แหล่งท่องเที่ยว

แหล่งท่องเที่ยวในตำบลหลักหก

วัดนาวง ต.หลักหก อ.เมือง จังหวัดปทุมธานี

ประวัติวัดราษฏร์นาวงษ์ (วัดโรงหีบ) "วัดนาวง" ปัจจุบัน

สถานที่ตั้ง เลขที่ 177 หมู่ที่ 1 ตำบลหลักหก อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี

วัดราษฎร์นาวง เดิมชื่อ “วัดโรงหีบ” ทั้งนี้มีประวัติที่มาของชื่อเท่าที่ศึกษาได้ว่าชื่อนี้เรียกตามที่ตั้งของวัด ซึ่งเคยเป็นโรงหีบอ้อย และบริเวณของวัดโดยรอบก็เคยเป็นไร่อ้อยเมื่อกว่าร้อยปีก่อน ต่อมาภายหลังเลิกการปลูกอ้อยมาทำนาแทน ประชาชนจึงเรียก วัดราษฎร์นาวงษ์

เป็น “วัดนาวง” ตามสภาพแวดล้อม ตั้งแต่นั้นมา

กล่าวกันว่าไร่อ้อยในท้องทุ่งหลักหก-ดอนเมืองนั้น ปลูกโดยพระพิสณห์สมบัติบริบูรณ์ ซึ่งเป็นข้าราชการกรมท่าซ้าย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 พระยาพิสณห์ฯ เป็นพ่อค้าเชื้อสายจีน เดินทางขึ้นล่องค้าขายในแถบประเทศใกล้เคียง โดยอาศัยสำเภาขนส่งสิ้นค้าทางทะเล ท่านประสงค์จะปลูกสร้างบ้านพักอาศัยที่ท่านเป็นผู้ออกแบบเองโดยใช้ประสบการณ์ที่ท่านได้เคยเห็นมาระหว่างเดินทางค้าขายไปในที่ต่าง ๆ บ้านที่ท่านต้องการสร้างมีลักษณะเป็นอาคารก่อด้วยอิฐ ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีปูนซิเมนต์ใช้ การก่ออิฐจะเชื่อมประสานด้วยทราย ปูนขาว ผสมน้ำอ้อย ฉะนั้นจะต้องใช้น้ำอ้อยในปริมาณมาก ท่านจึงนำชาวจีนมาทำไร่อ้อยในทุ่งหลักหก-ดอนเมือง และตั้งโรงหีบอ้อยขึ้นมาในทุ่งหลักหก-ดอนเมือง แห่งนี้

พระยาพิสณห์สมบัติบริบูรณ์ (โต) ท่านสนใจทางเกษตรกรรมโดยเฉพาะการปลูกข้าว ท่านได้ว่าจ้างคนจีนจากเมืองจีน โดยใช้เรือสำเภาของท่านเองมาไว้ที่ทุ่งรังสิต ให้ทำงานขุดคลองส่งน้ำทำนา เพื่อทำนาให้ได้สองครั้งตามท่านต้องการ แต่โอกาสไม่อำนวยท่านได้สิ้นชีวิตเสียก่อนงานสำเร็จ

ท่านได้แต่งงานกับคุณหญิงสิน มีธิดาชื่อ คุณปุก ซึ่งต่อมาได้แต่งงานกับท่านเจ้าสัว กิมซัว มีบุตรและธิดาสองคน

คือ คุณนายอุ่น และคุณหลวงนาวาเกนิกร (ซิวเบ๋ง) ต่อมาได้รับพระราชทานนามสกุล “โปษยะจินดา” คุณหลวงนาวาเกนิกร ได้ทำการสมรสกับคุณนายนวม ก่อนพระยาพิสณห์สมบัติบริบูรณ์สิ้นชีวิต ท่านได้ปลูกอ้อยในท้องนาจำนวนมากและส่งเข้าโรงหีบอ้อยนำน้ำอ้อยส่งไปที่ท้องที่ราชวงค์ เพื่อผสมกับทรายและปูนขาว สร้างบ้านราชวงค์ ซึ่งในสมัยนั้นไม่มีปูนซิเมนต์ พื้นที่ที่เป็นโรงหีบอ้อยนี้ปัจจุบันเป็นวัดนาวงค์ (เดิมชื่อวัดโรงหีบ) บริเวณที่ใช้ปลูกอ้อยก็คือพื้นที่ที่บริเวณรอบวัดและบริเวณวัดทั้งหมด

