หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 ทักษะในการป้องกัน ลดความขัดแย้ง และแก้ปัญหาเรื่องเพศและครอบครัว
สภาพปัญหาและสาเหตุความขัดแย้งเรื่องเพศ
เพศศึกษา
กระบวนการศึกษาเกี่ยวกับการเจริญเติบโต พัฒนาการ และบุคลิกภาพ รวมทั้งสุขปฏิบัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์เพื่อจะได้เรียนรู้ถึงธรรมชาติความเป็นจริงของชีวิต และสอนให้รู้จักบทบาท รวมถึงคุณค่าของความเป็นชายและหญิงในสังคมให้มีความรู้ความเข้าใจ เจตคติที่ดีในเรื่องธรรมชาติทางเพศ และพฤติกรรมทางเพศที่เหมาะสม
มุมมองต่อเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นชายและหญิง
ผู้หญิง
มองเพศสัมพันธ์ เป็นความรักใคร่และ การเอาใจใส่ดูแลบุคคลผู้เป็นที่รัก
ผู้ชาย
มองเพศสัมพันธ์ เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของ ความเป็นชาย
ดังนั้น ผู้หญิงจึงควรปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ เช่น การรักนวลสงวนตัว การไม่ชิงสุกก่อนห่าม การวางตัวให้เหมาะสมต่อเพศตรงข้าม เป็นต้น
สภาพปัญหาความขัดแย้งเรื่องเพศ
ปัญหาเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร
นับเป็นปัญหาความขัดแย้งเรื่องเพศอันดับ 1 ของเยาวชนไทยในปัจจุบัน เนื่องจากส่งผลกระทบต่อครอบครัว และต่อตนเอง เช่น ปัญหาการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ปัญหาการทำแท้ง เป็นต้น
ปัญหาการมีพฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสม
เช่น การนอกใจคู่ครอง การมีคู่ครองหลายคน การมีพฤติกรรมในการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่เป็นปกติ เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่ให้การยอมรับต่อพฤติกรรมดังกล่าว
ปัญหาการเบี่ยงเบนทางเพศ
เป็นปัญหาหนึ่งที่พบได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย โดยบุคคลอาจแสดงออกถึงพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม เช่น ผู้ที่มีพฤติกรรมเป็นเกย์ เลสเบี้ยน เป็นต้น ทำให้สังคมเกิดความรู้สึกถึงความไม่ถูกต้องตามบรรทัดฐานที่สังคมได้กำหนดไว้
ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ
เป็นรูปแบบการกระทำอนาจารต่อบุคคลอื่นทั้งหญิงและชาย โดยการเรียกร้องความพึงพอใจทั้งทางกายและวาจา เช่น การพูดจาแทะโลม การจ้องมองของสงวน การข่มขืน การกระทำอนาจาร เป็นต้น
สาเหตุความขัดแย้งเรื่องเพศ
ตัวบุคคล ขาดความรู้และทักษะชีวิตในเรื่องเพศศึกษา ส่งผลให้มีพฤติกรรมในเรื่องเพศไม่ถูกต้อง
อิทธิพลของฮอร์โมนเพศ ทำให้เกิดแรงขับทางเพศตามธรรมชาติ ซึ่งส่งผลให้ขาดความยับยั้งชั่งใจ เกิดความอยากรู้
อยากลองที่จะมีเพศสัมพันธ์
ด้านจิตสังคมที่เกี่ยวข้อง เช่น ความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองต่ำ อารมณ์ผูกพันต่อพ่อแม่ที่ไม่มั่นคง ซึ่งสัมพันธ์กับ
การเลี้ยงดูมาตั้งแต่ในวัยเด็ก เป็นต้น
ครอบครัว ลักษณะโครงสร้างทางครอบครัว เช่น ครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่เพียงคนเดียว การหย่าร้างของพ่อแม่ เป็นต้น
