ศิลปวัฒนธรรมประเพณี

“จากศรัทธาสู่ประเพณีอันทรงคุณค่าทางวัฒนธรรม”


ประเพณีการบวชพระ ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชายไทยที่นับถือพระพุทธศาสนา เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จะเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่สืบเนื่องมาจากความเลื่อมใสศรัทธาในศาสนาพุทธของพุทธศาสนิกชน เป็นประเพณีไทยสืบเนื่องมาแต่โบราณกาล ชายไทยเมื่ออายุครบบวช จะต้องบวชให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต เพื่อการศึกษาพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และสืบทอดอายุพระพุทธสาสนา สร้างกุศลอันยิ่งใหญ่ให้ตนเอง และบิดามารดารวมทั้งหมู่ญาติ การมีโอกาสได้เป็นนักบวช ดำรงเพศสมณะผู้ตั้งใจฝึกฝนอบรมตนเองเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก็สามารถค้นหาแหล่งความสุขที่แท้จริงศึกษาเรื่องราวความจริงของชีวิต เป้าหมายของการเกิดมาเป็นมนุษย์ว่าเกิดมาทำไมตายแล้วไปไหน บาปบุญคุณโทษ นรกสวรรค์ภพนี้ภพหน้าและสังสารวัฏ ซึ่งเป็นความรู้ที่มีอยู่แต่ในพระพุทธศาสนาที่ทนทานต่อการพิสูจน์

ประเพณีการบวชพระนั้น ปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไปในทุกภูมิภาคของประเทศไทยสำหรับผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา เช่นเดียวกับพื้นที่ตำบลจันทิมา อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร โดยประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่จะนับถือศาสนาพุทธ และมีประเพณีนิยมที่ปฏิบัติสืบทอดต่อเนื่องกันมาแต่โบราณนั่นคือ การบวชพระ โดยการบวช จะนิยมบวชตามประเพณีในช่วงก่อนวันเข้าพรรษา เพื่อที่จะได้สามารถอยู่ศึกษาพระธรรมตลอดจนระยะเวลาเข้าพรรษา ประมาณ 3 เดือน ก็จะลาสิกขาเมื่อพ้นวันออกพรรษาแล้ว แต่ถ้าบวชต่อไปก็ได้แล้วแต่ความสะดวก หากไม่ได้บวชในช่วงตามประเพณีระยะเวลาในการบวช ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้บวชเช่นกัน โดยส่วนใหญ่จะประมาณ 15 วัน หรือ 1 เดือน


คนไทยมีความเชื่อที่ว่า การที่บุตรชายได้บวชจะทำให้บิดามารดาได้เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ และการบวชถือเป็นการทดแทนพระคุณบิดามารดาด้วย


ก่อนการจะบวชต้องไปพบเจ้าอาวาสเพื่อหาฤกษ์บวช เมื่อกำหนดวันบวชได้แล้วผู้ที่จะบวชจะต้องมาลาญาติมิตรเพื่อขอขมาและต้องไปอยู่วัดก่อนบวชประมาณ 15 วัน ในการขอขมานาคจะนำดอกไม้ ธูป เทียนแพไปกราบลาเพื่อขออโหสิกรรม


ผู้บวชจะต้องท่องคำขอบวช และฝึกซ้อมขั้นตอนวิธีการบรรพชาจากพระพี่เลี้ยง เตรียมเครื่องใช้ที่จำเป็นซึ่งเรียกว่า เครื่องอัฐบริขาร มี 8 อย่าง คือ บาตร จีวร สบง สังฆาฏิ ผ้าประคดเอว หม้อกรองน้ำ กล่องเข็มพร้อมด้าย มีดโกนและหินลับมีด


ในพิธีการโกนผมนาค สามารถจัดที่วัดหรือที่บ้านก็ได้แล้วแต่ความเหมาะสม โดยเชิญญาติผู้ใหญ่ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ มาทำการตัดผมนาค โดยนำผมปอยที่ตัดวางไว้บนใบบัวที่นาคถือ หลังจากนั้นพระจะเป็นผู้โกนให้โดยจะโกนผมและคิ้วจนเกลี้ยงเกลา ส่วนผมในใบบัวนั้นจะนำห่อใบบัว ไปลอยในแม่น้ำลำคลอง หลังจากนั้นก็จะมีพิธีอาบน้ำนาคโดยใช้น้ำผสมเครื่องหอมต่างๆ เมื่ออาบน้ำเสร็จแล้ว นาคจะนุ่งชุดขาวเพื่อประกอบพิธีทำขวัญนาคต่อไป ในพิธีการทำขวัญนาคจะมีการเทศน์สอนนาคให้ระลึกถึงบุญคุณของบิดา มารดา การทดแทนพระคุณ และคุณประโยชน์ในการบวชเรียน และคำกล่าวนี้จะเป็นคำร้องหรือ การแหล่ และมีความไพเราะกินใจ ทำให้นาคเกิดความซาบซึ้ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการปลุกเร้าให้นาคมีกำลังใจและตั้งใจที่จะบวชเรียน


