อาคารนิทรรศการ 3

จัดแสดงนิทรรศการถาวรในส่วนสุดท้ายคือกำแพงเพชรในปัจจุบันและชนกลุ่มน้อยซึ่งจะเชื่อมกับส่วนโถงประชาสัมพันธ์แนะนำจังหวัดกำแพงเพชร

  จังหวัดกำแพงเพชร เป็นเมืองที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ร่องรอยความยิ่งใหญ่ในอดีตยังปรากฏให้เห็นผ่านโบราณสถานที่มีความงดงามทางศิลปกรรมนั้นได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก ทางวัฒนธรรม โดยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ  กำแพงเพชรยังอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ ป่าไม้ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ หินอ่อน ฯลฯ สภาพภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการทำนา ทำไร่ ทำสวน และการทำประมง ส่งผลให้ปัจจุบันกำแพงเพชรกลายเป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจแห่งหนึ่งของภาคเหนือตอนล่าง 

ป่าไม้และผลิตผลจากป่า 

         จังหวัดกำแพงเพชรมีพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 2,027.03 ตารางกิโลเมตร ผืนป่าส่วนใหญ่อยู่บริเวณด้านตะวันตก ซึ่งต่อเนื่องจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร อันเป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่านานาชนิด เช่น กระทิง เสือลายเมฆ แมวป่า นกเงือกคอแดง นกภูหงอนพม่า ฯลฯ ทั้งยังเป็นต้นกำเนิดของน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตกคลองลาน น้ำตกคลองวังเจ้า น้ำตกคลองน้ำไหล ฯลฯ และเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำสายสำคัญ ได้แก่ คลองวังเจ้า คลองสวนหมาก คลองขลุง ที่ไหลมาสมทบกับแม่น้ำปิง ทำให้จังหวัดกำแพงเพชรไม่ขาดแคลนน้ำตลอดปี 

น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ 

         แหล่งน้ำมันดิบลานกระบือ สำรวจพบโดยบริษัท ไทยเชลล์ เอ็กพลอเลชั่น แอนด์ โพรดักชั่น จำกัด เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2524 และ ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2526 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดแหล่งน้ำมันดิบลานกระบือและมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้นามแหล่งน้ำมันว่า “สิริกิติ์” ส่วนน้ำมันดิบมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “น้ำมันดิบเพชร” ต่อมา ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2531 ได้มีการก่อสร้าง

         โรงแยกก๊าซ “พลังเพชร” เพื่อใช้ในการผลิตก๊าซหุงต้มและผลิตกระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แหล่งหินอ่อนสำคัญอยู่ในอำเภอพรานกระต่าย บริเวณทิวเขาสว่างอารมณ์ ทิศตะวันออกของเขาเขียว เขาโทน และเขาหน่อ ในทางธรณีวิทยาหินอ่อนชุดเขาสว่างอารมณ์มีอายุตั้งแต่ยุคไซลูเรียน-ยุคดีโวเนียน (ประมาณ 435 - 345 ล้านปี) เหมาะที่จะใช้ในเชิงพาณิชย์ โดยมีคุณภาพทัดเทียมกับหินอ่อนจากประเทศอิตาลี ปัจจุบันรัฐบาลส่งเสริมการทำเหมืองหินอ่อนในเขตเขาโทน อันเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาสว่างอารมณ์ 

แร่เหล็ก 

        แร่เหล็กส่วนใหญ่ในจังหวัดกำแพงเพชรเป็น “แร่เหล็กแดง” มีเนื้อแร่แน่น ผิวด้าน สีเทาดำและสีแดงเลือดหมู ปริมาณเหล็กสูงเหมาะสำหรับอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก บริเวณที่พบ ได้แก่ เขาแก้ว เขายอดเหล็ก อำเภอพรานกระต่าย นอกจากนี้บริเวณเหนือวัดโพธารามเชิงเขาแก้ว และในเขตเมืองโบราณบ้านคลองเมือง อำเภอโกสัมพีนคร ยังพบร่องรอยเตาถลุงเหล็ก บ่อขุดแร่เหล็ก และตะกรันแร่ ฯลฯ เป็นหลักฐานที่ทำให้สันนิษฐานได้ว่าบริเวณดังกล่าวเคยมีการถลุงสินแร่เหล็กนับแต่ครั้งอดีต 

