อำเภอหนองบัวแดง เป็นชื่อที่เรียกขานตามชื่อหนองน้ำ “หนองบัวแดง” ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของที่ตั้งที่ว่าการอำเภอปัจจุบันประมาณ 12 กิโลเมตร และอยู่ทางทิศตะวันออกของโรงเรียนคูเมืองวิทยา ตำบลคูเมือง ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีโครงการสร้างเป็นที่ว่าการอำเภอหนองบัวแดง แต่มีความจำเป็นจึงต้องย้ายมาอยู่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน เริ่มก่อตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2508 และยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2512 มีการปกครอง แบ่งออกเป็น 8 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลหนองบัวแดง ตำบลหนองแวง ตำบลกุดชุมแสง ตำบลคูเมือง ตำบลท่าใหญ่ ตำบลนางแดด ตำบลวังชมภู และตำบลถ้ำวัวแดง ซึ่งต่อมาภายหลังเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2531 ถูกแบ่งการปกครองออกเป็น 3 ตำบล คือตำบลบ้านเจียง ตำบลเจาทอง และตำบลวังทองอยู่ในเขตอำเภอภักดีชุมพลในปัจุบัน

อำเภอหนองบัวแดง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ของจังหวัดชัยภูมิ ห่างจากตัวจังหวัด 49 กิโลเมตร มีพื้นที่ 1,956.60 ตารางเมตรกิโลเมตร ร้อยละ 30 ของพื้นที่เป็นที่ราบเชิงภูเขา

รูปที่ 1 แผนที่อำเภอหนองบัวแดง และพื้นที่ติดต่อโดยรอบอำเภดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอคอนสาร

ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอเมือง อำเภอบ้านเขว้า อำเภอหนองบัวระเหว

ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอเมืองเกษตรสมบูรณ์

ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอภักดีชุมพล และจังหวัดเพชรบูรณ์

สภาพพื้นที่โดยทั่วไปของอำเภอหนองบัวแดงเป็นพื้นที่ราบเชิงภูเขาและป่าไม้ เหมาะแก่การเพาะปลูก โดยมีภูเขาล้อมรอบ พื้นที่อำเภอหนองบัวแดงบางส่วนยังพบว่าเป็นสภาพป่าที่สมบูรณ์ บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ในพื้นที่ตำบลนางแดด เป็นลักษณะป่าดิบชื้นและยังเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำสายหลักของประเทศ อาทิ แม่น้ำชี แม่น้ำป่าสัก ลำสะพุง ลำห้วยกุ่ม อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ตามฤดูกาลที่หล่อเลี้ยงชีวิตพี่น้องประชาชนทั่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบนในบางส่วน


รูปที่ 1 แผนที่อำเภอหนองบัวแดง

อำเภอหนองบัวแดง แบ่งการปกครองเป็น 8 ตำบล 130 หมู่บ้าน เทศบาลตำบล 2 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล 7 แห่ง มีจำนวนหลังคาเรือน ทั้งหมด 32,108 หลังคาเรือน จำนวนประชากรทั้งหมด 101,757 คน จำแนกเป็นชาย 51,188 คน หญิง 50,569 คน

โรงพยาบาลหนองบัวแดง ตั้งอยู่บนเนื้อที่ราชพัสดุของกรมราชทัณฑ์ อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ มีเนื้อที่ 35 ไร่ 1 งาน 39 ตารางวา ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 431 หมู่ 16 บ้านลาดบัวหลวง ตำบลหนองบัวแดง เมื่อปี พ.ศ. 2514 เป็นโรงพยาบาลขนาด 10 เตียง โดยมีผู้อำนวยการคนแรกคือ นายแพทย์ณรงค์ กษิติประดิษฐ์ และได้พัฒนายกระดับเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง เมื่อ พ.ศ. 2528 ต่อมายกระดับเป็นโรงพยาบาลขนาด 60 เตียง เมื่อปี พ.ศ. 2543 ในสมัยนายแพทย์กิตติศักดิ์ จันทร์กุศล และในปี พ.ศ. 2555 ได้รับการยกระดับจากกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายระดับ M2 จนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันนายแพทย์พุทธา สมัดไชย ได้เพิ่มศักยภาพรองรับภาระงานในการดูแลประชาชนในอำเภอหนองบัวแดงและอำเภอใกล้เคียงโดยให้บุคคลภายนอกมีบทบาทในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและส่งเสริมการบริการที่ดี

