ภูมิปัญญาท้องถิ่น

กลุ่มอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน

ข้าวอินทรีย์

ข้าวอินทรีย์ คือ ข้าวที่ได้จากการผลิตภายใต้ระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ซึ่งมีการจัดการการผลิตข้าวที่เกื้อกูลต่อระบบนิเวศรวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ เน้นใช้วัสดุธรรมชาติ ไม่ใช้วัตถุดิบสังเคราะห์และมีการจัดการกับผลิตภัณฑ์โดยเน้นการแปรรูปด้วยความระมัดระวังเพื่อรักษาสภาพการเป็นข้าวอินทรีย์และคุณภาพที่สำคัญของผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์

ขั้นตอนการผลิตข้าวอินทรีย์ ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

ข้าวอินทรีย์วิถีพื้นบ้าน

เป็นระบบการผลิตข้าวที่ไม่ใช้สารเคมีทางการเกษตรทุกชนิด เช่น ปุ๋ยเคมี สารควบคุมการเจริญเติบโตสารควบคุมและกำจัดวัชพืช สารป้องกันกำจัดโรคแมลงและสัตว์ศัตรูข้าวตลอดจนสารเคมีที่ใช้รมเพื่อป้องกันกำจัดแมลงศัตรูข้าวในโรงเก็บ การผลิตข้าวอินทรีย์นอกจากจะทำให้ผลผลิตข้าวมีคุณภาพ ปลอดภัยจากสารพิษแล้วยังเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืน

ข้าวอินทรีย์มาตรฐานสากล

การผลิตข้าวอินทรีย์มาตรฐานสากล มีกระบวนการผลิตการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตภัณฑ์อินทรีย์ และห้ามใช้สิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุ์หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุ์ในกระบวนการผลิตและแปรรูปข้าวอินทรีย์ ซึ่งผู้ผลิตและผู้ประกอบการต้องผฏิบัติตามเพื่อให้ได้รับการรับรอง มีขั้นตอนการปฏิบัติเป็นลำดับขั้น ดังนี้

1.เกษตรกรจะต้องมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดในการผลิตข้าวอินทรีย์

2.เกษตรกรจัดทำบันทึกขั้นตอนการใช้ปัจจัยการผลิต โดยแสดงแหล่งที่มาและปริมาณการใช้

3.สมัครขอรับรองต่อกรมการข้าว เกษตรกรต้องแสดงข้อมูลต่อไปนี้

- ประวัติการใช้พื้นที่

- ประวัติการใช้สารเคมี และผลการวิเคราะห์สารพิษตกค้างในดินและน้ำ (ถ้ามี)

- แผนที่และแผนผังแปลงนาที่ขอการรับรองและพื้นที่ข้างเคียง

- แผนการผลิตในทุกขั้นตอน

- บันทึกขั้นตอนการใช้ปัจจัยการผลิต

- บันทึกกิจกรรมในแปลงนา และข้อมูลอื่นๆ

กลุ่มอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน ตำบลหนองห้าง

1. ชื่อกลุ่ม : กลุ่มอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน ตำบลหนองห้าง

2. ที่ตั้งและภูมินิเวศ

2.1 ที่ตั้ง : นาแปลงรวมและสำนักงานชั่วคราวอยู่ภายในบริเวณแปลงนาของนายผจง เพ็งศรี เลขที่ 291 ม.4 ตำบลหนองห้าง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์

2.2 ลักษณะภูมินิเวศ :เป็นภู ลักษณะดินเป็นดินเหนียว ทำนาแบบขั้นบันได อาศัยน้ำฝน

3. ขนาดพื้นที่นาแปลงรวม : 4 ไร่

4. ความเป็นมา

ประมาณปี พ.ศ. 2546 คุณปิยะ สีฐาน ชาวตำบลหนองห้างและเป็นสมาชิกเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก แนะนำและชวนให้นายผจง เพ็งศรี และนายสมาน สุขไซแสง เข้าโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อย นายผจงจึงได้เข้าร่วมประชุมที่อ.กุฉินารายณ์และอ.นาคู และได้เข้าโครงการนำร่องฯ นายผจงเองมีความรู้พื้นฐานเรื่องการเพาะเห็ดและการจัดสภาพแปลงที่มีความหลากหลาย เมื่อเข้าโครงการนำร่องฯ ได้ทำปุ๋ยหมัก เกษตรผสมผสาน ปลูกสมุนไพรอย่างน้อย 50 ชนิด ทำสวนผักสวนครัว ได้รับการสนับสนุนเงินกู้ขุดบ่อน้ำ และสนับสนุนทำคอกหมู เริ่มปรับจากการใช้สารเคมีในการทำเกษตรมาเป็นไม่ใช้สารเคมี ในปีแรกในครอบครัวไม่มั่นใจในแนวทางเกษตรอินทรีย์กลัวว่าจะไม่ได้ผลผลิตเพียงพอ แต่ก็ทำต่อไป จนปีที่สามไม่ได้ใช้สารเคมีอีกเลย

