ทำไม ? โรงเรียนเทศบาล 4 ต้องวงเล็บ บ้านเชียงราย !

ทำไม ? โรงเรียนเทศบาล 4 ต้องวงเล็บบ้านเชียงราย!


โรงเรียนเทศบาล 4 ทำไม ? ต้องวงเล็บบ้านเชียงราย คำถามนี้อาจจะมีผู้ที่ข้องใจกันอยู่หลายคน แต่ก็ยังไม่ทราบคำตอบที่แท้จริงว่าทำไมต้องบ้านเชียงราย ทั้ง ๆ ที่โรงเรียนก็ตั้งอยู่ที่จังหวัดลำปางจะเกี่ยวข้องอะไรกับจังหวัดเชียงราย บางครั้งหลาย ๆ คน หลาย ๆ หน่วยงาน ก็เกิดความสับสนเหมือนกันว่าโรงเรียนนี้ตั้งอยู่ที่ไหนกันแน่ ถ้าไม่ดูตำบลที่อยู่ให้ชัดเจน

จากชื่อโรงเรียนอย่างเป็นทางการว่า “โรงเรียนเทศบาล 4 (บ้านเชียงราย) แน่นอนว่าทุกคนได้ยินชื่อเสียงเกียรติศัพท์ของสถาบันเก่าแก่แห่งนี้เป็นเวลาหลายสิบปี เป็นสถาบันการศึกษาที่นักเรียนสำเร็จออกไปรุ่นแล้วรุ่นเล่า แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่าชื่อของโรงเรียนไม่ได้วงเล็บบ้านเชียงรายมาตั้งแต่แรกก่อตั้ง

เมื่อปี พ.ศ. 2470 ในระยะแรกนี้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนที่วัดเชียงราย สันนิษฐานว่าชื่อโรงเรียนอาจจะใช้ชื่อของสถานที่ทำการเรียนการสอน คือ “วัดเชียงราย” เป็นชื่อของโรงเรียนด้วย ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2484 เป็นปีที่โรงเรียนได้ย้ายจากวัดเชียงรายมาเปิดทำการสอน ณ สถานที่ปัจจุบัน ผู้เขียนสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นปีที่เปิดอาคารเรียนไม้ 2 ชั้นหลังใหม่ ซึ่งเป็นที่ตั้งอาคารเรียน 3 ชั้นในปัจจุบัน (อาคารกุกกุฎนคร) จากภาพถ่ายวันเปิดอาคารเรียนหลังใหม่นี้ ปรากฎชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนเทศบาล 4 ห้าแยกถนนรอบเวียง” ต่อมาเมื่อโรงเรียนเทศบาล ซึ่งแต่เดิมเป็นโรงเรียนประชาบาล ได้โอนมาสังกัดเทศบาลเมืองลำปาง

คณะผู้บริหารเทศบาลในขณะนั้นคงต้องการจะบ่งบอกสถานที่ตั้งโรงเรียนไปพร้อม ๆ กับชื่อของโรงเรียน จึงได้วงเล็บชื่อหมู่บ้านที่ตั้งโรงเรียนในขณะนั้น เพื่อความสะดวกในการเรียกขาน เช่น โรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านแสนเมืองมูล) โรงเรียนเทศบาล 2 (บ้านปงสนุก) (ปัจจุบันคือโรงเรียนบ้านปงสนุก สังกัด สพป. เขต 1 ลำปาง) โรงเรียนเทศบาล 5 (บ้านศรีบุญเรือง) โรงเรียนเทศบาล 6 (บ้านหัวเวียง) (ปัจจุบันชื่อโรงเรียนเทศบาล 6 (วัดป่ารวก) ) และ “โรงเรียนเทศบาล 4 (บ้านเชียงราย)” สืบเนื่องจากโรงเรียนตั้งอยู่บริเวณย่านหมู่บ้านเชียงราย แต่เดิมเป็นชุมชนของชาวเชียงรายที่อพยพมาตั้งที่อยู่บริเวณนี้ตั้งแต่สมัยที่กอบทัพนครลำปางแห่งราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน ขึ้นไปตีเมืองเชียงแสนและพม่า ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บริเวณนี้เดิมมีประตูเข้าออกเมือง เรียกว่าประตูเชียงราย โดยเขตกำแพงเมืองเก่า คือตำแหน่งที่ตั้งของตึกแถวอาคารพาณิชย์ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับวัดเชียงรายในปัจจุบัน

หลักฐานเกี่ยวกับชาวเชียงรายที่อพยพมาอยู่ในบริเวณนี้ ได้แก่ บ้านเมงกา ที่มีศาลเมง ศาลเจ้าพ่อและเจดีย์เมง เจดีย์วัดร้างเก่า ปัจจุบันคือถนนที่แยกจากถนนเชียงรายเข้าสู่หมู่บ้านเมงกา ยังคงมีชื่อว่า ถนนเม็งราย ซึ่งเป็นพระนามของกษัตริย์ผู้ก่อตั้งเมืองเชียงราย ชุมชนใหม่รุ่นหลังที่เข้าไปอาศัยอยู่ในปัจจุบันมิได้เรียกบ้านเมงหรือบ้านเชียงรายอีกต่อไปแล้ว เพราะชนรุ่นหลังได้เข้าไปอยู่แทนหมู่บ้านเก่าอันเป็นที่เคย รกร้างมานานแล้ว กอรปกับผู้ที่มาอาศัยอยู่ก็ไม่ได้สืบเชื้อสายมาจากชาวเชียงรายที่อพยพมาแต่เดิม แต่หากผสมผสานกมกลืนไปกับชาวลำปางเสียงแล้ว


ชื่อของสิ่งใด ๆ ก็ตามเป็นเพียงคำนาม ที่ใช้สมมติเรียกแทนสิ่งนี้สิ่งนั้น แก่นหรือความสำคัญไม่ได้อยู่ที่เพียงแค่ชื่อ หากแต่ความสำคัญอยู่ที่เนื้อแท้ของสิ่งนั้นเอง โรงเรียน ก็เช่นเดียวกัน แม้จะมีชื่อเรียกขานใด ๆ ก็ตาม ไม่ได้บ่งบอกถึงคุณภาพของการจัดการศึกษา ได้เลย แต่ผลงานที่แสดงออกมาในทุก ๆ ด้านต่างหากเล่าที่เป็นสิ่งที่ทำให้โรงเรียนมีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับของประชาชนโดยทั่วไป ดังเช่นที่โรงเรียนเทศบาล 4 (บ้านเชียงราย) มีอยู่ในปัจจุบันและแน่นอนว่าในอนาคต ชื่อเสียงของเราจะยังคงคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาสืบไป.

ณภัทร จิณานุกูล

ขุนอุทานคดี นายกเทศมนตรีเมืองลำปาง คนแรก

ผู้คิดก่อสร้างโรงเรียนเทศบาล