ความหมายและความสำคัญของคอมพิวเตอร์

ความหมายของคอมพิวเตอร์

            คอมพิวเตอร์มาจากภาษาละตินว่า Computer ซึ่งหมายถึง การนับ หรือ การคำนวณ  พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายของคอมพิวเตอร์ไว้ว่า "เครื่องอิเล็กทรอนิกส์แบบอัตโนมัติ ทำหน้าที่เหมือนสมองกล ใช้สำหรับแก้ปัญหาต่างๆ ที่ง่ายและซับซ้อนโดยวิธีทางคณิตศาสตร์"

   คอมพิวเตอร์ เป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อช่วยมนุษย์ทำงานในการคำนวณและจำข้อมูลทั้งตัวเลขและตัวอักษรได้อัตโนมัติตามคำสั่ง โดยสามารถรองรับข้อมูลและคำสั่งผ่านอุปกรณ์รับข้อมูล (input) แล้วนำข้อมูลและคำสั่งนั้นไปประมวลผล (process ด้วยหน่วยประมวลผล เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามต้องการ ซึ่งอาจเป็นตัวเลข รูปภาพ ข้อความเสียง เป็นต้น  และแสดงผ่านอุปกรณ์แสดงผล (output) ตลอดจนสามารถบันทึกรายการต่างๆ โดยอุปกรณ์บันทึกข้อมูลสำรอง เพื่อเก็บไว้ใช้งานครั้งต่อๆ ไปได้  ปัจจุบันจะพบว่าคอมพิวเตอร์ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีเครื่องคอมพิวเตอร์หลากหลายรูปแบบ ซึ่งถูกออกแบบให้ใช้งานง่าย และมีราคาไม่แพงนักจึงทำให้ได้รับความนิยมใช้งานกันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดพกพา คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ คอมพิวเตอร์แบบกระเป๋าหิ้ว คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ เป็นต้น  นอกจากนี้ ยังมีเครื่องคอมพิวเตอร์ในรูปแบบที่แตกต่างออกไป เช่น เครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติหรือเครื่องเอทีเอ็ม (ATM : Automatic Teller Machine) ก็ถือว่าเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์รูปแบบหนึ่งเช่นกัน

ความสำคัญของคอมพิวเตอร์

คอมพิวเตอร์ได้ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อให้มีความสามารถในการทำงานที่รวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ เก็บข้อมูลได้มากมายมหาศาล และทำงานได้โดยอัตโนมัติ  คอมพิวเตอร์ถูกนำมาใช้สำหรับงานที่ต้องมีการประมวลผลการทำงานที่ซับซ้อนเกินกว่าความสามารถของมนุษย์ที่จะทำได้ หรือมนุษย์สามารถทำได้ แต่ก็จำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาที่ยาวนานมาก และอาจก่อให้เกิดข้อผิดพลาดได้อย่างง่ายดาย เช่น การคำนวณตัวเลขหลายหลักภายในเวลาอันรวดเร็ว การทำงานในแบบเดียวกันซ้ำๆ กันหลายครั้ง  การจดจำข้อมูลตัวเลขและตัวอักษรจำนวนมาก เป็นต้น  ซึ่งงานที่น่าเบื่อและยุ่งยากเหล่านี้คอมพิวเตอร์สามารถทำงานแทนมนุษย์ โดยที่มนุษย์มีหน้าที่เพียงเป็นผู้สั่งการเท่านั้น  ดังนั้นทั้งหน่วยงานราชการและหน่วยงานเอกชนจึงมีการนำคอมพิวเตอร์มาใช้งานกันอย่างกว้างขวาง แม้แต่องค์กรขนาดเล็ก ก็ยังต้องนำคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงาน 

   คอมพิวเตอร์ได้เข้ามามีบทบาทในการทำงานแทนมนุษย์หลายลักษณะ เช่น การทำงานที่เสี่ยงอันตราย การคำนวณทางวิศวกรรม การคำนวณทางสถิติ การทำธุรกิจทั้งภายในและภายนอกองค์กร การสร้างงานศิลปะ การออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ การติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การจัดการงานเอกสาร เป็นต้น จะเห็นได้ว่าคอมพิวเตอร์กลายเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำงานของหลายหน่วยงาน  และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีการประยุกต์ใช้งานคอมพิวเตอร์ในชีวิตประจำวัน ดังต่อไปนี้

1. การสื่อสาร (communication)

             ในยุคปัจจุบันเรียกว่า เป็นยุคแห่งการสื่อสารแบบไร้พรมแดน มีการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ คอมพิวเตอร์สามารถช่วยในการติดต่อสื่อสารกับทุกคนได้ทุกมุมโลกได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายมาก ไม่ว่าจะเป็นการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail)  การพูดคุยและส่งข้อความทางอินเทอร์เน็ต อีกทั้งยังสามารถสร้างเว็บเพจส่วนบุคคลให้เพื่อนๆ หรือครอบครัวเข้ามาชมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้อย่างอิสระ

        2. การเลือกซื้อสินค้า (shopping)

             การเยี่ยมชมร้านค้าต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต ที่เรียกว่า ไซเบอร์มอลล์ (cyber mall) เพื่อเลือกชมสินค้าและสามารถสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบการบริการทางอินเทอร์เน็ต ทำให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายได้

         3. การสืบค้นข้อมูล (searching)

             การสืบค้นข้อมูลต่างๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว โดยมีเครื่องมือหรือโปรแกรมในการค้นหาเว็บไซต์ ที่เรียกว่า "search engine" เช่น www.sanook.com,  www.google.co.th,  www.bing.com  เป็นต้น  เพื่อค้นหาบทความ เอกสาร ข่าวท้องถิ่น ข่าวภายในประเทศหรือต่างประเทศ รูปภาพต่างๆ ตามความสนใจได้ ซึ่งในปัจจุบันจะมีลักษณะเป็นมัลติมีเดีย เช่น ภาพ เสียง คลิปวิดีโอ เป็นต้น ที่สัมพันธ์กับเนื้อหาให้เลือกชมมากมาย

        4. ด้านความบันเทิง (entertainment)

             สามารถอ่านหนังสือ ฟังเพลง ชมรายการต่างๆ ของสถานีโทรทัศน์ และเล่นเกมผ่านคอมพิวเตอร์ เพื่อศึกษาหาความรู้ ฝึกทักษะในด้านต่างๆ และผ่อนคลายความเครียดโดยการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต หรือไม่ต้องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตก็ได้

         5. ด้านการศึกษา (education)

             เช่น การนำคอมพิวเตอร์มาใช้พิมพ์รายงาน นำเสนอผลงาน ทำสื่อการเรียนการสอน ทำงานหรือการบ้านส่งอาจารย์ รวมถึงการเรียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 

(e-learning) ที่เป็นโปรแกรมประยุกต์ทางเว็บไซต์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าเรียนวิชาต่างๆ ได้ โดยมีหลักสูตรหรือวิชาต่างๆ ให้เลือกมากมายในทุกๆ ระดับชั้น บางหลักสูตรเรียนฟรี แต่ในบางหลักสูตรอาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเรียนเพิ่มเติม