ประเพณียกธงสงกรานต์
บ้านสระบัวก่ำ
ซึ่งจะมีการจัดกันมาเป็นประจำของทุกปี เป็นความเชื่อของชาวบ้านว่าเมื่อทำพิธียกธงสงกรานต์แล้วจะทำให้คนในชุมชนมีความสุข ความเจริญ และมีความอุดมสมบูรณ์ ในทุกๆ เรื่อง การประกอบอาชีพทางการเกษตรจะได้ผลผลิตดี ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ไม่มีลายลักษณ์อักษรบันทึกไว้แน่ชัด ว่าประเพณีการชักธงเริ่มกันมาแต่เมื่อไหร่ แต่สันนิษฐานว่าคงมีมานานเกินร้อยปี บรรพบุรุษของชาวสระบัวก่ำ มีทั้งลาวครั่ง โซ่งหรือไทยทรงดำ ฯลฯ
การแต่งกายของคนไทยเชื้อสายลาวครั่ง จะมีแบบฉบับเป็นของตนเองซึ่งนำวัสดุจากธรรมชาติ ในท้องถิ่นคือ ที่เป็นวัสดุในการทอ เทคนิคที่ใช้มีทั้งการจกและมัดหมี่ ผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของชาวลาวครั่งคือ ผ้าซิ่นมัดหมี่ ต่อตีนจก ซึ่งมีลายผ้าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น และ ผ้าขาวม้า 5 สีมีลวดลายหลากหลายและสีที่ใช้เป็นสีที่ได้จากธรรมชาติ เช่นสีเหลืองนำมาจากหัวขมิ้น สีดำนำมาจากมะเกลือ + เทา (ตะไคร่น้ำ) สีครามได้มาจากต้น ครามผสมกับปูนกินหมาก สีแดงได้มาจากครั่ง นอกจากจะทอไว้เพื่อใช้ในครัวเรือนแล้ว ยังทอเพื่อการจำหน่าย เป็นรายได้เสริมจากอาชีพหลัก และอาชีพหลัก ก็คือ เกษตรกรรม
เนื่องจากสภาพดินเหมาะแก่การเพาะปลูกเป็นอย่างมาก ชาวลาวครั่งจะมีความสามัคคีกันอย่างมากไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือกันไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของเครือญาติหรือเพื่อนบ้าน เช่น ลงแขกเกี่ยวข้าว ทำไร่ หรือแม้แต่งานบุญ งานศพ งานรื่นเริงต่างๆ ชาวบ้านก็จะมาช่วยงานกันเป็นจำนวนมากตั้งแต่เริ่มงานจนงานเสร็จเรียบร้อย ชาวลาวครั่ง มีความเชื่อในเรื่องผีบรรพบุรุษเป็นอย่างมาก การนับถือผีของชาวลาวครั่งเป็นการถือผีตามบรรพบุรุษ คือผีเจ้านายและผีเทวดา การนับถือมีอิทธิพลต่อชาวลาวครั่งมาก แม้แต่ในแง่ของการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการประกอบพิธีกรรม หรือการดำรงชีวิตประจำวัน ก็จะต้องไปข้องเกี่ยวกับผีของบรรพบุรุษ ดังนั้น จึงทำให้เกิดประเพณีชักธงขึ้นมาเพื่อช่วยกระตุ้นให้คนในหมู่บ้านเกิดความสามัคคีร่วมมือกัน
ลูกหลานไม่ว่าจะเรียนหรือไปทำงานอยู่ที่ไหน ทุกปีจะต้องกลับมาช่วยกันทำธง เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาเพื่อใช้ในกิจการของวัดอย่าง ซ่อมแซมกุฎิ เสนาสนะ ศาสนสถานที่ชำรุดก่อนเข้าฤดูฝน พระเณรจะได้ไม่ลำบาก หนึ่งปีมีเพียงครั้งเดียว ซึ่งจะจัดทุกวันที่ 16 เมษายน ของทุกปี ชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านจะเริ่มช่วยกันทำธง โดยจะหาลำไม้ไผ่ที่ยาวที่สุด ปลาย ไม้ไผ่มีกิ่งก้านแตกแขนง