หลวงนาวาเกนิกร กับ คุณนายนวม โปษยะจินดา มีบุตรและธิดา ทั้งสิ้น 9 คน

1. คุณอรุณ โปษยะจินดา

2. หม่อมสำเนียง ทองใหญ่

3. คุณเจงฮี้ โปษยะจินดา แต่งงานกับ คุณอรุณ (นามสกุลเดิม ศิริสรรพ์)

4. คุณเจงหลอง โปษยะจินดา

5. คุณเจงเอี๋ยว โปษยะจินดา

6. คุณเจงซ้อง โปษยะจินดา

7. คุณเจงเซีย โปษยะจินดา

8. คุณศิลาทอง ศิริสรรพ์

9. คุณลำยองศิลา พิศาลบุตร

หลังจากเลิกกิจการปลูกอ้อยแล้ว ลูกหลานของพระยาพิสณห์ฯ นำโดย หลวงนาวาเกนิกร (ซิวเบ๋ง) โปษยะจินดา ครอบครัวและญาติมิตร ดำริ ที่จะสร้างวัดขึ้น เพื่อสืบต่อพุทธพระศาสนา ไว้เป็นที่บำเพ็ญกุศลของสาธุชน ต่อไปภายภาคหน้า จากข้อความที่จารึกอยู่ที่ผนังพระอุโบสถของวัด มีชื่อคณะผู้ร่วมบริจาคเงิน คือ

1. ท่านหนู

2. ท่านสิน

3. ท่านปุก

4. อากรสอน

5. อุ่น-สิริ

ท่านละ 5 ชั่ง บรรดาท่านเหล่านี้เป็นเชื้อสายของพระยาพิสณห์ฯ โดยตรง ท่านสินเป็นภริยา มีธิดา คือท่านปุก ซึ่งสมรสกับเจ้าสัวกิมซัว ต้นสุกล โปษยะจินดา ท่านปุก มีบุตร ธิดา 2 คน คือ หลวงนาวาเกนิกร (ซิวเบ๋ง โปษยะจินดา) และนางอุ่น โปษยะจินดา ทั้งสองท่านหลังจากเสียชีวิตแล้ว ได้บรรจุศพและอัฐิ ปรากฎในบริเวณวัด (โคนต้นโพธิ์)

บุคคลอื่นที่ช่วยในการบริจาคสร้างวัดตามปรากฏชื่อจารึกอยู่ ดังนี้

1. พ่อแปก 100 ตำลึง

2. แม่แพ 40 ตำลึง

3. หวิง 20 ตำลึง

4. ฮอง 8 ตำลึง

5. นาก 40 ตำลึง

6. อ่วม 40 ตำลึง

7. อยู่ 4 ตำลึง

8. นาก 4 ตำลึง

9. แม่แย้ม 2 ตำลึง

10. หอม 2 ตำลึง

ท่านดังกล่าวนี้ได้พร้อมใจกันทำการก่อสร้างวัดนี้ขึ้น เมื่อวันที่ 29 เดือนมีนาคม พ.ศ.2443 ณ ภูมิลำเนาที่อยู่ของตน ที่คลองบ้านใหม่ เขตท้องที่ หมู่ 1 ตำบลหลักหก อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี โดยได้ทำการก่อสร้างเสนาสนะต่างๆ ดังนี้

1. พระอุโบสถ 1 หลัง

2. ศาลาการเปรียญ 1 หลัง

3. กุฏิสงฆ์ 3 หลัง

4. หอฉันภัตตาหาร 1 หลัง

5. ศาลาท่าน้ำ 1 หลัง

6. เว็จกุฎี (ห้องส้วม) 1 หลัง

7. เรือนครัว 1 หลัง

8. ถนนเดินเท้าก่อสร้างด้วยอิฐถือปูน 1 สาย

9. ขุดบ่อน้ำสำหรับกักเก็บน้ำด้วยคอนกรีต 1 บ่อ

เมื่อสร้างเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้ตั้งชื่อวัดที่ตนเองได้สร้างขึ้นนี้ว่า “วัดราษฎร์นาวง” พร้อมทั้งได้ถวายทรัพย์สมบัติทั้งส่วนที่เป็นสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่ในที่นี้ ไว้เป็นสมบัติของวัดทั้งสิ้น โดยเฉพาะที่ดินทั้งหมดมีเนื้อที่รวม 377 ไร่เศษ และได้อาราธนาพระภิกษุสงฆ์ จากสำนักวัดใกล้เคียงมาอยู่จำพรรษาบำเพ็ญสมณกิจตั้งแต่ พ.ศ. 2443 นั้น เป็นต้นมา

แหล่งที่มา : โรงเรียนวัดนาวง [ออนไลน์]. https://watnawong-s.thai.ac/home/info/1/ [วันที่สืบค้นข้อมูล 20 สิงหาคม 2565]