รีวิวเกม Sekiro: Shadow Die Twice

Sekiro : Shadows Die Twice คือเกมใหม่ล่าสุดจากค่าย From Software ภายใต้ฝีมือการกำกับของ Hidetaka Miyazaki อดีตพนักงานบัญชีผู้ผันตัวมาพัฒนาเกมและให้กำเนิดซีรี่ส์โซลขึ้นมาจนแทบจะบัญญัติเป็นแนวเกมแบบใหม่ไปเลยทีเดียว ซึ่ง Sekiro นี้เดิมทีถูกพัฒนามาให้เป็นภาคต่อของ Tenchu ซีรี่ส์เกมแนวลอบเร้นจากค่ายเดียวกันที่ไม่ได้มีภาคต่อมาตั้งแต่สมัยยุค PS2 แล้ว แต่ทำไปทำมาก็คลอดออกมาเป็น Sekiro เกมโซลลำดับที่ 6 จากผู้กำกับมิยาซากิไปแทน


เซคิโระนั้นเป็น Action RPG ที่แซมความเป็นเกมลอบเร้นมาด้วยนิดๆ โดยเราจะอยู่ในโลกที่ออกแนวกึ่งๆ Open World ที่พื้นแต่ละส่วนจะไม่ใช่พื้นที่กว้างๆแต่ก็ล้วนแล้วแต่เชื่อมต่อกันผ่านทางแยกทางลับต่างๆ ซึ่งหลายๆสถานที่ก็จะไม่ได้บังคับว่าจะไปได้ตอนไหน ทำให้ประสบการณ์การเล่นของหลายๆคนอาจไม่เหมือนกัน คนหนึ่งอาจสู้บอสตัวนั้นก่อน อีกคนอาจสู้บอสอีกตัวก่อน หรือเราอาจจบเกมโดยไม่ได้ไปเยือนบางพื้นที่เลยด้วยซ้ำก็ได้ ภายในโลกนี้เราก็จะมีจุดเซฟที่เป็นเสมือนแคมป์ของเราที่เรียกว่า เทวรูป (Sculpture) ไว้ให้เรากลับมานำค่าสกิล (Skill Point) ที่ได้จากการฆ่าฟันศัตรูมาปลดล็อคสกิลต่างๆ นำไอเทมมาอัพเกรดเพิ่มความยาวหลอดพลังชีวิตหรือพลังโจมตี ตลอดจนใช้วาร์ป (Fast Travel) ไปยังเทวรูปอื่นๆเพื่อความรวดเร็ว ถ้าใครที่เคยเล่น Dark Souls มาก่อนเทวรูปนี้ก็คือ Bonfire นี่เอง


บรรยากาศที่ Sekiro พยายามนำเสนอนั้นคือช่วงเวลาที่สงครามกำลังก่อตัวขึ้น เรื่องราวของเกมจะวนเวียนอยู่กับความรู้สึกของตัวละครและผู้คนต่อสงครามที่จะมาถึง ความเปราะบางของเมืองหรือแคว้นหนึ่งๆเมื่อต้องเผชิญหน้ากับพยันตรายที่กำลังคืบคลานเข้ามา บรรยากาสนี้นอกจากจะถูกสื่อออกมาผ่านเนื้อเรื่องหลักแล้ว ยังมีระบบการแอบฟัง npc หรือแม้แต่ศัตรูต่างๆขณะกำลังสนทนาที่นอกจากจะเป็นการบอกใบ้เกมเพลย์บางอย่างแล้ว ยังทำให้เราได้รับรู้ถึงความรู้สึกนึกคิดของพวกเขาเหล่านั้นต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ เมื่อรวมเข้ากับความยากของเกมที่ตอกย้ำผู้เล่นถึงความโหดร้ายและไร้ปราณีในช่วงเวลาแห่งสงครามแล้ว Sekiro จึงตีแผ่ความน่าอึดอัดของสงครามออกมาได้อย่างน่าอัศจรรย์

