ความเป็นมาของเเหล่งเรียนรู้

ความเป็นมาของตลาดย้อนยุคนครชุม

           ด้วยมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานกว่า 700 ปี นครชุม จึงมีความโดดเด่นหลายด้าน ทั้งศิลปกรรม สถาปัตยกรรม วิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมเป็นวัฒนธรรมที่หลากหลายได้รับการผสมผสานเข้ากันอย่างลงตัว เห็นได้จากปรากฏร่องรอยของประวัติศาสตร์อรัญญิก บ้านเรือนเก่าแก่ที่มีเอกลักษณ์หลากหลายรูปแบบให้ได้สัมผัสเยี่ยมชม ดังนั้นอาหารพื้นบ้านของชาวบ้านจึงมีความหลากหลาย ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ขนบธรรมเนียมประเพณี มรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น จึงได้รับการสืบทอดต่อๆกันมา ถ่ายทอดสู่อนุชนรุ่นหลังในรูปแบบของ อาหารพื้นบ้าน โดยนำวัฒนธรรมท้องถิ่น และอาหารพื้นบ้านที่พ่อค้า แม่ขาย แต่งกายสมัยดั้งเดิมมาจำหน่ายบริเวณตลาดนครชุม ซึ่งเป็นย่านธุรกิจ ที่มีการค้าขายเจริญรุ่งเรืองครั้งในอดีต เป็นการรื้อฟื้น ปรับสภาพวิถีชีวิตของคนในชุมชน อาคารบ้านเรือนโบราณ ให้กลับมามีชีวิตใหม่ ตลาดย้อนยุค นอกจากจะเป็นการหนุนเสริมเศรษฐกิจที่พอเพียงแก่ประชาชนแล้ว ยังจุดประกายให้เทศบาลตำบลนครชุม สามารถใช้ศิลปวัฒนธรรม โบราณสถานที่มีอยู่ สร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมได้อีกทางหนึ่ง โดยรูปแบบของการจัดกิจกรรมประกอบด้วยบรรยากาศการจัดตลาดและการแต่งกายย้อนยุค เป็นการจำลองบรรยากาศตลาด แบบย้อนยุค บรรยากาศภายในตลาดจะมีพ่อค้า แม่ค้า แต่งกายด้วยชุดไทย นำอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของ ชาวนครชุมหรือร่วมสมัยวางจำหน่าย มีการสาธิตการทำอาหารพื้นบ้าน หรือศิลปหัตถกรรม อาทิ การจักสานไม้ไผ่งานผีมือใบตองหรือการวาดรูป ระบายสี มุ่งเน้นการแต่งกายพื้นบ้าน หรือวัฒนธรรมร่วมสมัย สร้างสำนึกในการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมทั้งสร้างแหล่งเรียนรู้ปลูกฝังจิตสำนึก ให้แก่เยาวชนรุ่นลูกๆ หลานๆ ได้สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมต่อๆ กันไป โดยการนำร่องที่เด็กนักเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและนักเรียนในสถานศึกษาของเทศบาลตำบลนครชุม บรรยากาศการแสดงและรับประทานอาหารแบบย้อนยุค มีการสร้างบรรยากาศเสมือนจริง โดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมชมกิจกรรมภายในงานสามารถนั่งรับประทานอาหารแบบดั้งเดิม มีการนั่งรับประทานอาหารโบราณที่หาทานได้ยากมีการละเล่นพื้นบ้าน บรรยากาศ“สานศิลป์ ดนตรีไทย” รูปแบบการบรรเลงเครื่องสายหรือบรรเลงดนตรีไทย วงดนตรีลูกทุ่ง สร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมงานสำนึกในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย จุดประกายให้เกิดความต่อเนื่องเพื่อให้เป็นงานของชุมชน สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจชุมชนให้ดีขึ้น สามารถก้าวไปสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม 