ต่อมาอีก 5 ปีประมาณปี พ.ศ. 2551 ได้ร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภูมินิเวศน์กาฬสินธุ์-นครพนม ไปประชุมที่อาศรมไทบ้านดอนแดง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ในการประชุมมีการพูดถึงเรื่องพันธุกรรมและแลกเปลี่ยนพันธุกรรม ภูมินิเวศน์สุรินทร์ อุบลราชธานีและยโสธร ได้เริ่มทำเรื่องพันธุกรรมคืบหน้าไปแล้ว แต่ภูมินิเวศน์กาฬสินธุ์ยังอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไม่ได้เพราะไม่ได้ทำอย่างจริงจัง นายผจงมีความคิดว่าเขาทำได้แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้

ประมาณปี พ.ศ. 2552 น.ส.นุจนาด โฮมแพน เป็นผู้ประสานงานเรื่องงานวิจัยไทบ้านของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เข้ามาทำงานในพื้นที่เรื่องการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้านของต.หนองห้าง พบว่ามีข้าวพื้นบ้านที่แต่ละครัวเรือนปลูกเฉลี่ยครัวเรือนละ 5 สายพันธุ์ และพันธุ์ข้าวทั้งหมดในพื้นที่มี 27 สายพันธุ์

ปี พ.ศ. 2553 นายผจงตัดสินใจทำงานเรื่องพันธุกรรมข้าวพื้นบ้านต่อ นายผจงได้สะสมพันธุ์ข้าวพื้นบ้านและเพาะกล้าข้าวแจก มีกลุ่มคนที่สนใจมาขอกล้าข้าว เช่น เหนียวแดง โสมาลี สาวอุดร กอเดียว อีน้อย อีโพน เป็นต้น นายผจงเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวมาจากพี่น้องเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เวทีแลกเปลี่ยนพันธุกรรมสายนาวัง งานแลกเปลี่ยนพันธุกรรมที่จ.มหาสารคามและจ.ยโสธร และชาวบ้านที่ยังมีข้าวพันธุ์เก่าแก่ในบ้านม่วงไข่ บ้านกุดบอด อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ซึ่งในช่วงเดียวกันนั้นเจ้าหน้าที่เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสานได้เข้ามาสนับสนุนเรื่องความรู้ด้านพันธุกรรมข้าวที่อาศรมไทบ้านดอนแดงในเรื่องการบันทึกลักษณะประจำพันธุ์ และปี พ.ศ. 2556 เครือข่ายโรงเรียนชาวนาสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จัดการเรียนรู้ที่โรงเรียนชาวนายโสธร นายผจงและสมาชิก 1 คน ได้ไปเรียนที่ยโสธรได้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องการผสมพันธุ์ข้าว จนปัจจุบันนี้กลุ่มอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน ต.หนองห้าง อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์เป็นโรงเรียนชาวนาที่ส.ป.ก.กาฬสินธุ์สนับสนุน นายผจงได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรที่บ้านคำม่วง ที่อบต.สายนาวังเกี่ยวกับการทำแปลงอนุรักษ์พันธุ์ข้าว การเพาะกล้า การปักดำ เป็นต้น สมาชิกกลุ่มช่วงแรกมี 7 ครอบครัวปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 14 ครอบครัว

5. วัตถุประสงค์การจัดตั้งกลุ่ม

1. เพื่อปรับเปลี่ยนระบบการทำเกษตรของสมาชิกจากเกษตรเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์

2. เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้านและขยายพันธุ์สู่แปลงสมาชิกและเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก

3. เพื่อแปรรูปข้าวขายออกสู่ตลาด

๖. กิจกรรมของกลุ่ม

1. เป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องโรงเรียนชาวนา

2. ออกร้านจัดนิทรรศการเผยแพร่ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเรื่องพันธุกรรมข้าว

