ชุมชนท่องเที่ยว บ้านร่าหมาด-ขุนสมุทร

บ้านร่าหมาด หรือ ขุนสมุทร เดิมชื่อว่า “หลาดตุ๊หยัง” สืบเนื่องมาจากการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นคนที่นี่มักจะบนบานและสร้างศาลตามที่ตนนับถือ เช่น ศาลโต๊ะกุรน ศาลโต๊ะแหรบ ศาลโต๊ะกร้าหมาด เป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านว่า “ร่าหมาด” ในปัจจุบัน ชาวร่าหมาด มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย แต่ก็มีเอกลักษณ์ของตนเอง

ประชาชนในชุมชนมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เป็นชุมชนที่ประสบผลสำเร็จในการนำหลักธรรมทางศาสนา น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน และอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นที่ดีงามให้คงอยู่สู่ลูกหลาน ส่งผลให้ประชาชนอยู่ร่วมกันด้วยความรัก ความสามัคคี ลด ละ เลิกอบายมุข ไม่มีลักขโมย มีการเก็บออมเงิน และมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นคือ ตอนเช้านิยมรับประทานขนมต้มใบมะพร้าว ข้าวเหนียวปิ้งห่อใบคลุ้มร่วมกับกาแฟโบราณร้อนๆซึ่งชาวบ้านในชุมชนได้ผลิตขึ้นเองโดยใช้แรงงานคนเป็นหลักไม่มีเครื่องจักรทันสมัย ดังนั้น กาแฟโบราณของบ้านร่าหมาดจึงมีรสชาติหอม

กลมกล่อมอร่อยมาก

ชุมชนคุณธรรมฯบ้านร่าหมาด ได้รับการยกย่องว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประกอบด้วยศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เช่น ทำนา ปลูกผักปลอดสารพิษ มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อส่งเสริมการออม และมีการส่งเสริมการเรียนรู้หลักธรรมทางศาสนา กล่าวคือ มีศูนย์อบรมศาสนาอิสลามประจำมัสยิดบ้านร่าหมาดเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในหลักธรรมทางศาสนาแก่เยาวชน และประชาชนเป็นคนดีของสังคม นอกจากนี้ ศิลปินพื้นบ้านของชุมชนได้ถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เด็ก เยาวชนร่วมกันอนุรักษ์ สืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น เช่น ลิเกป่า กาหยง รองแง็ง ทั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆให้เป็นชุมชน “บวร ON Tour” โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่ สำนักงานพัฒนาชุมชนกระบี่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่ ฯลฯ มาเป็นพี่เลี้ยงคอยส่งเสริม สนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ และงบประมาณแก่ชุมชนให้มีความเข้มแข็ง นี่คือความร่วมมือระหว่างบ้าน มัสยิด โรงเรียนได้ร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาชุมชนด้วยการจัดประชุมปรึกษา หารือ และจัดกิจกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นชุมชนคุณธรรมที่มีความสุข ความดีงาม มีสภาพแวดล้อมที่ดี และมีความพร้อมในการเป็นเจ้าบ้านที่ดีสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรม

กิจกรรม

เรียนรู้และชมการทำผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น การจักสานเตยปาหนัน กาแฟโบราณ ข้าวซ้อมมือ

ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมและการละเล่นพื้นบ้านมุสลิม เช่น รำรองแง็ง ก้าหยง ลิเกป่า

ชมวิถีชีวิตพื้นบ้านของชุมชน

ล่องเรือ พายคายัค

เดินศึกษาธรรมชาติ

ปั่นจักรยาน

ผลิตภัณฑ์ชุมชน

กาแฟโบราณ

ข้าวซ้อมมือ

ผลิตภัณฑ์จากเตยปาหนัน