ความเป็นมาเมืองสงขลา

ตราสัญลักษณ์ จังหวัดสงขลา

เนื่องจากจังหวัดสงขลาเป็นจังหวัดที่อยู่ติดชายทะเล และหอยสังข์เป็นวัตถุที่มักจะใช้ในพิธีมงคล ดังนั้นจึงนำเอาสังข์บนพานแว่นฟ้ามาเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดที่หมายถึง การอนุรักษ์สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมที่มีแต่โบราณ

ความเป็นมา

จังหวัดสงขลาตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีชุมชนโบราณและเมืองเก่าแก่ ปรากฏครั้งแรกในบันทึกของพ่อค้า และนักเดินเรือชาวอาหรับ-เปอร์เซีย ระหว่าง พ.ศ.1993-2093 ในนามของเมืองซิงกูร์ หรือซิงกอร่า แต่ในหนังสือประวัติศาสตร์ธรรมชาติ และการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยามของนายกิโลลาส แซร์แวส เรียกชื่อเมืองสงขลาว่า “เมืองสิงขร” จึงมีการสันนิษฐานว่า คำว่าสงขลาเพี้ยนมาจากชื่อ “สิงหลา” (อ่านว่า สิง-หะ-ลา) หรือสิงขร

เมื่ออดีตราว 200 ปีก่อน ตัวเมืองสงขลาตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของทะเลสาบ เรียกว่า “เมืองสงขลาฝั่งแหลมสน” จนกระทั่งในปี พ.ศ.2385 จึงขยายตัวมาฝั่งตะวันออก บริเวณตำบลบ่อยาง เรียกว่า “เมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง” เริ่มแรกมีถนน 2 สาย คือ ถนนนครนอก เป็นถนนเส้นนอกติดกับทะเลสาบ และถนนนครใน เป็นถนนเส้นในเมือง ต่อมามีการตัดถนนสายที่ 3 เรียกว่า ถนนเก้าห้อง หรือย่านเก้าห้อง เพื่องานสมโภชเสาหลักเมือง และเรียกกันว่า ถนนนางงาม และในปัจจุบันถนนทั้ง 3 สายยังคงมีเอกลักษณ์ดั้งเดิม ทั้งห้องแถวไม้แบบจีน ตึกคลาสสิคสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ศาลเจ้าพ่อกวนอู โรงแรมนางงาม โรงแรมไม้เก่าแก่ประดับลายฉลุไม้วิจิตรบรรจงและขนมอร่อย ทั้งไทย จีน ฝรั่ง ซึ่งเป็นถนนที่ประกอบไปด้วยอาคารและสถาปัตยกรรมทรงคุณค่า ที่สะท้อนความเป็นมาของชาวสงขลา ทำให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสบรรยากาศของอดีต ผ่านอาคารบ้านเรือน เรื่องเล่าจากอาหารพื้นถิ่นที่มีคุณค่า และยั่งยืนในความเป็นเมืองเก่า

ข้อมูลเนื้อหาเรื่องราว เขียนโดย นางจุรี สังขภิญโญ

ภาพถ่าย ภาพประกอบ โดย นางสาวกรชนก ช่วยเล็ก