การทำหน้าที่ของครอบครัว เช่น พ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาให้กับลูกทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกลดน้อยลง
บางครอบครัวมีการติดตามดูแลมากเกินไปจนส่งผลให้เสียความเป็นตัวของตัวเอง
สังคม เพื่อน มีอิทธิพลมากที่สุด โดยวัยรุ่นจะมีพฤติกรรมเลียนแบบ หรือพยายามทำตามกลุ่มเพื่อนเพื่อให้เกิดการยอมรับ
จากเพื่อน
สื่อต่างๆ ที่มีเนื้อหา รูปภาพ เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ เว็บไซต์ คลิปวิดีโอ เกม ดีวีดี ทำให้วัยรุ่นที่
ขาดความรู้และความเข้าใจ หมกมุ่นอยู่กับการเสพสื่อเหล่านี้และมีพฤติกรรมเลียนแบบ จนไปสร้างปัญหาให้เกิดความ
ขัดแย้งในเรื่องเพศขึ้นได้
สภาพปัญหาและสาเหตุความขัดแย้งในครอบครัว
สภาพปัญหาความขัดแย้งภายในครอบครัว
…..ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสามีภรรยา
อาจเป็นความขัดแย้งที่เกิดจากการไม่ปรองดองกัน มีการทะเลาะวิวาทกัน ทำให้ทำลายสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวและส่งผลกระทบต่อลูกและสมาชิกทุกคนในครอบครัวด้วย
…..ปัญหาความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่กับลูก
เป็นความสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดความราบรื่นได้ค่อนข้างยาก เพราะวัยรุ่นมีความคิด ความอ่านเป็นตัวของตัวเอง ทำให้บางครั้งมักจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกับพ่อแม่ ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันซึ่งก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้น
…..ปัญหาความขัดแย้งระหว่างพี่น้อง
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นยังแสดงออกถึงความอิจฉาริษยา การแข่งขัน และการต่อสู้ระหว่างพี่น้องในครอบครัว โดยสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัยฃ
สาเหตุความขัดแย้งในครอบครัว
1.…..สาเหตุความขัดแย้งระหว่างสามีภรรยา
- นิสัยและความเคยชินส่วนตัวที่แตกต่างกัน
- ขาดความตระหนักในบทบาทและหน้าที่ของตน
- ไม่มีเวลาให้กันและกัน เนื่องมาจากต่างฝ่ายต่างก็มีภารกิจที่ต้องทำงาน
- ใช้ความรุนแรงตัดสินปัญหาในครอบครัว
2…..สาเหตุความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่กับลูก
- นิสัยจู้จี้จุกจิกขี้บ่นของพ่อแม่ อาจเป็นเหตุให้ลูกก้าวร้าวถกเถียง และเกิดความขัดแย้งกัน
- พ่อแม่คาดหวังกับลูกมากเกินไป ทำให้ลูกรู้สึกกดดัน เก็บกด
- พ่อแม่ห้ามลูกคบเพื่อนต่างเพศ ทำให้ลูกรู้สึกไม่พอใจ
- พ่อแม่ไม่ปล่อยให้ลูกคิดหรือตัดสินใจด้วยตนเอง ทำให้ลูกรู้สึกอึดอัด
3…..สาเหตุความขัดแย้งระหว่างพี่น้อง
- ความห่างระหว่างอายุ ย่อมมีแนวโน้มของการทะเลาะกันอยู่เสมอ
- ความลำเอียงหรือการเลือกที่รักมักที่ชัง บ่อยครั้งที่พ่อแม่บางท่านอาจชื่นชอบและชื่นชมลูกคนใดคนหนึ่งมากเป็นพิเศษในบางเรื่อง
- การหย่าร้างของพ่อแม่และความแตกแยกของครอบครัว อาจนำมาสู่ความขัดแย้งกันระหว่าง พี่กับน้อง
แนวทางในการเลือกใช้ทักษะต่างๆ ในการป้องกันลดความขัดแย้ง
ทักษะการสื่อสารและสร้างสัมพันธภาพ
