การสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย

อาณาจักรสุโขทัย ถือเป็นอาณาจักรแห่งแรกของคนไทย โดยกว่าจะมาเป็นอาณาจักรแห่งนี้ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย เพราะในช่วงเวลานั้น อาณาจักรเขมรโบราณหรือขอมยิ่งใหญ่มาก อีกทั้งยังขยายอิทธิพลมายังชุมชนชาวสยาม มอญ และลาว ทำให้พื้นที่บริเวณอาณาจักรสุโขทัยตกอยู่ภายใต้การปกครองของขอม ซึ่งปรากฏหลักฐานด้านสถานที่ต่าง ๆ มาถึงปัจจุบัน เช่น ศาลตาผาแดง พระปรางค์วัดศรีสวาย พระปรางค์วันพระพายหลวง โดยทั้งหมดอยู่ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยในปัจจุบันณ ช่วงเวลานั้น สหายชาวไทย 2 ท่านคือ พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด และพ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง ได้ร่วมมือกันขับไล่ขอมออกไปจากดินแดนได้สำเร็จ จากนั้นจึงได้สถาปนาพ่อขุนบางกลางหาวขึ้นเป็นกษัตริย์ของกรุงสุโขทัยในปี พ.ศ. 1792 โดยได้เฉลิมพระนามใหม่ว่า “พ่อขุนศรีอินราทิตย์” ถือเป็นพระปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์พระร่วง และยังถือเป็นต้นกำเนิดราชวงศ์พระร่วงอีกด้วยหลังจากนั้น ราชวงศ์พระร่วงก็ปกครองอาณาจักรสุโขทัยมาอย่างยาวนานเพียงราชวงศ์เดียว โดยมีกษัตริย์ทั้งสิ้น 9 พระองค์ มีการแบ่งเขตการปกครองออกเป็นเมืองหลวง เมืองลูกหลวง เมืองพระยามหานคร และเมืองออกหรือเมืองประเทศราช 

 การค้าขายในสมัยสุโขทัย

การค้าขายในสมัยอาณาจักรสุโขทัยนั้นไม่มีการเก็บจังกอบ (หรือเรียกอีกอย่างว่า จกอบ) ซึ่งก็คือภาษีผ่านด่านที่เรียกเก็บจากพ่อค้าแม่ค้าต่างเมืองที่นำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในเมืองสุโขทัย ดังหลักฐานปรากฏอยู่ในศิลาจารึกความว่า “เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจกอบ ในไพร่ลูท่าง เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย” ซึ่งถ้าแปลความแล้วก็จะได้ว่า ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยมีความอุดมสมบูรณ์ดี เจ้าเมืองไม่เก็บภาษีผ่านด่าน ประชาชนเดินทางไปค้าขายได้อย่างสะดวก และค้าขายได้อย่างเสรี

กษตรกรรมในสมัยสุโขทัย

อาชีพยอดฮิตอันดับ 1 ของชาวสุโขทัยคือเกษตรกร เพราะสภาพสังคมของสุโขทัยเป็นสังคมเกษตรกรรมแบบพึ่งพาตนเอง อีกทั้งลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศของสุโขทัยนั้นเอื้อต่อการทำเกษตรกรรมมาก ๆ ดังคำจารึกในศิลาจารึกความว่า “เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” หมายความว่า เมืองสุโขทัยนี้ดีเพราะมีความอุดมสมบูรณ์ดี และนอกจากความสมบูรณ์ของแผ่นดิน บรรพบุรุษของชาวสุโขทัยก็ยึดการประกอบอาชีพเกษตรกรรมสืบต่อ ๆ กันมาจนเกิดเป็นภูมิปัญญาในการทำเกษตรกรรมอีกด้วย โดยพืชที่นิยมปลูกมาที่สุดคือ “ข้าว” ซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทยมาตั้งแต่โบราณ นอกจากนั้นยังมีมะม่วง มะพร้าว มะขาม ตาล หมาก และพลู แต่ในสมัยอาณาจักรสุโขทัย จะเรียกผลไม้ที่มีชื่อขึ้นต้นว่า “มะ” ว่า “หมาก” แทน เช่น หมากม่วง หมากพร้าว เป็นต้น และเมื่อชาวบ้านปลูกพืชผักผลไม้ได้ผลดี ก็เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนขึ้นที่ตลาด หรือที่ในสมัยนั้นเรียกว่า “ปสาน” มีลักษณะเป็นลานกว้าง ๆ เหมาะสำหรับเป็นพื้นที่ค้าขาย ผู้คนทั้งชาวเมืองสุโขทัยและชาวต่างเมืองก็มักจะมาซื้อหรือมาขายข้าวของเครื่องใช้กันที่นี่ ก่อให้เกิดเป็นการค้าขายขึ้นนั่นเอง