แร่ทองคำ 

        หลายพื้นที่ในกำแพงเพชร เช่น บริเวณห้วยคลองไพร บ้านนาบ่อคำด้านริมคลองสวนหมาก เป็นพื้นที่ซึ่งเคยปรากฏการขุดทองคำตามริมห้วย รวมทั้งที่เขาลับงา ล้วนเป็นพื้นที่ซึ่งมีการพบสินแร่ทองคำสินแร่ทองคำที่พบนี้ส่วนใหญ่ถูกกระแสน้ำพัดพาไปสะสมกับวัตถุอื่นๆ 

วิถีชุมชนคนกำแพงเพชร 

       ผู้คนในจังหวัดกำแพงเพชรดำรงชีพโดยอาศัยพื้นฐานทางทรัพยากรธรรมชาติ ผสมผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิมในท้องถิ่น จึงทำให้มีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย ทั้งด้านเกษตรกรรม หัตถกรรม อุตสาหกรรม และการพาณิชย์ 

เกษตรกรรม 

- การทำนา
    จังหวัดกำแพงเพชรมีพื้นที่ปลูกข้าว ประมาณ 1.6 ล้านไร่ เดิมชาวนาปลูกข้าวเพียงปีละครั้ง แต่เมื่อมีการเร่งเพิ่มผลผลิตเพื่อการส่งออก ชาวนาในปัจจุบันโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชลประทานจึงเปลี่ยนมาทำนาปีละ 2 - 3 ครั้ง โดยผลผลิตส่วนใหญ่เป็นข้าวเจ้า
-  การทำไร่
    พืชไร่ที่สำคัญ ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยสำหรับ อุตสาหกรรมน้ำตาล ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ฯลฯ โดยเฉพาะมันสำปะหลังมีพื้นที่เก็บเกี่ยวมากเป็นอันดับสองของประเทศรองจากจังหวัดนครราชสีมาและถือเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการผลิต แปรรูปและการเป็นแหล่งรับซื้อมันสำปะหลังมากที่สุดในภาคเหนือและภาคกลาง
-  การทำสวน
    พืชสวนที่สร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับจังหวัดกำแพงเพชรมากที่สุด คือ กล้วยไข่ โดยมีแหล่งปลูกสำคัญอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอคลองขลุง อำเภอพรานกระต่าย และอำเภอไทรงาม กล้วยไข่ที่ปลูกจะมีรสชาติหวานหอม เนื้อละเอียด เนื่องจากดินในจังหวัดกำแพงเพชรเกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ ร่วนซุย ระบายน้ำและอากาศได้ดี
- การเลี้ยงสัตว์
    ในอดีตเกษตรกรมีการเลี้ยงโคและกระบือเพื่อการใช้แรงงานในภาคการเกษตร ต่อมาความนิยมเลี้ยงสัตว์เปลี่ยนเป็นเพื่อการพาณิชย์มากขึ้น ปัจจุบันการเลี้ยงโคและกระบือมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ความนิยมในการเลี้ยงสุกร แพะ ไก่ไข่ ไก่เนื้อ และเป็ด มีมากยิ่งขึ้น
- การทำประมง
    ด้วยสภาพภูมิประเทศของจังหวัดที่มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ จึงพบว่าประชาชนมีการเลี้ยงปลาตามชายฝั่งแม่น้ำปิง ปลาที่นิยมเลี้ยง ได้แก่ ปลานิล ปลาดุก ปลาตะเพียนขาว ปลาช่อน ปลากดคัง ปลาทับทิม ฯลฯ