จากนั้นจะนำผ้าสีต่าง ๆ มาผูกตกแต่งกิ่งไผ่ให้สวยงาม ส่วนธงใหญ่ นั้น แต่ละหมู่บ้านจะเลือกผ้าสีสวย ๆ ตัดเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความยาวเหมาะสมกับความ ยาวของลำไม้ไผ่ที่ใช้ทำเสาธง ตกแต่งด้วยผ้าสีต่าง ๆ ไหมพรหม ลูกปัด ดอกรัก ดอกไม้ใน ท้องถิ่น หรือจักสานลูกตุ้มห้อยประดับ อย่างสวยงาม เพื่อเตรียมไว้ผูกติดกับเสาธงในวัน ยกธง นอกจากนี้จะมีอุปกรณ์สำคัญในการยกธง
การยกธงยังเป็นประเพณีแห่งความสนุกสนานและสามัคคี อาศัยเวลาที่คนกลับมารวมตัวกันในช่วงสงกรานต์มาช่วยกันทำธงให้สวยงามคนละไม้คนละมือ และยังถือเป็นการทำบุญร่วมกันด้วย เมื่อธงและคนพร้อม แต่ละบ้านนัดกันแต่งชุดกันเพื่อตั้งขบวนแห่ธงจากหมู่บ้านไปที่วัด การประกวดเสาธงของแต่ละหมู่บ้าน ว่าหมู่บ้านไหนเสาธงมีขนาดใหญ่และยาวมากที่สุด การแห่ธงของแต่ละหมู่บ้านนั้นก็จะมีเครื่องเสียง เครื่องเป่าและรำวงกันอย่างสนุกสนาน หลังจากปักธงได้แล้วชาวบ้านก็จะรำวงรอบเสาธง เพื่อเป็นการสักการะขอพร ขอให้สิ่งที่ดีงามเข้ามาในชีวิตและครอบครัว พร้อมร่วมกันประกอบพิธีสรงน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์ และรดน้ำขอพรผู้สูงอายุแต่ละหมู่บ้าน และการละเล่นต่าง ๆ ของผู้สูงอายุและรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมาเพื่อเป็นการให้เกียรติและแสดงความเคารพนับถือผู้สูงอายุ
ประเพณียกธงของชาวสระบัวก่ำ เป็นการส่งเสริมประเพณีสงกรานต์ให้เป็นเทศการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาการประดิษฐ์เสาธงสงกรานต์รูปแบบโบราณให้คงอยู่ต่อไป และเพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน เนื่องจากสังคมของเราเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วประเพณีวัฒนธรรมต่างก็ค่อยๆเลือนลางหายไป ชาวบ้านจึงเห็นความความคัญที่จะอนุรักษ์สืบสานต่อไป ปัจจุบันคนในชุมชนได้ช่วยกันรักษาประเพณียกธงตามแบบโบราณที่ผ่านมาจนกระทั่งวันนี้ที่มีการแห่หางธงจึงจะถือว่าเป็นการสิ้นสุดเทศกาลสงกราณต์ เพื่อเป็นการถ่ายทอดให้เด็กรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ ฝึกปฎิบัติลงมือการประดิษฐ์หางธงสงกรานต์เพื่อเป็นการสืบสาน ให้คงอยู่คู่ชุมชนต่อไป สำหรับแนวทางการถ่ายทอดส่งต่องานหัตถกรรมเย็บปัก ถักทอ ผืนธงให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ด้วยการจัดฝึกสอนให้กับเด็กยุคใหม่ได้ฝึกและเรียนรู้ถึงประวัติความเป็นมาและวัฒนธรรมประเพณีสำคัญ ๆ สมัยโบราณ
ผู้ให้ข้อมูลโดย นางสายชล เชาวรัตน์
http://www.suphan.biz/songkran01.htm
ผู้เรียบเรียงโดย นางสาวศิริวรรณ วิมูลชาติ
ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสายชล เชาวรัตน์