หน่วยที่ 1 กระบวนการทางประวัติศาสตร์ 

 เนื้อหาสาระการสอน/การเรียนรู้

วิธีการทางประวัติศาสตร์ หมายถึง กระบวนการสืบค้นเรื่องราวในอดีต โดยการพิจารณาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทั้งที่เป็นเอกสารชั้นต้นและชั้นรอง ประกอบกับการเก็บข้อมูลภาคสนาม วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้สามารถนำเสนอองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่ค้นพบได้อย่างแม่นยำมากที่สุด

วิธีการทางประวัติศาสตร์แบ่งได้เป็น 5 ขั้นตอนดังนี้

1. การกำหนดหัวเรื่องที่จะศึกษา

เริ่มจากกำหนดเรื่องที่ต้องการศึกษา โดยอาจจะกำหนดประเด็นไว้กว้างๆ ก่อน แล้วจึงค่อยจำกัดประเด็นให้แคบลงภายหลัง การกำหนดเรื่องอาจเกี่ยวกับเหตุการณ์ความเจริญและความเสื่อมของอาณาจักรต่างๆ หรือเรื่องราวของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ที่มีชีวิตอยู่ในอดีตในช่วงเวลาหนึ่งๆ ซึ่งยังมีหลักฐานหลงเหลือในค้นคว้าอยู่

2. การรวบรวมหลักฐาน

เมื่อกำหนดเรื่องที่ต้องการศึกษาได้แล้วก็จะทำการรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และหลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร หลักฐานทางประวัติศาสตร์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

    (1) หลักฐานชั้นต้น

เป็นหลักฐานร่วมสมัยของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โดยตรง ประกอบด้วยหลักฐานทางราชการทั้งที่เป็นเอกสารลับ เอกสารที่เปิดเผย กฎหมาย ประกาศ สุนทรพจน์ การรายงานข่าวของผู้รู้ ผู้เห็นเหตุการณ์ วีดีทัศน์ ภาพยนตร์ ภาพถ่ายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นต้น

   (2) หลักฐานชั้นรอง

เป็นหลักฐานที่จัดทำขึ้นโดยอาศัยหลักฐานชั้นต้น หรือโดยบุคคลที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง ไม่ได้รู้เห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง แต่ได้รับรู้โดยผ่านบุคคลอื่น ประกอบด้วยผลงานของนักประวัติศาสตร์หรือหนังสือประวัติศาสตร์ รายงานของสื่อมวลชนที่ไม่ได้รู้เห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง

3. การประเมินคุณค่าของหลักฐาน

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ค้นคว้ามาได้นี้ ต้องผ่านการประเมินคุณค่าที่เรียกว่า “วิพากษ์วิธีทางประวัติศาสตร์” ซึ่งมีอยู่ 2 วิธี ดังนี้

      (1) วิพากษ์วิธีภายนอก

คือการประเมินคุณค่าของหลักฐานจากลักษณะภายนอกของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ วิธีนี้ทำเพื่อประเมินหลักฐานว่าเป็นของแท้หรือไม่ โดยพิจารณาได้จากสิ่งที่ปรากฏภายนอก  

     (2) วิพากษ์วิธีภายใน

คือการประเมินคุณค่าของหลักฐานจากข้อมูลภายในหลักฐานนั้น เป็นต้นว่า มีชื่อบุคคล สถานที่ เหตุการณ์ ในช่วงเวลาที่หลักฐานนั้นทำขึ้นหรือไม่

4. การวิเคราะห์ สังเคราะห์ และจัดหมวดหมู่ข้อมูล

เมื่อประเมินคุณค่าของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้แล้ว ก็จะทำการวิเคราะห์ข้อมูลในหลักฐานนั้นว่า ให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์อะไรบ้าง มีความสมบูรณ์เพียงใดหรือมีจุดมุ่งหมายเบื้องต้นอย่างไร เมื่อได้ข้อมูลเป็นประเด็นแล้ว ก็จะต้องหาความสัมพันธ์ของประเด็นต่างๆ และตีความข้อมูลว่ามีข้อเท็จจริงใดที่ซ่อนเร้นอำพรางอยู่บ้าง ในการวิเคราะห์ข้อมูล ผู้ศึกษาต้องมีความละเอียดรอบคอบ วางตัวเป็นกลาง มีจินตนาการ และควรมีความรอบรู้ในด้านอื่นๆ ประกอบด้วย


5. การเรียบเรียงหรือการนำเสนอ

เมื่อสังเคราะห์ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ออกมาได้ในขั้นที่แล้ว ก็จะนำข้อมูลทั้งหมดมาเรียบเรียง หรือนำเสนอให้ตรงกับประเด็นหรือหัวเรื่องที่ตั้งไว้ในขั้นตอนแรก ควรอธิบายเหตุการณ์อย่างเป็นระบบ สอดคล้องต่อเนื่อง เป็นเหตุเป็นผลกัน มีการโต้แย้งหรือสนับสนุนผลการศึกษาของเก่าโดยให้ข้อมูลสนับสนุนอย่างมีน้ำหนัก และต้องเป็นกลาง

 

ความสำคัญของการใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ในการศึกษาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตก็คือ การขจัดอคติ อันจะทำให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์นั้นถูกบิดเบือนเพื่อจุดประสงค์อย่างอื่น ดังนั้น ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์จึงต้องวางตัวเป็นกลาง ซื่อสัตย์ต่อข้อมูลตามหลักฐานที่ค้นคว้ามาได้ 

วิธีการทางประวัติศาสตร์ก็เหมือนกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ที่อาศัยหลักฐานและความเป็นเหตุเป็นผลที่ชัดเจน จะแตกต่างกันก็เพียงตรงที่วิธีการทางวิทยาศาสตร์สามารถทดลองซ้ำได้เรื่อยๆ จนเกิดความแน่ใจในผลการทดลอง แต่เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นใหม่ได้อีกเท่านั้น ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ที่ดีจึงเป็นผู้ฟื้นอดีตหรือจำลองอดีตให้มีความถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุด โดยใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์เพื่อที่จะได้เกิดความเข้าใจอดีตได้เที่ยงตรง อันจะนำมาสู่ความเข้าใจในปัจจุบันได้อย่างถ่องแท้