หัตถกรรมและอุตสาหกรรม

- การทอผ้ามัดหมี่
    ชาวบ้านในตำบลประชาสุขสันต์ อำเภอลานกระบือ ส่วนใหญ่อพยพมาจากจังหวัดขอนแก่นและมหาสารคาม ซึ่งมีความชำนาญในเรื่องการทอผ้ามัดหมี่ เมื่อเสร็จสิ้นการทำไร่ ทำนา ชาวบ้านจะทอผ้าเพื่อใช้นุ่งห่มในครัวเรือน ต่อมามีผู้นิยมซื้อผ้าทอนั้นไปจำหน่าย จึงเกิดการทอผ้าเพื่อเป็นอาชีพเสริมรายได้แก่ครัวเรือน
- การทำเครื่องเงิน
    หมู่บ้านชนกลุ่มน้อยในเขตอำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร เป็นแหล่งผลิตเครื่องเงินที่มีชื่อเสียง โดยการผลิตเครื่องเงินมีทั้งประเภทสิ่งของเครื่องใช้และเครื่องประดับ ปัจจุบัน จังหวัดกำแพงเพชรมีศูนย์จำหน่ายเครื่องเงินชาวเขา 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมหัตถกรรมเครื่องเงินชาวเขาบ้านคลองลานและศูนย์จำหน่ายหัตถกรรมพื้นบ้านและชาวเขาหมู่บ้านชาวเขาเพื่อการท่องเที่ยว ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน
- การเป่าแก้ว
    เป็นอาชีพหนึ่งของชาวบ้านโนนจั่น ที่ริเริ่มโดยนายณรงค์ แสงอโน เมื่อ พ.ศ.2531 แก้วที่เป่าขึ้นนี้ได้ส่งไปขายที่กรุงเทพมหานคร ต่อมามีผู้สนใจงานหัตถกรรมประเภทดังกล่าวมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันชาวบ้านโนนจั่นประกอบอาชีพเป่าแก้วเป็นอาชีพเสริมเกือบทั้งหมู่บ้าน
- การทำเหมืองหินอ่อน
    จังหวัดกำแพงเพชรมีการทำเหมืองหินอ่อนและโรงงานอุตสาหกรรมผลิตหินอ่อนในอำเภอพรานกระต่าย ผลิตภัณฑ์ที่มาจากแหล่งหินอ่อนแห่งนี้ เช่น แจกันหินอ่อน เครื่องเรือนหินอ่อน วัสดุก่อสร้าง ฯลฯ

