“ประวัติความเป็นมาของเครือข่ายลำปางรักษ์เมืองเก่า”

เราคือใคร? เครือข่ายลำปางรักษ์เมืองเก่า เป็นเครือข่ายขององค์กร,ชุมชน,กลุ่มคนและปัจเจกบุคคลในจังหวัดลำปางที่มีเป้าหมายร่วมกันที่สำคัญกล่าวคือ ความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์ พัฒนา ฟื้นฟู ส่งเสริม ประสานงานและผลักดัน ที่จะทำให้ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดลำปางที่มีมายาวนานกว่า ๑,๓๐๐ ปี ได้รับการเผยแพร่ ให้ผู้คนในชุมชนสังคมลำปางได้เรียนรู้ ตระหนักเห็นคุณค่าว่าเรื่องดังกล่าวนั้นเชื่อมโยงและยังประโยชน์ต่อการดำรงอยู่ ของตนเอง ครอบครัวและชุมชน ซึ่งนำสู่การ เกิดจิตสำนึกที่จะร่วมกันดูแลรักษา อนุรักษ์พัฒนา ไม่ว่าจะเป็น โบราณสถาน วัดวาอาราม ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งสภาพแวดล้อมโดยทั่วไป ให้ยังดำรงสภาพที่ดีแต่ในขณะเดียวกันก็สามารถปรับเปลี่ยนพัฒนาไปได้ตามยุคสมัย แต่ยังคงดำรงรักษาเอกลักษณ์และคุณค่าที่ถูกสืบสานส่งต่อมาถึงทุกวันนี้ มีความรักความภาคภูมิใจ และพร้อมที่จะส่งต่อคุณค่านี้สู่คนรุ่นต่อๆไป รวมทั้งพร้อมแบ่งปันคุณค่านี้ เพื่อการศึกษาเรียนรู้การพักผ่อน สำหรับนักท่องเที่ยวหรือผู้มาเยือนได้ในทุกโอกาส


กำแพงเมืองเขลางค์นครยุค1

กำแพงเมืองเขลางค์ยุค2

กำแพงเมืองเขลางค์ยุค3

เกิดขึ้นเมื่อใด? เมืองเก่าลำปางเป็น๑ใน๓๑เมือง ที่คณะรัฐมนตรีมีความเห็นชอบขอบเขตเมืองเก่าและกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าและประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่า ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า พ.ศ. ๒๕๔๖ เขตเมืองเก่าลำปางได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ตามประกาศของคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองก่า เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๓ มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น ๓.๘๐๔ ตารางกิโลเมตร หลังการประกาศ ได้มีความพยามของหลายภาคส่วนที่พยายามรณรงค์ปลูกสร้างจิตสำนึก ให้ชุมชนสังคมลำปาง ตระหนักเห็นคุณค่าและพร้อมเข้ามามีส่วนร่วมอนุรักษ์ พัฒนา ดูแลรักษาท่ามกลางกระแสการเติบโตของเมืองและการพัฒนาของเศรษฐกิจท้องถิ่นที่ทำให้ บ้านเก่าอาคารเก่าที่มีสถาปัตยกรรมที่งดงามถูกรื้อทิ้งและทดแทนด้วยอาคารพาณิชณ์ ที่พักคอนโด แนวเขตกำแพงเมือง คูเมือง เขตพื้นที่วัดเก่าแก่หลายแห่งถูกบุกรุกครอบครอง จนกระทั่งเมื่อประมาณ เดือน กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๐ อาคารบุญสนอง ซึ่งเป็นอาคารเก่าแก่ในเขตประกาศเมืองเก่าลำปาง ถูกทุบเพื่อสร้างเป็นพื้นที่ทางพาณิชย์ ทำให้คนลำปางกลุ่มพนึ่งได้รวมตัวกัน เพื่อจะร่วมกัน ปกป้องรักษอาคารเก่าบ้านเก่าที่งดงามไม่ให้ถูกเปลี่ยนสภาพไปตามกระแสเศรษฐกิจโดยได้ตั้งชื่อกลุ่มว่า “เครือข่ายลำปางรักษ์เมืองเก่า” มีเจ้าป้ากาญจนา ประชาพิพัฒ ณ ลำปาง เป็นประธานฯและได้เริ่มจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อให้ชุมชนสังคมลำปางได้ตระหนักเห็นคุณค่าของบ้านเก่าอาคารเก่าที่มีสถาปัตยกรรมที่สวยงามได้รับการปกป้องดูแลรักษาทั้งโดยตัวผู้ที่เป็นเจ้าของ หรือผู้ดูแลรักษาอาคารและโดยการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนคนลำปางและภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

เขตอนุรักษ์เมืองเก่าได้รับการประกาศเมื่อ ๙ พ.ย. ๒๕๕๓ มีเนื้อที่ ๓.๘๐๔ ตร.กม.

