กิจกรรมบำบัด (อังกฤษ: Occupational Therapy) เป็นวิชาชีพทางวิทยาศาสตร์สุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีโดยอาศัยกิจกรรมเป็นสื่อ เป้าหมายเบื้องต้นของกิจกรรมบำบัด คือ การส่งเสริมให้บุคคลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย ผู้พิการทางกาย เด็กที่มีปัญหาด้านพัฒนาการหรือการเรียนรู้ ผู้ป่วยจิตเวช ผู้สูงอายุ ฯลฯ สามารถทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มความสามารถ ซึ่งนักกิจกรรมบำบัดจะต้องอาศัยความรู้หลายๆด้าน เพื่อช่วยลดข้อจำกัดทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคมของบุคคลเหล่านั้น อีกทั้งยังอาจต้องช่วยปรับ/ให้คำแนะนำในการปรับสภาพแวดล้อม เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มศักยภาพ ผู้ประกอบวิชาชีพกิจกรรมบำบัด ต้องสอบใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ สาขากิจกรรมบำบัดก่อน จึงจะสามารถปฏิบัติงานได้

บทบาทนักกิจกรรมบำบัด

นักกิจกรรมบำบัดทำงานเกี่ยวข้องกับผู้ที่มีความบกพร่องหรือพิการทางร่างกาย จิตใจ การเรียนรู้ และการพัฒนาเด็ก โดยใช้กระบวนการประเมิน การบำบัดฟื้นฟู การส่งเสริม การป้องกัน ด้วยสื่อ เทคนิค และวิธีการทางกิจกรรมบำบัด เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและทักษะความสามารถของการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต ได้แก่ การดูแลตนเอง การศึกษา การทำงาน การใช้เวลาว่าง การพักผ่อน และการเข้าสังคม ตาม

มาตรา 3 ในพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สาขากิจกรรมบำบัดเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 พ.ศ. 2545

"กิจกรรมบำบัด" หมายความว่า การกระทำเกี่ยวกับความสามารถของบุคคลที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย จิตใจ การเรียนรู้และการพัฒนาเกี่ยวกับเด็ก โดยกระบวนการตรวจ ประเมิน ส่งเสริม ป้องกันบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพ ให้สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ เพื่อให้บุคคลดำเนินชีวิตได้ตามศักยภาพโดยการนำกิจกรรม วิธีการ และอุปกรณ์ที่เหมาะสมมาเป็นวิธีการในการบำบัด

มาตรา ๑๑ ผู้ขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขากิจกรรมบำบัดต้องมีความรู้ในวิชาชีพคือเป็นผู้ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญาสาขากิจกรรมบำบัดจากสถาบันการศึกษาที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขากิจกรรมบำบัดรับรอง และต้องสอบความรู้ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขากิจกรรมบำบัดกำหนด สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศซึ่งมิได้มีสัญชาติไทย ต้องได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะสาขากิจกรรมบำบัดจากประเทศที่สำเร็จการศึกษาด้วย

นักกิจกรรมบำบัดจึงทำงานในสถานที่ที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่ โรงพยาบาลใหญ่ ๆ ทั้งของราชการและเอกชน โรงพยาบาลทางจิตเวช โรงเรียนเด็กพิเศษ ตลอดจนเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการให้กับองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตตลอดทุกช่วงวัย

นักกิจกรรมบำบัดประเมินและออกแบบโปรแกรมที่มีลักษณะเฉพาะของผู้รับบริการ เน้นกรอบความคิดที่หลากหลายโดยครอบคลุมด้านบุคคล สิ่งแวดล้อม และการกระทำกิจกรรมที่มีเป้าหมาย มีคุณค่า และมีความสุข ตลอดจนการสร้างทักษะการจัดการตนเองในรูปแบบต่างๆ เช่น การจัดการความล้า การสงวนพลังงาน การจัดการความเครียด การจัดการกิจกรรมยามว่าง การฟื้นพลังชีวิต การพัฒนาทักษะทางจิตสังคม การพัฒนาทักษะทางการรู้คิด/ความคิดความเข้าใจ การพัฒนาทักษะชีวิต การพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณ เป็นต้น รวมทั้งประเมินและประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วย อุปกรณ์เสริม เครื่องดามมือ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม