ข่าวประชาสัมพันธ์

ข่าวประชาสัมพันธ์ ศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์ และสาธารณสุขจังหวัดระนอง


ร่วมการประชุมหารือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการแผนงาน บทบาทหน้าที่ ครั้งที่ 2

วันที่ 19 มกราคม 2563 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนอง โดย นายแพทย์นรเทพ อัศวพัชระ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระนอง ได้เข้าร่วมการประชุมหารือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการ แผนงาน บทบาทหน้าที่ ครั้งที่ 2 เพื่อการป้องกัน การสกัดกั้น การอพยพและหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ณ ห้องประชุมโกมาซุม ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดระนอง โดยได้กล่าวถึงการดำเนินการ ขับเคลื่อน“ระนองโมเดล” การจัดอบรบพัฒนา อสต.ในชุมชน อสต.ในโรงงาน อสต.น้อยในศูนย์พัฒนาฯ และการรายงานผู้เดินทางเข้าจังหวัดระนอง กรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) ละลอกใหม่ โดยมีผู้ลงทะเบียน โดยการสแกนคิดอาโค้ด “ระนองชนะ” จำนวนทั้งสิ้น 6,460 ราย รวมถึงแจ้งสถานการณ์ผู้เข้ารับการกักตัว Local State Quarantine ณ ปัจจุบันมีผู้เข้ารับการกักตัว จำนวน 12 ราย


สาธารณสุขจังหวัดระนอง ชี้แจงประเด็น สถานกักกันตัว Local Quarantine (LQ) ของจังหวัดระนอง (แจงเหตุสถานที่เก่า-นอน2คนต่อห้อง-สาธารณูปโภคต่างๆ)

1.ประเด็นสถานที่ไม่เหมาะสมสภาพรกร้าง อาคารสกปรก มีเชื้อรา

- เนื่องจากสถานที่กักตัวแห่งนี้ คือ โรงแรมจันทร์สมธารา เป็นสถานที่ที่ทางจังหวัดระนองใช้เป็นสถานที่กักตัวบุคคลมาเป็นระยะเวลา 1 ปี รองรับผู้ถูกกักตัวได้ทั้งสิ้น 25 คน โดยเงื่อนไขที่ต้องเข้าสู่สถานที่กักตัว มีดังนี้

1.คนไทยที่เดินทางมาจากประเทศเมียนมา ผ่านเส้นทางตรวจคนเข้าเมืองสะพานปลา

2.ชาวเมียนมาที่เข้ามาในพื้นที่ จ.ระนอง

3.ผู้ที่เดินทางมาทางเรือ ทำกิจการประมง แท่นขุดเจาะน้ำมัน เรือขนส่งสินค้า

4.คนไทยที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง และผ่านการคัดกรองจากเจ้าหน้าที่เห็นควรส่งมากักตัว

โรงแรมจันทร์สมธารา ปัจจุบันผู้ประกอบการโรงแรมได้หยุดกิจการชั่วคราว และเอื้อเฟื้อสถานที่ให้กับหน่วยงานของรัฐใช้เป็นสถานที่กักกัน

- สภาพโครงสร้างมีความแข็งแรง แต่ขาดการบำรุงรักษาจึงมีสภาพเก่า มีการกำหนดพื้นที่รองรับผู้เข้าพักที่ต้องกักกันตนเองชัดเจน และไม่ให้ผู้กักกันใช้พื้นที่ส่วนกลางอื่น ๆ

- มีห้องน้ำในตัว มีอุปกรณ์ทำความสะอาดภายในห้องพัก ให้ผู้ถูกกักกันทำความสะอาดด้วยตนเอง

- การฆ่าเชื้อทำความสะอาดห้องพักและอุปกรณ์ เมื่อผู้ถูกกักกันย้ายออกจะมีเจ้าหน้าที่สวมชุด PPE เข้าทำความสะอาด โดยเจ้าหน้าที่ชุดแรกเข้าเก็บปลอก หมอนผ้าปูที่นอน และใช้นำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดภายในห้อง หลังจากนั้น 2 วันจะมีแม่บ้านเข้าทำความสะอาดตามแนวทางที่กำหนดอีกครั้ง อุปกรณ์เครื่องนอนมีการส่งซักฆ่าเชื้อ ตามมาตรฐานของกรมอนามัย

-มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่จำเป็น ได้แก่ เตียง ที่นอน ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว 2 ผืน พัดลม อุปกรณ์ของส่วนตัว (ผ้าเช็ดตัว 2 ผืน เปลี่ยนใหม่ทุกครั้งที่มีผู้เข้าพัก) มีหน้ากากอนามัยให้เปลี่ยนทุกวัน เจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือไว้ประจำห้อง

-มีอาหารให้ 3 มื้อ พร้อมน้ำดื่ม พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกโดยให้เบอร์โทรติดต่อสำหรับสั่งอาหารออนไลน์ Grab Food และจนท.นำอาหารไปส่งให้ที่ห้อง

2. ประเด็นกักตัวรวมกัน 2 คน ต่อ 1 ห้อง

- เนื่องจากจำนวนห้องพักมีจำกัด มีการพิจารณาให้พักร่วมกัน กรณีที่มาจากสถานที่เดียวกัน เคยพักอาศัยอยู่ด้วยกันมาก่อน โดยให้ผู้ถูกกักตัวเป็นผู้พิจารณาเลือกคู่พักเอง

