ความเป็นมาบ่อน้ำพร้อนพระร่วง

ความเป็นมาบ่อน้ำพุร้อนพระร่วง

บ่อน้ำพุร้อนพระร่วง ตั้งอยู่ที่บ้านลานหิน ตำบลลานดอกไม้ อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมืองกำแพงเพชรประมาณ  22 กิโลเมตร สภาพเดิมบ่อน้ำพุร้อนพระร่วงเป็นทุ่งนา  มีน้ำร้อนผุดขึ้นมาชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงได้นำน้ำไปใช้อุปโภคและบริโภคในฤดูแล้งเป็นประจำทุกปี  ในปี พ.ศ. 2541 องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชรได้มีแนวคิดที่จะพัฒนาบ่อน้ำพุร้อนพระร่วงแห่งนี้ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดกำแพงเพชร

ตามตำนานกล่าวว่า บ่อน้ำพุร้อนพระร่วง แต่เดิมบริเวณบ่อน้ำพุร้อนแห่งนี้  มีลักษณะเป็นลุ่มน้ำขัง มีป่าโปร่งล้อมรอบสลับด้วยเนินเตี้ยๆ  พื้นดินบางแห่งมีหินโผล่ขึ้นเป็นกลุ่มน้อยใหญ่สลับกันตำนานเล่าว่าครั้งสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี  สมเด็จพระร่วงเจ้าได้เสด็จประพาสป่าล่าสัตว์มาถึงบริเวณบ่อน้ำพุร้อนแห่งนี้  วันหนึ่งพระองค์ทรงเห็นไก่ป่าตัวหนึ่งมีลักษณะสวยงามและมีเสียงขันไพเราะมาก  จึงทรงให้นายพรานที่ตามเสด็จ  ต่อไก่ป่าตัวนั้นและได้ไก่ป่าสมพระราชประสงค์  โดยมีไก่ป่าตัวอื่นๆ ติดไปด้วยเป็นจำนวนมาก ในวันนั้นพระองค์และนายพรานล่าสัตว์อื่นไม่ได้เลย จึงทรงให้ทหารนำไก่ป่าตัวอื่นๆไปปรุงอาหารสำหรับเสวย  แต่เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นป่า  ไม่มีบ้านเรือนราษฎร  จึงไม่มีไฟใช้ทำอาหาร  พระองค์จึงทรงสาปน้ำที่อยู่ในบึงบริเวณใกล้ๆ ให้เป็นน้ำร้อน บึงดังกล่าวจึงเรียกว่า“บึงพระร่วงสาป”  ต่อมาภายหลังเรียกสั้นลงว่า  “บึงสาป”  และเป็นที่โจษขานกันว่าน้ำในบึงสาปนี้สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บ  เช่น  โรคปวดเมื่อยตามร่างกาย  โรคผิวหนังได้  จึงมีประชาชนในท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียงพากันไปอาบ  ดื่ม  กิน  และบางรายนำน้ำกลับไปเพื่อเป็นสิริมงคล


อนุสาวรีย์พระร่วง

ศาลพระร่วง