พื้นเพ เผ่าพันธุ์ บรรพบุรุษ

  กำแพงเพชรเป็นพื้นที่ซึ่งมีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่มเดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานนับแต่อดีต และสืบเชื้อสายต่อมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่
- ลาวโซ่ง (ไททรงดำ)
    ลาวโซ่งหรือไททรงดำ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เชื้อสายไท มีถิ่นอาศัยเดิมอยู่ในบริเวณมณฑลกวางสี มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน และตังเกี๋ยในเวียดนาม การย้ายถิ่นเข้ามาสู่ไทยเริ่มตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 24 สมัยธนบุรี เนื่องจากเกิดสงครามทำให้มีการกวาดต้อนชาวลาวโซ่ง รวมทั้งชาวลาวเวียงจันทน์จากเมืองม่วยและเมืองทันเข้ามา ปัจจุบันบริเวณที่กลุ่มลาวโซ่งตั้งถิ่นฐานอยู่อย่างหนาแน่น ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอลานกระบือ
- ไทยล้านนา (ไทยวน)    
ไทยล้านนาหรือไทยวน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลักที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือตามตำนานสิงหนวัติ กล่าวว่า สิงหนวัติกุมารโอรสของท้าวเทวกาล ได้นำผู้คนมาตั้งบ้านเรือนอยู่ลุ่มน้ำโขงตอนใต้ (สันนิษฐานว่าอาจเป็นเมืองเชียงแสนในจังหวัดเชียงราย) ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงทำสงครามกับเมืองเชียงแสน และกวาดต้อนผู้คนไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ เวียงจันทน์ เชียงใหม่ ลำปาง น่าน สระบุรี ราชบุรี กรุงเทพฯ กลุ่มชาวไทยล้านนาในจังหวัดกำแพงเพชร ส่วนใหญ่มีการย้ายถิ่นฐานมาจากเชียงใหม่และลำปาง เพื่อหาพื้นที่ประกอบอาชีพ โดยพบชุมชนขนาดย่อมของกลุ่มชาวไทยล้านนากระจายอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอคลองขลุง อำเภอคลองลาน
- กลุ่มชนม้ง (แม้ว)
    ม้ง เป็นกลุ่มชนที่ใช้ภาษาในสาขาตระกูลภาษาม้ง - เมี่ยน (แม้ว - เย้า หรือ เมี่ยว - เย้า) ของภาษาตระกูลจีน - ทิเบต มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ในจีน ทิเบต และมองโกเลีย ต่อมาย้ายถิ่นฐานลงมาทางใต้ สันนิษฐานว่าการเดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยอาจเริ่มเมื่อราวกว่าหนึ่งศตวรรษมาแล้ว โดยตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่บริเวณพื้นที่สูงของภาคเหนือและภาคกลางตอนบน เฉพาะกลุ่มชนม้งในจังหวัดกำแพงเพชร พบการตั้งถิ่นฐานหนาแน่นในบริเวณอำเภอ
โกสัมพีนคร อำเภอคลองลาน และอำเภอปางศิลาทอง
