ประวัติความเป็นมา

               “เพชรบุรี” ร่องรอยของผู้คนในอดีตในเขตจังหวัดเพชรบุรี ปรากฏหลักฐานในรูปของโบราณวัตถุ โบราณสถาน แหล่งที่อยู่อาศัยหลงเหลืออยู่ทั่วไปตั้งแต่ในช่วงที่เป็นชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์พบหลักฐานแถบภูเขาทางตะวันตกในเขตอำเภอท่ายาง จวบจนสังคมพัฒนาขึ้นภายใต้วัฒนธรรมแบบทวารวดี ก็พบร่องรอยของชุมชนเหล่านี้ในหลายพื้นที่ เช่น กลุ่มผลิตรูปเคารพหนองปรง ในเขตอำเภอเขาย้อย กลุ่มบ้านหนองพระ เนินโพธิ์ใหญ่ เนินดินแดง วัดป่าแป้นในเขตอำเภอบ้านลาด กลุ่มเขากระจิว ในเขตอำเภอท่ายาง กลุ่มทุ่งเศรษฐี ในเขตอำเภอชะอำ แต่ในลุ่มแม่น้ำเพชรบุรีก็ยังไม่พบหลักฐานของเมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบแบบเมืองทวารวดีที่ พบทั่วไปใน ลุ่มแม่น้ำสำคัญอื่น ๆ ในแถบภาคกลางของไทยแต่ก็พบหลักฐานโบราณวัตถุแบบทวารวดี คือธรรมจักรหินในบริเวณชุมชนเก่าทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเพชรบุรี เพชรบุรีในวัฒนธรรมเขมรโบราณ เมื่อชุมชนในแถบลุ่มแม่น้ำเพชรบุรีได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรโบราณในช่วงเวลานี้น่าจะมีการพัฒนาขึ้นในระดับหนึ่ง คงมีการสร้างเมืองในรูปแบบของวัฒนธรรมเขมรโบราณเป็นรูปสี่เหลี่ยมขึ้นที่ทางฝั่งตะวันออก ของแม่น้ำเพชรบุรี (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลช่องสะแก อำเภอเมืองเพชรบุรี) ผลจากการศึกษาจากภาพถ่ายทางอากาศ (โดยผ่องศรี วนาสิน และทิวา ศุภจรรยา) พบว่าบริเวณเมืองเพชรบุรีมีร่องรอยของแนวคูเมืองและกำแพงเมือง ที่มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมที่ใกล้จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมากกว่าสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความยาวของแนวคูเมืองกำแพงเมืองแต่ละด้านกว่า 1 กิโลเมตร เมืองนี้ใช้แม่น้ำเพชรบุรีเป็นคูเมืองด้านทิศตะวันตก ลักษณะของผังเมืองที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมแบบสม่ำเสมอเป็นเมืองที่มีอายุหลังสมัยทวารวดีมักพบมากในช่วงที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรโบราณลงมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น จึงอาจกล่าวได้ว่าร่องรอยของแนวคูเมืองกำแพงเมืองที่หลงเหลืออยู่นี้ เป็นร่องรอยของเมืองตั้งแต่ในช่วงที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมร หลักฐานที่เป็นเครื่องสนับสนุนความเป็นบ้านเป็นเมืองในช่วงเวลานี้คือ โบราณสถานที่วัดกำแพงแลง อันได้แก่ปรางค์ศิลาแลง 5 องค์ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมและรูปเคารพที่ได้จากบริเวณนี้ล้วนมีอิทธิพลศิลปะเขมรโบราณแบบบายน ที่มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 18 - 19 และถ้าหากเชื่อว่าเมืองนี้คือหนึ่งในเมืองที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งราชอาณาจักรกัมพูชาได้ทรงประดิษฐานพระชัยพุทธมหานาถไว้ เมืองนี้ก็คือเมือง ศรีชัยวัชรบุรี