1. ลูกแก้ว องค์ประกอบส่วนที่ตั้งอยู่บนปลายยอดสุดของพระเจดีย์ นิยมทำเป็นรูปทรงกลมเกลี้ยง บางแห่งทำเป็นรูปคล้ายหยดน้ำ ซึ่งเรียกว่า “หยดน้ำค้าง”

2. ปลี องค์ประกอบของยอดพระเจดีย์ส่วนที่ทำเป็นรูปกรวยกลมเกลี้ยงคล้ายปลีกล้วย ต่อจากส่วนของปล้องไฉนขึ้นไป บางแห่งยืดปลีให้ยาวแล้วคั่นด้วย “บัวลูกแก้ว” ตอนกลาง ทำให้ปลีถูกแยกเป็น 2 ส่วน ซึ่งจะเรียกส่วนล่างว่า “ปลีต้น” และส่วนบนว่า “ปลียอด

3. บัวกลุ่ม ชื่อเรียกองค์ประกอบชุดหนึ่งซึ่งทำเป็นรูป“บัวโถ” ต่อซ้อนให้มีขนาดลดหลั่นกันขึ้นไปอย่าง“บัวลูกแก้ว” สำหรับใช้เป็นส่วนของ“ปล้องไฉน” ในเจดีย์ย่อเหลี่ยม

4. ปล้องไฉน ชื่อเรียกส่วนปลายที่เป็นยอดแหลมของพระเจดีย์ ซึ่งทำเป็นบัวลูกแก้วคั่นเป็นข้อๆ ใหญ่เล็กลดหลั่นลงตลอดแท่ง ตรงเชิงฐานรับด้วย “บัวถลา” ก่อนวางเทินบน “ก้านฉัตร”

5. ก้านฉัตร องค์ประกอบทางโครงสร้างของพระเจดีย์ ที่ทำเป็นรูปทรงกระบอกกลม ทำหน้าที่เทินรับปล้องไฉนให้ตั้งฉาก

6. เสาหาน องค์ประกอบอย่างหนึ่งที่ทำหน้าที่ช่วยเสริม “ก้านฉัตร” ในการรับน้ำหนักของ “ปล้องไฉน” และ “ปลี” นิยมทำเป็นรูปทรงกระบอกกลมหรือแปดเหลี่ยมขนาดเล็ก แต่สูงเท่ากับก้านฉัตร วางล้อมก้านฉัตรในตำแหน่งของทิศประจำทั้ง 8

7. บัลลังก์ องค์ประกอบสำคัญที่ทำเป็นรูป “ฐานปัทม์” 4 เหลี่ยม หรือ4 เหลี่ยมย่อมุม หรือ กลม หรือ 8 เหลี่ยม วางเทินเหนือหลังองค์ระฆัง เพื่อตั้งรับ “ก้านฉัตร” และ “เสาหาน”

8. องค์ระฆัง องค์ประกอบส่วนที่สำคัญที่สุดของพระเจดีย์ในฐานะตัวเรือนของอาคาร ที่ทำเป็นรูปทรงกลมปากผายคล้ายระฆังคว่ำปากลง ในงานสถาปัตยกรรมไทยองค์ระฆังนี้มีทั้งแบบทรงกลม ทรง 8 เหลี่ยม และทรง 4 เหลี่ยมย่อมุมตามคตินิยมของแต่ละยุคสมัยที่แตกต่างกัน

9. บัวคอเสื้อ องค์ประกอบตกแต่งที่ทำเป็นรูปกระจัง ปั้นทับลงบนส่วนของสันบ่า“องค์ระฆัง”ในเจดีย์ย่อเหลี่ยม

10. บัวปากระฆัง ชื่อเรียกส่วนประกอบที่ทำเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย บางแห่งปั้นปูนประดับเป็นรูปกลีบบัว

11. บัวโถ ชื่อเรียกองค์ประกอบสำคัญที่เป็นลักษณะเฉพาะของเจดีย์ย่อเหลี่ยม ที่ทำเป็นรูปบัวมีกลีบขนาดใหญ่ดอกเดียวเทินรับองค์ระฆังแทน“บัวปากระฆัง”ในเจดีย์ทรงกลม บ้างเรียกว่า “บัวคลุ่ม” ก็มี

12. มาลัยเถา ชื่อเรียกองค์ประกอบชุดหนึ่งที่ทำเป็นชั้นของ “บัว” หรือ “ลูกแก้ว”คล้ายพวงมาลัยซ้อนต่อกันขึ้นไป 3 ชั้น ใต้บัวปากระฆัง

13. ชุดฐานสิงห์ ชื่อเรียกฐานเท้าสิงห์ ซ้อนกัน 3 ชั้น ใช้เป็นชุดของ“มาลัยเถา” สำหรับเจดีย์ย่อเหลี่ยม

14. ฐานปัทม์ องค์ประกอบสำคัญทางโครงสร้างของพระเจดีย์ที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักอาคารทั้งองค์ หรือใช้เสริมองค์พระเจดีย์ให้ดูสูงขึ้นเหตุที่เรียกว่า “ฐานปัทม์” เนื่องเพราะฐานชนิดนี้ก่อรูปด้วยลักษณะของฐานบัวชุด“บัวคว่ำ”และ“บัวหงาย” (ปัทม์หมายถึง ดอกบัว)

15. ฐานเขียง ชื่อเรียกฐานหน้ากระดานเกลี้ยงๆ ชั้นล่างสุดขององค์พระเจดีย์ ซึ่งแต่ละองค์แต่ละรูปแบบอาจจะมีฐานเขียงได้ตั้งแต่1-5 ชั้น ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปแล้วแต่จะกำหนด

บัวองค์ประกอบเจดีย์ และพระปรางค์

นสมัยรัตนโกสินทร์ช่วง รัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 5 มีพระเจดีย์และพระปรางค์ ที่จัดกลุ่มได้จำนวน 4 รูปแบบ ได้แก่

  1. เจดีย์เหลี่ยมทรงเครื่อง

  2. เจดีย์เหลี่ยมเพิ่มมุม

  3. เจดีย์ทรงระฆัง

  4. พระปรางค์

เจดีย์เหลี่ยมทรงเครื่อง จากการวิเคราะห์พบว่า เจดีย์เหลี่ยมทรงเครื่องเป็นเจดีย์ที่นิยมสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ 1 - 3


ช่วงรัชกาลที่ 1 – 2 เจดีย์เหลี่ยมทรงเครื่องจะมีขนาดใหญ่ ซึ่งรูปแบบโดยรวมมีบัวเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ เริ่มจากชุดฐานสิงห์ บัวกลุ่มรองรับองค์ระฆัง บัลลังก์ แกนฉัตรบัวกลุ่มเถาหรือบัวคลุ่มเถา ปลี ลูกแก้ว ปลียอด และเม็ดน้ำค้าง ตามลำดับ บางแห่งมีปลีอยู่เหนือบัวกลุ่มเถาเพียงชั้นเดียวแล้วต่อด้วยเม็ดน้ำค้าง ซึ่งเจดีย์จะย่อมุมไม้ยี่สิบ บางแห่งมีการตกแต่งองค์เจดีย์ด้วยการทำลวดลายประดับ และปิดทองทั้งองค์ เรียกว่าเจดีย์ทรงเครื่อง เช่น เจดีย์ทองคู่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และบางแห่งก็มีการปิดกระเบื้องเคลือบสีต่างๆอย่างสวยงาม เช่น เจดีย์เหลี่ยมทรงเครื่องวัดพระเชตุพนฯ เป็นต้น ซึ่งเจดีย์เหลี่ยมทรงเครื่องมักจะมีบัวคอเสื้อประดับอยู่เหนือองค์ระฆัง ส่วนแตกต่างอย่างอื่นได้แก่ จำนวนชั้นของเส้นลวดบัว รูปแบบของฐานสิงห์และส่วนประกอบของฐานสิงห์ เป็นต้น