•เป็นความสามารถในการติดต่อเพื่อมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น โดยใช้คำพูดที่ดี ใช้ภาษาท่าทางเพื่อแสดงออกถึงความรู้สึกและความคิดเห็นได้อย่างเหมาะสม โดยผู้ที่มีทักษะการสื่อสารและสร้างสัมพันธภาพที่ดี ควรมีความสามารถดังนี้
ความสามารถในการโน้มน้าวและจูงใจผู้อื่น
ความสามารถในการสื่อความที่ดี
ความสามารถในการสร้างความร่วมมือกับผู้อื่น
ความสามารถในการทำงานเป็นทีม
ความสามารถในการปรับตัวในสถานการณ์ต่างๆ
ทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
เป็นความสามารถในการใช้คำพูดและท่าทางเพื่อแสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดของตนเองได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ เช่น การแสดงความคิดเห็น การขอร้อง เป็นต้น
•การเป็นผู้สื่อสารที่ดี ต้องมีความสามารถในการเป็นผู้ถ่ายทอดที่ดี มีทักษะในการพูด เช่น พูดอย่างชัดถ้อยชัดคำ ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย พูดตรงประเด็น กระชับและได้ใจความ พูดมีจังหวะและมีน้ำเสียงที่เร้าใจ
•การเป็นผู้ฟังที่ดี ควรมีทักษะในการฟัง และกิริยาท่าทางในการแสดงออกที่เป็นการบ่งบอกว่ามีความสนใจในการฟัง เช่น ฟังอย่างตั้งใจและทบทวนสิ่งที่ฟัง หันหน้าไปทางผู้พูด และสบสายตากับผู้พูด ให้ความสนใจในการถามคำถามเพื่อต้องการความกระจ่างชัดเจน
ทักษะการสร้างสัมพันธภาพ
เป็นความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันและกัน และสามารถรักษาสัมพันธภาพไว้ได้ยืนยาว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันในครอบครัวและสังคมได้อย่างปกติสุข
•การเปิดเผยตนเอง
การเปิดเผยให้ผู้อื่นทราบถึงความรู้สึก หรือปฏิกิริยาที่ตนเองมีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งมีผลดีต่อการสร้างสัมพันธภาพที่ดีงาม
•ความไว้วางใจ
ตามมาจากการเปิดเผยความลับของตนเอง
•การสื่อสารความเข้าใจ
เป็นการแสดงออกที่สามารถสื่อสารให้ผู้อื่นเกิดความเข้าใจ และสามารถสานต่อเรื่องราวได้
ทักษะการต่อรอง
•เป็นเทคนิคหรือกลวิธีในการปกป้องสิทธิส่วนบุคคล เพื่อป้องกันการเกิดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อตนเองและผู้อื่นในด้านต่างๆ การต่อรองถือเป็นการรักษาสิทธิของตน เพื่อแสดงถึงความต้องการของตนเองอย่างตรงไปตรงมาในการทำความตกลงร่วมกับอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งอาจปฏิบัติตามแผนผังต่อไปนี้
เงื่อนไขเวลา เลือกเวลาที่เหมาะสม
สื่อสารให้ชัดเจน โดยบอกข้อเสนอที่จะเกิดผลดีต่อทั้งสองฝ่าย
มั่นคง แน่วแน่ ไม่เปลี่ยนใจ
ทำตามที่ได้ตัดสินใจแล้ว
การรู้จักฝึกปฏิบัติทักษะการต่อรองที่ถูกต้องและเหมาะสม จะสามารถป้องกัน ลดความขัดแย้ง และแก้ปัญหาเรื่องเพศและครอบครัวได้ โดยวิธีการสร้างทักษะการต่อรอง มีดังนี้
•ตั้งสติให้ดี เพราะการตั้งสติที่ดีจะช่วยทำให้สามารถแก้ปัญหาและลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้
•รับฟังข้อเสนออย่างตั้งใจ พร้อมทั้งหาคำตอบโดยการชั่งใจตนเองในประเด็นต่างๆ อย่างละเอียด รวดเร็ว
•ไม่แสดงการตอบรับหรือปฏิเสธโดยทันที ด้วยการแสดงกิริยา วาจา ท่าทาง ที่ทำให้อีกฝ่ายเกิดความรู้สึกในทางที่ไม่ดี
•พูดจาหรือแสดงท่าทางที่เป็นมิตร ด้วยการพูดจา การแสดงกิริยา ท่าทางสุภาพนุ่มนวล ใบหน้ายิ้มแย้ม แจ่มใส รู้จักใช้คำว่า “ ขอบคุณ ” เมื่อเขาแสดงไมตรีจิต ต่อเจตนาของเขาพร้อมทั้งปฏิเสธด้วยคำว่า “ขอโทษ” หรือ “เสียใจ” เพื่อรักษาสัมพันธภาพที่ดีต่อกันไว้
•รู้จักแสดงความรู้สึกของตนเองพร้อมประกอบเหตุผล ที่สามารถโต้แย้งได้มากกว่าการให้เหตุผลธรรมดา โดยแสดงถึงประเด็นข้อดี ข้อเสียที่จะเกิดขึ้นจากสถานการณ์นั้นๆ
•รู้จักเลือกกิจกรรมอื่นมาทดแทนหากต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาความขัดแย้ง
•รู้จักผัดผ่อนหรือหลีกเลี่ยงออกจากสถานการณ์ เช่น การหยุดกระทำสิ่งที่จะทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งต่างๆ การบอกปฏิเสธอย่างนุ่มนวล เป็นต้น
ทักษะการปฏิเสธ
•เป็นการสื่อสารด้วยการใช้คำพูด ท่าทาง เพื่อแสดงถึงความรู้สึกนึกคิดของตนเองที่ต้องการปฏิเสธอีกฝ่ายหนึ่ง
วิธีการปฏิเสธที่เหมาะสมควรปฏิบัติตาม
1.ปฏิเสธอย่างจริงจังทั้งท่าทาง คำพูด และน้ำเสียง เพื่อแสดงความตั้งใจอย่างชัดเจนที่จะขอปฏิเสธ
2.แสดงออกถึงความรู้สึกอย่างชัดเจนที่จะไม่ปฏิบัติตาม พร้อมทั้งให้เหตุผลของการปฏิเสธ
3.แสดงกิริยาท่าทาง ความรู้สึกที่ชัดเจนถึงการไม่ยอมรับการกระทำที่เกิดขึ้น โดยใช้คำพูดที่เป็นมิตร และมีการแสดงความขอบคุณเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งยอมรับ
4.ชวนทำกิจกรรมอื่นแทน โดยพยายามผัดผ่อนยืดระยะเวลาเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งเปลี่ยนใจ
5.มีสติ ยืนยันโดยการปฏิเสธซ้ำ และเลี่ยงจากสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งกันทันที
ทักษะการคิดวิเคราะห์
•กระบวนการคิดวิเคราะห์มักถูกนำมาใช้ในการแก้ปัญหาเสมอ โดยสามารถวิเคราะห์แยกแยะข้อมูลข่าวสาร ปัญหา และสถานการณ์ต่างๆ อย่างมีจุดหมาย
องค์ประกอบของการคิดวิเคราะห์ มีดังนี้
1.ความสามารถในการตีความ พยายามเข้าใจและใช้เหตุผลกับสิ่งที่ต้องการวิเคราะห์เพื่อแปลความหมาย โดยสามารถวิเคราะห์และระบุปัญหาได้
2.ความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่จะวิเคราะห์ โดยอาศัยประสบการณ์และค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม
3.ความช่างสังเกต สงสัย และชอบซักถาม ช่วยให้ได้ข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์รวมทั้งสามารถจำแนก เลือกข้อมูล และสรุปผลได้
4.ความสามารถในการหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผล มีการแจกแจง จัดระบบข้อมูลที่มีอยู่เพื่อให้เห็นภาพรวม มีการตั้งสมมติฐาน วิเคราะห์หาเหตุผล โดยเชื่อมโยงสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อค้นหาความจริง มีข้อมูลอ้างอิงหรือตัดสินใจสรุปผลได้
การพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ จะใช้แผนผังกราฟิก (Graphic) ช่วยในการจัดระบบความคิด
แผนผังแบบแผนที่ความคิดรวบยอด (Concept Map)
