ภูมิปัญญาท้องถิ่น



กระยาสารทขนมไทยโบราณ : ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ของดีประจำตำบล

Krayasart, a Thai traditional Dessert of the Local Wisdom of the Sub–districts

มัทนา บำรุงเชื้อ

Mathana Bamrungchue

“กระยาสารท” (กระ–ยา–สาด) เป็นขนมที่ถือเป็นภูมิปัญญาไทยในการถนอมอาหาร และที่กำแพงเพชรได้มีการกวนขนมกระยาสารทกันมาอย่างยาวนาน ในอดีตมีการกวนกันเกือบทุกบ้าน จะไม่มีจำหน่าย แต่จะแจกกันเมื่อกวนแล้ว และจะนำไปถวายพระเนื่องในวันสำคัญต่างๆ ปัจจุบันนิยมทำกินกันในช่วงเทศกาลสารทไทย ระหว่างเดือนกันยายน – ตุลาคม ของทุกปี

ตำบลจันทิมา เป็นพื้นที่ที่มีการผลิตกระยาสารทที่ประยุกต์ใช้ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ “นางกอน บุญสังข์” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านตะเคียนงาม บ้านเลขที่ 46 หมู่ที่ 8 ตำบลจันทิมา อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร ได้เล่าว่า การกวนกระยาสารทของตนนั้นได้รับการถ่ายทอดมาจากมารดา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของคนในชุมชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม (ทำนา) เป็นหลัก โดยหลังจากว่างเว้นจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร ชาวบ้านจะกวนกระยาสารทไว้รับประทานและแบ่งปันให้บ้านใกล้เรือนเคียง แรกเริ่มเดิมทีทำเก็บไว้กินและแจกเพื่อนบ้านหรือญาติพี่น้องแต่เมื่อได้ชิมต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าอร่อย นับตั้งแต่ปี 2539 จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการกวนกระยาสารทจำหน่ายสร้างรายได้เสริมให้แก่ครอบครัวเรื่อยมา กระทั่งได้เกิดการรวมกลุ่มกวนกระยาสารทในชื่อกลุ่มแม่บ้านตะเคียนงาม และเข้าสู่การแข่งขันกวนกระยาสารทในงานสารทไทยกล้วยไข่เมืองกำแพง โดยสำนักงานเกษตรอำเภอลานกระบือ ในปี พ.ศ.2550 และได้รับรางวัลชนะเลิศการกวนกระยาสารท ประเภทรสชาติ หลังจากนั้นทางกลุ่มได้ผลิตกระยาสารทออกจำหน่ายและผ่านการขึ้นทะเบียนวิสาหกิจชุมชนของอำเภอลานกระบือ ผ่านการคัดเลือกมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ปี 2554 และผ่านการคัดเลือกให้เป็นสินค้า OTOP คัดสรร ระดับ 4 ดาว


กระยาสารท นอกจากจะเป็นขนมไทยไทยที่ใช้ในงานบุญเดือนสารทแล้ว ยังมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานตั้งแต่สมัยพุทธกาลสืบเนื่องมาจากข้าวมธุปายาส ซึ่งเป็นอาหารอินเดียใช้ข้าว น้ำตาล น้ำนม ผสมกัน ที่นางสุชาดาหุงถวายพระพุทธเจ้า การกวนขนมกระยาสารทได้ทำเป็นประเพณีสืบทอดกันมาสู่ประเทศไทยช่วงสมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน โดยผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาจะพากันหยุดงาน ตระเตรียมสิ่งของทำบุญที่เรียกว่ากระยาสารทเป็นของหวานประจำเทศกาลสารท นิยมทำกันก่อนวันสิ้นเดือนเป็นวันโกน วันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเมื่อถึงวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งตรงกับเดือนกันยายน ชาวบ้านจะกวนกระยาสารทมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว จนกลายเป็นประเพณีสารทไทย หรือเทศกาลกวนขนมกระยาสารทจนถึงทุกวันนี้ ดังปรากฏตามคำกลอนในนิราศเดือนว่า

ถึงเดือนสิบเห็นกันเมื่อวันสารท ใส่อังคาสโภชนากระยาหาร

กระยาสารท กล้วยไข่ใส่โตกพาน พวกชาวบ้านถ้วนหน้าธารณะ

ด้วยเหตุนี้ กระยาสารทจึงเป็นสัญลักษณ์ของผลิตผลทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ รวมทั้งเป็นการทำบุญเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวในนา ก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตครั้งแรกของชาวนาอีกด้วย ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านตะเคียนงาม มีเอกลักษณ์และเทคนิคที่ใช้ในการกวนกระยาสารทแบบฉบับของตนเอง ดังรายละเอียดขั้นตอนการผลิต ต่อไปนี้

กระบวนการผลิต

วัตถุดิบและส่วนประกอบ

1. ข้าวเม่า 3.3 กิโลกรัม

2. ถั่วลิสง 2.3 กิโลกรัม

3. งาขาวคั่ว 2 กิโลกรัม

4. แบะแซ 2.5 กิโลกรัม

5. น้ำตาลปี๊บ 2.5 กิโลกรัม

6. น้ำตาลทราย 2 ขีด

7. ข้าวตอก 3 ลิตร

8. กะทิคั้น 7 กิโลกรัม

9. มะพร้าวหั่นชิ้น 1 กิโลกรัม

10. นมข้น 1 กระป๋อง

11. นมสด 1 กระป๋อง

12. มะนาว 6 ช้อนโต๊ะ

13. น้ำผึ้ง 1 ถ้วย

14. อุปกรณ์ในการกวน (กระทะใบบัว/ พาย)

