ประเพณีวัฒนธรรม


ชื่อเรื่อง : ประเพณีแห่กวงคำ (กวางคำ)

ชุมชน : บ้านวังร่องหมู่ที่ 5 ตำบลห้วยไร่ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์

ที่มาความสำคัญ

งานประเพณีแห่กวงคำ (กวางคำ) ประวัติความเป็นมา งานประเพณีแห่กวางคำ บ้านวังร่อง คำว่า กวางคำ ภาษาหล่ม เรียกว่า กวงคำเป็นการแสดงการฟ้อนของไทหล่ม แต่ไม่ทราบที่มาแน่ชัด สันนิษฐานว่าน่าจะได้อิทธิพลมาจากทางเหนือ ส่วนผู้ที่นำมาแสดงที่บ้านวังร่องคือหลวงพ่อบุญมา อ่างคำ (ไม่ทราบฉายา) เป็นผู้นำมาแสดงครั้งแรกในบ้านวังร่อง

สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษา ณ สวรรค์ดาวส์ดึง เพื่อไปโปรดพุทธมารดาแสดงธรรมเทศนาให้ฟัง ครั้นสิ้นแล้วถึงวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นวันปวารณาออกพรรษา ก็เสด็จลงจากสวรรค์มายังโลกมนุษย์ ทั้งพระอินทร์ พระพรหม เทพบุตร เทพธิดา คนธรรพ์ ได้เนรมิตบันไดเงินบันไดทองรองรับ พระองค์จึงทำโลกวิวรณ์ปาฏิหาริย์ คือเปิดโลกทั้ง ๓ มี เทวโลก ยมโลก และ มนุษย์โลกให้มองเห็นถึงกันหมด บรรดาเหล่านาง ฟ้า เทวดา มนุษย์ สัตว์ และอมนุษย์ ทั้งหลายต่างพากันดีใจปลาบปลื้มที่ได้พบเห็นกัน และมาร่วมกันต้อนรับและอนุโมทนาสาธุการ บ้างก็แสดงการอาการดีใจ กระโดดโลดเต้น บ้างก็สวดมนต์ภาวนาสรรเสริญ บ้างก็แสดงขับร้อง ฟ้อนรำไปตามอัตภาพของตนรวมไปถึงสัตว์ป่าหิมพานต์ ที่มีรูปร่างลักษณะที่ผิดแปลกพิสดารก็มากหลาย ชนิดในร่างเดียวกัน คือเขาเหมือนกวางอกเหมือนมังกร (พญานาค) หัวเหมือนกระต่าย หงอนเหมือนไก่ คางเหมือนแพะ รูปร่างเหมือนราชสีห์ เดินเหมือนม้าห้าวๆ ถ้าจะแสดงทีละอย่างดูเป็นการยากจึงนำมารวมกันอยู่ในตัวเดียว (โต) เหตุนี้จึงมีการจัดแสดงในขบวนแห่ ในวันออกพรรษาของทุกปี

สาเหตุที่เรียกว่า ประเพณีแห่กวงคำ (กวางทอง) เนื่องจากในวันอาสาฬหบูชาเป็นวันที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมครั้งแรกโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ที่ป่าอิสิป มฤคทายวันหรือสวนเลี้ยงกวางของพระเจ้าเชตุบรรดากวางทั้งหลายถึงไม่รู้ภาษาแต่ก็แสดงความน้อมน้อมต่อพระธรรมหมอบลงเคารพในพระธรรมคำสอน จิตใจมีความเลื่อมใสหมดจดจึงทำให้วรรณะของกวางดูมีประกายทองอันสว่างเหมือนสีทองชาวบ้านวังร่องจึงจัดงานประเพณีแห่กวางคำทั้งเพื่อเป็นการสร้างความรักความสามัคคีความปองดองของคนในชุมชนและยังระลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นการสืบทอดประเพณีทางพระพุทธศาสนาให้มีความเจริญก้าวหน้าสืบไป

ทุกวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 9 ของทุกปีจะเป็นประเพณีลงอุโบสถสัญจร โดยมีพระคุณเจ้า 100 กว่ารูป และคณะอุบาสกอุบาสิกาประมาณ 400 คน คณะโรงทานประมาณ 200 กว่าคน ที่รักษาศีลอุโบสถจะมารวมกันสวดมนต์นั่งสมาธิในช่วงเช้า ถวายเพลพระคุณเจ้าและเลี้ยงอาหารคณะอุบาสกอุบาสิกา ช่วงบ่ายจะเป็นพิธีลงอุโบสถสวดพระปาฏิโมกข์ พระคุณเจ้าและคณะอุบาสกอุบาสิกา เป็นอันเสร็จพิธีวันออกพรรษา มีประเพณีการแห่กวางคำ โดยชาวบ้านวังร่องทั้งหมดรวมทั้งหมด 7 คุ้ม ได้นำขบวนกวางคำ มาร่วมแห่อย่างสนุกสนานและจะมีผู้ที่มาเที่ยวชมงานปีละไม่ต่ำกว่า 1000 คน ในทุกปี


ภาพประกอบ

ที่มาของข้อมูล : ผอ.สุกิจ สิมลี อดีตผู้อำนวยการ / ผู้ตรวจการลูกเสือแห่งชาติ / ปราชญ์ชาวบ้าน / ผุ้นำทางความคิดของชุมชน

ภาพ : ครูอาทิตย์ มีตา ครูกศน.ตำบล