ภาพที่ตั้ง สถานบริการสุขภาพของรัฐในเขตอำเภอหนองบัวแดง

ภาพมุมสูง แสดงอาคารและบริเวณภายในโรงพยาบาลหนองบัวแดง

สิ่งแวดล้อมด้านกายภาพที่สำคัญ

อาคารอำนวยการและผู้ป่วยนอก 4 ชั้น 1 หลัง ให้บริการ ดังนี้

ชั้นที่ 1 งานผู้ป่วยนอกทั่วไป งานประกันสุขภาพ งานคลินิกวัณโรค งานเภสัชกรรมผู้ป่วยนอก งานเทคนิคการแพทย์

ชั้นที่ 2 กลุ่มงานทันตกรรม และงานเทคนิคการแพทย์

ชั้นที่ 3 ให้บริการได้แก่ งานบริหารทั่วไป งานการเงิน งานพัสดุ งานธุรการ กลุ่มงานการพยาบาล ศูนย์คุณภาพ งานโสตทัศนศึกษาและประชาสัมพันธ์ กลุ่มงานประกันสุขภาพ ยุทธศาสตร์และสารสนเทศทางการแพทย์ และห้องสมุด

ชั้นที่ 4 ให้บริการจัดประชุมต่างๆ พร้อมห้องรับรอง

อาคารอุบัติเหตุ – ฉุกเฉิน (อาคารตึกศรีประชาสามัคคี) ให้บริการงานอุบัติเหตุ – ฉุกเฉิน คลินิกโรคเรื้อรัง คลินิกฝากครรภ์ และงานเทคนิคการแพทย์

อาคารผู้ป่วยใน 1 ชั้น ให้บริการประกอบด้วย กลุ่มงานรังสีวิทยา กลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กลุ่มงานเวชกรรมฟื้นฟู

อาคารจ่ายกลาง 1 หลัง ประกอบไปด้วย ร้านค้าสวัสดิการโรงพยาบาล โรงครัว งานจ่ายกลางและซักฟอก

อาคารห้องคลอดและงานห้องผ่าตัด 1 หลัง

อาคารผู้ป่วยใน 2 ชั้น 1 หลัง ชั้น 1 หอผู้ป่วยแยกโรค ชั้น 2 สูติ-นรีเวชกรรม

อาคารหน่วยไตเทียมและเรือนพักญาติ 1 หลัง

อาคารศูนย์สุขภาพชุมชน 2 ชั้น 1 หลัง ให้บริการงานเวชศาสตร์ครอบครัวและชุมชน ฉีดวัคซีน ศูนย์ LTC และห้องประชุมศรีตรัง

อาคารพัสดุและยานยนต์ 1 ชั้น จำนวน 1 หลัง ประกอบไปด้วย โรงผลิตน้ำดื่ม โรงรถ และคลังพัสดุ

โรงพยาบาลหนองบัวแดงให้บริการประชาชนในอำเภอหนองบัวแดงและพื้นที่ใกล้เคียงได้แก่ อำเภอเกษตรสมบูรณ์ อำเภอภักดีชุมพล รองรับการให้บริการผู้ป่วยนอกเฉลี่ยปีละ 182,789 ราย ผู้ป่วยในเฉลี่ยปีละ 7,933 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โรงพยาบาลหนองบัวแดง จึงได้จัดทำแผนพัฒนาเพื่อเข้าสู่การเป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย ระดับ M2 อย่างเต็มรูปแบบภายในปี พ.ศ. 2564

โรงพยาบาลหนองบัวแดงได้ปรับโครงสร้างการบริหารงานตามโครงสร้างหน่วยงานในราชการบริหารส่วนภูมิภาค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ประกอบด้วยหน่วยงานภายใน ดังนี้

กลุ่มงานการแพทย์ มีภาระงานตรวจวินิจฉัย บำบัดรักษาผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน ผู้ป่วยใน ผู้ป่วยผ่าตัด ผู้มาคลอด

กลุ่มงานทันตกรรม มีภาระงานตรวจ วินิจฉัย บำบัดรักษา ฟื้นฟูสภาพส่งเสริมและป้องกันทางทันตกรรม

กลุ่มงานบริหารทั่วไป มีภาระงานการเงินและการบัญชี งานพัสดุก่อสร้าง การซ่อมบำรุง งานธุรการการบริหารยานพาหนะ งานรักษาความปลอดภัย งานประชาสัมพันธ์ งานซักฟอก งานอาคารสถานที่ งานการเจ้าหน้าที่

กลุ่มงานรังสีวิทยา มีภาระงานตรวจ วินิจฉัยและรักษาโดยรังสีเอกซเรย์

กลุ่มงานโภชนศาสตร์ มีภาระงานบริหารจัดการอาหารตามมาตรฐานโภชนาการ งานโภชนบำบัด ให้คำปรึกษา คำแนะนำ ความรู้ด้านโภชนาการและโภชนบำบัด

