรณ์จับปลาไม่หลากหลาย มีเพียงไม่กี่ชนิด ได้แก่ มอง โต่ง ลอบ และโทงเทง ซึ่งหากเป็นเครื่องมือจับปลาแบบสาน ก็เป็นฝีมือของชาวบ้านสานกันเอง ไม่เสียเงินซื้อแม้แต่ชิ้นเดียวเท่าที่ทราบ บ้านปากยาม มีกลุ่มทำปลาร้าที่ขึ้นชื่อที่สุดของจังหวัดนครพนม คือ กลุ่มของกลุ่มแม่สุกัลยา ชนะมาร ที่ก่อนหน้านำปลาที่เหลือจากการขายมาหมักเป็นปลาร้าไว้กินในครัวเรือน เมื่อมีมากเข้าก็แปรรูปจากปลาร้าหมักเป็นแจ่วบอง หรือ น้ำพริกอีสาน ซึ่งคนภาคอื่นจะรู้จักในชื่อของน้ำพริกปลาร้าสับ มีปลาร้าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ มีส่วนผสมอื่น เช่น พริก หอมแดง กระเทียม และเครื่องปรุงรส

แม้ระยะเวลาผ่านมาถึง 30 ปีแล้ว ความนิยมในปลาร้าและแจ่วบองของกลุ่มแม่บ้านแปรรูปอาหารจากปลายังคงมีอยู่เหมือนเดิม แต่ตลาดการขายปลาร้าและแจ่วบองไม่ได้กว้างออกไปกว่าเดิม ยังคงวนเวียนอยู่บริเวณลุ่มน้ำสงคราม ตลาดในอำเภอศรีสงคราม และตลาดในเมืองสกลนคร ปลาร้าปากยาม วิถีที่มีชีวิตของลุ่มน้ำสงคราม อาจยังต่อลมหายใจต่อไปได้อีกนาน ถ้ากระแสความต้องการจากผู้บริโภคยังคงอยู่ ผู้สนใจติดต่อได้ที่ แม่สุกัลยา ชนะมาร ประธานกลุ่มแม่บ้านแปรรูปอาหารจากปลา หมู่ 4 บ้านปากยาม ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม โทรศัพท์ 085-752-8554