การทำธุง

การทำธุง

ธุงแมงมุม" สิ่งประดิษฐ์ เครื่องประดับ คู่ ‘บุญอีสาน’

หลายคนคงเคยพบเห็นสิ่งประดิษฐ์สีสันสดใส ร้อยถักจากเส้นไหมหลากสี อย่าง "ธุงแมงมุม" กันมาบ้างแล้ว

โดยในปัจจุบันนักออกแบบรุ่นใหม่ ได้หยิบเอาธุงแมงมุมไปออกแบบเป็นเครื่องประดับอย่างต่างหู ไปจนถึงใช้ในการตกแต่งอาคารบ้านเรือน หรืองานแสดงศิลปะที่ต้องการสื่อถึงความเป็นอีสาน

สีสันของธุงแมงมุมให้ความรู้สึกสดใสและสวยงามแก่ผู้พบเห็นจนต้องยกโทรศัพท์ขึ้นถ่ายรูปเซลฟี่ แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบถึงความสำคัญและนัยยะ ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความงดงามของธุงแมงมุม เอกลักษณ์หนึ่งของความเป็นอีสาน

วันนี้ เราจึงขอนำเสนอเรื่องราวของธุงแมงมุมและวิธีประดิษฐ์ธุงแมงมุมให้กับทุกคนนะคะ

"แมงมุมเพียรสร้างใยเป็นรังไว้ ฉันใด

เหล่ามนุษย์พึงสร้างบุญไว้เป็นที่พึ่ง ฉันนั้น

บุญนี้แลจักคุ้มครองเราท่านไปสู่ภพหน้า”

บทกลอนที่พูดถึงความเชื่อ กุศโลบาย และความหมายของ ธุงแมงมุม

สิ่งประดิษฐ์ที่ถูกบรรจงทำขึ้นประกอบงานบุญ งานพิธีของชาวอีสาน

ซึ่งในบางพื้นที่ของอีสาน นิยมประดิษฐ์ธุงแมงมุมขึ้น เพื่อใช้ตกแต่งกองบุญฮีตเดือน 4 หรือจารีตประเพณีเดือน 4 บุญผะเหวด (พระเวสสันดร)

ผู้เฒ่าผู้แก่บางท่านเล่าว่า ธุงแมงมุมรอบกองบุญผะเหวดนั้น สื่อถึงป่าหิมพานต์ พงไพรที่พระเวสสันดรได้ออกบวชบำเพ็ญทานบารมีก่อนเสวยชาติเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นกุศโลบาย หมายถึง สายใยนำสู่พระธรรม เป็นบุญเป็นกุศลให้คนที่ประดิษฐ์ธุงแมงมุมถวายเป็นพุทธบูชา ได้ยึดเกาะสายใยนี้สู่ภพแห่งพระศรีอริยาเมตตรัยหรือสู่นิพพาน

นอกจากนี้ก็ยังมีการทำธุงเแมงมุมขึ้นประกอบฮีตเดือน 3 ซึ่งตรงกับ วันมาฆบูชา ดังปรากฏในงานบุญเดือนสาม อันยิ่งใหญ่ของจังหวัดกาฬสินธุ์ คือ งานมาฆปูรมี ณ พระธาตุยาคู ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย ซึ่งมีเอกลักษณ์อันโดดเด่น เป็น "ทะเลธุง" ธุงแมงมุมสีสันสดใสงดงาม ถูกร้อยขึ้นเป็นธงยาวผูกกับเสาไม้ไผ่ ก่อนถูกมาตั้งเรียงกันเป็นทางยาวสุดสายตา

เมื่อต้องสายลม ธุงแมงมุมปลิวไสวอย่างสง่างามโดยมี พระธาตุยาคู ตระหง่านอยู่เบื้องหลัง