ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cymbopogon citratus Stapf.

ชื่อสามัญ : Lapine, Lemon grass.

ชื่ออื่น : คาหอม (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) ห่อวอตะโป่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

จะไคร (ภาคเหนือ) ตะไคร้ (ภาคกลาง) ไคร (ภาคใต้)

เหลอะเกรย, เซิดเกรย (เขมร-สุรินทร์) หัวสิงไค (เขมร-ปราจีนบุรี)

ชื่อวงศ์ : GRAMINEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ตะไคร้เป็นพืชสมุนไพร ประเภทพืชล้มลุก ตระกูลหญ้า ที่เจริญเติบโตง่าย นิยมนำมาประกอบอาหาร มีถิ่นกำเนิด ในประเทศไทย อินโดนีเซีย พม่า ศรีลังกา อินเดีย และโซนทวีปอเมริกาใต้ ต้นจะมีลักษณะเป็นพุ่มโดยรวมสูงประมาณ 4-6 ฟุต ในไทยเองบางครั้งพบตะไคร้สูงเป็นเมตร แต่ลำต้นที่แท้จริงสูง 5-6 เซนติเมตร เท่านั้น

ตะไคร้บริเวณโคนจะออกสีขาวนวล เรียกว่า “หัว” ส่วนใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะเรียวยาว ปลายใบแคบแหลม และมีขนหนาม เส้นใบขนานกับก้านใบ แตกออกเป็นกอ ยาว 30-60 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนระคายมือเล็กน้อย ส่วนด้านล่างและบริเวณขอบใบจะเรียบ ตัวใบจะอุดมไปด้วยน้ำมันหอมระเหย และโดยรวมตะไคร้ยังมีวิตามิน และแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ อาทิ ฟอสฟอรัส แคลเซียม เหล็ก วิตามินเอ เป็นต้น

ส่วนที่ใช้ : ใช้ทั้งต้น

สรรพคุณ

หัว : เป็นยารักษาเกลื้อน แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ปัสสาวะพิการ แก้นิ่ว บำรุงไฟธาตุ แก้อาการขัดเบา ถ้าใช้รวมกับสมุนไพรชนิดอื่น จะเป็นยาแก้อาเจียน แก้ทราง ยานอนหลับลดความดันสูง แก้ลมอัมพาต แก้กษัยเส้น และแก้ลมใบ ใบสด ๆ จะช่วยลดความดันโลหิตสูง แก้ไข้

ราก : ใช้เป็นยาแก้ท้องเสียและปวดท้อง

ใบ : ช่วยรักษาอาการไข้ และความดันโลหิตสูง

ต้น : โดยทั่วไปใช้แก้อาการเบื่ออาหาร และขับลม เป็นยาบำรุงธาตุไฟ แก้โรคนิ่ว และโรคทางเดินปัสสาวะ ซึ่งถ้าเอาผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น จะแก้โรคหนองใน และดับกลิ่นคาว แต่ถ้าใช้ต้นสดๆ นำมาโขลกคั้นเอาน้ำดื่มแก้อาการเมาของผู้เมามากๆ จะช่วยให้สร่างเร็ว

น้ำมัน : มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อรา มีส่วนช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ ลดการบีบตัวของลำไส้ ใช้ทาบรรเทาอาการปวด และยังใช้กลิ่นไล่สุนัขและแมว ได้อีกด้วย