•แผนผังความคิดรวบยอดหรือผังมโนทัศน์ (Concept Map)
ใช้แสดงความสัมพันธ์ของเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างมีระบบ และเป็นลำดับขั้นตอน โดยอาศัยคำหรือข้อความเป็นตัวเชื่อมให้ความสัมพันธ์ของมโนทัศน์ต่างๆ เป็นไปอย่างมีความหมาย ซึ่งอาจ จะมีทิศทางเดียวสองทิศทาง หรือมากกว่าก็ได้
•แผนผังความคิด (Mind Map)
ใช้แสดงการเชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งระหว่างความคิดหลัก ความคิดรอง และความคิดย่อยที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน โดยการใช้ภาพ สี เส้น และการโยงใย แทนการจดย่อ แบบเดิมที่เป็นบรรทัด
แผนภูมิก้างปลา (Fishbone Diagram)
เป็นแผนภูมิที่ใช้วิเคราะห์หาสาเหตุและผลกระทบของปัญหา
แผนภาพแสดงความสัมพันธ์เชิงเหตุผล (Causal Relation)
ใช้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ
ทักษะการตัดสินใจและแก้ปัญหา
•เป็นทักษะที่ต้องใช้ควบคู่กันระหว่างความคิดและความรู้สึกในการใช้เหตุผลตัดสินใจ เนื่องจากจะมีผลกระทบทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ดังนั้นจึงต้องมีการตัดสินใจอย่างรอบคอบ
กระบวนการตัดสินใจและการแก้ปัญหามี 5 ขั้นตอน
1.การกำหนดปัญหา โดยระบุปัญหาอย่างชัดเจน
2.ค้นหาสาเหตุของปัญหาและการกำหนดทางเลือก โดยเขียนแนวทางวิธีการแก้ปัญหาให้มีหลากหลายวิธี
3.การวิเคราะห์ทางเลือก เพื่อวิเคราะห์ถึงวิธีการแก้ปัญหาตามวิธีการต่างๆ
4.การตัดสินใจเลือก เพื่อกำหนดแนวทางวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด
5.ตรวจสอบผลภายหลังที่ได้ดำเนินการตามวิธีที่เลือก ว่าได้ผลหรือปัญหายังคงมีอยู่ เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของทางเลือกที่เกิดจากการตัดสินใจ
ทักษะในการตัดสินใจและการแก้ปัญหา มีปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ ดังนี้
•บุคลิกภาพ
เป็นความสามารถของแต่ละคนที่แสดงออกมาเมื่อเผชิญกับปัญหา เช่น คนที่มีความเชื่อมั่นในตนเองจะสามารถตัดสินใจได้รวดเร็ว คนที่ใจเย็น สุขุม รอบคอบมักจะมีเหตุผลในการตัดสินใจเสมอ เพราะรู้จักการวิเคราะห์สถานการณ์และคิดหาทางเลือกได้อย่างเหมาะสม เป็นต้น
•เป้าหมายหรือจุดประสงค์ที่ตั้งไว้
เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สามารถตัดสินใจได้ว่าตนเองต้องการอะไร ไม่ต้องการอะไร เนื่องจากการกำหนดเป้าหมายในแต่ละครั้งจะมีการคาดการณ์วางแผนการประเมินไว้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายหรือจุดประสงค์นั้นๆ ขณะเดียวกันก็ช่วยให้เราสามารถมองเห็นแนวทางที่ จะนำไปสู่ความสำเร็จได้
•ค่านิยม
เป็นบรรทัดฐานที่ช่วยในการประเมิน ตลอดจนการยอมรับต่อความเชื่อความรู้สึกของแต่ละบุคคล ซึ่งผู้ที่มีค่านิยมที่ดี จะสามารถตัดสินใจได้รวดเร็ว ถูกต้อง
•ความรู้
เป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจ เนื่องจากผู้ที่มีความรู้มาก จะมีข้อมูลที่สามารถรวบรวมไว้ใช้เป็นแนวทางในการวิเคราะห์ และตัดสินใจเลือกแนวทางที่ดีที่สุด เพื่อแก้ไขปัญหาได้ดี มีประสิทธิภาพมากกว่าผู้ที่มีความรู้น้อย