กลุ่มชนม้งนิยมตั้งบ้านเรือนบนที่สูง ใช้วงล้อมแนวเขา ช่วยกำบังลมและฝน เรือนแต่ละหลังสร้างหันหน้าออกจากภูเขา และไม่นิยมสร้างเรือนซ้อนกัน แต่จะสร้างเรียงเป็นหย่อมๆ หย่อมละ 7 - 8 หลัง แต่ละกลุ่มเรือนล้วนเป็นเครือญาติเดียวกัน ภายในเรือนม้งมีการใช้พื้นที่ แบ่งเป็น โถงใหญ่ใช้เป็นที่อยู่ ที่กิน และที่พักผ่อน กลางพื้นที่โถงเป็นที่ตั้งของเตาไฟ ด้านหนึ่งของโถงตั้งหิ้งผีหรือศาลบรรพชน อีกด้านหนึ่งวางครกกระเดื่องตำข้าว บริเวณมุมโถงวางแคร่นอนของแขกผู้มาเยือน พื้นที่ส่วนที่เหลือกั้นเป็นห้องนอนเล็กของสมาชิกภายในเรือนแต่ละคน ใต้หลังคาเรือนยังใช้เป็นที่เก็บเมล็ดพันธุ์พืชและเครื่องมือการเกษตร
เครื่องแต่งกายกลุ่มชนม้ง (แม้ว)
สตรี : สวมเสื้อผ่าอกพื้นดำ แขนยาวปักลายด้านหน้า นุ่งกระโปรงปักลาย และอัดเป็นจีบรอบตัว ขอบกระโปรง ยาว เสมอ เข่ามีแผ่นผ้าปักลายผูกเอวทับด้านหน้ากระโปรงอีกชั้นหนึ่ง
บุรุษ : สวมเสื้อผ่าอกพื้นดำแขนยาวนุ่งกางเกงทรงหลวมสีดำขายาว มีแผ่นผ้าปักผูกเอวทับด้านหน้า
- กลุ่มชนกะเหรี่ยง (ยาง)
    กะเหรี่ยง (ยาง) เป็นกลุ่มชนที่ใช้ภาษาในตระกูลจีน - ทิเบต สันนิษฐานว่าถิ่นฐานเดิมอยู่บริเวณตะวันออกของทิเบต ต่อมามีการย้ายถิ่นฐานลงมาทางใต้ตามลำน้ำหยังจื้อ ลำน้ำโขง และลำน้ำสาละวินโดยการย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณเทือกเขาทางภาคเหนือและตะวันตกของไทยอาจเริ่มเมื่อประมาณสองศตวรรษที่ผ่านมา สำหรับในกำแพงเพชรพบการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชนกะเหรี่ยงในเขตอำเภอโกสัมพีนคร และอำเภอคลองลาน กลุ่มชนกะเหรี่ยงนิยมตั้งชุมชนบริเวณชายเขา ในระดับความสูงของพื้นที่ต่ำกว่า
    การตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชนกลุ่มอื่น ๆ และอยู่ใกล้แหล่งน้ำเพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูกการทำนาและการอุปโภคบริโภคในชุมชน ลักษณะเรือนที่อยู่อาศัยนิยมสร้างยกพื้นสูงใช้วัสดุธรรมชาติในการก่อสร้างตัวเรือน เช่น ไม้ไผ่ แฝก หญ้าคา ใบต๋าว ฯลฯ บนเรือนใช้เป็นที่พักอาศัย ส่วนใต้ถุนเรือนใช้นั่งเล่นตำข้าว ผ่าฟืน เลื่อยไม้ ทำคอกสัตว์ ฯลฯ
    กลุ่มชนกะเหรี่ยงนี้ มีการทำหัตถกรรมที่ขึ้นชื่อ คือ การทอผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ ซึ่งมีสีสัน และลวดลายที่สลับซับซ้อนอันเป็นลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ
เครื่องแต่งกายกลุ่มชนกะเหรี่ยง (ยาง)
สตรี : สวมเสื้อที่ทำด้วยผ้าสองชิ้นเย็บติดกัน เว้นตรงกลางเพื่อสวมทางศีรษะ นุ่งผ้าซิ่นหรือโสร่งทอตกแต่งลายสลับซับซ้อน โดยเครื่องแต่งกายของกลุ่มชนกะเหรี่ยงนิยมใช้สีแดง หรือดำเป็นสีพื้น
บุรุษ : สวมเสื้อลักษณะเดียวกันกับเสื้อของสตรี นุ่งโสร่งหรือกางเกงขาก๊วย โดยนิยมใช้สีแดง หรือดำเป็นสีพื้นเช่นเดียวกัน
- กลุ่มชนลิซู (ลีซอ)
    ลิซู (ลีซอ) เป็นกลุ่มชนใช้ภาษาในตระกูลทิเบต - พม่า สันนิษฐานว่าถิ่นฐานเดิมอยู่บริเวณต้นน้ำสาละวินในเมียนมาร์ก่อนที่บางส่วนจะเคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานบริเวณเทือกเขาทางภาคเหนือและภาคกลางตอนบนของไทยเมื่อประมาณกว่าหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา สำหรับในกำแพงเพชรพบกลุ่มชนลิซูตั้งถิ่นฐานอยู่เฉพาะในอำเภอคลองลาน