กลุ่มงานการพยาบาล มีภาระงานวิเคราะห์ กำหนดทิศทาง นโยบาย และยุทธศาสตร์ ในการบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพ การพยาบาล จัดระบบการพยาบาล ระบบประกันคุณภาพด้านการพยาบาล

กลุ่มงานเวชกรรมฟื้นฟู มีภาระงานตรวจประเมิน การวินิจฉัยและบำบัดความบกพร่องของร่างกายด้วยวิธีทางกายภาพบำบัด งานฟื้นฟูความเสื่อมสภาพความพิการ

กลุ่มงานเทคนิคการแพทย์ มีภาระงานวิเคราะห์สิ่งตัวอย่างทางห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ งานธนาคารเลือด และบริการส่วนประกอบของเลือด

กลุ่มงานบริการด้านปฐมภูมิและองค์รวม มีภาระงานเวชปฎิบัติครอบครัวและชุมชน งานการพยาบาลในชุมชน งานส่งเสริมสุขภาพทุกกลุ่มวัย งานป้องกันและควบคุมโรคและระบาดวิทยา งานอาชีวอนามัย งานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมและศูนย์ความปลอดภัย งานพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและสนับสนุนเครือข่าย งานอนามัยโรงเรียน งานสุขภาพภาคประชาชน งานสุขศึกษาและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ

กลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค มีภาระงานบริการเภสัชกรรมผู้ป่วยนอก งานบริการเภสัชกรรมผู้ป่วยใน งานบริหารเวชภัณฑ์ งานคุ้มครองผู้บริโภค งานให้คำปรึกษาด้านเภสัชกรรม

กลุ่มงานประกันสุขภาพยุทธศาสตร์และสารสนเทศทางการแพทย์ มีภาระงานประกันสุขภาพการขึ้นทะเบียน การตรวจสอบสิทธิ การเรียกเก็บ การตามจ่าย งานเวชสถิติและงานข้อมูล การจัดการเวชระเบียน การลงรหัสโรค งานเทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ งานแผนงานและยุทธศาสตร์เครือข่ายสุขภาพ งานสังคมสงเคราะห์ การให้บริการสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ครอบครัวและชุมชน ศูนย์ข้อมูลระบาดวิทยาโรคติดต่อ

กลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีภาระงานรับผิดชอบในการส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่มีคุณภาพ และเป็นมาตรฐานให้ความรู้และทักษะในการดูแลตนเอง เฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จากการทำกิจกรรม เน้นความปลอดภัย มีประโยชน์ และมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ซึ่งได้แก่ การนวดตัว การนวดคลายเครียด การนวดน้ำมัน การนวดฝ่าเท้า การประคบสมุนไพร การอบสมุนไพร การดูแลส่งเสริมสุขภาพที่มิใช่การแพทย์แผนปัจจุบันหรือการแพทย์หลัก การรักษาแบบเยียวยา หรือสมาน การรักษาด้วยวัสดุอุปกรณ์ หรือวิธีธรรมชาติที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด มีภาระงานตรวจวินิจฉัยและบำบัดรักษา งานด้านส่งเสริมและป้องกันปัญหาจิตและจิตเวช งานฟื้นฟูสมรรถภาพ งานบริการให้คำปรึกษา การให้บริการตรวจทางจิตวิทยา งานด้านการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช การบริการคลินิกศูนย์พึ่งได้

เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2535 พระครูศรีพิพัฒนคุณ(พระเทพภาวนาวิกรมวิ. เจ้าคณะจังหวัดชัยภูมิคนปัจจุบัน) ได้มีความเมตตาต่อผู้ป่วยและประชาชนชาวอำเภอหนองบัวแดง ในการมารับบริการที่โรงพยาบาลหนองบัวแดง ซึ่งมีความแออัดคับแคบของสถานที่ จึงได้มีดำริสร้างตึกศรีประชาสามัคคี เป็นอาคารผู้ป่วยพิเศษ จำนวน 10 ห้อง พร้อมวัสดุครุภัณฑ์ งบประมาณในการก่อสร้าง มูลค่า 3,500,000 บาท ซึ่งมาจากแรงเคารพศรัทธาที่ประชาชนมีต่อพระครูศรีพิพัฒนคุณ ในขณะนั้น

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ประชาชนชาวอำเภอหนองบัวแดง โดยเฉพาะบ้านลาดบัวหลวง บ้านไทยเจริญ และบ้านราษฎร์ดำเนินได้พร้อมใจยกที่ดินสาธารณะประโยชน์ของชุมชน จำนวน 1 แปลง มีเนื้อที่ประมาณ 19 ไร่ ให้กับโรงพยาบาลหนองบัวแดงเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดแก่มวลประชาชน

ในปีงบประมาณ 2555 โรงพยาบาลหนองบัวแดงได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 9 ได้ยกระดับโครงสร้างสถานบริการโรงพยาบาลชุมชนระดับ M2 ขนาด 60 เตียง วางแผนพัฒนาด้านอาคารสิ่งก่อสร้าง เพื่อให้บริการประชาชนให้ครอบคลุมในเครือข่าย ได้แก่อำเภอภักดีชุมพล และอำเภอเกษตรสมบูรณ์

ปัจจุบัน พบว่าผู้รับบริการ 5 ปีย้อนหลัง จำนวนผู้ป่วยนอก (OPD) เพิ่มขึ้น ทำให้อาคารสถานที่บริการผู้ป่วยไม่เพียงพอ อีกทั้งอาคารผู้ป่วยนอกหลังเก่าใช้งานมานานมากกว่า 30 ปี มีสภาพชำรุด คับแคบต่อการให้บริการรักษาผู้ป่วย และรองรับการขยายบริการตามแผนพัฒนาระบบบริการและตามแผนพัฒนา บุคลากรของโรงพยาบาลทุติยภูมิระดับ M2 จะมีบุคลากรในสาขาวิชาชีพ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ และบุคลากรด้านอื่น ๆ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อให้เพียงพอและสอดคล้องกับโครงสร้างแผนพัฒนาระบบบริการโรงพยาบาลหนองบัวแดง ปี พ.ศ. 2557

โรงพยาบาลหนองบัวแดงได้ก้าวสู่โรงพยาบาลแม่ข่าย ระดับ M2 ภายในปี พ.ศ. 2564 โดยสามารถให้บริการเฉพาะทางได้ในสาขา สูตินรีเวชกรรม ศัลยกรรมกระดูก กุมารเวชกรรม อายุรกรรม อีกทั้งพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยให้ได้รับการบริการที่รวดเร็วและปลอดภัย อย่างทั่วถึงครอบคลุมพื้นที่อำเภอใกล้เคียง และส่งเสริมการดูแลแบบต่อเนื่อง

จากสภาพภูมิประเทศเป็นหุบเขา ลักษณะเป็นแอ่งกะทะ ซึ่งยากต่อการคมนาคมและการพัฒนาระบบสุขภาพ ทางคณะผู้บริหารโรงพยาบาลได้มีแผนพัฒนาฉบับ 5 ปี (ระหว่างปี พ.ศ. 2559 - 2564) กำหนดให้มีวิสัยทัศน์ เป็นโรงพยาบาลแม่ขายที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน ในเขตนครชัยบุรินทร์

แนวโน้มการให้บริการผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นจาก 550 คนต่อวัน เป็น 700 คนต่อวัน ภายใต้การบริหารงานของนายแพทย์พุทธา สมัดไชย ได้ส่งเสริมศักยภาพบุคลากรภายในและแสวงหามิตรภาพจากผู้มีอุปการะคุณภายนอกเพื่อส่งเสริมการให้บริการด้านสาธารณสุขอย่างครบวงจรและเพื่อก้าวสู่สังคมแห่งคุณภาพด้านสุขภาพ

ด้วยภาพลักษณ์ของการพัฒนาที่ยั่งยืนส่งผลต่อการได้รับรองเป็นโรงพยาบาลมาตรฐาน HA ในปี พ.ศ. 2559 และปี พ.ศ. 2561 จนได้รับความเมตตาจากพระเทพภาวนาวิกรม วิ. เจ้าคณะจังหวัดชัยภูมิ ได้เห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพประชาชน ได้จัดสร้างอาคารผู้ป่วยใน ขนาด 120 เตียง สูง 5 ชั้น ซึ่งได้ชื่อว่า “อาคารร่วมบุญเฉลิมพระเกียรติ”

ภายในระยะเวลา 2 ปีแห่งการดำเนินงานเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2560 - 22 กันยายน พ.ศ. 2562 ความก้าวหน้าของการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยในได้บรรลุวัตถุประสงค์ และจากความร่วมมือร่วมใจของคนในอำเภอหนองบัวแดงและอำเภอใกล้เคียง ได้เห็นความสำคัญของโรงพยาบาลหนองบัวแดง กอรปกับเมตตาของพระเทพภาวนาวิกรม วิ. เจ้าคณะจังหวัดชัยภูมิ ทำให้โรงพยาบาลมีการให้บริการด้านสุขภาพที่ประทับใจต่อผู้ใช้บริการ