ความเป็นมาของโครงการอนุรักพันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

                โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2536 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจ และทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย ก่อให้เกิดกิจกรรมเพื่อให้มีการร่วมคิด ร่วมปฏิบัติที่นำผลประโยชน์มาถึงประชาชนชาวไทย ตลอดจนให้มีการจัดทำระบบข้อมูลทรัพยากร ให้แพร่หลายสามารถสื่อถึงกันได้ทั่วประเทศ

               ทั้งนี้สืบเนื่อง มาจากสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่เมื่อครั้งปี พ.ศ. 2503 ที่ทรงมีพระราชดำริให้อนุรักษ์ต้นยางนา และทรงให้รวบรวมพืชพันธุ์ไม้ของภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศปลูกไว้ในสวนจิตรลดา โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ จึงเป็นโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อสนองแนวพระราชดำริ และสืบสานพระราชปณิธานแห่งพระองค์ โดยปรากฏในรูปแบบกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วยกิจกรรมปกปักทรัพยากรในพื้นที่ป่าธรรมชาติ การสำรวจรวบรวมทรัพยากรที่มีแนวโน้มว่าใกล้สูญพันธุ์ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม การนำทรัพยากรที่รวบรวมเพาะปลูก และรักษาในพื้นที่ที่เหมาะสมทางกายภาพ และปลอดภัยจากการรุกราน การอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์ทรัพยากร โครงการศึกษาประเมินทรัพยากรในด้านต่าง ๆ ให้ทราบองค์ประกอบ คุณสมบัติ และการใช้ประโยชน์พืชพรรณ การจัดทำระบบข้อมูลทรัพยากรด้วยคอมพิวเตอร์ การวางแผน และพัฒนาทรัพยากรระยะยาว 30 – 50 ปี และกิจกรรมการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ ทรัพยากรแก่กลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ได้แก่ เยาวชน บุคคลทั่วไป ให้มีความเข้าใจ ตระหนักในความสำคัญเกิดความปิติ และสำนึกที่จะร่วมมือร่วมใจกันอนุรักษ์ พืชพรรณของไทยให้คงอยู่เป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่าประจำชาติสืบไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ที่เกี่ยวกับ “ปัจจัยสี่” อันเป็นพื้นฐานหลักในการดำรงชีวิตของมนุษย์ จึงนับได้ว่าพันธุ์ไม้เหล่านี้มีความผูกพันกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยมาช้านานนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ประโยชน์ที่เคยได้รับจากพรรณพืชอาจแปรไปตามสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ความต้องการของสังคม และผู้บริโภค การสำรวจค้นคว้า และวิจัยตามหลักวิทยาการสมัยใหม่เกี่ยวกับพฤกษศาสตร์ ดังที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ดำเนินการอยู่ในขณะนี้จึงสามารถทำให้คนไทยได้ทราบถึงคุณประโยชน์ของพืชพรรณหลายชนิดซึ่งบางชนิดเป็นที่รู้จักแพร่หลาย มีการนำมาใช้ประโยชน์แต่ขาดการดูแลรักษา จนปริมาณลดลง และเกือบสูญพันธุ์จากถิ่นกำเนิดพืชบางชนิดมีมาช้านาน แต่มิได้เป็นที่ล่วงรู้ถึงคุณประโยชน์ จนอาจถูกละเลย หรือถูกทำลายไปอย่างน่าเสียดาย

                 ในปี พ.ศ. 2565 วิทยาลัยอาชีวศึกษาแพร่ ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก “สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน” หมายเลขสมาชิก   7-54000-023 และได้เริ่มดำเนินการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนในการขยายเครือข่ายครูและนักเรียนร่วมในโครงการในระดับหนึ่งแล้วเพื่อให้การดำเนินการตามพระราชดำริและส่งเสริมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางพันธุกรรมพืชที่สำคัญของประเทศวิทยาลัยเทคนิคแพร่จึงเห็นความสำคัญของการดำเนินงานตามกรอบกิจกรรมงานสวนพฤกษศาสตร์ที่ถูกต้องโดยเน้นการสร้างจิตสำนึกในการรักษาทรัพยากรในสถานศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับการจัดการเรียนรู้ งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ทั้ง 5 องค์ประกอบได้แก่ การจัดทำป้ายชื่อพรรณไม้ การรวบรวมพรรณไม้เข้าปลูกในโรงเรียน การศึกษาข้อมูลด้านต่าง ๆ การรายงานผลการเรียนรู้ และการนำไปใช้ประโยชน์ทางการศึกษา เพื่อให้เป็นไปตามรูปแบบงานสวนพฤกษศาสตร์ที่ถูกต้อง