3. จำหน่ายพันธุ์ข้าวพื้นบ้านและข้าวกล้อง ข้าวสีของกลุ่มและผัก

4. อนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน

5. บันทึกลักษณะประจำพันธุ์ข้าว

6. ประชุมตามวาระสถานการณ์

7. ร่วมหุ้นลงทุนทำวิสาหกิจขายข้าวของกลุ่ม

8. ธนาคารพันธุ์ข้าว โดยให้สมาชิกยืมข้าวเปลือกไปสีเพื่อบริโภคในกรณีขาดแคลนหรือยืมไปปลูก

9. กองทุนปุ๋ยอินทรีย์ให้สมาชิกทำร่วมกันและแบ่งกันใช้

๗. ผู้รับผิดชอบ/ผู้ประสานงาน

1. นายผจง เพ็งศรี บ้านเลขที่ 291 หมู่ 4 บ้านห้วยม่วง ต.หนองห้าง อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ หมายเลขโทรศัพท์ 080-7594106

2. นายสีคูณ อุทโท บ้านเลขที่ 215 หมู่ 4 บ้านห้วยม่วง ต.หนองห้าง อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ หมายเลขโทรศัพท์ 087-2234696

๘. ผู้ให้ความรู้/ผู้สื่อสารเรื่องราวภายในกลุ่ม

1. นายผจง เพ็งศรี การเพาะเห็ดชนิดต่างๆ การทำปุ๋ยชีวภาพ การคัดพันธุ์ และผสมพันธุ์ข้าว

๙. ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน

1. สมาชิกมาไม่ตรงเวลานัดหมายการทำกิจกรรมหรือประชุม ทำให้ทำกิจกรรมไม่เต็มที่

2. สมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย ขาดแคลนแรงงานวัยหนุ่มสาวในการทำกิจกรรม

1๐. แนวทางการทำงานและทิศทางการทำงาน/ความต้องการการสนับสนุนจากภายนอก

1. ต้องการงบประมาณจัดการขุดสระน้ำเพิ่มเติมเพราะในพื้นที่น้ำไม่เพียงพอ

2. โรงสีแปรรูปข้าวของกลุ่ม

1๑. ความโดดเด่น

กลุ่มอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้านตำบลหนองห้าง เป็นกลุ่มชาวภูไท รักษาพันธุกรรมท้องถิ่นไว้ได้หลากหลายพันธุ์ มีการฝึกอบรมเรื่องการเพาะเห็ดชนิดต่างๆ และการทำปุ๋ยชีวภาพ

ประโยชน์ของการรับประทานข้าวอินทรีย์

- สารต้านอนุมูลอิสระ กระตุ้นต่อมไร้ท่อให้ขับฮอร์โมน

- เทสโทสเตอโรนในเพศชายอย่างสม่ำเสมอ ลดอาการผิดปกติในวัยใกล้หมดประจำเดือน

- ชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ กระตุ้นให้ตับสร้างสารอินซุลิน

- วิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตา เสริมสร้างภูมิต้านทานโรค ลดการอักเสบของสิว ช่วยบรรเทาโรคเกี่ยวกับไทรอยด์

- สารต้านอนุมูลอิสระ (ANTI-OXIDANT) ช่วยลดโอกาสการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต โรคข้อ รวมทั้งโรคมะเร็ง ลดคอเรสเตอรอล ลดปัญหาโรคอ้วน เลือดข้น เลือดเป็นพิษ

- วิตามินบีรวม ป้องกันและบรรเทาอาการแขน-ขาไม่มีแรง ปวดกล้ามเนื้อ บำรุงสมอง

- วิตามินบี 1 ป้องกันโรคเหน็บชา ช่วยการทำงานของระบบประสาท

- วิตามินบี 2 ป้องกันโรคปากนกกระจอก

- ฟอสฟอรัส ช่วยการเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน

- แคลเซียม ทำให้กระดูกแข็งแรง ป้องกันตะคริว

- ทองแดง สร้างเมล็ดโลหิต และเฮโมโกลบิน

- ธาตุเหล็ก ชนิดดูดซึมได้ทันที ป้องกันโรคโลหิตจาง

- ไนอะซิน บำรุงผิวและเส้นประสาท ป้องกันโรคเพลลากรา

- โปรตีน เสริมสร้างร่างกาย ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ

- ไขมันที่ดี ไม่มีคอเรสเตอรอล ช่วยการดูดซึมวิตามิน A,D,E,K ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น

- เส้นใยไฟเบอร์ ช่วยให้ขับถ่ายสะดวก ป้องกันมะเร็งลำไส้