ระบบการต่อสู้เองก็สื่อสารความเป็นนินจาออกได้อย่างพอเหมาะพอดี การที่ตัวเกมไม่มีระบบพัฒนาตัวละครและพยายามให้เราใช้ประโยชน์จากระบบแพรี่อย่างเต็มที่นั้นก็เพื่อส่งเสริมลักษณะการต่อสู้ของนินจาที่ไม่ใช่การเอาพลังของตนเองเข้าว่า แต่เป็นการใช้พลังของศัตรูนั้นทำลายตัวมันเอง ระบบแขนกลนินจาและอุปกรณ์นินจาที่มีจุดประสงค์ของการใช้งานที่แตกต่างกันออกไปช่วยให้เราได้สนุกไปกับการเลือกใช้มันราวกับกำลังปฏิบัติภารกิจของนินจาอยู่จริงๆ

ระบบลอบเร้นของเกมก็รวดเร็วกระฉับกระเฉงในแบบที่นินจาควรจะเป็น จริงอยู่ว่ามันไม่ได้สมจริงมากโดยเฉพาะในแง่ของ A.I. ศัตรู แต่เพราะอย่างนั้นมันจึงเปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้สัมผัสการลอบฆ่าศัตรูที่รวดเร็วลื่นไหลไม่น่ารำคาญได้ ระบบต่างๆเหล่านี้แม้จะไม่สมบูรณ์แบบและมีข้อบกพร่องในเทคนิคอยู่บ้าง แต่มันก็สะท้อนได้ดีว่าทางทีมพัฒนานั้นผ่านการตกตะกอนมาอย่างดีแล้วว่า นี่คือการนำเสนอที่จะสื่อสารความเป็นนินจาในแบบของพวกเขาออกมาได้ดีที่สุด

สิ่งเดียวจริงๆที่อาจจะเป็นเรื่องน่ารำคาญนิดหน่อยสำหรับสายแฟชั่นก็คือการที่เราไม่สามารถตกแต่งตัวละครหรือเปลี่ยนสีเสื้อผ้าต่างๆได้ จริงอยู่ว่าส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะงานออกแบบต่างๆนั้นถูกทำออกมาในแบบที่ลงตัวและจบในตัวเองอยู่แล้ว แต่ในยุคที่ผู้เล่นส่วนใหญ่ต้องการสร้างความเป็นเอกลักษณ์ในการเล่นของตัวเอง การมีพื้นที่เล็กๆให้ผู้เล่นได้ออกแบบประสบการณ์ของตัวเองผ่านสีผ้าหน้าผมของตัวละครนั้นก็คงจะเป็นเรื่องดีไม่น้อย

Sekiro : Shadow Dies Twice เป็นทั้งเกม Action-RPG ที่ยอดเยี่ยมด้วยตัวมันเองและยังเป็นการดัดแปลงโครงสร้างของเกมตระกูลโซลให้มีความเป็นแอคชั่นมากขึ้นได้อย่างลงตัว แม้ความยากของเกมจะดูเป็นกำแพงที่สูงชันสำหรับบางคน และการเล่าเรื่องของเกมที่อาจจะไม่ได้น่าหลงใหลเท่ากับเกมตระกูลโซลอื่นๆ แต่เสียงของดาบที่กระทบกันจากการแพรี่นั้นจะก้องกังวานและทำให้คุณรู้สึกดีทุกครั้งที่ก้าวข้ามความยากลำบากมาได้ งานออกแบบฉากและโลกอันสวยงามแต่ก็เต็มไปอันตรายจะเย้ายวนให้คุณหยั่งเท้าไปเผชิญหน้ามันเสมอแม้ความตายจะอยู่ตรงหน้า และส่วนตัวผู้เขียนมองว่า นี่คือเกมที่พิสูจน์ว่าการสร้างเกมโลกเปิดนั้นไม่จำเป็นต้องเอาขนาดเข้าว่า มันสามารถเป็นฉากแคบๆหลายๆฉากที่ล้วนแล้วแต่มีเอกลักษณ์และความหมาย เชื่อมต่อเชื่อมโยงกันอย่างลื่นไหลและสมเหตุสมผล ที่ทำให้ผู้เล่นรู้สึกตื่นตาตื่นใจและอยากจะออกไปสำรวจมันมากยิ่งกว่าพื้นโล่งที่ไม่มีอะไรน่าสนใจ

หากไม่ใช่คนที่ไม่ชอบเกมยากหรือไม่มีเวลาเล่นเกมมากพอที่จะค่อยๆเล่นค่อยๆฝึกไปทีละนิดทีละหน่อยแล้วล่ะก็ Sekiro : Shadows Die Twice คือเกมระดับ Game of the Year ที่คุณไม่ควรพลาดอย่างแรงเลยล่ะ