รมช.ศธ. (คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) และคณะ ตรวจเยี่ยมสนามสอบ O-NET ป.6 และ ม.3 ประจำปีการศึกษา 2562 ณ สนามสอบโรงเรียนเตรียมศึกษา

เมื่อวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (ผศ.ดร.ศิริดา บุรชาติ) รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์) และคณะ ได้ตรวจเยี่ยมสนามสอบ O-NET ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 ประจำปีการศึกษา 2562 ณ สนามสอบโรงเรียนเตรียมศึกษา

รก.ค.ศ. เร่งคลอด หลักเกณฑ์วิทยฐานะ คาดเสร็จก่อนเปิดเทอม

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (เลขาฯ ก.ค.ศ.) กล่าวว่า ตามที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มีนโยบายเรื่องการปรับปรุงหลักเกณฑ์การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ เนื่องจากต้องการให้ข้าราชการครูมีสวัสดิการ และความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งการประเมินจะต้องสอดคล้องกับตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ ไม่เน้นเรื่องการทำเอกสารนั้น ขณะนี้ ก.ค.ศ.ได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าว จำนวน 2 ชุด โดยคณะกรรมการชุดที่ 1 จะดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ วิจัยรูปแบบและวิธีการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะที่ผ่านมา เป็นมาอย่างไร และศึกษาแนววิธีการดำเนินการในต่างประเทศ เพื่อหาข้อดีและข้อเสีย นำมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่ และจะมีการวิจัยติดตามผลการใช้หลักเกณฑ์ใหม่ด้วย และคณะกรรมการชุดที่ 2 จะดำเนินการยกร่างหลักเกณฑ์การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะใหม่คู่ขนานกันไป โดยยึดหลักการเรื่องการลดการทำเอกสาร ให้ครูได้อยู่กับเด็ก เน้นผลสัมฤทธิ์จากผู้เรียนเป็นแนวทางในการยกร่าง

เด็กยุคใหม่ต้องก้าวทันโลก และเรียนรู้ได้ในทุกบริบท

ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึง แนวทางการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนเพื่อให้สอดคล้องกับยุค Thailand 4.0 ว่า แนวคิดการพัฒนาผู้เรียนเพื่อให้เข้าถึงและพัฒนาศักยภาพของตนเอง สามารถบูรณาการองค์ความรู้มาสู่การสร้างอาชีพได้อย่างมั่นคง ต่อยอดไปสู่การเรียนรู้ตลอดช่วงวัย เรียนรู้ได้ในทุกบริบท เป็นสิ่งที่ในฐานะผู้จัดการศึกษาให้ความสำคัญสูงสุด รวมถึงแนวคิดการพัฒนาผู้เรียนนอกห้องซึ่งไม่ใช่แนวคิดใหม่ หากแต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานแนวคิดการสนับสนุนให้เด็กหญิง-ชาย ได้ฝึกฝนทักษะความถนัด เพิ่มพูนความรู้ความสามารถเฉพาะด้านของตนเองให้สามารถเป็นอาชีพสร้างรายได้เลี้ยงตัวได้ ไม่ใช่เพียงมุ่งเรียน เพื่อเป็นเสมียนหรือเข้ารับราชการเพียงด้านเดียว พระปรีชาญาณของพระองค์ท่านได้ก่อเกิดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนมาจนถึงปัจจุบัน