สถานีตำรวจภูธรนาเยีย

ประวัติความเป็นมาของสถานีตำรวจภูธรนาเยีย

สถานีตำรวจภูธรนาเยีย ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2510 แต่แรกเริ่ม จัดทำเป็นที่พักสายตรวจของสถานีตำรวจภูธรอำเภอเดชอุดม และจัดตั้งเป็นสถานีตำรวจภูธรบ้านนาเยีย เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2512 มีข้าราชการตำรวจประจำการครั้งแรก 7 นาย มีหัวหน้าสถานีตำรวจ ระดับยศ จ.ส.ต.

ในปี พ.ศ. 2531 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศ ฉบับลงวันที่ 20 ธันวาคม 2530 ให้จัดตั้ง สภ.ต. ใน บก.ภ.5 อุบลราชธานี จึงได้ยกฐานะสถานีตำรวจภูธรบ้านนาเยีย เป็น สถานีตำรวจภูธรตำบลนาเยีย มีเขตพื้นที่รับผิดชอบ 2 ตำบล คือ ตำบลนาเยีย และตำบลนาส่วง มีเขตพื้นที่รับผิดชอบ 117 ตารางกิโลเมตร และ ต่อมาอนุกรรมการ ก.ตร. ได้มีมติที่ประชุม (ครั้งที่ 8 / 2531 ลง 27 กรกฎาคม 2531 ) ให้ยกเลิกตำแหน่งเดิมทั้งหมดของสถานีตำรวจภูธรตำบล พร้อมกำหนดตำแหน่งหัวหน้าสถานีตำรวจ เป็น สารวัตรสถานีตำรวจภูธรตำบล ขึ้นใหม่ สถานีตำรวจภูธรตำบลนาเยีย จึงมีหัวหน้าระดับสถานีตำรวจเป็นสารวัตรมาประจำการ และมีอำนาจการสอบสวนเองทั้งหมด เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531

ในปี พ.ศ. 2536 กระทรวงมหาดไทย ได้มีประกาศ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2536 แบ่งพื้นที่เขตการปกครองของอำเภอเดชอุดม ตั้งเป็นกิ่งอำเภอนาเยีย สถานีตำรวจภูธรตำบลนาเยีย จึงได้ยกฐานะเป็น สถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอนาเยีย รับผิดชอบพื้นที่ 4 ตำบล 47 หมู่บ้าน

ในปี พ.ศ. 2537 กรมตำรวจ ได้ทำการปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการ และให้หัวหน้าสถานีตำรวจ ดำรงตำแหน่งระดับ รองผู้กำกับการ

ในปี พ.ศ. 2541 กระทรวงมหาดไทย ได้โอนกรมตำรวจเป็นสังกัดนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งเป็น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ในปี พ.ศ. 2550 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่งที่ 655 / 2550 ลง 17 ตุลาคม 2550 กำหนดอำนาจหน้าที่ของสถานีตำรวจ และหน้าที่ของตำแหน่งในสถานีตำรวจ สถานีตำรวจภูธรนาเยีย ได้มีหัวหน้าสถานีตำรวจระดับผู้กำกับการ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2551 ถึงปัจจุบัน รวมมีหัวหน้าสถานีฯ มาแล้วจำนวน 16 นาย

สภาพทางภูมิศาสตร์

สภาพทางภูมิศาสตร์ / ที่ตั้ง

สถานีตำรวจภูธรนาเยีย ตั้งอยู่ เลขที่ 153 หมู่ที่ 8 ถนนเพชรพัฒนา ตำบลนาเยีย อำเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี บนที่ราชพัสดุ แปลงเลขที่ อบ. 334 ในพิกัด WB 074166 มีเนื้อที่ ๑๗ ไร่ ๑ งาน ๖๗.๕ ตารางวา ห่างจากตัวจังหวัดอุบลราชธานี ประมาณ 40 กิโลเมตร ลักษณะพื้นที่ยาวเลียบตามลำน้ำโดม พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนา และมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

ทิศเหนือ จด ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์

ทิศใต้ จด ตำบลป่าโมง อำเภอเดชอุดม

ทิศตะวันออก จด ตำบลนาโพธิ์ อำเภอพิบูลมังสาหาร

ทิศตะวันตก จด ตำบลสระสมิง อำเภอวารินชำราบ

รวมพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมด 287 ตารางกิโลเมตร

พื้นที่รับผิดชอบ

พื้นที่รับผิดชอบในเขตอำนาจการสอบสวน

4 ตำบล 47 หมู่บ้าน

พื้นที่รับผิดชอบ / การปกครอง

สถานีตำรวจภูธรนาเยีย มีพื้นที่รับผิดชอบในเขตอำนาจการสอบสวน จำนวนทั้งสิ้น 4 ตำบล 47 หมู่บ้าน รวมเนื้อที่ 287 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็น

• 1. ตำบลนาเยีย จำนวน 13 หมู่บ้าน พื้นที่ 101 ตารางกิโลเมตร

• 2. ตำบลนาเรือง จำนวน 9 หมู่บ้าน พื้นที่ 42 ตารางกิโลเมตร

• ๓. ตำบลนาดี จำนวน 13 หมู่บ้าน พื้นที่ 85 ตารางกิโลเมตร

• 4. ตำบลนาส่วง อำเภอเดชอุดม จำนวน 12 หมู่บ้าน พื้นที่ 59 ตารางกิโลเมตร

รวมจำนวนประชากรในพื้นที่ทั้งสิ้น 36,084 คน

แบ่งเป็น - ชาย 18,642 คน

- หญิง 17,442 คน

อัตราส่วน ตำรวจ 1 นาย / ประชากร 469 คน

สภาพสังคมวัฒนธรรมประเพณีและการประกอบอาชีพ

สภาพชุมชนเป็นชุมชนชนบทที่กำลังพัฒนาไปสู่สังคมเมือง ตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ บ้านเรือน ตั้งกันอยู่เป็นกลุ่ม ประกอบอาชีพทางการเกษตรร้อยละ 90 รองลงมาเป็น รับจ้างทั่วไป และค้าขาย ประชาชนส่วนใหญ่มีความยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีวิถีชาวบ้าน มีความตื่นตัวทางการศึกษาและทางการเมืองพอสมควร ประชาชนมีการไปประกอบอาชีพในต่างถิ่น เช่น เมืองหลวง แต่เมื่อถึงเวลาเทศกาลงานบุญประเพณีสำคัญต่าง ๆ ก็จะกลับบ้านเกิดของตนเอง เพื่อพบปะเยี่ยมเยียนพี่น้อง และเพื่อนบ้าน