ขั้นตอนการผลิต

1. นำกระทะตั้งไฟเพื่อเคี่ยวน้ำตาล และแบะแซให้เข้ากัน ใช้ไฟปานกลาง

2. เมื่อน้ำตาลและแบะแซเดือด นำเนื้อมะพร้าวอ่อนลงเคี่ยวจนเนื้อมะพร้าวสุกหรือเป็นสีเหลือง จากนั้นใส่กะทิลงเคี่ยวด้วยไฟแรงจนกะทิงวด ใส่น้ำมะนาว และนมสด เคี่ยวด้วยไฟอ่อน

3. เมื่อเคี่ยวได้ที่ให้ปิดไฟ และนำส่วนผสมต่าง ๆ ได้แก่ ข้าวตอก งา ถั่วลิสงคั่ว และข้าวเม่า ลงกระทะ คลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากัน

เทคนิค/เคล็ดลับในการผลิต

1. ควรใช้น้ำเย็นในการหยอดเพื่อดูว่ากะทิที่เคี่ยวได้ที่หรือไม่ ไม่อ่อนและแข็งจนเกินไป

2. ห้ามเปิดพัดลมในกระบวนการผลิต เนื่องจากจะทำให้ผลิตภัณฑ์แข็งตัวเร็ว บรรจุใส่ถุงยาก


ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านตะเคียนงาม ได้มีการพัฒนาสูตรการกวนกระยาสารทให้มีความหลากหลาย ตลอดจนรูปแบบสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามมากขึ้น ได้แก่ กระยาสารทสูตรดั้งเดิม สูตรข้าวไรซ์เบอรี่ สูตรงาดำ สูตรมะพร้าวน้ำหอม และกระยาสารทกล้วยไข่ โดยนำผลไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดกำแพงเพชร มาผลิตเป็นกระยาสารทกล้วยไข่จำหน่าย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ภายใต้ชื่อ “กระยาสารทจันงาม By แม่กอน” ซึ่งได้จำหน่ายสินค้าตามสถานที่ต่างๆ ทั้งตลาดนัดชุมชน ตลาดนัดเกษตร ตลาด อตก. รวมทั้งตามงานเสวนาภาคเกษตรในกลุ่มภาคเหนือและภาคกลาง โดยราคาจำหน่ายเริ่มต้นตั้งแต่ 25–35 บาท และจำหน่ายเป็นกิโลกรัมละ 120 บาท เท่านั้น กระยาสารทจันงาม By แม่กอน หรือกระยาสารทแม่กอน จึงเป็นผลิตภัณฑ์ของดีขึ้นชื่อประจำตำบลจันทิมา ที่การันตีคุณภาพด้วยรางวัลชนะเลิศระดับจังหวัดกำแพงเพชร ปี 2550 ด้วยรสชาติที่หวานมัน อร่อย กลิ่นหอมจากเนื้อมะพร้าวน้ำหอม รวมถึงกลิ่นหอมกรุ่นจากน้ำตาลปี๊บและข้าวเม่าที่ผ่านกรรมวิธีการกวนแบบโบราณบนเตาฟืน สำหรับผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์กระยาสารทแม่กอน สามารถติดต่อได้ทางหมายเลขโทรศัพท์ 085 267 3960

การผลิตกระยาสารทของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านตะเคียนงาม นับว่าเป็นการนำเอาภูมิปัญญาพื้นบ้านดั้งเดิมที่ได้รับการถ่ายทอด ซึ่งได้มาจากการใช้สติปัญญา ประสบการณ์ความรู้ที่สั่งสมมาผสมผสานกลมกลืนระหว่างศาสนา ความเชื่อ สภาพแวดล้อม การประกอบอาชีพ จนเป็นวิถีการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน และระหว่างการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้มีการปรับประยุกต์การกวนกระยาสารทให้มีความหลากหลาย จนเกิดเป็นกระยาสารทอีกหลายสูตรที่นำเสนอสัญลักษณ์ของพืชประจำถิ่น อย่างกล้วยไข่ มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตกระยาสารท เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค มีความเหมาะสมกับสภาพบริบทของพื้นที่ สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ซึ่งนอกจากการผลิตเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้แล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมโบราณของไทยให้คงอยู่ ไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาและสืบทอดต่อไป เพราะกระยาสารท เป็นขนมไทยที่มีความพิเศษตรงที่เป็นขนมสำหรับงานบุญประเพณีของไทย ที่มีช่วงวันและเวลาเป็นของตัวเองชัดเจน นับเป็นองค์ความรู้ที่มีค่ายิ่งสำหรับคนในชุมชน

เอกสารอ้างอิง

ฐิติยา เนตรวงษ์. (2563). แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการจัดการความรู้ด้วยไอซีที : จากห้องเรียนสู่ชุมชน. กรุงเทพฯ : สวนดุสิต

องค์การบริหารส่วนตำบลจันทิมา. (2565). (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก

http://www.janthima.go.th/otop-detail_82/(วันที่ค้นข้อมูล 10 กรกฎาคม 2565)

กระยาสารทแม่กอน. (2565). (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก

https://th-th.facebook.com/pages/category/Food---Beverage-Company/(วันที่ค้นข้อมูล 10 กรกฎาคม 2565)

มัทนา บำรุงเชื้อ. (2565). ภาพถ่าย

องค์การบริหารส่วนตำบลจันทิมา. (2561). ภาพถ่าย

เรียบเรียงโดย นางสาวมัทนา บำรุงเชื้อ ตำแหน่ง ครู กศน.ตำบล

สังกัด กศน.อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร

ภาพถ่าย/ภาพประกอบโดย นางสาวมัทนา บำรุงเชื้อ

ข้อมูลเนื้อหาบางส่วนโดย นางกอน บุญสังข์

ผู้เขียน/ถ่ายภาพ : มัทนา บำรุงเชื้อ