แหล่งเรียนรู้

วัดโพธิ์ชัยบ้านหนองห้าง

ประวัติความเป็นมา

วัดโพธิ์ชัยตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ ชาวบ้านเรียกว่า วัดโพธิ์ชัยบ้านหนองห้าง เพราะบริเวณที่สร้างวัดมีต้นไทรใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง แต่เดิมเรียก “โพธิ์ไทร” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๗ เขตวิสุงคามสี กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ การศึกษามีโรงเรียนพระปริยัติธรรม เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ โรงเรียนพระปริยัตธรรมแผนกบาลี เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗


ปูชนียวัตถุ

-พระพุทธรูปประจำอุโบสถหลังเก่าเป็นพระพุธรูปปูนปั้น ปางสดุ้งมาร หน้าตักกว้าง ๒.๕๐ เมตร สูง ๓ เมตร เป็นพระคู่บ้านคู่เมือง

-ใบเสมาโบราณอายุประมาณ ๑,๓๐๐ ปี แกะสลักพระพุทธรูปปางสมาธิ กว้าง ๐.๘๐ เมตร สูง ๑.๒๐ เมตร

อาคารเสนาสนะ

เป็นชุมชน ไท-ผู้ไท สันนิษฐานว่าครั้งแรกมีการสร้างสิมทึบแบบพื้นบ้านบริสุทธิ์ทั่วๆไป เมื่อทรุดโทรมลงจึงได้เปลี่ยนเป็นช่างญวน มีหลักฐานจากคำบอกเล่าว่า สิมเก่าใช้อิฐปั้นจากดินริมห้วยหลักทอดมาก่อเป็นฐาน ช่างปั้นลายตกแต่งสิมหลังเก่าคือ ตาพ่อนางน้อย (จารย์คู ขันตี)

รูปแบบสิม ,วัสดุและโครงสร้าง

เป็นสิมทึบแปลน ๔ เหลี่ยมผืนผ้า ยาว ๓ ช่วงเสา ลักษณะพิเศษคือ ผนังไม่มีหน้าต่าง เพียงแต่เจาะช่องให้แสงสว่างเข้า ๔ ช่องเล็กๆ ของ ๒ ช่วงเสาแรก ช่วงเสาสุดท้ายปิดทึบเพราะเป็นผนังด้านพระประธาน หลังคาทรงจั่วชั้นเดียว เดิมคงมุงแป้นเกล็ด ปัจจุบันเป็นสังกะสี มีโห่งไม้และลำยอง เป็นนาคสะดุ้ง ตัวล่างเอาหางเกี่ยวต้นคอนาคตัวบนด้านละ ๔ตัว ตัวสุดท้ายเลื้อยไม้ชูหัวเพียงกระดกขึ้นเล็กน้อย นัยว่าจะให้คล้ายหางหงส์ แต่เค้าหน้านาคค่อนข้างยื่นยาวแสยะเขี้ยวยิ้มดูคล้ายหน้าสุนัขมากกว่าพญานาค หัวแปแกะเป็นลายดอกไม้ปิดไว้ทุกอัน สีหน้า ก่ออิฐฉาบปูนติดกระจกเป็นดวงกลมขนาดเล็ก ด้านหน้าทำซุ้มประตูโค้งครึ่งวงกลมฝีมือหยาบมาก ๓ ซุ้มเป็นประตูจริงอยู่กลาง ซุ้มหลอกขนาบทั้ง ๒ ข้าง เหนือซุ้มประตู ๒ ข้างมีกรอบกระจก ๔เหลี่ยม ขีดเป็นลายเส้นเครือเถาหยาบๆ ฐานแอวขันปากพานค่อนข้างสูง ๑.๗๐ เมตร รับกับทางขึ้นด้านหน้า ซึ่งทำเป็นกำแพงลูกกรงโปร่งเตี้ยยื่นออกมาราว ๔ เมตร แล้วเป็นทางเดินลาดลงไปยังบันไดซ้ายและขวา มีเสา ๔ เหลี่ยมก่ออิฐสูงอยู่ ณ หัวบันไดทุกตอนแบบยุโรป สัดส่วนสิมหลังนี้นับว่าพอใช้ได้แต่ขาดการระบายอากาศที่ดี ส่วนตกแต่งไม้แกะสลัก โดเฉพาะลำยองนาคสะดุ้งนั้น แม้จะดูด้อยฝีมือแต่ก็ให้คุณค่าของงานออกแบบพื้นถิ่นได้เต็มที่ มีเอกลักษณ์ศิลปะพื้นบ้านอย่างแท้จริง