    กลุ่มชนลิซูนิยมตั้งถิ่นฐานอยู่บนพื้นที่สูง สร้างเรือนพักอาศัยหันหน้าออกจากภูเขา เรือนลิซูแต่ละหลังมักสร้างเยื้องกัน โดยมีระยะห่างเล็กน้อยในแต่ละหลัง ตามความเชื่อว่า หากปลูกตรงกันและมีระยะของเรือนแต่หลังประชิดจะเป็นการขวางทางผี รวมทั้งเพื่อป้องกันไม่ให้เพลิงลุกลามไปติดเรือนใกล้เคียงในกรณีเกิดเพลิงไหม้ ภายในเรือนมีโถงใหญ่กลางเรือนเป็นที่ตั้งของเตาไฟใหญ่ 2 จุด โดยใช้เป็นที่หุงต้มอาหารและให้ความอบอุ่นในเวลาค่ำ บริเวณมุมห้องมีแคร่สำหรับบุคคลภายนอกครอบครัวและผู้อยู่อาศัยในเรือน ส่วนบุตรสาวของบ้านจะกั้นห้องนอนอยู่อีกมุมหนึ่งอีกด้านหนึ่งของพื้นที่โถงตั้งศาลบูชาบรรพบุรุษ
เครื่องแต่งกายกลุ่มชนลิซู (ลีซอ)
สตรี : สวมเสื้อคอกลมทรงหลวมพื้นสีฟ้าหรือน้ำเงิน แขนยาว ตัวเสื้อผ่าหน้า ป้ายด้านข้าง ตกแต่งขอบคอ บ่า ต้นแขนเสื้อด้วยการปักและแทรกแถบผ้าขนาดเล็กสีสันสดใส ขอบชายเสื้อยาวคลุมเข่า สวมกางเกงทรงกระชับตัว โดยมีแถบผ้าสีสดใส เช่น แดง ส้ม น้ำเงิน ฟ้า เขียว เหลือง ฯลฯ ซ้อนทับตกแต่งด้วยพู่ไหมพรมสีสดคาดทับเสื้อเป็นเข็มขัด
บุรุษ : สวมเสื้อคอกลมทรงหลวมพื้นสีดำ ตัวเสื้อผ่าหน้าป้ายด้านข้าง ตกแต่งขอบคอเสื้อ สวมกางเกงทรงหลวมพื้นสีน้ำเงิน คาดเข็มขัดเป็นแถบผ้าสีสดใส ตกแต่งด้วยพู่ไหมพรมสีสด
- กลุ่มชนเมี้ยน (เย้า)
  เมี้ยน (เย้า) เป็นกลุ่มชนที่ใช้ภาษาในตระกูลจีน - ทิเบต สันนิษฐานว่าถิ่นฐานเดิมอยู่บริเวณตอนใต้ของจีน เมื่อราวกว่าหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมาจึงมีการย้ายถิ่นฐานเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณเทือกเขาทางภาคเหนือและภาคกลางตอนบนของไทย สำหรับจังหวัดกำแพงเพชรพบกลุ่มชนเมี้ยนตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ในเขตอำเภอปางศิลาทอง อำเภอคลองขลุงและอำเภอคลองลาน กลุ่มชนเมี้ยนนิยมตั้งบ้านเรือนในบริเวณลาดไหล่เขา ใกล้ป่าและแหล่งน้ำ โดยสร้างเรือนพักอาศัยชั้นเดียว ปลูกติดพื้นดิน ภายในเรือนมีประตูทางเข้าสามทาง แบ่งเป็น ประตูทางซ้ายเป็นของฝ่ายชายเปิดเข้าสู่พื้นที่โถงรับแขกในเรือน ส่วนประตูทางขวาเป็นของฝ่ายหญิงเปิดเข้าสู่พื้นที่ครัว และประตูใหญ่ทางด้านหน้าใช้เป็นทางเข้า - ออก เมื่อมีการประกอบพิธีกรรมในเรือน ตรงข้ามประตูใหญ่มีศาลพระภูมิหรือศาลบรรพบุรุษด้านหลังศาลพระภูมิหรือศาลบรรพบุรุษนี้ กั้นเป็นห้องนอนของผู้อยู่อาศัยในเรือน ทั้งนี้กลุ่มชนเมี้ยนจะให้ความสำคัญต่อตัวเรือนพักอาศัยมากกว่าบริเวณพื้นที่หมู่บ้าน จึงไม่ปรากฏการสร้างประตูหมู่บ้าน ศาลาพิธีหรือลานเต้นรำ รวมทั้งไม่มีการกำหนดขอบเขตของหมู่บ้านอย่างแน่ชัดเหมือนกลุ่มชนอื่น