ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ : แหล่งเรียนรู้วิถีเกษตรกรรม

แหล่งเรียนรู้ในชุมชน คือ แหล่งรวบรวมข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ สารสนเทศ กิจกรรมและประสบการณ์ต่างๆ ในชุมชน ที่สนับสนุนส่งเสริมให้ผู้เรียนได้แสวงหาความรู้และเรียนรู้ด้วยตนเองได้ตามอัธยาศัย เพื่อเสริมสร้างให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ และเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้

แหล่งเรียนรู้ในชุมชน มีความสำคัญที่เอื้อต่อการศึกษาให้บุคคลในชุมชนสามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดชีวิต เป็นการกระจายโอกาสทางการศึกษาให้ทั่วถึงภายใต้สิ่งที่มีอยู่ในสังคมรอบๆ ตัว ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต เช่น จากประสบการณ์ของวิทยากรหรือปราชญ์ชาวบ้าน จากแปลงสาธิต จากศูนย์เรียนรู้ ฯลฯ โดยมุ่งหวังให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ในลักษณะของการศึกษานอกระบบหรือการศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ ที่ไม่เน้นการเรียนรู้เฉพาะในห้องเรียน หากชุมชนมีแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายจะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะก่อประโยชน์ต่อกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนได้พัฒนาศักยภาพจากประสบการณ์ตรง ซึ่งสัมผัสและจับต้องได้ ทั้งนี้ ความสำคัญของแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ไม่ได้มีเฉพาะต่อสมาชิกในชุมชนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบุคคลทั่วไปและผู้ที่ศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งเรียนรู้ เพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และก่อให้เกิดการจารึกข้อมูลชุมชนที่เป็นระบบด้วย เช่น

1. ใช้เป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมทั้งที่มีในตำราเรียนและที่ไม่มีในตำราเรียน

2. ใช้เป็นสถานที่ในการจัดการเรียนการสอน การฝึกอบรม

3. ใช้เป็นสถานที่พบปะ แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ความคิดเห็น

4. ใช้เป็นแหล่งสถานที่ศึกษาดูงาน ฝึกฝนอาชีพ

5. ใช้เป็นสื่อเรียนรู้ สื่อประกอบการเรียนการสอนที่มีมิติ มีชีวิต เช่น จิตกรรมฝาพนัง ร่องรอยประวัติศาสตร์ นิเวศวิทยา สัตว์ต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชน (แมลง นก ปลา ฯลฯ) เป็นต้น

6. ใช้เป็นสถานที่ถ่ายทอดความรู้ ข้อมูล ข่าวสารทั่วๆ ไป รวมทั้งเป็นสถานที่ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ หรือแจ้งข้อมูลที่ต้องการสื่อไปถึงคนในชุมชน

7. ใช้เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม โบราณสถาน โบราณวัตถุ ฯลฯ ไม่ให้ลบเลือนสำหรับสืบต่อไปยังชนรุ่นหลัง

8. ใช้เป็นศูนย์กลางในการดำเนินกิจกรรมอื่นๆ อาทิ เป็นศูนย์จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นจุดรวบรวมผลผลิต พื้นที่รวมกลุ่มทำกิจกรรมของแม่บ้าน ฯลฯ


ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบลจันทิมา ตั้งอยู่ หมู่ที่ 2 บ้านเพชรไพรวัลย์ ตำบลจันทิมา อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร เป็นศูนย์เรียนรู้ที่นำตัวอย่างพื้นที่ของเกษตรกรที่ดำเนินกิจกรรมตามแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ มาใช้เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีเกษตรกรรม โดยเกิดจากการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่ทำการเกษตร ทำนา ทำไร่ และปศุสัตว์ ซึ่งเป็นอาชีพหลักท้องถิ่นของคนในชุมชนที่มีมาแต่ดั้งเดิม ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอลานกระบือ และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เกิดเป็นกลุ่มโครงการรวมน้ำ+ใจถวายในหลวง ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2544 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรได้บริหารจัดการที่ดินและน้ำในที่พื้นที่ขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยนำแนวคิดโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงคิดค้น/วิจัยเกษตรทฤษฎีใหม่ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 ในพื้นที่ส่วนพระองค์ขนาด 16 ไร่ 2 งาน 23 ตารางวา ที่ ตำบลห้วยบง อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี และทรงเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2537 เพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรรมที่ในเขตแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำในการเกษตร เป็นทฤษฎีแห่งการบริหารจัดการ ดิน ที่ดิน น้ำ และเวลา ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่มีที่ดินจำนวนน้อย สามารถเลี้ยงตัวเองได้ มีความมั่นคงด้านอาหาร คือ มีข้าว มีพืชผักและอาหารโปรตีนจากการเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ หมู ปลา ฯลฯ ไว้บริโภคได้ตลอดทั้งปี มีการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพปัญหาและทรัพยากรที่มี ตั้งแต่การทำการเกษตรแบบพอเพียงเพื่อการเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัว ไปจนถึงการพัฒนาการเกษตรแบบประณีต สามารถให้ผลตอบแทนเชิงเศรษฐกิจที่สูงมากขึ้น

ปัจจุบัน ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบลจันทิมา ได้ใช้พื้นที่ของ นางสาวพัชรพร บำรุงเชื้อ บ้านเลขที่ 19/1 และพื้นที่ของ นายประทุม บำรุงเชื้อ บ้านเลขที่ 144 หมู่ที่ 2 ตำบลจันทิมา อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร เป็นแหล่งเรียนรู้ให้นักศึกษาและประชาชนทั่วไปที่สนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ ทั้งในรูปแบบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการศึกษาดูงาน โดยเน้นความสอดคล้องกับบริบท วิถีชีวิต และสภาพแวดล้อมของชุมชน ภายในศูนย์เรียนรู้ได้จัดสรรพื้นที่ต่างๆ ดังนี้

ส่วนที่ 1 พื้นที่สระน้ำ/ บ่อเลี้ยงปลา จำนวน 4 บ่อ โดยแบ่งพื้นที่บ่อเลี้ยงปลากินพืช ได้แก่ ปลาทับทิม ปลานิล และปลาสลิด และบ่อเลี้ยงปลากินเนื้อ ได้แก่ ปลาหมอเทศชุมพร ปลาดุก และปลาลูกทุ่งต่างๆ นอกจากนี้ยังมีบ่อเลี้ยงกบ และบ่อเลี้ยงกุ้งฝอยและหอยขมขนาดเล็กด้วย ซึ่งรอบขอบบ่อได้ปลูกพืชอวบน้ำ ได้แก่ ผักหอมจันทร์หรือผักแพ้วไว้ริมขอบบ่อ และปลูกไม้ผลบนบ่อ เช่น ทุเรียน ขนุน มะม่วง สะเดามัน มะกอก มะพร้าวน้ำหอม รวมทั้งผักสวนครัว พริกชี้ฟ้า และมะเขือ เป็นต้น


ส่วนที่ 2 พื้นที่นา ใช้ปลูกข้าวสำหรับบริโภคและจำหน่าย เช่น ข้าว กข. 43 ซึ่งจัดว่าเป็นสายพันธุ์ข้าวที่แข็งแรง ทนทานต่อโรคและแมลงศัตรู อายุการเก็บเกี่ยวสั้น ให้ผลผลิตสูง มีกลิ่นหอมอ่อน น้ำตาลต่ำ คนเป็นเบาหวานสามารถรับประทานได้


ส่วนที่ 3 พื้นที่ปลูกพืชไร่พืชสวน โดยใช้พื้นที่บริเวณรอบบ้านในการปลูกไม้ผลและพืชสวน เช่น กล้วยน้ำว้า มะละกอ ไผ่กิมซุง ไผ่ปล้องยาว มะขามยักษ์ มะม่วง มะรุม มะนาว ขนุน น้อยหน่า ปลูกไม้ใช้สอย เช่น มะค่า สะเดา ยูคาลิปตัส ปลูกพืชผักสวนครัว อาทิ ข่า ตะไคร้ มะกรูด กระชายขาว กะเพรา โหระพา แมงลัก และปลูกพืชสมุนไพร เช่น พริกไทย ขมิ้น ไพล ช้าพลู เตย มะตูมอินเดีย ชะมวง เป็นต้น


ส่วนที่ 4 พื้นที่สำหรับที่อยู่อาศัย และพื้นที่สำหรับเลี้ยงสัตว์


ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่แห่งนี้ เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ทำให้ผู้เรียนได้พัฒนาศักยภาพจากประสบการณ์ตรง สามารถสัมผัสและจับต้องได้ ซึ่งดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามแบบฉบับวิถีชีวิตของคนในชุมชน ที่ประยุกต์ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมและเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน เป็นศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เสริมสร้างโอกาสในการเรียนรู้ เป็นจุดถ่ายทอด แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของคนในชุมชน และผู้ที่สนใจทั่วไปได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน ด้วยการส่งผ่านความรู้จากรุ่นสู่รุ่นจากประสบการณ์จริง

เอกสารอ้างอิง

การสร้างแหล่งเรียนรู้ในชุมชน. (2565). (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก

http://www.wiangphangkham.go.th/images/1206771081/2.pdf (วันที่ค้นข้อมูล 22 กรกฎาคม 2565)

นายประทุม บำรุงเชื้อ. (2565). บ้านเพชรไพรวัลย์. ตำบลจันทิมา. อำเภอลานกระบือ. จังหวัดกำแพงเพชร

นางสาวพัชรพร บำรุงเชื้อ. (2565). บ้านเพชรไพรวัลย์. ตำบลจันทิมา. อำเภอ

ลานกระบือ. จังหวัดกำแพงเพชร

มัทนา บำรุงเชื้อ. (2565). ถ่ายภาพ

เรียบเรียงโดย นางสาวมัทนา บำรุงเชื้อ ตำแหน่ง ครู กศน.ตำบล

สังกัด กศน.อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร

ภาพถ่าย/ภาพประกอบโดย นางสาวมัทนา บำรุงเชื้อ

ข้อมูลเนื้อหาบางส่วนโดย นายประทุม บำรุงเชื้อ และนางสาวพัชรพร บำรุงเชื้อ