3. ประเด็นการขับถ่ายปัสสาวะ ไม่มีน้ำในห้องน้ำ อสม.แนะนำให้ขับถ่ายริมระเบียง

- ในวันที่ผู้เผยแพร่คลิปเข้าสู่สถานที่กักตัว มีการขัดข้องเรื่องการจ่ายไฟฟ้า ทำให้ไฟดับบริเวณโรงแรมจันทร์สมธาราและบริเวณข้างเคียง ซึ่งช่างไฟฟ้าแก้ไขเสร็จสิ้นเวลาประมาณ 23.00 น. ระหว่างรอไฟฟ้า จนท.ได้นำเทียนไข และไฟฉายมาให้ใช้ชั่วคราว กรณีน้ำไม่ไหล ได้ขอรับสนับสนุนน้ำใช้จากเทศบาลเมืองจัดส่งให้ใช้ชั่วคราว โดยเจ้าหน้าที่บริการส่งน้ำให้ถึงห้องพักทุกห้องเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

- ทางสถานที่กักกันมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอยู่ประจำทุกวันในเวลากลางวัน 2 คน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.00 น. ทำหน้าที่ตรวจติดตามอาการผิดปกติและตรวจวัดอุณหภูมิในทุก ๆ วัน ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพ มีเจ้าหน้าที่ให้การช่วยเหลือผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บที่มีระดับความรุนแรงไม่มาก และประสานการส่งต่อกรณีมีภาวะเจ็บป่วยที่มีความรุนแรง ส่วนเวรบ่าย-ดึก จะเป็นเจ้าหน้าที่จากทางปกครองมาดูแลเรื่องความปลอดภัย ทางจังหวัดไม่ได้จัดให้มี อสม.มาดูแลบุคคลที่สถานกักกันนี้ ส่วนเรื่องคำแนะนำให้ขับถ่ายริมระเบียงน่าจะเป็นความเข้าใจผิดเรื่องการสื่อสาร เพราะทางสถานที่กักมีห้องน้ำในห้องพักอยู่แล้ว



จังหวัดระนอง ชู "Ranong Model " ขับเคลื่อนพัฒนา อาสาสมัครต่างด้าว (อสต.) 3 ประเภท และเปิดศูนย์ประสานงานสาธารณสุขในชุมชนแรงงานข้ามชาติ 24 แห่ง

วันนี้(15 ม.ค.64) จังหวัดระนอง โดย ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนอง กอ.รมน.จังหวัดระนอง แรงงานจังหวัดระนอง มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยจังหวัดระนอง ร่วมขับเคลื่อน “ระนองโมเดล” โดยการจัดอบรบพัฒนา อสต.ในชุมชน อสต.ในโรงงาน อสต.น้อยในศูนย์พัฒนาฯ เพื่อให้ อสต. ได้รับความรู้เรื่องการป้องกัน COVID -19 การใช้แอปพลิเคชั่นไทยชนะ แอพพลิเคชั่นหมอชนะ และเปิดศูนย์ประสานงานสาธารณสุขในชุมชนแรงงานข้ามชาติ 24 แห่ง พร้อมมอบ เครื่องเทอร์โมสแกนไว้ใช้คัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงในชุมชน และสร้างการรับรู้ในการป้องกัน COVID -19 ในชุมชนต่างด้าว

จังหวัดระนองจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างการรับรู้ตามมาตรการการป้องกันควบคุม

โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19)ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ณ ท่าเทียบเรือสะพานปลา

วันนี้(14 ม.ค.64) ที่ท่าเทียบเรือประมงระนอง องค์การสะพานปลา ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง นายสมเกียรติ ศรีษะเนตร ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง พร้อมด้วยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนอง สำนักงานแรงงานจังหวัดระนองและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ศรชล.ภาค​3​ จังหวัดระนอง​ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เทศบาลตำบลปากน้ำและภาคเอกชน ร่วมกันรณรงค์สร้างการรับรู้การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด -19 อย่างต่อเนื่องโดยใช้วิธีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ โปสเตอร์ภาษาเมียนมาร์ แจกแผ่นพับ ใบปลิว ให้กับแรงงานต่างด้าว เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และรณรงค์ให้แรงงานต่างด้าวในชุมชน ปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด พร้อมเน้นย้ำการสวมใส่หน้ากากอนามัยเวลาออกนอกเคหะสถาน การล้างมือบ่อยๆ มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมหรือ social distancing

Amazing Thailand Safety and Health Administration (SHA)

ขอให้ประชาชนชาวจังหวัดระนองอย่าตื่นตระหนกกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

เนื่องจาก ร้านอาหารคุ้นลิ้น และโรงแรมฟาร์มเฮ้าส์ ได้ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย

ด้านสุขอนามัย Amazing Thailand Safety and Health Administration (SHA)

ซึ่งเป็นมาตรการความปลอดภัยด้านสาธารณสุขผนวกกับมาตรฐานการให้บริการ

ที่มีคุณภาพของสถานประกอบการ กำหนดโดยกระทรวงสาธาณสุขและกระทรวงการท่องเที่ยว

และกีฬา เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัส COVID-19

และยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวของไทย