โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริว่า การเรียนรู้เรื่องราวและวิชาการสาขาต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง เป็นเหตุให้เกิด ความรู้ความคิดและความฉลาด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับชีวิต ช่วยให้บุคคลสามารถสร้างประโยชน์สุขสร้างความเจริญมั่นคง ให้แก่ตนเอง รวมทั้งแก่สังคมและบ้านเมืองอันเป็นที่พึ่งอาศัยได้ ทุกคนจึงควรมีโอกาสที่จะศึกษาหาความรู้ได้ตามความประสงค์ และกำลังความสามารถโดยทั่วกัน
โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนเป็นพระราชดำริ ริเริ่มของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีพระราชประสงค์จะให้ มีการจัดทำหนังสือประเภทสารานุกรม ซึ่งประกอบด้วยลักษณะและรูปแบบพิเศษผิดแผกจากสารานุกรมชุดต่าง ๆ ที่เคยมีผู้ผลิต มาแล้วทั้งในประเทศและที่ต่างประเทศ กล่าวคือ เป็นสารานุกรมอเนกประสงค์ บรรจุสรรพวิชาการอันเป็นสาระไว้ครบทุกแขนง โดยมีเรื่องต่าง ๆ ซึ่งแต่ละเรื่องมีวิทยากรเขียน โดยแบ่งเนื้อหาของเรื่องเดียวกันนั้นเป็น ๓ ตอน หรือ ๓ ระดับคือ สำหรับให้เด็ก รุ่นเล็กอ่านเข้าใจตอนหนึ่ง สำหรับเด็กรุ่นใหญ่ตอนหนึ่ง รวมทั้งผู้ใหญ่ผู้ที่สนใจอ่านเข้าใจได้อีกตอนหนึ่ง รวมเป็น ๓ ตอนเรียงต่อ กัน ผู้ใดมีความต้องการหรือพอใจจะเรียนรู้เรื่องใดตอนใด ก็สามารถค้นหาอ่านทราบได้โดยสะดวก นับว่าเป็นหนังสือที่มีประโยชน์ เกื้อกูลการศึกษาเพิ่มพูนปัญญาด้วยตนเองของประชาชนทุกรุ่นทุกวัยอย่างสำคัญ
ความเป็นมาโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๑โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชปรารภกับ พลโท พระยาศัลวิธานนิเทศ ประธานคนแรก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๖ แต่ยังมิได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๑๑ จึงมีคณะกรรมการ และได้เข้าเฝ้าฯ ที่พระตำหนักสวนจิตรลดารโหฐาน ต่อมา พ.ศ. ๒๕๑๒ คณะกรรมการจึงจัดทำสารานุกรมไทยฯ เล่มตัวอย่างขึ้น
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระราชประสงค์ที่จะให้มีสารานุกรมไทยที่คนไทยทำ ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้เป็นหนังสือที่เป็นประโยชน์ต่อเยาวชน และส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้หาความรู้ขั้นพื้นฐาน ในเรื่องราวและวิชาการสาขาต่าง ๆคือ เด็กรุ่นเล็ก อ่านเข้าใจ ระดับหนึ่ง รวมทั้งผู้ใหญ่ผู้สนใจอีกระดับหนึ่ง การเขียนบทความแต่ละเรื่อง จึงได้เขียนขึ้นให้ได้ลักษณะที่เหมาะสมสำหรับเยาวชนแต่ละรุ่น และพิมพ์ไว้โดยใช้อักษร ขนาดต่าง ๆ กัน แต่ละเรื่องเริ่มด้วยเรื่องสำหรับเด็กรุ่นเล็กก่อน ถัดไปสำหรับเด็กรุ่นกลาง แล้วจึงเป็นเรื่องสำหรับระดับรุ่นใหญ่
โครงการฯ เริ่มดำเนินงานใน พ.ศ. ๒๕๑๒ โดยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ ๗ สาขาวิชา คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เกษตรศาสตร์ คณิตศาสตร์ และแพทยศาสตร์ มาจัดทำสารานุกรมไทยฯ เล่มที่ ๑ ได้จัดพิมพ์แล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นจำนวน ๑๐,๐๐๐ เล่ม และครึ่งหนึ่งของจำนวนพิมพ์ ได้นำทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อพระราชทานให้แก่โรงเรียน และห้องสมุดต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรต่อไป ส่วนจำนวนที่เหลือได้นำออกจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นทุนในการจัดทำหนังสือเล่มต่อไป
โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ได้ผลิตหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ออกมาแล้ว เป็นจำนวน ๔๑ เล่ม หนังสือสารานุกรมไทย ฉบับเทิดพระเกียรติ "ธรรมิกราชาธิคุณ" และขณะนี้ (พ.ศ. ๒๕๖๐) กำลังจัดทำหนังสือสารานุกรมไทย ฉบับผู้สูงวัย (ฉบับพิเศษ)