ต่อเงิน ต่อทอง

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

ชื่อเรื่อง : ต่อเงิน ต่อทอง (ผลิตภันฑ์จากเมล็ดของต้นมะค่า)

ชุมชน : ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง หมู่ที่ 5 บ้านวังร่อง ตำบลห้วยไร่ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์

ต้นมะค่า เป็นชื่อของไม้เนื้อแข็งยืนต้นที่มีขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งที่สามารถปลูกเป็นไม้ทางเศรษฐกิจได้ เป็นต้นไม้มงคลพระราชทาน ผลัดใบช่วงสั้น ๆ สูงได้ถึง 30 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกว้าง เปลือกต้นสีเทาอ่อน หรือสีชมพูอมน้ำตาล ผิวต้นขรุขระ กิ่งอ่อนมีขนประปราย ต้นแก่มักมีปุ่มปม เนื้อไม้มีลวดลายสวยงามสีน้ำตาลอมเหลือง ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ปลายใบคู่ ออกเรียงสลับ ใบกว้าง 4-5 เซนติเมตร

ผล เป็นฝักแบน รูปขอบขนาน กว้าง 7-9 เซนติเมตร ยาว 12-20 เซนติเมตร หนา 0.6-1 เซนติเมตร ผิวเปลือกเรียบไม่มีหนาม เปลือกแข็งหนาเป็นเนื้อไม้ ปลายเป็นจะงอยสั้น ๆ ฝักแก่สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ พอแห้งแตกออกเป็น 2 ซีก มีเมล็ดแข็ง มี 2-4 เมล็ด รูปรี ยาว 2.5-3 ซม. สีดำ ผิวมัน มีเนื้อหุ้มที่โคนเมล็ดสีเหลืองสด หุ้มเป็นรูปถ้วย ยาวประมาณ 1.5 ซม. พบตามป่าดิบแล้ง แนวเชื่อมต่อระหว่างป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง ติดผลราวเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม จัดเป็นไม้เด่น 1 ใน 5 ที่พบในป่าเบญจพรรณ

ต่อเงิน ต่อทอง เกิดจากการนำเอาเมล็ดจากต้นมะค่าที่มีอยู่ในพื้นที่ ตามคุ้มบ้าน ตามสถานที่ต่างๆของตำบลห้วยไร่ ที่ตกหล่นตามพื้นดิน นำมาสร้างสรรค์เป็นผลงาน จำลองเลียบแบบลักษณะของตัวแมลง คือ ตัวต่อซึ่งตามความเชื่อตัว ต่อ คือ แมลงที่เป็นมงคล หากตัวต่อไปสร้างรังที่ใด ตามความเชื่อ จะเป็นมงคลต่อบ้านหลังนั้นส่วนประกอบหลัก คือ เม็ดมะค่า ไม้คูณ รังไหม นำมาประดิษฐ์ร่วมกัน แต่ละอย่างจะมีความหมายที่มีความมงคล ผลิตภัณฑ์จากเมล็ด มะค่า ใช้เป็นของฝากของที่ระลึกในลักษณะของมงคล ในการทำมาค้าขาย ทางเสริมดวงด้านอาชีพ การค้า เกิดจากความศรัทธาด้วยชื่อของสิ่งที่นำมาประกอบกัน ให้เกิดความเป็น ต่อเงิน ต่อทอง

...เม็ดมะค่า หมายถึง ความมี คุณค่า ของมีค่า...

...แท่นไม้คูณ หมายถึง ความค้ำคูณ มั่งคั่ง...

...รังไหมนำมาทำปีก หมายถึง ความเหนี่ยวแน่น มั่นคง...


ผลิตภัณฑ์จากเมล็ดมะค่า เป็นผลงานการคิดค้นของ นายวินิจ เพลียปลัด ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิทยากรที่มีความสามารถของชุมชนตำบลห้วยไร่ ผลิตภัณฑ์อยู่ระหว่างการขอจดเครื่องหมายการค้า ปัจจุบันทางกลุ่มได้รับออเดอร์จากบริษัทสันติอีซูซุเพชรบูรณ์ เพื่อมอบเป็นของที่ระลึกแก่ลูกค้าที่มาซื้อรถหรือรับบริการของบริษัท และทางกลุ่มยังสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้อย่างต่อเนื่อง จากทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ มีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ ในงานนิทรรศการงานสำคัญต่างๆ มากมาย จนเป็นที่ยอมรับว่าผลิตภัณฑ์ จากเมล็ด มะค่า มีความงดงาม สร้างสรรค์ สวยงาม มีการจำลองเพิ่มเติมให้มี รังต่อ ผลงานจาก เปเปอร์มาเช่ นำกระดาษที่ใช้แล้วมาทำให้เกิดมูลค่าอีกด้วย



ที่มาข้อมูล : นายวินิจ เพลียปลัด ผู้คิดค้น / เจ้าของผลงานการประดิษฐ์ / วิทยากรหลักในชุมชน / คณะกรรมการสถานศึกษา

ภาพ : ครูอาทิตย์ มีตา ครูกศน.ตำบล

ภาพประกอบ

ที่มาของข้อมูล : นายวินิจ เพลียปลัด วิทยากรหลักผู้ดูแลแหล่งเรียนรู้ของชุมชน / ผู้คิดค้นประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ / กรรมการสถานศึกษา

ภาพ : ครูอาทิตย์ มีตา ครูกศน.ตำบล