การสร้างงานทัศนศิลป์ไทย

ทัศนศิลป์ไทยหมายถึง ศิลปะที่มองเห็นความงามได้จากรูปลักษณ์ รับรู้ได้จากประสาทสัมผัสทางตา สัมผัสจับต้องได้ และกินระวางพื้นที่ในอากาศ ได้แก่ จิตรกรรมไทย ประติมากรรมไทย และสถาปัตยกรรมไทย ที่มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติของไทย ลักษณะของงานเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นจากอุดมคติ (IDEALISTIC) มาสู่ความจริงตามธรรมชาติ ซึ่งมีรากฐานแนวคิดเชื่อมโยงมาจากคตินิยม ความเชื่อทางพุทธศาสนา เนื้อหาในวรรณคดีไทย และวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบ วัฒนธรรมไทย


จิตรกรรมสร้างจากเนื้อหาในวรรณคดี

จิตรกรรมสร้างจากความเชื่อทางพุทธศาสนา

จิตรกรรมสร้างจากวิถีชีวิตความเป็นอยู่

ด้านจิตรกรรมไทย

งานทัศนศิลป์ไทยกับการเขียนภาพตามแบบแผน

ในการสร้างผลงานทัศนศิลป์ไทยทั้งในด้านจิตรกรรม ประติมากรรมและสถาปัตยกรรม หากพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่ามีที่มาจากการเขียนภาพตามแบบแผนของไทย 4 หมวดสำคัญ ได้แก่ กระหนก นารี กระบี่ และ คชะ

1. กระหนก คือ ภาพลวดลายที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติของต้นไม้ ดอกไม้ ใบไม้ เปลวไฟ นำมาออกแบบสร้างสรรค์เป็นศิลปะลวดลายไทย เช่น กระหนกเปลว ประจำยามก้ามปู และกระจังตาอ้อย เป็นต้น

2. นารี คือภาพเขียนหน้าและร่างกายทั้งตัวของเทวดา นางฟ้า พระ นาง กุมาร และคนในอิริยาบถต่างๆ ภาพจะไม่แสดงอารมณ์ในส่วนของใบหน้า แต่จะแสดงออกด้วยท่าทาง

3. กระบี่ คือภาพเขียนอมนุษย์ต่างๆ เช่น ภาพยักษ์และภาพลิง ภาพหมวดกระบี่นี้จะมีปรากฏอยู่ในงานจิตรกรรมฝาผนัง เรื่องรามเกียรติ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ยักษ์มักจะเป็นตัวผู้ร้าย เช่น ทศกัณฐ์ ส่วนลิงมักจะเป็นทหารของพระราม เช่น หนุมานและสุครีพ เป็นต้น

4. คชะ คือภาพสัตว์ต่างๆ ที่เขียนสร้างสรรค์ขึ้นโดยได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ และจินตนาการขึ้นมาใหม่จากเนื้อหาเรื่องราว ภาพสัตว์ในหมวดคชะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ ภาพสัตว์สามัญ และภาพสัตว์หิมพานต์

4.1 ภาพสัตว์สามัญ ได้แก่ ภาพสัตว์ทั่วไปในธรรมชาติที่นำมาเขียนแสดงความงามของรูปร่าง สัดส่วน ด้วยเส้นให้ดูอ่อนช้อย เช่น ภาพช้าง ม้า วัว ควาย กวาง กระต่าย กระรอก และนก เป็นต้น

4.2 ภาพสัตว์หิมพานต์ ได้แก่ ภาพสัตว์ที่เขียนขึ้นจากจินตนาการ โดยได้ข้อมูลและแรงบันดาลใจมาจากเนื้อหาเรื่องราวในคัมภีร์ ชาดก ตำนาน และวรรณคดีไทย เช่น พญานาค พญาราชสีห์ คชสีห์ กินรี กิเลน และม้านิลมังกร เป็นต้น


กนก

นารี

กระบี่

คชะ