ในตอนเช้าวันรุ่งขึ้นจะมีการแห่นาคจากบ้านไปวัด มีขบวนนำด้วย ขบวนกลองยาว แตรวง และขบวนรำ ขบวนญาติพี่น้องที่ถือเครื่องอัฐบริขาร แต่บิดาจะถือตาลปัตรสะพายบาตร มารดาอุ้มผ้าไตร ขบวนจะแห่เวียนขวารอบโบสถ์ 3 รอบ หรือที่เรียกว่า “ทักษิณาวัตร” เมื่อแห่ครบแล้วนาคยืนหน้าโบสถ์ทำพิธีวันทาเสมาและยืนโปรยทานซึ่งส่วนใหญ่ใช้เหรียญบาท


หลังจากนั้นนาคก็จะเข้าโบสถ์โดยญาติพี่น้องจะอุ้มนาค โดยไม่ให้เท้านาคเหยียบธรณีประตู เนื่องจากความเชื่อที่ว่าเป็นการส่งนาคสู่ร่มกาสาวพัสตร์ส่งผลสู่นิพพาน ผู้ร่วมนำส่งก็จะได้ผลบุญกุศลด้วย ต่อจากนั้นก็จะเข้าสู่พิธีบวชนาค จะมีพระอุปัชฌาย์เป็นประธาน และคณะสงฆ์มาประชุมพร้อมกันซึ่งในตอนแรกจะต้องกล่าวคำขอบรรพชาเป็นสามเณรก่อน เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนแรกนาคจะไปเปลี่ยนผ้านุ่งแบบสมณะเพศ แล้วกลับเข้ามากล่าวคำขออุปสมบทต่อไป


พระอุปัชฌาย์จะมีการกล่าวสอนในเรื่องการปฏิบัติตนในเพศสมณะหรือแล้วแต่พระอุปัชฌาย์และเมื่อภิกษุใหม่ถวายเครื่องไทยธรรม พระสงฆ์กล่าวอนุโมทนาคาถา และญาติกรวดน้ำถือว่าเป็นอันเสร็จพิธี หลังจากนั้นก็จะเป็นการฉลองซึ่งขึ้นอยู่กับเจ้าภาพ


การบวชพระ จึงถือเป็นประเพณีสำคัญที่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจของครอบครัว และญาติพี่น้องของผู้บวชเป็นอย่างยิ่ง เป็นการทำหน้าที่สนองพระคุณบิดามารดา เป็นประเพณีบุญแห่งความสุขและสนุกสนาน เป็นการช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา โดยผู้ที่บวชเรียนได้เข้าไปเรียนรู้และรักษาพระธรรมวินัยให้เจริญ มั่นคง และรักษาถ่ายทอดคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า รวมทั้งเป็นการฝึกอบรมพัฒนาตนเองทั้งในด้านความประพฤติและด้านจิตใจให้ดีงาม เข้มแข็ง มั่นคง เป็นสุข และส่งเสริมด้านปัญญา คือความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตรงตามความเป็นจริง เป็นวัฒนธรรมที่เกิดจากความเลื่อมใสศรัทธาสู่ประเพณีอันทรงคุณค่าที่ควรรักษาให้คงอยู่สืบไป

เอกสารอ้างอิง

นฤดี น้อยศิริ. (2565). คู่มือการบวช. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.wattakfa.com/index/images/maindata/dhamma123/01.pdf/(วันที่ค้นข้อมูล 11 กรกฎาคม 2565)

สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2560). ประเพณีงานบวช.เข้าถึงได้จากhttps://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=178&code_db=610004&code_type=01

วันที่สืบค้น 11 กรกฎาคม 2565)

นุติพันธ์ มากสาคร. (2565). ถ่ายภาพ

พระอธิการสมพงษ์ อนาลฺโย. (2565). วัดเพชรไพรวัลย์. ตำบลจันทิมา. อำเภอ

ลานกระบือ. จังหวัดกำแพงเพชร

เรียบเรียงโดย นางสาวมัทนา บำรุงเชื้อ ตำแหน่ง ครู กศน.ตำบล

สังกัด กศน.อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร

ภาพถ่าย/ภาพประกอบโดย นายนุติพันธ์ มากสาคร

ข้อมูลเนื้อหาบางส่วนโดย พระอธิการสมพงษ์ อนาลฺโย