ช่วงรัชกาลที่ 3 เจดีย์เหลี่ยมทรงเครื่องที่พบมีหลายขนาด ซึ่งรูปแบบโดยรวมมีบัวเป็นองค์ประกอบที่สำคัญประกอบด้วย ชุดฐานสิงห์เรียงซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปสองถึงสามชั้น บัวกลุ่มรองรับองค์ระฆัง (ซึ่งบางแห่งก่อนถึงบัวกลุ่มอาจขั้นด้วยลูกแก้วก่อนชั้นหนึ่ง) บัลลังก์ซึ่งอาจมีหรือไม่มี แกนฉัตรรองรับบัวกลุ่มเถาหรือบัวคลุ่มเถา ปลี ลูกแก้ว ปลียอด และเม็ดน้ำค้าง ตามลำดับ บางแห่งมีปลีอยู่เหนือบัวกลุ่มเถาเพียงชั้นเดียวแล้วเป็นเม็ดน้ำค้าง (ภาพลายเส้นที่ 13) ซึ่งบางแห่งนิยมตกแต่งองค์เจดีย์ หรือปิดกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ ส่วนการย่อมุมเจดีย์นั้นก็มีตั้งแต่ย่อมุมไม้สิบสอง สิบหก และยี่สิบ ช่วงปลายรัชกาลที่ 3 ความนิยมในเจดีย์เหลี่ยมทรงเครื่องจึงได้เริ่มหายไป พร้อมกับการเข้ามาแทนที่ของเจดีย์ทรงระฆัง เจดีย์ทรงระฆังหรือทรงกลม เป็นเจดีย์ที่นิยมสร้างตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 4 เจดีย์ทรงระฆังดังกล่าวยังคงสืบทอดรูปแบบส่วนใหญ่มาจากอยุธยา และมีบัวเป็นองค์ประกอบตั้งแต่ส่วนฐานจนถึงยอด ซึ่งรูปแบบโดยรวมมีบัวเป็นองค์ประกอบที่สำคัญเริ่มจาก ส่วนล่างเป็นฐานบัว บัวถลา มาลัยเถาหรือมาลัยลูกแก้วสามชั้น บัวปากระฆังรองรับองค์ระฆัง บัลลังก์ เสาหาน บัวถลา ปล้องไฉน ปลี และเม็ดน้ำค้างตามลำดับ และมีระเบียบการซ้อนชั้นที่ค่อนข้างแน่นอน นับว่าเป็นการสร้างเจดีย์ตามคติเดิมที่สืบต่อกันมา แต่จะมีความแตกต่างกันที่ส่วนประกอบบ้าง เช่น บัวปากระฆังที่ไม่นิยมทำเป็นรูปกลีบบัวคว่ำบัวหงายแต่จะทำเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย และบางแห่งทำเป็นบัวลูกแก้วอกไก่ เสาหานมีทั้งแบบกลมและแปดเหลี่ยม จำนวนชั้นของปล้องไฉนที่มีจำนวนแตกต่างกันตามคติความเชื่อ นอกจากนี้ยังมีการประดับลวดลายบนเจดีย์ ที่เรียกว่า เจดีย์ทรงเครื่อง และนิยมการตกแต่งองค์เจดีย์ด้วยการปิดกระเบื้องโมเสดสีทอง ทาสีทอง ปิดทอง ประดับด้วยหินอ่อน ฯลฯ รวมทั้งปิดกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์ให้มีความสวยงาม

อนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 นอกจากพระองค์จะนิยมสร้างเจดีย์ทรงระฆังแล้ว พระองค์ยังทรงสร้างเจดีย์เหลี่ยมเพิ่มมุม ที่วัดพระเชตุพนฯ เพื่อเป็นเจดีย์เหลี่ยมประจำรัชกาลอีกด้วย

สมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ยังคงมีความนิยมในการสร้างเจดีย์ทรงระฆัง คือเจดีย์ประธานวัดราชบพิธฯซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาล และในสมัยรัชกาลที่ 8 พระองค์ทรงสร้างเจดีย์ประธานที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพมหานคร เป็นต้น

ผลจากการศึกษาคติความเชื่อและรูปแบบบัวดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ย่อมก่อให้เกิดความรู้ในเรื่องบัวที่มีความสัมพันธ์กับศาสนามายาวนานในแง่มุมต่างๆ รวมทั้งบัวที่ปรากฏในรูปแบบต่างๆตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะเป็นองค์ความรู้ในการนำไปบูรณปฏิสังขรณ์ หรือเป็นแนวทางในการสร้างพุทธสถานขึ้นมาใหม่ได้อย่างถูกต้องและมีแบบแผน รวมไปถึงแนวทางในการวิวัฒนาการรูปแบบและการศึกษาขั้นต่อๆไป โดยมีหลักสำคัญคือเอกลักษณ์ของความเป็นศิลปะแบบไทย ที่จักแสดงออกในรูปแบบของสถาปัตยกรรมไทย ที่มีบัวเป็นองค์ประกอบที่สำคัญตามคติความเชื่อ

Cr.https://www.baanjomyut.com/library_2/extension-1/corbel/04.html

ทำแบบทดสอบเพื่อรับเกียรติบัตร