อาคารบุญสนองเดิม

อาคารบุญสนองถูกทุบเมื่อปี๒๕๖๐

กลุ่มเครือข่ายลำปางรักษ์เมืองเก่ารุ่นก่อตั้งเมื่อ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๐

ได้ดำเนินการอะไรไปบ้าง? เครือข่ายลำปางรักษ์เมืองเก่าได้จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ชุมชนสังคมลำปางได้ตระหนักเห็นความสำคัญของ บ้านเก่า อาคารเก่า วัดเก่า และพร้อมเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ พัฒนา มาโดยตลอด ในทุกโอกาสที่เหมาะสม อาทิ การจัดกิจกรรม”ท่ามะโอ เรโทรแฟร์” ช่วง ม.ค. ๒๕๖๑ - ก.ค.๒๕๖๑ การร่วมจัดกิจกรรมใน”งานรถไฟรถม้าปี ๒๕๖๒” การจัดงาน”เยือนถิ่น ย้อนวิถี ๑๒๔ ปีบ้านเสานัก” เมื่อ ๕ ธันวาคม ๒๕๖๒ การจัดทำยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานของเครือข่ายลำปางรักษ์เมืองเก่า ปี๒๕๖๓-๒๕๖๕ ในห้วง ธ.ค.๖๒ - ก.พ.๖๓ เพื่อให้การทำงานของเครือข่ายฯเป็นไปอย่างมีเป้าหมาย มีทิศทาง และมีความต่อเนื่อง การจัดทำข้อตกลงร่วมในการดำเนินงานของเครือข่ายลำปางรักษ์เมืองเก่าปี๒๕๖๓ เพื่อให้การดำเนินงานของเครือข่ายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมีกรอบ กติกาที่จะร่วมกันทำงานบนความสัมพันธ์ ความเข้าใจ มีความสอดประสานเชื่อมโยงและพร้อมรองรับภาคีและสมาชิกใหม่ ให้เข้ามาร่วมเป็นพลังสร้างสรรค์นครลำปางให้ เป็นเมืองเก่าที่มีชีวิต เป็นนครแห่งความสุข และเมื่อ๖ ก.พ.๒๕๖๔ เครือข่ายลำปางรักษ์เมืองเก่า ได้จัดการประชุมใหญ่ครั้งที่๑ ที่อาคารสโมสรค่ายสุรศักดิ์มนตรี และมีการเลือกตั้งประธานกรรมการอำนวยการและประสานงานเครือข่ายลำปางรักษ์เมืองเก่า ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเลือกตั้งให้ พ.อ. สันดุษิต ดีบุกคำ ทำหน้าที่ประธานฯ มาจนถึงปัจจุบัน


กิจกรรม"ท่ามะโอ เรโทรแฟร์" ที่บ้านหลุยส์ ในห้วงม.ค.๒๕๖๑ -ก.ค.๒๕๖๑

กิจกรรม "เยือนถิ่น ย้อนวิถี ๑๒๔ ปีบ้านเสานัก" เมื่อวันที่๕ ธ.ค.๒๕๖๒

ยื่นหนังสือกับ รมต.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อเร่งรัดการบูรณะบ้านหลุยส์

การจัดทำยุทธศาสตร์เครือข่ายฯปี๒๕๖๓-๒๕๖๕

การประชุมจัดทำข้อตกลงร่วมแนวทางการดำเนินงานของเครือข่ายฯ ปี พ.ศ.๒๕๖๓

การจัดประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อเลือกตั้งประธานเครือข่ายฯคนใหม่ เมื่อวันที่ ๖ ก.พ. ๒๕๖๔