รูปภาพประกอบ

ตลาดย้อนยุคนครชุม

โรงหนังเฉลิมนคร

การเเสดงขับร้องเพลง

              นครชุมยังมีเรื่องราวและร่องรอยของสถานที่ซึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองมาแล้ว ตั้งแต่ยุคกรุงสุโขทัยตอนต้น เห็นได้จากลักษณะของกำแพงเมืองเก่า ป้อมทุ่งเศรษฐี วัดวาอาราม ที่ยังคงปรากฏให้เห็นซากถาวรวัตถุความเจริญรุ่งเรืองในอดีต มีโบราณสถานที่สำคัญ รวมถึงเป็นแหล่งกำเนิดพระซุ้มกอ หนึ่งในพระเครื่องชุดเบญจภาคีที่มีชื่อเสียงโด่งดัง มีคลองสวนหมาก ที่เป็นลำน้ำสายหลักเสมือนเป็นเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงของคนในชุมชน เหตุที่เรียกว่าคลองสวนหมาก เนื่องจากต้นน้ำลำธารอุดมไปด้วยป่าหมาก ลำคลองสวนหมากเชื่อมต่อกับแม่น้ำปิงลำเลียงไม้สักและไม้เบญจพันธ์ล่องขายในจังหวัดนครสวรรค์และกรุงเทพ มีบ้านเรือนไม้โบราณอายุกว่าร้อยปี ที่ทำการค้าไม้ในอดีต พร้อมเรื่องราวของพะโป้ ผู้บูรณะและนำยอดฉัตรจากเมืองมะละแม่ง ประเทศพม่า มาประดิษฐานไว้บนยอดพระบรมธาตุนครชุม สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ชาวนครชุม นอกจากนี้พะโป้หรือนายฮ้อยพะโป้ พ่อค้าไม้คนสำคัญของเมืองกำแพงเพชรในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพชรในปี ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2449) ก็ยังทรงมีพระราชหัตถเลขาไว้ว่า “...เลยไปคลองสวนหมาก ในคลองนี้น้ำไหลเชี่ยว แต่น้ำใส เพราะเป็นลำห้วย ถ้าไปตามลำคลอง 3 วัน จนถึงป่าไม้ ป่าไม้นี้พะโป้กะเหรี่ยงในบังคับอังกฤษเป็นคนทำ” การทำกิจการค้าไม้ ทำให้มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายวัฒนธรรมมาอาศัยอยู่รวมกัน เช่น ไทย ลาว มอญ กระเหรี่ยง จีน ฯลฯ เกิดการประสมประสานวัฒนธรรม ที่เด่นชัด เป็นวิถีวัฒนธรรมนครชุม ตามที่นักเขียนชื่อดัง ครูมาลัย ชูพินิจ บ้านอยู่ริมคลองสวนหมาก ผู้เกิดและเติบโตจากตำบลนครชุม แต่สามารถไปมีชื่อเสียงในเมืองกรุง เช่น ล่องไพร แผ่นดินของเรา ชั่วฟ้าดินสลาย โดยเฉพาะเรื่องทุ่งมหาราช เป็นหนังสือเลือกอ่านนอกเวลา 1 ใน 100 เล่มหนังสือดีที่ควรอ่าน จึงเป็นความภาคภูมิใจยิ่งของชาวนครชุมและชาวกำแพงเพชร ที่มีนักเขียนที่ยิ่งใหญ่

             ตลาดนครชุม จึงเป็นแหล่งรวมของอาหารที่มีลักษณะโดดเด่นสามารถจะพัฒนาเป็นกิจกรรมทางการท่องเที่ยวได้โดยใช้อาหารเป็นสื่อ ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวรู้จักและเข้ามาแลกเปลี่ยน รับรู้วิถีถิ่นและ เรียนรู้วิถีของการ  ดำเนินชีวิตที่รักษาขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมและการดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมของประชาชนในชุมชนและเนื่องจาก  ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างและค้าขาย เนื่องจากปัจจุบันไม่มีทรัพยากร ธรรมชาติอื่นใด ที่จะเอื้อ  อำนวยให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน นอกจากภูมิปัญญาพื้นบ้าน ขนบธรรมเนียมประเพณี มรดก  ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น และการค้าขายที่เป็นอาชีพหลักของประชาชนในชุมชน เห็นได้จากเทศกาลงานประจำปี  ประเพณีสำคัญๆ ของจังหวัดกำแพงเพชร ชาวนครชุม จะได้รับเกียรติให้มีส่วนร่วมในการจัดการแสดงและจำหน่าย  อาหารพื้นบ้านเสมอๆ เป็นการนำวัฒนธรรมท้องถิ่นและอาหารพื้นบ้านที่พ่อค้า-แม่ขายแต่งกายย้อนยุค เข้าร่วมในกิจกรรมงานประเพณี และ สืบเนื่องจากพื้นที่เขตเทศบาลตำบลนครชุมบริเวณตลาดนครชุมเป็นศูนย์กลางการค้าย่านธุรกิจที่มีการค้าขายเจริญรุ่งเรืองครั้งในอดีต ดังนั้น การรื้อฟื้น ปรับสภาพวิถีชีวิตของคนในชุมชน อาคารบ้านเรือนโบราณ ให้กลับคืนสภาพดั้งเดิมมากที่สุด โดยอาศัยความโดดเด่นด้านมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์ของความเป็นชุมชนดั้งเดิม พร้อมจัดสถานที่บริเวณดังกล่าวเป็น ตลาดย้อนยุค หนุนเสริมเศรษฐกิจที่พอเพียงแก่ประชาชน จุดประกายให้ชาวตำบลนครชุม ใช้ศิลปวัฒนธรรม โบราณสถาน ทุนทางสังคมที่มีอยู่ สร้างเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดกำแพงเพชร